- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชวนดูปัญหาขยะทะเล-เครื่องมือประมง สาเหตุหลักการตายสัตว์ทะเลหายากของไทย
ชวนดูปัญหาขยะทะเล-เครื่องมือประมง สาเหตุหลักการตายสัตว์ทะเลหายากของไทย
เปิดสถิติสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ระหว่างปี พ.ศ.2558- 2560 พบ เต่าทะเล โลมา วาฬ พะยูน 1,257 ตัว เฉลี่ยปีละ 419 ตัว สาเหตุหลักจากปัญหาขยะและเครื่องมือประมง ขณะที่ไทยถูกยกให้เป็นหนึ่งใน 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก
แม้ว่าการหาสาเหตุของลูกวาฬบรูด้าเพศเมียที่พบติดคอดหอยแมลงภู่ ส่งท้ายปี 2560 นั้นจะยังไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดได้ (อ่านประกอบ ทช.เผยยังไม่ทราบสาเหตุการตายลูกวาฬบรูด้า หลังพบติดคอกหอยแมลงภู่ ) แต่หากดูจำนวนการตายของสัตว์ทะเลหายาก ไม่ว่าจะเป็นโลมา วาฬ เต่าทะเล หรือพะยูน ทั้งที่มีสาเหตุจากการติดเครื่องมือประมง รวมจากการกินขยะทะเล ได้ถูกยกขึ้นเป็นหนึ่งในงานเร่งด่วนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้กำหนดแนวทางด้านต่างๆ เพื่อลดจำนวนการตายของสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้
ลองย้อนดูจำนวนผลการจัดการช่วยเหลือช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ระหว่างปี พ.ศ. 2558- 2560 พบว่า มีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นได้เฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57%โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5%
แน่นอนว่า สาเหตุการเกยตื้นหลักๆ สำหรับเต่าทะเลแลพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องประมง คิดเป็นสัดส่วน 74% และ 89% ตามลำดับ
ขณะที่การเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ คิดเป็น 63% แต่ก็ต้องยอมรับว่า อีกหนึ่งในสาเหตุก็มักเกิดจากเครื่องมือประมงและขยะในทะเล
วันนี้ไทยถูกจัดให้เป็นหนึ่งในหกประเทศที่มีอัตราการทิ้งขยะลงในทะเลมากที่สุดในโลก โดยคาดการณ์ว่าในปี 2560 ที่ผ่านมาไทยปล่อยให้มีขยะลงทะเลมากถึง 2.83 ล้านตัน ในจำนวนนี้ เกินครึ่งเป็นขยะพลาสติก ซึ่งขยะเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศและสัตว์ทะเลเป็นอย่างมาก
ก่อนที่เราจะไปดูปัญหาขยะทะเล อยากชวนกลับมาดูว่าแล้วสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลของไทยวันนี้ต้องประสบอะไรกันบ้าง
จากสถิติของผลการดำเนินงาน โครงการจัดการและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ของทช.พบว่า สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นระหว่างปีพ.ศ. 2558-2560 (กราฟที่ 1.) จำแนกได้ดังนี้
1.กลุ่มเต่าทะเลจำนวน 669 ตัว แบ่งเป็น เกยตื้นมีชีวิตจำนวน 334 ตัว (คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์) และซากเกยตื้น 335ตัว (คิดเป็น50เปอร์เซ็นต์)
2.กลุ่มโลมาและวาฬจานวน547ตัวแบ่งเป็นเกยตื้นมีชีวิตจำนวน51ตัว(คิด เป็น9เปอร์เซ็นต์) และซากเกยตื้น496ตัว (คิดเป็น91เปอร์เซ็นต์)
3.กลุ่มพะยูนจำนวน41ตัวแบ่งเป็นเกยตื้นมีชีวิตจำนวน 6 ตัว (คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์) และซากเกยตื้น 35 ตัว (คิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์)
รวมสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งหมดตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีจานวน 1,257 ตัว
(กราฟที่ 1. แสดงการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากแต่ละชนิดเป็นจานวนสะสมระหว่างปี พ.ศ. 2558- 2560)
หากลงดูรายละเอียดในแต่ละกลุ่มจะพบว่า เต่าทะเลที่เกยตื้นมีชีวิต ระหว่างปีพ.ศ. 2558-2560 มีทั้งหมดมีจำนวน 334 ตัว มีเต่าทะเลที่ตายในระหว่างการขนย้ายและการอนุบาลพักฟื้นจำนวน 49 ตัว และเต่าทะเลที่อยู่ในระหว่างอนุบาลพักฟื้นและปล่อยคืนสู่ทะเลจำนวน 289 ซึ่งถือเป็นจำนวนเต่าทะเลที่รอดชีวิตโดยคิด เป็นอัตราการรอดชีวิตเท่ากับ 85.32 เปอร์เซ็นต์
กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ระบุว่าอัตราดังกล่าวนั้นถืออยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยสาเหตุการเกยตื้นส่วนใหญ่ของเต่า ทะเลเกิดจากการติดเครื่องมือประมง เศษอวนและขยะทะเล รวมทั้งปัจจัยจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต
(อัตราการรอดของเต่าทะเลเกยตื้นระหว่างปี พ.ศ. 2558-2560)
ในส่วนผลการช่วยเหลือโลมาและวาฬเกยตื้นมีชีวิต ระหว่างปีพ.ศ. 2558-2560 พบว่า มีโลมาและวาฬเกยตื้นมีชีวิตทั้งหมดมีจำนวน 51 ตัว มีโลมาและวาฬที่ตายในระหว่างการขนย้ายและการอนุบาลพักฟื้นจำนวน 22 ตัว และโลมาและวาฬที่อยู่ในระหว่างอนุบาลพักฟื้นและปล่อยคืนสู่ทะเลจำนวน 29 ตัวซึ่งถือเป็นจำนวนโลมาและวาฬที่ รอดชีวิตโดยคิดเป็นอัตราการรอดชีวิตเท่ากับ 56.86 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ซากที่พบเป็นซากเน่าถึงเน่ามากทำไม่สามารถระบุสาเหตุของการตายได้แน่ชัด โดยสาเหตุการเกยตื้นส่วนใหญ่ที่ระบุได้ของโลมาและวาฬเกิดจาก สาเหตุการติดเชื้อ การติดเครื่องมือประมง รวมทั้งปัจจัยเศษอวนและขยะทะเล
ปัจจุบันสถานภาพวาฬบรูด้าในอ่าวไทย มีประชากรประมาณ 50 ตัว โดยจากฐานข้อมูลการระบุตัวตนด้วยภาพถ่าย (Photo Identification) ของกรม ทช. ซึ่งดำเนินการศึกษาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) สามารถจำแนกอัตลักษณ์ของวาฬพร้อมทั้งตั้งชื่อวาฬไว้รวมประมาณ 60 ตัวในปีพ.ศ. 2560 พบแม่ลูกเกิดใหม่จำนวน 4 คู่ได้แก่
1. แม่กันยาลูกชื่อเจ้าปิ่น
2. แม่สาครลูกชื่อเจ้าสาคู
3. แม่พาฝันลูกชื่อเจ้ายินดี
4. แม่ทองดีลูกยังไม่ได้ตั้งชื่อ
โดยในปีพ.ศ. 2560 พบว่ามีอัตราการเกิดมากกว่าอัตราการตายโดยอัตราการเกิดปีพ.ศ.2560 ประมาณ 8% (4ตัว) ส่วนอัตราการตายปีพ.ศ.2560 ประมาณ 6% (3 ตัว)ส่วนในปีอื่นๆพบมีอัตราการตายประมาณ 2-4% เว้นเเต่ในปีพ.ศ. 2559 มีอัตราการตายประมาณ 15% ซึ่งมากกว่าอัตราการเกิด
อัตราการรอดของโลมาและวาฬเกยตื้นระหว่างปี พ.ศ. 2558-2560
ขณะที่ผลการช่วยเหลือพะยูนตื้นมีชีวิต ระหว่างปีพ.ศ. 2558-2560 พบว่ามีพะยูนตื้นมีชีวิตทั้งหมดมีจำนวน 6 ตัว โดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในฝั่งอันดามัน มีพะยูนที่ตายในระหว่างการขนย้ายและการอนุบาลพักฟื้นจำนวน 2 ตัว และพะยูนที่ปล่อยคืนสู่ทะเลจำนวน 4 ซึ่งถือเป็นจำนวนพะยูนที่รอดชีวิตโดยคิดเป็นอัตราการรอดชีวิตเท่ากับ 66.67 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ซากที่พบเป็นซากเน่าถึงเน่ามากทำให้ไม่สามารถระบุสาเหตุของการตายได้แน่ชัด
สาเหตุการเกยตื้นส่วนใหญ่ที่ระบุได้ของพะยูนเกิดจากสาเหตุการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันโดยอาจจะเกิดจาก สาเหตุของการติดเครื่องมือประมง การได้รับอุบัติเหตุจากเรือ รวมทั้งปัจจัยเศษอวนและขยะทะเล เป็นต้น
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า โครงการจัดการและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอัตรารอดของสัตว์ทะเลมี ชีวิตที่มาเกยตื้นจากปัจจุบันประมาณ 50 % เพิ่มขึ้นเป็น 80-90% เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ได้ตระหนักถึง ความสำคัญของสัตว์ทะเลหายากและการอนุรักษ์ และเข้ามามีบทบาทในการทางานร่วมกับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเล หายาก และจัดทำฐานข้อมูลสัตว์ทะเลเกยตื้นและวิธีการอนุบาลรักษาที่สมบูรณ์ ซึ่งการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก ที่เจ็บป่วยตามธรรมชาติและพัฒนาเทคโนโลยีการช่วยชีวิต เพื่ออนุบาลและฟื้นฟู
ทั้งนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากโดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลในปีพ.ศ. 2544 และลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์พะยูนในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งบันทึกความร่วมมือทั้งสองฉบับเป็นการทำร่วมกันของประเทศที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลทั้งสองกลุ่มภายใต้การสนับสนุนของสนธิสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์อพยพย้ายถิ่น (CMS) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN)
โดยที่ผ่านมา ทางกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ได้มีการจัดทำร่างร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสัตว์ทะเลหายากอันเป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศในการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับนั่นคือปัญหาของขยะในทะเลและการทิ้งเครื่องมือประมงจำพวก อวน ตาข่ายๆ ต่างๆ ในทะเล ดังเช่นกรณีล่าสุดที่มีคลิปวิดีโอของนักดำน้ำพบอวนประมงถูกตัดทิ้งปกคลุมแนวเขตปะการังบริเวณเกาะยาวาซำใกล้เกาะปอดะ ทะเลแหวก เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ พบปลาสวยงาม อาทิ ปักเป้า ปลาสิงโต ติดอยู่กับอวนจำนวนมาก หรืออย่างกรณีเต่าที่มักพบว่าตายเพราะกลืนเอาถุงพลาสติกลงไปในทุกๆ ปีเรามักได้ยินข่าวในทำนองนี้
ขณะที่ 100% ของขยะทะเลแบ่งเป็น ขยะที่เกิดจากกิจกรรมทางทะเล 20% ส่วนอีก 80% เป็นขยะที่เกิดขึ้นจากบนบก วันนี้ถ้าเราจะช่วยลดปัญหาสัตว์ทะเลที่ต้องตายจำนวนมากจากปัญหาขยะและเครื่องมือประมง คำตอบและทางออกที่ช่วยได้คงอยู่ที่พวกเรา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สลด! พบซากพะยูนถูกชำแหละซุกในป่าโกงกางบนเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง
ตัวจริงฉบับเต็ม!โชว์ผลชันสูตรพะยูนตรัง 'ตายก่อนถูกชำแหละ'-ใครเบื้องหลังขบวนการล่า?
ยันขบวนการล่า'พะยูน'จว.ตรังมีจริง! เผยผลผ่าพิสูจน์ตายก่อนถูกชำแหละ-อธิบดีลงพื้นที่ด่วน
โวยให้ข้อมูลเละเทะ!ผู้ว่าฯตรังชงมท.-ทหารตั้งคกก.ร่วมอนุรักษ์หาความจริงขบวนการล่าพะยูน