ทช.เผยยังไม่ทราบสาเหตุการตายลูกวาฬบรูด้า หลังพบติดคอกหอยแมลงภู่
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลการผ่าพิสูจน์ ซากวาฬบรูด้าหลังลอยติดคอกหอยแมลงภู่ที่สมุทคสงคราม พบเป็นลูก เพศเมีย อายุ4-6 เดือน คาดตายมาแล้ว7 วัน สภาพเน่ามาก ไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้
สืบเนื่องจากกรณีการ พบวาฬบรูด้า ยาว 8 เมตร ตายลอยอืดดอนหอยหลอด ติดคอกหอยแมลงภู่เมื่อวันที่31 ธันวาคม 2560ที่ผ่านมา ล่าสุดนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เปิดเผยหลังจากการลงตรวจสอบเหตุดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 โดย เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) สังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายจตุพร เผยว่า จากการนำซากวาฬขึ้นฝั่งจากบริเวณแปลงหอยแมลงภู่ มายังชายฝั่ง ต.บางแก้ว จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อผ่าพิสูจน์ซากหาสาเหตุการตาย นำโดยนายสุรศักดิ์ ทองสุกดี นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.ราชาวดี จันทรา (ศวทบ.) เเละ น.สพ.วีรพงษ์ เหล่าเวชประสิทธิ์ (ศวทอ.) โดยประสานงานร่วมกับนายวิสูตร นวมศิริ (คณะกรรมการ ทช. จังหวัดสมุทรสงคราม) ผลการชันสูตรซากวาฬบรูด้า พบว่าเป็นลูกวาฬบรูด้า เพศเมีย อายุประมาณ 4-6 เดือน มีความยาว 5.35 เมตรน้ำหนักประมาณ 1 ตันสภาพซากเน่ามาก คาดว่าตายมาเเล้วไม่ต่ำกว่า 7 วัน
สภาพภายนอกอืดบวม ด้านซ้ายของลำตัวพบการไหม้ของผิวหนังเนื่องจากแสงแดด ส่วนของลิ้นพบ tongue fold (ลักษณะที่ปรากฏในลูกวาฬ) พบลักษณะรอยคั่งเลือดและบวมน้ำบริเวณด้านขวาตลอดความยาวลำตัว และพบหอยแมลงภู่จำนวน 7 ตัวบริเวณคอหอย และ 1 ตัวบริเวณหลอดลมส่วนต้น กล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจปกติ กระเพาะอาหารไม่พบอาหาร ตั้งแต่ลำไส้ส่วนต้นจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนท้ายพบคราบน้ำนมตลอดความยาวลำไส้ อวัยวะภายในอื่นๆเช่น ปอด ตับ ไต ม้าม เละ เน่ามากไม่สามารถตรวจสอบรอยโรคได้ ดังนั้นเนื่องจากวาฬมีสภาพซากเน่ามาก ร่วมกับไม่พบรอยโรคที่บ่งชี้สาเหตุการตาย จึงไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถานภาพวาฬบรูด้าในอ่าวไทย มีประชากรประมาณ 50 ตัว โดยจากฐานข้อมูลการระบุตัวตนด้วยภาพถ่าย (Photo Identification) ของกรม ทช. ซึ่งดำเนินการศึกษาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) สามารถจำแนกอัตลักษณ์ของวาฬ พร้อมทั้งตั้งชื่อวาฬไว้ รวมประมาณ 60 ตัว ในปี พ.ศ. 2560 พบแม่ลูกเกิดใหม่ จำนวน 4 คู่ ได้แก่
1. แม่กันยา ลูกชื่อเจ้าปิ่น
2. แม่สาคร ลูกชื่อเจ้าสาคู
3. แม่พาฝัน ลูกชื่อเจ้ายินดี
4. แม่ทองดี ลูกยังไม่ได้ตั้งชื่อ
โดยในปี พ.ศ. 2560 พบว่ามีอัตราการเกิดมากกว่าอัตราการตาย โดยอัตราการเกิด ปี พ.ศ.2560 ประมาณ 8% (4 ตัว) ส่วนอัตราการตาย ปี พ.ศ.2560 ประมาณ 6% (3 ตัว) โดยตัวนี้เป็นตัวที่ 3 ส่วนในปีอื่น ๆ พบมีอัตราการตายประมาณ 2-4% เว้นเเต่ในปี พ.ศ. 2559 มีอัตราการตายประมาณ 15% ซึ่งมากกว่าอัตราการเกิด
จากการศึกษาของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) สังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน พบว่า ขณะนี้มีคู่แม่ลูกวาฬในอ่าวไทยตอนบน จำนวน 16 คู่ วาฬบรูด้ากินปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากะตัก ปลาไส้ตัน ปลาแป้น เป็นอาหาร ตัวเต็มวัยมีความยาวประมาณ 15 เมตร น้ำหนักประมาณ 20-30 ตัน เพศเมียตัวใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย ตั้งท้องนาน 12 เดือน ออกลูกเป็นประจำทุก 2 ปี ลูกเเรกเกิดยาวประมาณ 3.5-4.0 เมตร โดยพบวาฬบรูด้าแพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งทั้งอ่าวไทย เเละอันดามัน
“ปัจจุบันวาฬบรูด้าจัดเป็นสัตว์คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนเเละคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ทั้งนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้การดำเนินการศึกษาวิจัยและติดตามจำนวนประชากรวาฬบรูด้า อย่างต่อเนื่องในพื้นที่อ่าวไทย เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่และถิ่นอาศัย รวมทั้งกำหนดมาตรการท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าอย่างถูกวิธี”
ก่อนหน้านี้ทาง ทช.ได้จัดทำรายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากของไทย ปี 2560โดยระบุว่า พ.ศ.2558 - 2560 มีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นได้เฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57%โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5% สาเหตุการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลแลพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องประมง คิดเป็นสัดส่วน 74% และ 89% ตามลำดับ ในขณะที่การเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ คิดเป็น 63%
อ่านประกอบ ทช.เผย 3 ปี พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น419 ตัว 57% เป็นเต่าเหตุจากเครื่องมือประมง