- Home
- Isranews
- ข่าว
- โวยให้ข้อมูลเละเทะ!ผู้ว่าฯตรังชงมท.-ทหารตั้งคกก.ร่วมอนุรักษ์หาความจริงขบวนการล่าพะยูน
โวยให้ข้อมูลเละเทะ!ผู้ว่าฯตรังชงมท.-ทหารตั้งคกก.ร่วมอนุรักษ์หาความจริงขบวนการล่าพะยูน
ผวจ.ตรัง ชงหนังสือถึง 6 หน่วยงาน รวมรมว.มหาดไทย-แม่ทัพภาพ 4 เสนอตั้งคกก.ร่วมอนุรักษ์พะยูน หาข้อเท็จจริงข่าวขบวนการล่า โวยจนท.เขตห้ามฯ ให้ข่าวสองครั้งไม่ตรงกัน ลาดตระเวณพบซากเอง กับ ชาวบ้านแจ้ง ด้าน ตร.เจ้าของคดีมึนตามต่อไม่ถูก เหตุยังไม่เข้าข่ายความผิดอาญาพ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า ไม่พบการครอบครอง-ค้าซึ่งหน้า
ผู้สื่อข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พบซากพะยูนที่บริเวณป่าโกงกาง บริเวณปากคลองโต๊ะขุน หมู่ที่ 7 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พร้อมยืนยันเป็นฝีมือของขบวนการล่าพะยูน สอดคล้องกับข้อมูลของนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ออกมาให้ข่าวก่อนหน้านี้ ขณะที่หลายฝ่ายทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นักวิชาการ ตลอดจนชาวประมงในพื้นที่ ต่างตั้งข้อสังเกตุถึงลักษณะผิดปกติของการประทุษกรรมที่เกิดขึ้น นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตง.0017.3/1294 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560 เรื่อง สถานการณ์พะยูนในจังหวัดตรัง ถึงหน่วยบังคับบัญชาระดับสูง ประกอบด้วย 1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2.ปลัดกระทรวงมหาดไทย 3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และ พันธุ์พืช 5.อธิบดีกรมประมง และ 6.แม่ทัพภาคที่ 4
ระบุ ว่า ด้วยในช่วงเดือน ตุลาคม 2560 ได้ปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชนต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์พะยูนในจังหวัดตรังมาโดยตลอด ซึ่งทางจังหวัดตรังได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรที่หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องดำเนินการอนุรักษ์พะยูนตามแนวทางประชารัฐ คือ ข้าราชการ ประชาชน นักวิชาการ นักธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเบื้องต้น จังหวัดขอสรุปสถานการณ์พะยูนในจังหวัดตรังดังนี้ 1.พื้นที่จังหวัดตรังเป็นแหล่งพะยูนและหญ้าทะเลและมีระบบนิเวศน์เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของพะยูน ทำให้เป็นแหล่งพะยูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ 2.ไม่ปรากฎหลักฐานของกระบวนการการล่าพะยูน เพื่อนำเนื้อมาขายและทำอาหารในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเขี้ยวและกระดูกไปจำหน่ายเป็นเครื่องลางของขลัง 3.การตายที่ผิดธรรมชาติของพะยูนเกือบทั้งหมดเกิดจากเครื่องมือทำการประมงของชาวประมงที่ไม่ได้มีเจตนาฆ่าพะยูน 4.จังหวัด นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและชาวบ้านส่วนใหญ่ ได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหาสถานการณ์พะยูนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถิติการตายที่ผิดธรรมชาติของพะยูนลดลง และมีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้น
“ดังนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือประสานงานกันอย่างปรองดองสมานฉันท์เป็นเอกภาพตามแนวประชารัฐ จึงขอเรียนเสนอให้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อการอนุรักษ์พะยูนในพื้นที่ทะเลจังหวัดตรังอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด”หนังสือระบุ
ขณะที่ในช่วงเช้าวันที่ 25 ต.ค. ที่ห้องแถลงข่าวศาลากลางจังหวัดตรัง นายศิริพัฒ พร้อมด้วย พ.อ.พิชิต โพธิ์แก้ว รองผอ.กอ.รมน.ตรัง(ฝ่ายทหาร) พ.ต.อ.เอกณรงค์ สวัสดิกานนท์ ผกก.สภ.เมืองตรัง นายนันธวัช เจริญวรรณ นายอำเภอเมืองตรัง ร่วมแถลงข่าว
โดยนายศิริพัฒกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจ และติดตามว่าจะมีการจับกุมคนฆ่าพะยูนมาลงโทษได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาน่าแปลกใจว่าไม่เคยมีการจับกุมคนฆ่าพะยูนได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งการให้ข่าวในเรื่องนี้มีการใช้ศัพท์ที่สะเทือนใจคนส่วนใหญ่ เช่นใช้คำว่ามีกระบวนการล่าเกิดขึ้นในข่าว ดังนั้น การให้ข่าวเป็นข้อที่ข้าราชการจะต้องระวัง คำว่า กระบวนการล่า คนตรังรับไปเต็มๆว่า ตรังมีกระบวนการล่า หมายถึงมีการจัดกำลัง มีการตั้งใจและมีการทำให้ตายโดยเจตนา และยังมีคำต่ออีกว่า นำไปกินผัดเผ็ดคั่วกลิ้งในเมนู เละเทะไปกันใหญ่
“เรื่องนี้ไม่รู้ว่าตัวหัวหน้าพูด หรือแหล่งข่าวพูด แต่ยังตบท้ายอีกว่าจังหวัดปิดข่าว กลายเป็นว่ากูดีมึงชั่ว ผมไม่ได้พูดว่ามีการจัดฉาก แต่คำว่าจัดฉากเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะการพูด 2 ครั้งที่ไม่เหมือนกัน ครั้งแรกพูดในทำนองว่า เป็นฮีโร่ รับนโยบายมาจากผู้บังคับบัญชา รีบอดหลับอดนอนทำทั้งวันทั้งคืนเพื่อหากระบวนการล่า ในที่สุดก็เจอว่ามีการล่าจริงตามที่ผู้บังคับบัญชาได้ให้ข่าวไว้ แต่มาให้สัมภาษณ์อีกครั้งกลับบอกว่ามีชาวบ้านมาแจ้ง เป็นการให้ข้อมูลโดยคนๆเดียวแต่ไม่ตรงกัน”ผู้ว่าฯตรังระบุ
ต่อมา ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับมอบหมายเดินทางมาแทนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อร่วมประชุมหารือกับทางมูลนิธิอันดามัน ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลตรัง ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้านตำบลเกาะลิบง โดยมี นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พล.ต.ต.สมพงษ์ ทองใบ ผบก.ภ.จว.ตรัง พ.อ.พิชิต โชติแก้ว รอง ผอ.กอ.รมน.ตรัง นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ กรรมการมูลนิธิอันดามัน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 คน
พ.อ.พิชิต กล่วว่า ทางกอ.รมน.ตรังปฎิบัติงานดูแลงานด้านความมั่นคงคู่ขนานกับหน่วยงานปกติ ในเรื่องของพะยูนที่ถูกฆ่าตายนั้น รับทราบมาตั้งแต่วันแรก เชื่อว่าชาวบ้านทุกคนรักและหวงแหนพะยูน ขณะนี้หน่วยข่าวความมั่นคง ได้ประชุมติดตามกรณีที่เกิดขึ้นและได้มีการสั่งการให้หน่วยข่าวลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และองค์ประกอบทั้งหมด เพื่อประกอบการติดตามหาผู้ประทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
ด้านพล.ต.ต.สมพงษ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ ผกก.สภ.กันตัง เจ้าของพื้นที่เข้าไปดูว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร ซึ่งตนได้ลงไปดูด้วยตัวเองที่เกาะลิบง จากการสอบถามชาวบ้านแต่ละล้วนคนรักและหวงแหนพะยูน ดังนั้นใครก็ตามที่กระทำผิดกฎหมายกับพะยูน จะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งจะต้องสืบสวนกันไปตามกระบวนการ
ขณะที่นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ที่ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับจังหวัดขึ้นมาอนุรักษ์พะยูนที่ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน อีกทั้งต้องอาศัยความสามารถในหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ชุมชน ชาวประมง โดยให้จังหวัดเล่นบทนำในการอนุรักษพะยูนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จริงๆเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาจังหวัดตรัง โดยเฉพาะชาวบ้านเกาะลิบง และยังเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่มีประสิทธิภาพมาก ในส่วนของกรมอุทยานฯเอง การมาวันนี้จึงเป็นการเน้นย้ำว่าจะต้องมีการทำงานร่วมกัน โดยอธิบดีกรมอุทยานฯได้ให้นโยบายและแนวทางว่า การตายอย่างผิดธรรมชาติของพะยูนครั้งนี้เป็นตัวสุดท้าย และต้องพยายามไม่ทำให้พะยูนตายอย่างผิดธรรมชาติอีก
“เรื่องนี้ทางกรมอุทยานฯจะเร่งบูรณาการในเรื่องของการออกลาดตระเวน ดูแลคุ้มครองพะยูนด้วยกัน โดยที่จังหวัดตรัง มีทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทั้ง 2 พื้นที่จะได้มีการร่วกันทำงานอย่างเข้มข้น เนื่องจากพะยูนอาศัยอยู่กระจัดกระจาย และที่ผ่านมาภัยคุกคามพะยูนมีหลายอย่างไม่ว่าติดเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย การสูญเสียแหล่งหญ้าทะเล เรื่องของมลภาวะ หรือขยะทะเล” นายปิ่นสักก์ กล่าว
หลังจากนั้นในที่ประชุมเปิดโอกาสให้ให้ตัวแทนทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นถึงการวางแนวทางต่อการอนุรักษ์พะยูน โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอร่วมกัน ดังนี้ 1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอนุรักษ์พะยูน สัตว์ทะเลหายากและพื้นที่หญ้าทะเล จังหวัดตรัง 2.บรรจุแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักของจังหวัดตรัง 3.บรรจุแผนอนุรักษ์ฟื้นฟูเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรังในบริบท 4 อ่าว 5 อำเภอ และ 4.จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตของพะยูนตัวล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าทางคดี ทางสภ.กันตังเจ้าของคดี ได้รับแจ้งความลงบันทึกประจำวันจากนายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และนายสุวิทย์ สารสิทย์ สมาชิกทีมพิทักษ์ดุหยง ซึ่งเป็นผู้นำซากพะยูนดังกล่าวเข้าแจ้งความ โดยบันทึกแจ้งความ ลงเวลา 21.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม ระบุนายชัยพฤกษ์ ให้ปากคำลงบันทึกประจำวันว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม เวลาประมาณ 16.00 น. ขณะได้ตรวจลาดตระเวนบริเวณอ่าวทุ่งจีน ต.เกาะลิบง ขณะลาดตระเวนได้พบซากพะยูนมีเฉพาะส่วนลำไส้และหนัง ส่วนอื่นได้หายไป พบที่บริเวณคลองโต๊ะขุน หมู่ที่ 7 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง คาดว่าเสียชีวิตมาประมาณ 2 วัน ซากผูกติดอยู่กับป่าโกงกาง โดยไม่ทราบว่าตายโดยสาเหตุใดหรือการกระทำของผู้ใด จึงมาขอลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป ทั้งนี้บันทึกแจ้งความดังกล่าวมี พ.ต.ต.มนตรี ไชยมล สารวัตรสอบสวน สภ.กันตังเป็นผู้รับแจ้ง
ด้านพ.ต.อ.พีระพงษ์ ฉายอรุณ ผกก.สภ.กันตัง เจ้าของคดีเปิดเผยว่า ขณะนี้ถือว่าคดียังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากทางตำรวจได้รับแจ้งความจากการนำซากพะยูนดังกล่าวซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนมาแจ้งเท่านั้น และสภาพซากมีความเน่ามาก โดยล่าสุดผลชันสูตรจากสัตวแพทย์ระบุเพียงมีการเสียชีวิตมาก่อนแล้วถูกชำแหละ โดยมีการตัดเนื้อและอวัยวะบางส่วนออกไป ซึ่งกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาในกรณีซากพะยูนดังกล่าว หากจะเข้าข่ายกรณีข่ายความผิดตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ต้องประกอบด้วย 2 ข่ายความผิด คล้ายๆกับกรณีที่เคยมีการจับกุมขบวนการค้าตัวนิ่ม ซึ่งเป็นลักษณะที่ต้องพบการกระทำความผิดซึ่งหน้า ได้แก่ 1.การครอบครองซากสัตว์สงวน ซึ่งติดปัญหาที่ไม่ปรากฎการจับกุมการครอบครองซึ่งหน้า และ 2.การค้าสัตว์ป่าสงวน ทั้งเนื้อและอวัยวะต่างๆ ก็ยังไม่ชัด เพราะไม่ปรากฎการจับกุมความผิดซึ่งหน้าเช่นกัน ส่วนจะมีการติดตามถึงผู้ครอบครองเนื้อ กระดูกและอวัยวะที่หายไปหรือไม่นั้น ต้องเป็นเรื่องการติดตามสืบสวนสอบสวนต่อไป ซึ่งจนขณะนี้ยังไม่พบว่าชิ้นส่วนพะยูนดังกล่าวไปอยู่ที่ใด มีการนำไปรับประทานหรือไม่
อ่านประกอบ :
ตัวจริงฉบับเต็ม!โชว์ผลชันสูตรพะยูนตรัง 'ตายก่อนถูกชำแหละ'-ใครเบื้องหลังขบวนการล่า?