- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกข้อมูลยักยอกเงินคลองจั่นฉบับ ป.ป.ช. กรมส่งเสริมฯรู้ตั้งแต่ปี’46-นายทะเบียนเกียร์ว่าง?
พลิกข้อมูลยักยอกเงินคลองจั่นฉบับ ป.ป.ช. กรมส่งเสริมฯรู้ตั้งแต่ปี’46-นายทะเบียนเกียร์ว่าง?
“…เมื่อปี 2546-2547 ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน พบข้อบกพร่องของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลายประเด็น เช่น ไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการให้กู้ และดอกเบี้ยเงินกู้ ประธานบอร์ดมาช่วยปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้จัดการ เมื่อผู้สอบบัญชีภาคเอกชนตรวจสอบพบข้อบกพร่องดังกล่าว ได้แจ้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ทราบ แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แจ้งต่อนายทะเบียนสหกรณ์ แต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพียงแต่แจ้งให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า การทุจริตในสหกรณ์ทั่วประเทศ กำลังเป็นประเด็นร้อนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องนำเสนอมาตรการแก้ปัญหาแก่คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารในสหกรณ์เท่านั้นที่ทำการทุจริต แต่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีหน้าที่ดูแล-ตรวจสอบสหกรณ์โดยตรง กลับไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง หรือทำแล้ว แต่ไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ (อ่านประกอบ : กางหน้าที่กรมส่งเสริม-ตรวจบัญชีสหกรณ์!คลี่เงื่อนปมปัญหาไฉนทุจริตหมื่นล.แก้ไขไม่ทัน?)
โดยเฉพาะกรณีการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น วงเงินรวมหลายหมื่นล้านบาท ที่มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานฯ กับพวก ยักยอกเงินออกไปมหาศาล จนทำให้สหกรณ์ต้องเข้าสู่สถานะล้มละลาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการนั้น หากไม่ปรากฏการรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชนแล้ว คงยากที่จะทราบได้ว่า เกิดปัญหาการทุจริตขึ้น ?
ปัจจุบันคดียักยอกเงิน และคดีฟอกเงิน ที่สืบเนื่องจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในมือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีอย่างน้อย 13 คดี (อ่านประกอบ : INFO: 13 คดียักยอก-ฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯในมือดีเอสไอ-เบ็ดเสร็จ 2 หมื่นล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจากข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. สรุปได้ 7 ประเด็น ดังนี้
1.การใช้อิทธิพลส่วนบุคคลเข้าครอบงำสหกรณ์ มีการใช้อัตราดอกเบี้ยสูงในการดึงดูดสมาชิกเข้ามาร่วมกับสหกรณ์ ในการครอบงำนั้น นายศุภชัย และนายมณฑล กันล้อม สลับกันเป็นประธานกรรมการสหกรณ์ ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2526 จนถึงปี 2556 ทำให้เจ้าหน้าที่ภายในสหกรณ์ทุกคนต้องผ่านความเห็นชอบของนายศุภชัย และนายมณฑล ทั้งสิ้น รวมถึงการขึ้นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ภายในมิได้มีบรรทัดฐานอย่างชัดเจน ทำให้จะเพิ่มหรือลดเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ใดก็ทำได้ โดยเป็นข้อบังคับของสหกรณ์ ชี้ให้เห็นว่า นายศุภชัย มีอิทธิพลครอบงำสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
2.การระดมทุนเข้าสหกรณ์โดยมิชอบด้วยระเบียบ ข้อบังคับ ถ้าเป็นประชาชนนำเงินมาฝากจ่ายจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง ถ้าเป็นเงินปันผลได้รับร้อยละ 10 ต่อปี ถ้าเป็นเงินฝากพิเศษจะได้ดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ในส่วนของเงินรับฝากจากสหกรณ์ด้วยกันจะมีค่าบำเหน็จให้ผู้แทนสหกรณ์อื่นประมาณร้อยละ 5-6 ด้วย
3.การยักยอกเงินออกจากสหกรณ์ นานยศุภชัย จะใช้วิธีปลอมมติของที่ประชุมซึ่งตามระเบียบมีอยู่ว่าจะให้ประธานกรรมการ หรือผู้จัดการในการสั่งจ่ายเช็ค นายศุภชัย ได้ทำหนังสือถึงธนาคารในการเปลี่ยนชื่อผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเช็ค ทำให้สามารถสั่งจ่ายเช็คได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องมีที่มาที่ไป
4.การขาดมาตรฐานทางบัญชีในระบบสหกรณ์ เมื่อมีการชำระบัญชีสิ้นปี ปรากฏว่า การกระทบยอดทางบัญชี เช่น เงินขาดไปจำนวน 700 ล้านบาท นายศุภชัย จะทำการปลอมหนังสือสัญญากู้เงินขึ้นมาให้เท่ากับจำนวน 700 ล้านบาทที่ขาดไป ทำให้ในแต่ละปีสัญญาถูกแก้ไขทุกปี ทำให้ไม่สามารถทราบยอดได้ว่า มียอดเงินที่ถูกกู้จำนวนเท่าไหร่
5.เมื่อปี 2552 พบกรณีการเบิกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ไม่มีความโปร่งใส นายศุภชัย ได้นำเงินออกจากสหกรณ์ 150 ล้านบาท โดยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเอง มีเอกสารเบิกจ่ายเพียงใบสำคัญการจ่ายเงินที่ให้ไว้กับฝ่ายการเงิน ถ้าตามปกติแล้ว การจะนำเงินออกจากสหกรณ์นั้น ต้องผ่านการประชุมของคณะอำนวยการดำเนินงานเพื่อมีมติว่า ให้นำเงินไปดำเนินการใด ๆ แต่กรณีนายศุภชัย สามารถนำเงินออกจากสหกรณ์ได้โดยไม่ต้องผ่านมติคณะกรรมการดำเนินการ
6.เมื่อปี 2546-2547 ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน พบข้อบกพร่องของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลายประเด็น เช่น ไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการให้กู้ และดอกเบี้ยเงินกู้ ประธานบอร์ดมาช่วยปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้จัดการ เมื่อผู้สอบบัญชีภาคเอกชนตรวจสอบพบข้อบกพร่องดังกล่าว ได้แจ้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ทราบ แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แจ้งต่อนายทะเบียนสหกรณ์ แต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพียงแต่แจ้งให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น
7.กรณีการกล่าวโทษ ผู้ที่สามารถกล่าวโทษเกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์ได้แก่ สมาชิกสหกรณ์ แต่สมาชิกไม่สามารถทราบถึงการดำเนินการภายในสหกรณ์ได้ จะทราบเพียงรายงานประจำปี ซึ่งผ่านการตกแต่งบัญชีมาแล้ว เช่นกรณีนี้ เกิดจากบอร์ดสหกรณ์ที่ขัดแย้งกัน สมาชิกจึงได้รับทราบถึงปัญหาการดำเนินการของสหกรณ์ โดยการก่อตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เริ่มจากบุคคล 3 ราย คือ นายศุภชัย นายมณฑล และนายวิวัฒน์ พัฒนศักดิ์สุธี โดยนายมณฑล และนายศุภชัย ได้สลับกันเป็นประธานมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2526 ต่อมาในปี 2554-2555 เริ่มมีความขัดแย้งระหว่างนายมณฑล และนายศุภชัย
จากสภาพปัญหาการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเร่งรัดติดตาม แก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นมีผลดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการคือ มีผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ จำนวน 1,7885 ราย มูลหนี้ 2.04 หมื่นล้านบาท
นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างการทุจริตที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ถูกปิดเงียบไว้แทบไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง แม้แต่บรรดาสมาชิกเองก็ตาม กระทั่งปี 2546-2547 ที่ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน เข้ามาตรวจสอบ จนพบความไม่ชอบมาพากล และแจ้งไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ดูแลแล้ว แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งนายทะเบียนไป แต่นายทะเบียนกลับไม่ดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพียงแค่สั่งการให้สหกรณ์แก้ไขกันเอง จนปัญหาหมักหมม และปะทุขึ้นเมื่อช่วงปี 2554-2555 ที่ผ่านมา จนเงินถูกยักยอกไปนับหมื่นล้านบาท และสุดท้ายก็ถึงคราวล่มสลายลง
ในตอนหน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรณีเข้าไปตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำงบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โปรดติดตาม !
อ่านประกอบ :
เจาะแฟ้ม ป.ป.ช.ไม่ใช่แค่บอร์ดบริหาร! จนท.รัฐตัวจักรสำคัญละเลยทุจริตสหกรณ์เจ๊งหมื่นล.?
ยกปมคลองจั่นฯทุจริต!เปิดมาตรการ ป.ป.ช. ชง ครม.แก้ปัญหาสหกรณ์ทั่ว ปท.ทำอย่างไรได้ผล?
ทุจริต277แห่งเจ๊ง1.8หมื่นล.!ป.ป.ช. โชว์พฤติการณ์สหกรณ์ ทั้งยักยอกเงิน-ปลอมลายมือบอร์ด