- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ปมที่ยังไม่เคลียร์?‘โซลาร์ฟาร์ม’ 5พันล.อผศ.ใช้ที่ดินจากไหน-2 บ.ทหารนั่ง กก.ได้งาน
ปมที่ยังไม่เคลียร์?‘โซลาร์ฟาร์ม’ 5พันล.อผศ.ใช้ที่ดินจากไหน-2 บ.ทหารนั่ง กก.ได้งาน
“… นอกจากนี้ยังมีประเด็นกล่าวหาว่า นายทหารยศพลเอกชื่อย่อ ‘เสธ.จ.’ ที่สนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูงใน อผศ. รายหนึ่ง เข้ามาเรียกรับผลประโยชน์กับบรรดาเอกชนที่เข้ามาวิ่งเต้นให้ได้ร่วมลงทุนดังกล่าว โดยเอกชนแต่ละรายต้องจ่ายเงิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ เท่ากับว่า ‘เสธ.จ.’ จะได้รับเงินจากส่วนนี้ประมาณ 100 ล้านบาท (เพราะ อผศ. ได้โควตา 100 เมกะวัตต์) แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เอกชนได้รับ นั่นจึงอาจเฉลยอีกว่า เหตุใดเอกชนหลายรายจึงต้องการได้งานในส่วนนี้…”
“คุ้น ๆ มาว่า อผศ. มีที่ดินส่วนตัวอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอโควตา 100 เมกะวัตต์ เพราะ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้ที่ดินประมาณ 8-10 ไร่ 100 เมกะวัตต์ ต้องใช้ 80-100 ไร่ อาจมีส่วนหนึ่ง แต่ไม่พียงพอ จึงให้เอกชนเสนอที่ดินตรงนี้ให้เขา โดยต้องโอนเป็นกรรมสิทธิ์ให้แก่ อผศ.”
เป็นคำยืนยันจากนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ที่ตอบคำถามสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีเข้าไปร่วมลงทุนกับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 (โซลาร์ฟาร์ม) ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่ปัจจุบันยื่นขอโควตาไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวม 100 เมกะวัตต์ สัญญา 25 ปี แล้ว
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า เอกชนดำเนินการหาที่ดินที่ตั้งโครงการเกือบทั้งหมด อผศ. อาจมีที่ดินเยอะ แต่ที่ดินบางแห่งไม่มีศักยภาพในการดำเนินการ คืออาจไม่มีสายส่ง หรืออะไรก็ตามแต่ในเชิงเทคนิคของการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ทำให้ที่ดินอาจไม่ครบจำนวน 100 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงมอบหมายให้เอกชนดำเนินการหามา ก่อนจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เขา และแบ่งรายได้จากค่าไฟให้เขาด้วย เพราะเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด แต่ละรายยื่นข้อเสนอ โชว์ศักยภาพในการทำโซลาร์ฟาร์ม ขายไฟได้ เชื่อมกับสายส่งได้
“เอกชนต้องรู้เองว่าที่ดินตรงไหนมีศักยภาพทำได้ อผศ. ไม่รู้หรอก เขาไม่ได้อยู่ในวงการ แต่พวกเรามี value กึ๋น มีนักพัฒนา และเอกชนทั้ง 10 รายที่ผ่านการคัดเลือกก็เป็นตัวจริงในด้านธุรกิจพลังงาน ดำเนินการธุรกิจด้านนี้มาอย่างช้านาน”
(อ่านประกอบ : ‘อิศรา’ถาม ผจก.ใหญ่‘บีซีพีจี’ตอบ! ปมร่วมทุน ‘โซลาร์ฟาร์ม’-เชิญ‘น้องบิ๊กป้อม’นั่ง กก.?)
จากคำตอบดังกล่าว เหมือนเฉลยข้อเท็จจริงอีกด้านเกี่ยวกับประเด็น ‘ที่ดิน’ ซึ่งถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า ตกลงแล้ว อผศ. มีที่ดินไปดำเนินการจริงหรือไม่ ?
เพราะตามระเบียบ กกพ. ทั้ง 2 ฉบับ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2560 และฉบับที่สองเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 (ช่วงเวลาดังกล่าว คือช่วงที่ อผศ. ดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้มาร่วมทุน) ระบุไว้สรุปได้ว่า ส่วนราชการที่จะได้รับโควตาจาก กกพ. จะต้องมีที่ดินของตัวเอง หรือเป็นที่ดินราชพัสดุที่ส่วนราชการเป็นผู้ครอบครอง
ระเบียบดังกล่าว สวนทางกับแนวทางของ อผศ. ที่ระบุว่า เอกชนที่จะเสนอขอร่วมลงทุนกับ อผศ. จะต้องมีที่ดินขนาด 8-10 ไร่ เพื่อดำเนินการใน 1 เมกะวัตต์ และที่ดินดังกล่าวจะต้องมีประสิทธิภาพเพียงพอในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ต้องพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้กับ อผศ. เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 ด้วย
(อ่านประกอบ : คำถามถึง กกพ.ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ.ต้องใช้ที่ดินใคร-โอนกรรมสิทธิ์ทีหลังได้หรือ?)
แหล่งข่าวจากบริษัทเอกชนหลายรายยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรงกันว่า การลงทุน 1 เมกะวัตต์ของโครงการนี้ ต้องใช้เงินประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เสียไปกับค่าที่ดิน เพราะไม่ใช่ที่ดินตรงไหนจะทำก็ได้ แต่ต้องใช้ที่ดินที่เหมาะสมกับโซลาร์ฟาร์มด้วย
นั่นเท่ากับว่า ตามการจัดสรรของ อผศ. ให้เอกชน 10 รายที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย ที่ส่วนใหญ่แบ่งเป็นโครงการละ 5 เมกะวัตต์ รวม 25 โครงการ เอกชนจะต้องใช้งานประมาณ 5,000 ล้านบาทเศษ
เงื่อนปมสำคัญคือ ตกลงแล้วตอน อผศ. ยื่น กกพ. เพื่อขอ ‘โควตา’ มีที่ดินของตัวเองจริงหรือไม่ หากมี มีเท่าไหร่ หากไม่มีจะใช้ที่ดินจากเอกชนก่อนโอนกรรมสิทธิ์ทีหลังได้หรือไม่ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่าวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ คือ ต้องการให้ส่วนราชการนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาปัดฝุ่นใช้ประโยชน์ให้เกิดกับส่วนราชการมากที่สุด !
นอกจากนี้ยังมีประเด็นกล่าวหาว่า นายทหารยศพลเอกชื่อย่อ ‘เสธ.จ.’ ที่สนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูงใน อผศ. รายหนึ่ง เข้ามาเรียกรับผลประโยชน์กับบรรดาเอกชนที่เข้ามาวิ่งเต้นให้ได้ร่วมลงทุนดังกล่าว โดยเอกชนแต่ละรายต้องจ่ายเงิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์
เท่ากับว่า ‘เสธ.จ.’ จะได้รับเงินจากส่วนนี้ประมาณ 100 ล้านบาท (เพราะ อผศ. ได้โควตา 100 เมกะวัตต์)
แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เอกชนได้รับ จึงอาจเฉลยอีกว่า เหตุใดเอกชนหลายรายจึงต้องการได้งานในส่วนนี้ ?
อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงส่วนนี้ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เพราะว่า อผศ. และกระทรวงกลาโหม โดย พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ผอ.อผศ. และ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า โครงการนี้ดำเนินการด้วยความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่มีประเด็นเรียกรับหัวคิวแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีประเด็น ‘ธรรมาภิบาล’ ที่ถูกตั้งคำถามอย่างมาก คือกรณีมีเอกชนอย่างน้อย 2 ราย ที่ปรากฏชื่อนายทหารระดับสูง 4 ราย คือบริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ที่มี พล.อ.นิพนธ์ สีตบุตร เครือญาติ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ที่มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.อุทิศ สุนทร และ พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ ไปเป็นกรรมการด้วย
(อ่านประกอบ : บีซีพีจี’เอกชนร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ. ‘น้องบิ๊กป้อม-2พล.อ.’กก.- ปัดใช้อิทธิพลได้งาน, เปิดตัวบ.เข็มเหล็กฯร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ.-'พล.อ.'ญาติ‘บิ๊กโด่ง’นั่ง ปธ.ช่วงคัดเอกชน)
ทั้งนี้ 2 บริษัทดังกล่าว ยืนยันว่า การคัดเลือก 4 นายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้ามานั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการ หรือกรรมการบริษัทขณะนั้น ไม่ทราบในรายละเอียด
ประเด็นนี้ พล.ต.คงชีพ ยืนยันว่า ไม่ทราบรายละเอียดของเอกชนแต่ละราย เพราะเป็นเรื่อง อผศ. แต่เรียนตามตรงว่า ไม่ว่าญาติใครก็แล้วแต่ ถ้ามาด้วยวิธีการถูกต้อง ถือว่าเป็นสิทธิ แต่ถ้ามาไม่ถูกต้อง ต้องว่ากันในรายละเอียด หากมีการสำแดงเอกสารเป็นเท็จ หรือองค์ประกอบเป็นเท็จ อผศ. ต้องไปตรวจสอบว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เบื้องต้นไม่สามารถตอบแทน อผศ. เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกได้ ต้องให้ ผอ.อผศ. (พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์) เป็นผู้ชี้แจง
ทั้งหมดคือ 2 เงื่อนปมสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบจาก อผศ. และ กกพ. ว่า ตกลงแล้วจะเข้าไปจัดการอย่างไร จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงหรือไม่
แล้วท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลทุกส่วนราชการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานอย่างสุจริต และห้ามเห็นแก่ผลประโยชน์พวกพ้อง
จะทำได้อย่างที่พูด หรือว่าจะปล่อยให้เงียบหายดั่งสายลมเหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
บีซีพีจี’เอกชนร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ. ‘น้องบิ๊กป้อม-2พล.อ.’กก.- ปัดใช้อิทธิพลได้งาน
แกะรอย‘พล.อ.’ญาติ‘บิ๊กโด่ง’นั่ง กก. บ.เข็มเหล็ก หลังปิดรับร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’แค่ 5 วัน
เปิดตัวบ.เข็มเหล็กฯร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ.-'พล.อ.'ญาติ‘บิ๊กโด่ง’นั่ง ปธ.ช่วงคัดเอกชน
ไทม์ไลน์-เบื้องหลัง!ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ. ข้อสงสัยถึงกระบวนการคัดเอกชนร่วมทุน?
อผศ.นัดเอกชนคืนเงินประกัน1ล. ปมไม่ได้ร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’-หลายรายไม่ยอมจ่อยื่นอุทธรณ์
คำถามถึง กกพ.ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ.ต้องใช้ที่ดินใคร-โอนกรรมสิทธิ์ทีหลังได้หรือ?
ยื่น กกพ.สอบ อผศ.เอาที่ดินจากไหนทำ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ ใช้ของเอกชนได้หรือไม่
แกะรอย‘พล.อ.’ญาติ‘บิ๊กโด่ง’นั่ง กก. บ.เข็มเหล็ก หลังปิดรับร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’แค่ 5 วัน
เปิดตัวบ.เข็มเหล็กฯร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ.-'พล.อ.'ญาติ‘บิ๊กโด่ง’นั่ง ปธ.ช่วงคัดเอกชน
สะพัด กห.เสียงแตก!เซ็ตซีโร่‘โซลาร์ฟาร์ม’ โฆษกยันไม่จริง-ญาติ‘บิ๊กโด่ง’ได้งานเป็นสิทธิ์
เปิด 10 เอกชนผ่านรอบสุดท้ายร่วมทุน ‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ.-2 บริษัท กก.เดียวกันได้ด้วย
เบื้องหลัง!อผศ.ร่วมเอกชนลงทุน‘โซลาร์เซลล์’ -เปิด 21 บริษัท ก่อนถูกร้องปมเรียกเงิน?
ไทม์ไลน์-เบื้องหลัง!ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ. ข้อสงสัยถึงกระบวนการคัดเอกชนร่วมทุน?
ทำธุรกิจให้คำปรึกษา!พบอีก2เอกชนร่วมทุน 'โซลาร์เซลล์'อผศ.ใช้ที่อยู่-กก.เดียวกัน
พบเอกชน4รายผ่านการคัดเลือกร่วมทุน ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.ใช้ กก.คนเดียวกัน
ปูดชื่อ‘เสธ.จ.’คนอ้าง คสช.-ประวิตร เรียกเงิน ‘โซลาร์เซลล์’ อผศ.-ร้อง‘บิ๊กตู่-กห.’สอบ
ยื่น ป.ป.ช.ไต่สวน ผอ.อผศ.-จนท.ปม ‘โซลาร์เซลล์’ให้ กห.สอบเชิงลึกหาตัว ‘เสธ.จ.’
เปิดบันทึก-ประกาศ กกพ.! ชัดๆ อผศ. เอา‘ที่ดิน’จากไหนมาทำ‘โซลาร์เซลล์’?
ส่งหลักฐานได้ทุกช่องทาง!ผอ.อผศ.ลั่นเอาผิดคนอ้างชื่อคสช.-ประวิตรรับปย.โซลาร์เซลล์
คำชี้แจง กห.เทียบข้อมูล‘อิศรา’ปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-2 ข้อสงสัยที่ยังไม่เคลียร์?
ไร้กลุ่มอิทธิพลแทรกแซง!โฆษก กห.แจงปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-ยันคัดเอกชนโปร่งใส