- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- คำชี้แจง กห.เทียบข้อมูล‘อิศรา’ปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-2 ข้อสงสัยที่ยังไม่เคลียร์?
คำชี้แจง กห.เทียบข้อมูล‘อิศรา’ปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-2 ข้อสงสัยที่ยังไม่เคลียร์?
“…ต่อมาเมื่อเดือน มี.ค.-พ.ค. 2560 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงออกประกาศหาส่วนราชการและสหกรณ์เพื่อดำเนินการร่วมเอกชนลงทุนในโครงการ ‘โซลาร์เซลล์’ กระทั่ง อผศ. ได้ดำเนินการในฐานะส่วนราชการ และคัดเลือกเอกชนซ้ำอีกครั้ง จนเหลือ 21 แห่ง เท่ากับว่า อผศ. อาจรู้ล่วงหน้าหรือไม่ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงให้เอกชนมาขึ้นทะเบียนไว้ก่อน ?...”
“ขั้นตอนการคัดเลือก ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการคัดเลือกไว้อย่างละเอียด รอบคอบ และมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน รวมทั้งถือประโยชน์ของ อผศ. เป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้เอกชนที่มีความพร้อม ได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว”
“ทุกขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการ อผศ. มีความโปร่งใส ยุติธรรม มีการชี้แจงให้เอกชนที่เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการให้ทราบในทุกขั้นตอน รวมทั้งพิจารณาว่า เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรายใดจะได้รับการคัดเลือกก็จะมีทั้งคณะทำงานที่ทำหน้าที่กลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของ อผศ. ด้วย ดังนั้นข้อร้องเรียนว่า มีกลุ่มอิทธิพลเข้ามาชี้นำแทรกแซงการดำเนินการของ อผศ. จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด”
เป็นคำยืนยันจาก พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ชี้แจงตอบโต้กระแสข่าวการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการ ‘โซลาร์เซลล์’ จำนวน 100 เมะวัตต์ สัญญา 25 ปี ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่ถูกร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และกระทรวงกลาโหม ให้เข้ามาตรวจสอบกรณีมีกลุ่มผู้มีอิทธิพล นำโดยนายทหารยศนายพล ‘เสธ.จ.’ มีพฤติการณ์เรียกรับผลประโยชน์จากเอกชนที่เข้ามาวิ่งเต้นให้ได้เข้าร่วมลงทุนกับ อผศ. โดยเก็บรายละ 1 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : ไร้กลุ่มอิทธิพลแทรกแซง!โฆษก กห.แจงปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-ยันคัดเอกชนโปร่งใส)
อย่างไรก็ดียังคงมีข้อเท็จจริงบางประการที่ พล.ต.คงชีพ และ อผศ. ชี้แจงไม่คลายข้อสงสัย ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปได้ดังนี้
หนึ่ง อผศ. เปิดให้เอกชนลงทะเบียนเกี่ยวกับโครงการนี้ก่อนหน้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงานจะมีประกาศให้ดำเนินการ
ช่วงปลายปี 2559 อผศ. ดำเนินการเปิดให้เอกชนที่สนใจขอร่วมงานด้านกิจการพลังงานกับ อผศ. มาร่วมลงทะเบียน โดยต้องจ่ายรายละ 50,000 บาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ อผศ. ไปตรวจสอบความพร้อมของบริษัท อย่างไรก็ดีเงินดังกล่าวไม่สามารถเรียกคืนได้ แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ร่วมลงทุนกับ อผศ. ก็ตาม โดยอ้างว่า เงินจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ อผศ. ในการลงไปตรวจสอบสภาพบริษัท
โดยในบันทึกความเข้าใจการขอร่วมงานด้านกิจการพลังงาน สัญญา 25 ปี ของ อผศ. กำหนดไว้ชัดเจนในข้อ 3 ว่า บริษัทต้องชำระค่าขอเข้าร่วมการงาน จำนวน 50,000 บาท ก่อนวันประชุมคณะกรรมการบริหารฯ และเตรียมความพร้อมเพื่อนำเสนอบริษัทของท่านต่อคณะกรรมการบริหารฯ ทั้งนี้บริษัทไม่สามารถเรียกเงินจำนวน 50,000 บาท คืนได้ ไม่ว่าคณะกรรมการฯ จะอนุมัติให้เข้าร่วมการงานหรือไม่ก็ตาม (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับเอกชนที่ผ่านการขึ้นทะเบียน อผศ. รอบแรก มีจำนวนประมาณ 230 บริษัท คิดเป็นเงินรวมประมาณ 11.5 ล้านบาท ต่อมาเมื่อเดือน มี.ค.-พ.ค. 2560 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงออกประกาศหาส่วนราชการและสหกรณ์เพื่อดำเนินการร่วมเอกชนลงทุนในโครงการ ‘โซลาร์เซลล์’ กระทั่ง อผศ. ได้ดำเนินการในฐานะส่วนราชการ และคัดเลือกเอกชนซ้ำอีกครั้ง จนเหลือ 21 แห่ง (และจะมีการคัดรอบสุดท้ายอีกครั้งจนเหลือประมาณ 10-15 แห่ง)
เท่ากับว่า อผศ. อาจรู้ล่วงหน้าหรือไม่ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงให้เอกชนมาขึ้นทะเบียนไว้ก่อน ?
สอง การจ้างบริษัทที่ปรึกษา
พล.ต.คงชีพ ชี้แจงว่า การจ้างบริษัทที่ปรึกษานั้น คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของ อผศ. ได้มีมติที่ประชุมให้มีการจ้างที่ปรึกษา ซึ่ง อผศ. ได้นำแนวทางตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐฯ มาใช้ และคัดเลือกจากบริษัทที่ปรึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้คำปรึกษาในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการคัดเลือกทั้งในขั้นตอนการคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้น และขั้นตอนการคัดเลือกให้ได้เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุน
ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตจากเอกชนที่เคยขึ้นทะเบียนกับ อผศ. ว่า เมื่อปลายปี 2559 ได้จ่ายเงิน 50,000 บาท ให้ อผศ. เพื่อตรวจสอบสภาพบริษัทแล้ว และผ่านการขึ้นทะเบียนไปแล้ว ทำไมถึงต้องมีการคัดเลือกซ้ำสองอีก และบริษัทที่ปรึกษาที่ช่วย อผศ. กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นระบบให้คะแนน แบ่งเป็น
1.ด้านที่ตั้งโครงการ กำหนด 10% 2.ด้านการขอใบอนุญาต กำหนด 10% 3.ด้านเทคโนโลยี กำหนด 20% 4.ด้านการเงินและการลงทุน กำหนด 30% 5.ด้านผลตอบแทนต่อ อผศ. กำหนด 30% และจะไม่พิจารณาข้อเสนอเอกชนที่ได้คะแนนน้อยกว่า 60% (ดูเอกสารประกอบ)
ตรงนี้อาจเปิดช่องให้เอกชนบางรายวิ่งเต้นเพื่อขอให้มีการคัดเลือกบริษัทตัวเองได้เข้าไปร่วมลงทุนได้ ต่างจากการเปิดโอกาสให้เอกชนประมูลงานแข่งขันกัน จะทำให้ อผศ. ได้รับผลประโยชน์ทางราชการมากกว่า หรืออย่างน้อยให้มีการ ‘จับสลาก’ เหมือนกับที่สหกรณ์หลายแห่งซึ่งดำเนินการในฐานะตัวแทนฝ่ายสหกรณ์ ได้ให้เอกชนจับสลากเพื่อเข้ามาร่วมลงทุน
นี่คือสองประเด็นหลักที่ยังไม่มีคำชี้แจงอย่างชัดเจนจาก อผศ. และ พล.ต.คงชีพ หรือแม้แต่กระทรวงกลาโหม ?
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร คงต้องรอท่าทีจาก ‘บิ๊กตู่’ ว่า จะกล้าสั่งการให้ตรวจสอบอย่างเข้มข้น หรือจะปล่อยผ่านไปอย่างเงียบเชียบเหมือนกรณี ขุดลอกแหล่งน้ำของ อผศ. ที่ท้ายสุดถูกกระทรวงการคลังยกเลิกสิทธิพิเศษไปแล้ว !
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง!อผศ.ร่วมเอกชนลงทุน‘โซลาร์เซลล์’ -เปิด 21 บริษัท ก่อนถูกร้องปมเรียกเงิน?
ปูดชื่อ‘เสธ.จ.’คนอ้าง คสช.-ประวิตร เรียกเงิน ‘โซลาร์เซลล์’ อผศ.-ร้อง‘บิ๊กตู่-กห.’สอบ
ส่งหลักฐานได้ทุกช่องทาง!ผอ.อผศ.ลั่นเอาผิดคนอ้างชื่อคสช.-ประวิตรรับปย.โซลาร์เซลล์