- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- คำถามถึง กกพ.ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ.ต้องใช้ที่ดินใคร-โอนกรรมสิทธิ์ทีหลังได้หรือ?
คำถามถึง กกพ.ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ.ต้องใช้ที่ดินใคร-โอนกรรมสิทธิ์ทีหลังได้หรือ?
“…หาก อผศ. ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนที่มีที่ดินมาร่วมลงทุนก่อน แล้วค่อยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังจากที่ กกพ. อนุมัติให้โครงการไปแล้ว จะสามารถทำได้หรือไม่ ขัดกับระเบียบ กกพ. ที่ออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ที่ระบุชัดเจนว่า ส่วนราชการต้องใช้ที่ดินของตัวเองในการดำเนินโครงการ…”
หนึ่งในเงื่อนปมสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) คือ ตกลงแล้ว อผศ. มี ‘ที่ดิน’ เพื่อจัดทำโครงการนี้จริงหรือไม่ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่าวัตถุประสงค์ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดทำขึ้น เพื่อต้องการให้ส่วนราชการนำที่ดินที่เหลืออยู่มาใช้ประโยชน์ให้สูงสุด
ขณะที่ อผศ. ซึ่งได้โควตามาจากส่วนราชการ จำนวน 100 เมกะวัตต์ มีที่ดินดำเนินการเพียงพอหรือเปล่า เพราะว่า 1 เมกะวัตต์จะต้องใช้ที่ดินดำเนินการถึง 8-10 ไร่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขมวดข้อเท็จจริง-ระเบียบ กกพ.-ประกาศ อผศ. และช่วงเวลาทุกอย่าง สรุปได้ ดังนี้
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2560 กกพ. ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากโครงการ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ ในหมวด 1 บททั่วไป ข้อ 6 ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่เป็นหน่วยงานราชการ ให้โครงการตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุซึ่งหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ครอบครองและได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ให้นำพื้นที่ราชพัสดุในครอบครองมาใช้ประโยชน์ในโครงการนี้ หรือเป็นที่ดินที่หน่วยงานราชการเป็นเจ้าของที่ดิน
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 กกพ. ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากโครงการ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ ฉบับที่สอง ในข้อ 16 ระบุไว้ชัดเจนว่า หากส่วนราชการที่ผ่านการคัดเลือกจาก กกพ. แล้ว จะต้องมีที่ตั้งโครงการอยู่ในท้องที่ดำเนินงานของหน่วยงานที่ผ่านการคัดเลือกด้วย ถ้าหน่วยราชการเป็นเจ้าของที่ดินต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากเป็นที่ดินราชพัสดุต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานราชการผู้ครอบครอง และได้รับอนุมัติจากกรมธนารักษ์ให้เข้าร่วมโครงการได้ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
โดย กกพ. มีระยะเวลาให้ส่วนราชการยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการในวันที่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย. 2560
ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ค. 2560 อผศ. ดำเนินการคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560 อผศ. ประกาศรายชื่อเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 21 ราย หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 อผศ. คัดเอกชนรอบสุดท้ายเหลือ 10 ราย
โดยเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2559 ที่เปิดโอกาสให้เอกชนมาขึ้นทะเบียน โดยต้องจ่ายรายละ 50,000 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ (รวมเป็นเงิน 11.5 ล้านบาท) และหากเอกชนรายใดไม่ได้รับการคัดเลือกจะไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ตามบันทึกความเข้าใจการขอร่วมการงานด้านกิจการพลังงานที่ให้เอกชนมาขึ้นทะเบียนกับ อผศ. เมื่อช่วงปลายปี 2559 ระบุว่า บริษัทต้องเป็นผู้ลงทุนทุกอย่างในการดำเนินการด้านพลังงาน รวมถึงที่ดินจัดตั้งโครงการดังกล่าว
ต่อมาในประกาศ อผศ. เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชน ลงวันที่ 19 พ.ค. 2560 นั้น ข้อ 6 ระบุว่า เอกชนที่ขอร่วมลงทุนจะต้องมีขนาดของที่ดินอย่างน้อย 8 ไร่ต่อเมกะวัตต์ เป็นขั้นต่ำ (มาตรฐาน 10 ไร่ต่อเมกะวัตต์) และที่ดินที่ใช้ได้ต้องเป็นโฉนดที่ดิน หรือ นส. 3 ก. และต้องเป็นที่ดินต่อเนื่องเป็นผืนเดียว มีทางเข้าออก (กรณีที่ไม่มีทางเข้าออกต้องมีภาระจำยอม) ต้องอยู่ในเขตท้องที่ดำเนินงานของหน่วยงาน
ทั้งนี้ อผศ. ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดเลือกหน่วยงานเพื่อเป็นที่ตั้งโครงการในเขตการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของส่วนงานที่อาจเกิดขึ้นได้ และการพิจารณาของ อผศ. ถือเป็นที่สุด ผู้ยื่นข้อเสนอจะฟ้องร้องหรือเรียกค่าเสียหายใด ๆ มิได้ อีกทั้ง อผศ. อาจยกเลิกการเสนอโครงการในบางพื้นที่ หากพื้นที่นั้นไม่สามารถจับสลากได้
และในข้อ 7 ส่วนของกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการลงทุน เอกชนผู้ขอเสนอร่วมลงทุนต้องเป็นผู้ลงทุนทุกอย่างในการดำเนินการด้านพลังงาน รวมทั้งที่ดินจัดตั้งโครงการ กรณีที่ดินที่เสนอให้ อผศ. ได้รับคัดเลือกเพื่อยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้าต่อ กกพ. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ อผศ. ภายในวันที่ 15 ส.ค. 2560
ล่าสุด สำนักข่าวอิศราตรวจสอบแบบคำขอเป็นเจ้าของโครงการ (สำหรับส่วนราชการ) ที่ยื่นต่อ กกพ. เพื่อดำเนินโครงการ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ นั้น ในส่วนข้อมูลพื้นที่โครงการ มีให้ระบุสองแบบคือ ที่ดินที่หน่วยงานราชการเป็นเจ้าของ หรือเป็นที่ราชพัสดุเท่านั้น
ไม่มีที่ดินจากเอกชนให้เลือกแต่อย่างใด ? (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า อผศ. ได้ยื่นแบบคำขอเป็นเจ้าของโครงการแก่ กกพ. แล้ว เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดย กกพ. จะใช้ระยะเวลาพิจารณาระหว่างวันที่ 5-13 มิ.ย. 2560 ตรวจคุณสมบัติผู้ที่ประสงค์จะเป็นเจ้าของโครงการ และในวันที่ 14 มิ.ย. 2560 จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติ
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามระเบียบและเงื่อนเวลาดังกล่าว พบข้อสังเกต ดังนี้
หนึ่ง การยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการของ อผศ. เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมานั้น อผศ. มีที่ดินพร้อมดำเนินการจริงหรือไม่ ใช้ที่ดินจากส่วนไหน อย่างไร และหาก อผศ. ไม่มีที่ดิน จะสามารถยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการได้หรือไม่
สอง หาก อผศ. ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนที่มีที่ดินมาร่วมลงทุนก่อน แล้วค่อยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังจากที่ กกพ. อนุมัติให้โครงการไปแล้ว จะสามารถทำได้หรือไม่ ขัดกับระเบียบ กกพ. ที่ออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ที่ระบุชัดเจนว่า ส่วนราชการต้องใช้ที่ดินของตัวเองในการดำเนินโครงการ
สาม วัตถุประสงค์หลักของโครงการ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ คือให้ส่วนราชการนำที่ดินที่เหลือ และไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด ในเมื่อ อผศ. ไม่มีที่ดินดำเนินโครงการ แต่จะใช้ที่ดินของเอกชนที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์มาทีหลังได้รับการอนุมัติจาก กกพ. แล้วจะตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้หรือไม่ ตอบโจทย์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการพลังงานหรือไม่
ทั้งหมดคือสามข้อสังเกตที่ กกพ. จำเป็นจะต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้ ‘เคลียร์’ เพราะต้องไม่ลืมว่า การดำเนินกิจการด้านพลังงานถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ภาคประชาชนกำลังให้ความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทุกคนในชาติ
นี่ยังไม่นับประเด็นที่มีเอกชนบางแห่งที่ผ่านการคัดเลือกร่วมทุนของ อผศ. มี 'บิ๊กทหาร' ที่เป็นเครือญาติกับรัฐมนตรีคนสำคัญบางรายในรัฐบาลชุดนี้ ไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งถูกตั้งคำถามถึง 'ธรรมาภิบาล' แต่ อผศ. ยังไม่ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด ?
ยื่น กกพ.สอบ อผศ.เอาที่ดินจากไหนทำ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ ใช้ของเอกชนได้หรือไม่
แกะรอย‘พล.อ.’ญาติ‘บิ๊กโด่ง’นั่ง กก. บ.เข็มเหล็ก หลังปิดรับร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’แค่ 5 วัน
เปิดตัวบ.เข็มเหล็กฯร่วมทุน‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ.-'พล.อ.'ญาติ‘บิ๊กโด่ง’นั่ง ปธ.ช่วงคัดเอกชน
สะพัด กห.เสียงแตก!เซ็ตซีโร่‘โซลาร์ฟาร์ม’ โฆษกยันไม่จริง-ญาติ‘บิ๊กโด่ง’ได้งานเป็นสิทธิ์
เปิด 10 เอกชนผ่านรอบสุดท้ายร่วมทุน ‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ.-2 บริษัท กก.เดียวกันได้ด้วย
เบื้องหลัง!อผศ.ร่วมเอกชนลงทุน‘โซลาร์เซลล์’ -เปิด 21 บริษัท ก่อนถูกร้องปมเรียกเงิน?
ไทม์ไลน์-เบื้องหลัง!ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ. ข้อสงสัยถึงกระบวนการคัดเอกชนร่วมทุน?
ทำธุรกิจให้คำปรึกษา!พบอีก2เอกชนร่วมทุน 'โซลาร์เซลล์'อผศ.ใช้ที่อยู่-กก.เดียวกัน
พบเอกชน4รายผ่านการคัดเลือกร่วมทุน ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.ใช้ กก.คนเดียวกัน
ปูดชื่อ‘เสธ.จ.’คนอ้าง คสช.-ประวิตร เรียกเงิน ‘โซลาร์เซลล์’ อผศ.-ร้อง‘บิ๊กตู่-กห.’สอบ
ยื่น ป.ป.ช.ไต่สวน ผอ.อผศ.-จนท.ปม ‘โซลาร์เซลล์’ให้ กห.สอบเชิงลึกหาตัว ‘เสธ.จ.’
เปิดบันทึก-ประกาศ กกพ.! ชัดๆ อผศ. เอา‘ที่ดิน’จากไหนมาทำ‘โซลาร์เซลล์’?
ส่งหลักฐานได้ทุกช่องทาง!ผอ.อผศ.ลั่นเอาผิดคนอ้างชื่อคสช.-ประวิตรรับปย.โซลาร์เซลล์
คำชี้แจง กห.เทียบข้อมูล‘อิศรา’ปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-2 ข้อสงสัยที่ยังไม่เคลียร์?
ไร้กลุ่มอิทธิพลแทรกแซง!โฆษก กห.แจงปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-ยันคัดเอกชนโปร่งใส