- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ไทม์ไลน์-เบื้องหลัง!ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ. ข้อสงสัยถึงกระบวนการคัดเอกชนร่วมทุน?
ไทม์ไลน์-เบื้องหลัง!ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ. ข้อสงสัยถึงกระบวนการคัดเอกชนร่วมทุน?
“มีเอกชนอย่างน้อย 1 แห่ง ที่ปรากฏชื่อนายทหารระดับสูงเป็นกรรมการบริษัท และได้รับการคัดเลือกให้ร่วมทุนในโครงการนี้ด้วย … เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา อผศ. ได้คัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นครั้งสุดท้าย เหลือประมาณ 10 บริษัท ให้ดำเนินการใน 25 โครงการของ อผศ. (ส่วนใหญ่โครงการละ 5 เมกะวัตต์ บางโครงการประมาณ 3-4 เมกะวัตต์) เรียบร้อยแล้ว…”
โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2560 จำนวน 100 เมกะวัตต์ สัญญา 25 ปี ที่มีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) เป็น ‘แม่งาน’ ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างมาก ?
โดยเฉพาะกรณีการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ที่ถูกกล่าวหาว่า มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เป็นนายทหารยศพลเอกชื่อย่อ ‘เสธ.จ.’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการเรียกรับผลประโยชน์จากเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับ อผศ. เพื่อให้ได้รับการคัดเลือก ส่งผลให้กลุ่มธรรมาภิบาล ร้องเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงกระทรวงกลาโหม และเตรียมไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกของ อผศ. ในรอบแรก มีบางแห่งที่ใช้กรรมการบริษัทคนเดียวกัน หรือที่อยู่แห่งเดียวกัน รวมถึงประเด็นเรื่องที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ ที่อาจทำให้ อผศ. ไม่มีคุณสมบัติในการดำเนินการโครงการนี้ได้ ?
(อ่านประกอบ : ทำธุรกิจให้คำปรึกษา!พบอีก2เอกชนร่วมทุน 'โซลาร์เซลล์'อผศ.ใช้ที่อยู่-กก.เดียวกัน, พบเอกชน4รายผ่านการคัดเลือกร่วมทุน ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.ใช้ กก.คนเดียวกัน, เบื้องหลัง!อผศ.ร่วมเอกชนลงทุน‘โซลาร์เซลล์’ -เปิด 21 บริษัท ก่อนถูกร้องปมเรียกเงิน?, ปูดชื่อ‘เสธ.จ.’คนอ้าง คสช.-ประวิตร เรียกเงิน ‘โซลาร์เซลล์’ อผศ.-ร้อง‘บิ๊กตู่-กห.’สอบ)
นับเป็นความพยายามครั้งใหม่ของฝ่าย ‘ท็อปบู้ต’ ที่ต้องการเข้ามาดำเนินกิจการด้านพลังงาน หลังจากก่อนหน้านี้เคยเข้ามาดำเนินโครงการลักษณะมาก่อนแล้ว ซึ่งช่วงนั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูเช่นเดียวกัน ?
เบื้องต้น โครงการนี้ กกพ. จะออกประกาศให้ส่วนราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร ยื่นเรื่องแสดงความจำนงจะเป็นผู้ร่วมกับเอกชนลงทุนในโครงการ หลังจากผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว ในรอบที่สองจะใช้วิธีการคัดเลือกโดยการจับฉลาก ก่อนที่จะยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าต่อไป
ช่วงปี 2558 กกพ. จัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2558 (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ) ระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ โดยมีหน่วยงานราชการในสังกัดกองทัพบกรวม 11 แห่ง และ อผศ. (สังกัดกระทรวงกลาโหม) ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอดำเนินการด้วย โดยทั้งกองทัพบก และ อผศ. ผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว
อย่างไรก็ดีปลายปี 2558 พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทั้ง 11 แห่ง สละสิทธิ์ร่วมคัดเลือกรอบที่ 2 ด้วยวิธีจับสลาก เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ส่งเรื่องคืนกลับ โดยให้เหตุผลว่า กรมพระธรรมนูญพิจารณาทางกฎหมายแล้ว พบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวของกองทัพบก ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ส่งผลให้กองทัพบกไม่สามารถลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ รวมทั้งอาจเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบกับกองทัพบกในอนาคต
ส่วนทาง อผศ. ที่มีการตั้งสำนักงานกิจการพลังงานขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อศึกษาและดำเนินการด้านพลังงาน ไม่ได้ถอยตามกองทัพบก แต่ยังเดินหน้าเพื่อเข้าไปคัดเลือกรอบสองด้วยวิธีการจับฉลากต่อ โดย อผศ. เริ่มคัดเลือกเอกชนเพื่อมาขึ้นทะเบียน เตรียมร่วมลงทุนโครงการนี้แล้วอย่างน้อย 41 บริษัท
ทว่าโครงการนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และติดขัดปัญหากฎหมายจำนวนมาก เนื่องจากส่วนราชการหลายแห่งไม่สามารถลงทุนได้ เพราะขัดกับ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กระทั่งต้นปี 2560 กกพ. จึงมี ‘ยกเลิก’ การดำเนินโครงการดังกล่าวเฉพาะในส่วนราชการ ก่อนที่จะเปิดโครงการนี้อีกครั้งช่วง มี.ค. 2560
ต่อมา อผศ. ได้แสดงเจตจำนงเพื่อขอเข้าโครงการดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมกับหน่วยราชการ 2 แห่ง คือ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ของกองทัพเรือ และมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง แต่กลายเป็น อผศ. ที่ได้รับการคัดเลือกเพียงแห่งเดียว เพราะอีก 2 ส่วนราชการดังกล่าวติดขัด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
แต่เงื่อนปมของเรื่องนี้คือ ก่อนหน้าที่ อผศ. จะได้สิทธิจาก กกพ. ดำเนินโครงการนี้ ช่วงเดือน มี.ค. 2560 อผศ. ได้เปิดช่องให้เอกชนด้านธุรกิจพลังงานมาขึ้นทะเบียนกับ อผศ. ไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ โดยมีค่าใช้จ่ายแห่งละ 50,000 บาท และไม่คืนเงินหากไม่ได้รับการคัดเลือกในท้ายสุด โดยมีเอกชนประมาณ 230 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน รวมเป็นเงินเบื้องต้นที่ อผศ. ได้รับ 11.5 ล้านบาท ก่อนที่จะคัดท้ายสุดเหลือ 21 แห่ง
แหล่งข่าวจากบริษัทเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับ อผศ. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในช่วงขึ้นทะเบียนเอกชนเมื่อเดือน เม.ย. 2560 เอกชนรายเก่าทั้ง 41 แห่ง ที่เคยเข้าร่วมการคัดเลือกกับ อผศ. ในโครงการนี้เมื่อปี 2558 ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อผศ. เพื่อให้ได้รับการคัดเลือกอีกครั้งหนึ่งด้วย หลังจากนั้น อผศ. ได้เชิญเอกชนทั้งหมดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมประชุม พร้อมกับระบุว่าเอกชนเก่าทั้ง 41 แห่ง ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ จนเกิดเหตุการณ์เถียงกันอย่างดุเดือด กระทั่ง อผศ. ต้อง ‘ยอมถอย’ เพื่อให้เอกชนทั้ง 41 แห่งดังกล่าวเข้าร่วม แต่ต้องยื่นความจำนงเพิ่มเติม ซึ่งบริษัทเหล่านั้นยื่นความจำนงเพิ่มเติมด้วยดี
กระทั่งกลางเดือน พ.ค. 2560 อผศ. ประกาศรายชื่อเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกเพื่อร่วมลงทุนจำนวน 21 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่มาขอขี้นทะเบียนครั้งใหม่เกือบทั้งสิ้น แต่เอกชนเก่า 41 แห่ง ไม่มีแห่งใดได้รับการคัดเลือกเลย แม้ว่าจะผ่านคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ กกพ. ประกาศก็ตาม จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกเอกชนของ อผศ. ในครั้งนี้ ค่อนข้างไม่ชอบมาพากล ?
ท่ามกลางเสียงซุบซิบในแวดวงเจ้าหน้าที่ อผศ. ทั้งระดับล่างจนถึงระดับสูง รวมถึงจากเอกชนบางแห่งว่า มีทหารยศพลเอกชื่อย่อ ‘เสธ.จ.’ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีอิทธิพลเพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากกลุ่มเอกชนที่มาวิ่งเต้นให้ได้ร่วมลงทุนโครงการนี้ เสียหัวละ 1 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์
เอกชนเก่าทั้ง 41 แห่ง รวมตัวกันยื่นอุทธรณ์ต่อ ผอ.อผศ. คนปัจจุบัน (พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน แต่เรื่องก็เงียบหายไป และไม่มีการชี้แจงอะไรออกมา กระทั่งมีเอกชนบางแห่งทนไม่ไหว ดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ระงับโครงการนี้ไว้ก่อนแล้ว
ด้าน พล.อ.อำนาจ และ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงยืนยันว่า โครงการนี้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และไม่มีประเด็นการเรียกรับผลประโยชน์แต่อย่างใด
ขณะที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่ามีอย่างน้อย 6 บริษัทที่ปรากฏชื่อกรรมการบริษัทคนเดียวกัน ได้แก่ 1.บริษัท อีเลคตริก้า เอเชีย เพาเวอร์ จำกัด 2.บริษัท มีเดียมาร์ค จำกัด 3.บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ 4.บริษัท เอส ที เอฟ อี โซล่า จำกัด ปรากฏชื่อนายจอมทรัพย์ โลจายะ เป็นกรรมการ
มี 2 แห่งที่กรรมการบริษัท และที่อยู่แห่งเดียวกันด้วย ได้แก่ 5.บริษัท แสงสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ จำกัด 6.บริษัท เพียวไลท์ พลังงานทางเลือก จำกัด ปรากฏชื่อนายกฤษณพงษ์ แก้วเทศ เป็นกรรมการ
ซึ่งอาจขัดกับประกาศ อผศ. ที่ห้ามมิให้เอกชนที่ยื่นเสนอร่วมลงทุนมีผลประโยชน์ร่วมกันกับเอกชนผู้ยื่นเสนอร่วมลงทุนรายอื่น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศราตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มีเอกชนอย่างน้อย 1 แห่ง ที่ปรากฏชื่อนายทหารระดับสูงเป็นกรรมการบริษัท และได้รับการคัดเลือกให้ร่วมทุนในโครงการนี้ด้วย
และมีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา อผศ. ได้คัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นครั้งสุดท้าย เหลือประมาณ 10 บริษัท ให้ดำเนินการใน 25 โครงการของ อผศ. (ส่วนใหญ่โครงการละ 5 เมกะวัตต์ บางโครงการประมาณ 3-4 เมกะวัตต์) เรียบร้อยแล้ว
ทั้งหมดคือที่มาที่ไป-เบื้องหลังของ อผศ. ในการดำเนินโครงการนี้ ที่มีความพยายามมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน
ส่วนข้อเท็จจริงตามที่ร้องเรียนจะเป็นอย่างไร คงต้องให้กระทรวงกลาโหม รวมถึง ป.ป.ช. ตรวจสอบอีกครั้ง !
อ่านประกอบ :
ยื่น ป.ป.ช.ไต่สวน ผอ.อผศ.-จนท.ปม ‘โซลาร์เซลล์’ให้ กห.สอบเชิงลึกหาตัว ‘เสธ.จ.’
เปิดบันทึก-ประกาศ กกพ.! ชัดๆ อผศ. เอา‘ที่ดิน’จากไหนมาทำ‘โซลาร์เซลล์’?
ส่งหลักฐานได้ทุกช่องทาง!ผอ.อผศ.ลั่นเอาผิดคนอ้างชื่อคสช.-ประวิตรรับปย.โซลาร์เซลล์
คำชี้แจง กห.เทียบข้อมูล‘อิศรา’ปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-2 ข้อสงสัยที่ยังไม่เคลียร์?
ไร้กลุ่มอิทธิพลแทรกแซง!โฆษก กห.แจงปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-ยันคัดเอกชนโปร่งใส