ปปง.ยื่นดีเอสไอสอบฟอกเงิน'กิจการร่วมค้าฯ-จนท.รัฐ'พันทุจริตคลองด่าน
ปปง. ยื่นหนังสือถึงดีเอสไอ สอบ 'กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ-จนท.รัฐ' คดีฟอกเงิน หลังถูกศาลตัดสินทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เสียหายกว่า 3 หมื่นล้าน ยันทรัพย์สินตกถึงใครโดนหมด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ดำเนินคดีกับบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
นายวิทยา กล่าวว่า พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำความผิดอาญากรณีคลองด่าน สืบเนื่องจาก ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อปลายปี 2558 ว่า ราชการหรือรัฐ กับเอกชนได้ร่วมกันทุจริตในโครงการนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวมีการทุจริต ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้จากโครงการฯ ถือว่า เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งในทางแพ่ง ปปง. ต้องดำเนินการติดตามเพื่อให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ต่อไป ขณะเดียวกัน ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าวไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด บุคคลที่รับโอนทรัพย์ครอบครองในส่วนนี้ก็อยู่ในข่ายที่จะมีความผิดทางอาญา ฐานฟอกเงิน ซึ่งในเรื่องอาญาฐานฟอกเงิน ปปง. มีอำนาจหน้าในการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน
"ดังนั้น เมื่อ ปปง. รวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า มีกลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางอาญา จึงนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาร้องทุกข์กับอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งก็จะนำไปดำเนินคดีในส่วนของอาญาที่เกี่ยวข้อง ต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของทางแพ่ง ปปง. ได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติอายัดเงินในงวดที่ 2-3 ที่จะต้องจ่ายให้กับกิจการร่วมค้า จำนวน 6,000 กว่าล้านบาท และเมื่อวานนี้ (7 ก.ค. 59) คณะกรรมการธุกรรมก็ได้มีมติอายัดเงินในบัญชีในส่วนที่กิจการร่วมค้า ฯ ได้รับไปในงวดแรก 3,000 กว่าล้านบาท และตอนนี้ยังติดอยู่ในบัญชี 90 กว่าล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมได้อายัดไว้เรียบร้อยแล้ว" นายวิทยา กล่าวและว่า
ทั้งนี้ ผอ.กองกฎหมาย ปปง. ยังระบุด้วยว่า ส่วนทรัพย์อื่น ๆ เนื่องจาก โครงการฯ มีมูลค่าความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งในเรื่องของทรัพย์สิน ปปง. ก็จะไปติดตาม โดย เป็นไปตามนโยบายที่ได้ให้ไว้กับผู้ปฏิบัติ ของ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาฯ ปปง. ที่ระบุว่า ทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนเรื่องอาญา เป็นเรื่องของอธิบดีดีเอสไอที่จะได้มอบหมายพนักงานสอบสวนไปดำเนินการกับบุคคลที่รับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ต่อไป
เมื่อถามว่า สามารถเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า สามารถเปิดเผยกิจการร่วมค้าได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG (เอ็นวีพีเอสเคจี) ส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้อง นั้น ขออนุญาตไม่เปิดเผยตอนนี้ แต่ได้ส่งรายชื่อทั้งหมดให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนที่จะไปดำเนินการตรวจสอบ ต่อไป
เมื่อถามว่า ที่ก่อนหน้านี้ทนายความของกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ มายื่นหนังสือขอถอนอายัดต่อ ปปง. แสดงว่า ปปง.ไม่ได้พิจารณาใช่หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ในส่วนของ 2 งวดแรกอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งทาง ปปง. ก็ได้รับฟัง และให้เวลา 30 วัน ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ได้ยื่นคำร้องเข้ามา โดยคำร้องต้องแสดงด้วยว่า ทรัพย์สินที่ถูกยึดอายัดไว้ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ปปง.
ส่วน พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน เป็นการทุจริตที่เจ้าหน้าที่ร่วมกันกระทำผิด และศาลก็ได้มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้ว ในส่วนของบริษัทเอกชนคำพิพากษาของศาล เมื่อ 17 ธ.ค. 2558 กล่าวชัดเจนว่า ความผิดของเจ้าหน้าที่นั้น มีบริษัทเอกชนร่วมกระทำผิดด้วย ดังนั้น ในส่วนของคดีอาญาทางเลขาธิการ ปปง. จะได้ทำหนังสือมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอให้ดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องในคดีนี้
"ส่วนความเสียหายนั้น ผมเชื่อว่า สื่อมวลชนทราบอยู่แล้วว่า หลายหมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐก็ได้จ่ายเงินจำนวนนี้ไปบ้างแล้ว และทั้งภาครัฐหรือนักวิชาการก็ดี ออกมาพูดเสมอว่า เป็นค่าโง่ที่เกี่ยวกับการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งรัฐเองก็ต้องจ่ายเงินกับการทุจริตในครั้งนี้หลายหมื่นล้านบาท" พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวและว่า
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวด้วยว่า ในส่วนคดีอาญา ดีเอสไอจะรับดำเนินคดีการฟอกเงิน โดย ในส่วนคดีแพ่ง ปปง. ก็จะดำเนินการต่อไป แยกเป็นคนละส่วนกัน หลังจาก รับเรื่องราวร้องทุกข์ดังกล่าวแล้ว ก็จะดำเนินการสืบสวน และนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการในคดีพิเศษ ต่อไป ส่วนคดีแพ่งทาง ปปง. ก็สามารถดำเนินการได้เลย ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยจะมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ตั้งขึ้นมารับคดีพิเศษ โดยเฉพาะ ไปดำเนินการต่อ
อ่านประกอบ :
นักการเมืองใหญ่ใช้คลองด่านบีบคนเข้าพรรค!กิจการร่วมค้าฯ ร้อง'บิ๊กตู่'ขอถอนอายัด
'ประพัฒน์' ยื่นอุทธรณ์เเล้ว หลัง คพ.สั่งชดใช้เลิกสัญญาโครงการคลองด่าน
เลิกสัญญาคลองด่านทำเสียหาย!กรมมลพิษ สั่งจนท.ชดใช้รวมกว่า 2 หมื่นล. - 'ธาริต' โดนด้วย 900 ล.
เรียก'ประพัฒน์' ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 6 พันล. ต้นเหตุให้รัฐ'เสียค่าโง่' คลองด่าน
'ประพัฒน์' เล็งยื่นอุทธรณ์ หลังกรมควบคุมมลพิษ สั่งชดใช้ค่าโง่คลองด่าน
ศาลปค.ไม่รับคำร้อง"ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์" ให้รื้อคดีคลองด่านใหม่
นานาทัศนะ : ค่าโง่ 'คลองด่าน' มหากาพย์ที่ยังขุดไม่หมด-ต้องศึกษาทั้งระบบ