นานาทัศนะ : ค่าโง่ 'คลองด่าน' มหากาพย์ที่ยังขุดไม่หมด-ต้องศึกษาทั้งระบบ
ประเทศต้องลง ทุนไปหลายหมื่นล้านบาทกับโครงการหนึ่ง แล้วได้ขยะไม่ได้ใช้ประโยชน์มานั้น สังคมต้องตั้งคำถามกระบวนการตัดสินใจของส่วนราชการ คิดมาได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงหาคนผิด สังคม ราชการ จำเป็นต้องร่วมรับผิดชอบ สมคบกันหรือไม่ คลองด่านจึงมีนัยยะของอนาคตที่สำคัญมาก
วันที่ 12 พฤษภาคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ร่วมหาทางออกกรณีค่าโง่คลองด่าน - หยุดความเสียหายของชาติ” ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ นำเสนอภาพรวมเส้นทาง-ความเชื่อมโยงของการทุจริต และการต่อสู้ทางคดี โดยชี้ให้เห็นว่า สังคมเรียนรู้ถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมานั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการศึกษาทางวิชาการและการวางแผนที่ดี เกือบทุกโครงการมีงานศึกษา งานวิชาการจำนวนมากแต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันก็มีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากโดยไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ เลย
“กรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่ชัดเจนมากที่สุดโครงการหนึ่ง เรียกได้ว่า พหุภาคีของการทุจริต ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ระดับนโยบายยันระดับปฏิบัติการ ทั้งการอนุมัติโครงการ การเอื้อประโยชน์จากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ การอนุมัติเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยไม่มีการตรวจสอบและประเมินผล อีกทั้งยังมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดิน เครือข่ายสายสัมพันธ์เบื้องหลังบริษัทที่ปรึกษา ประกอบกับกลไกความยุติธรรมของภาครัฐ มีข้อจำกัดมากมาย และการตรวจสอบการทุจริตไม่มีอิสระในการทำงาน เป็นต้น”
ทำคดีแบบชกให้แพ้
จากนั้นในเวทีมีการเสวนา “หาทางออกกรณีค่าโง่คลองด่าน-หยุดความเสียหายของชาติ” ตอนหนึ่งนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และนายณกฤช เศวตนันทน์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายและทนายความในคดีอาญาของกรมควบคุมมลพิษ มีการมองย้อนการทำคดีนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา
นายอภิชัย อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) (2546-2549) ผู้ตรวจสอบพบเอกสารหลักฐานว่า บริษัทนอรธ์ เวส วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทกิจการร่วมค้า NVPSKG หายไป จึงมีการเสนอและแจ้งผู้รับเหมาเรื่องสัญญาเป็นโมฆะ ปี 2546ได้ทำหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ยุติการก่อสร้างใดๆ ในโครงการโดยสิ้นเชิง เพราะสัญญาตกเป็นโมฆะ หลังโครงการฯ ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 98% และได้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างไปแล้วเป็นเงินกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท และเป็นเงินเหรียญสหรัฐ 121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“กรณีการต้องจ่ายค่าโง่คลองด่านนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมาตั้งนานแล้วตั้งแต่ปี 2540 เมื่อ NVPSKG ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษ เรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ จำนวน 6 พันล้านบาท ซึ่งหากวันนั้นไม่มีการทำหนังสือแจ้งเรื่องสัญญาเป็นโมฆะจะมีอะไรเกิดขึ้น ผมไม่กล้าคิดต่อ ต้องขอบคุณนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ใส่ใจเรื่องนี้ ฟังกระแสสังคม”
อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการให้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดขอให้รื้อฟื้นการพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่นั้น เนื่องจากมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้น โดยนำคำพิพากษาของศาลอาญา เดือนธันวาคม 2558 มาประกอบ และเนื่องจากการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ได้คำพิพากษาคดีอาญาศาลแขวงดุสิตศาลอาญามาพิจารณาด้วย
“การขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ เมื่อมีข้อมูลใหม่นั้น ต้องยื่นเรื่องภายใน 90 วัน ซึ่งก็ทันเวลาพอดี ศาลปกครองได้รับเอกสารไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 แต่ยังไม่ได้ชี้ว่าจะรับพิจารณาหรือไม่”
นายอภิชัย กล่าวด้วยว่า จริงๆ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงการคลัง ต้องเป็นผู้ยื่นเรื่องขอให้ศาลฯ พิจารณาคดีใหม่ แต่ไม่ได้ทำ แต่เราได้ทำให้ก่อนแล้ว
“ผม นายประพัฒน์ และอีก 5 คนได้อ้างการมีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะกระทรวงทรัพย์ฯ กำลังสอบความรับผิดทางละเมิด เพราะไปทำหนังสือแจ้งการทำสัญญาเป็นโมฆะ ทำให้เกิดความเสีย ดังนั้นทำให้เรามีส่วนได้ส่วนเสียกับความรับผิดชอบหมื่นกว่าล้านบาทนี้ ไม่ทราบศาลจะฟังหรือไม่ฟัง”
ต้องฟ้อง ทำไมไม่ฟ้อง
ขณะที่นายณกฤช เศวตนันทน์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายและทนายความในคดีอาญาของกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการทำคดีให้กรมควบคุมมลพิษ ฟ้องกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการและบริษัทเอกชนผู้ขายที่ดินรวม 19 ราย ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงให้กรมควบคุมมลพิษ ซื้อที่ดิน และจัดทำสัญญาโครงการ เป็นคดีอาญาศาลแขวงดุสิต คดีหมายเลข 254/2547 จนมีคำพิพากษาออกมาปี 2552
"การต่อสู้คดีความยาวนานตั้งแต่ปี 2547 -2552 ศาลแขวงดุสิตก็มีคำพิพากษา กิจการร่วมค้าฯ และสมาชิกกิจการร่วมค้าฯ มีความผิด จึงมีข้อสังเกตว่า ทำไมนิติกรของกรมควบคุมมลพิษ และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สมัยนั้น ไม่ฟ้องแพ่งตามไป จุดนี้เหมือนนักมวยชกกัน จังหวะนี้หากเราออกหมัด หากปี 2552 ฟ้องแพ่งตามไป 2.3 หมื่นล้านบาท บวก 1.9 พันล้านบาท ฟ้องไปตอนนี้ป่านนี้คดีก็เสร็จแล้ว และกรมควบคุมมลพิษก็นำมาอ้างหักกลบลบหนี้กันได้ แต่ไม่ได้ทำ"
นายณกฤช กล่าวว่า เวลาคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้ คำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ออกมาปี 2554 เป็นเวลา 2 ปี หลังจากมีคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต (2552)
“คำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ที่ให้กรมควบคุมมลพิษแพ้คดี และจ่ายเงินหลายหมื่นล้านบาทนั้น ท่านไม่ได้เอาคำวินิจฉัยของศาลแขวงดุสิตมาใช้เลย จึงน่าสังเกตว่า นิติกรของกรมควบคุมมลพิษ และอัยการที่ทำคดี ได้นำคำพิพากษา ศาลแขวงดุสิตไปยื่น อนุญาโตหรือไม่ อันนี้ไม่มีใครทราบ
ตอนที่คณะอนุญาโตฯ หน้า 9 “ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ โดยไม่ได้อ้างมีเหตุแห่งโฆษะกรรม หรือนำสืบให้เห็นตามที่กล่าวอ้าง รับฟังไม่ได้ว่า สัญญาตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างนั้น เป็นโมฆะกรรม” หากท่านเป็นเจ้าของคดีจะรู้สึกอย่างไร หรือสงสัยหรือไม่ว่า ทนายความทำคดีมาอย่างไร จุดสำคัญทำให้ราชการแพ้คดีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งไม่น่าจะแพ้ไม่ได้ เพราะคดีอาญาชนะ คดีอนุญาโตตุลาการทางกฎหมายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา”
นายณกฤช กล่าวด้วยว่า จากการได้ทำคดีที่ศาลแขวงดุสิต หากได้ทำคดีนี้ต่อไป จะทำหน้าที่นี้แน่นอน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ ทำไมไม่ยื่นคำพิพากษาคดีที่ศาลแขวงดุสิต ต่อคณะอนุญาโตฯ
“หนทางไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่านซ้ำซาก คดีที่ไปจากศาลแขวงดุสิต กำลังอยู่ในศาลฎีกา ซึ่งหากมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้กิจการร่วมค้าฯ มีความผิดนั้น จะมีผลทางแพ่ง ทำให้ทางราชการไม่ต้องจ่ายเงินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ผมอยากให้รัฐบาลรอ ต้องรอ ไม่รอไม่ได้ ผมไม่เห็นด้วยต้องจ่ายเงิน ยิ่งคดีแพ่งคู่กับคดีอาญาแบบกรณีคลองด่าน และคดีอาญายังไม่ถึงที่สุด ก็จ่ายเงินไม่ได้ หากจ่ายไปตอนนี้ งวดแรก 4 พันล้าน และศาลฎีกา ซึ่งหากมีคำพิพากษากลับคำ ถามว่า คนที่จ่ายไปนั้น จ่ายถูกหรือจ่ายผิด” อดีตทนายความ กล่าว และว่า หากเรื่องที่ยื่นศาลปกครองพิพากษาใหม่ กรมควบคุมมลพิษชนะก็ไม่ต้องจ่ายอีก โดยเฉพาะหากกรมควบคุมมลพิษตัดสินใจใหม่ ฟ้องแพ่งข้อหาละเมิดกับกิจการร่วมค้าฯ อ้างฉ้อโกง และกิจการร่วมค้าฯ มีส่วนสนับสนุนเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 151 157 ของกฎหมายอาญา และชนะก็ไม่ต้องจ่ายเช่นกัน
นายณกฤช ยังตั้งข้อสังเกตการณ์ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ คิดจะทำอะไรบ้างหรือไม่ ยื่นป.ป.ช หรือฟ้องแพ่ง ฟ้องรับผิดทางละเมิดหรือยังหากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพย์ฯ ไม่อยากทำ แล้วทำอย่างไร สตง. ปปง. พยายามจะช่วย หากเจ้าของเรื่อง เห็นต่างจะทำอย่างไร จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมต้องช่วยกันติดตาม แต่ละขั้นตอนมีผลต่อการแพ้ชนะทั้งนั้น ซึ่งถึงจุดหนึ่งต้องยื่นต้องฟ้อง ทำไมไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่มีผลต่องบประมาณประเทศเป็นหมื่นล้านบาท
"ดังนั้น อยากให้คดีคลองด่านเป็นตัวอย่าง หากวันข้างหน้ามีคดีความเกิดขึ้นอีกจะดูแลกันอย่างไร ฟ้องในกำหนดเวลา ไม่ให้คดีขาดอายุความ การดูแลคดี การยื่นเอกสารภายในกำหนดเพื่อไม่ให้ราชการเสียหาย"
ถามเหตุใดไม่นำคำวินิจฉัย ป.ป.ช. ไปสู้คดี
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึงคดีคลองด่าน เป็นคดีที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลและให้อัยการฟ้องคดี ปี 2554 และหากนำไปเทียบเคียงกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินคดีค่าโง่ทางด่วน ก็ใช้แค่คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.
"เราไม่ได้นำคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ไปต่อสู้คดีคลองด่านเลย"
นายประสงค์ กล่าวถึงคดีคลองด่าน มีการลงนามกับกิจการร่วมค้าฯ ปี 2540 การกระทำที่ต่อเนื่องกันมา จากพฤติการณ์เป็นการฮั้วประมูลแบบหนึ่ง เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่ เนื่องจากลงนามก่อนกฎหมายบังคับใช้ แต่การกระทำอื่นๆ ต่อเนื่อง เข้าข่ายหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตทำไมฟ้องข้อหาเบามา แค่ฉ้อโกง
ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวด้วยว่า คดีคลองด่าน ป.ป.ช. มีการชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง 2 ครั้ง รวมถึงให้อัยการฟ้อง ปรากฎว่า อัยการส่งฟ้องแยกศาล ทำให้คดีวนอยู่ในศาล จนหมดอายุความ อัยการที่ทำเรื่องนี้ ไม่ได้ถูกสอบวินัย และไม่ต้องรับโทษอะไรส่งฟ้องผิดศาล เป็นต้น นี่คือระบบกระบวนการยุติธรรม และไม่มีกลไกใดๆ ทั้งสิ้นเอาคนผิดมาลงโทษ
"เรามีค่าโง่ทางด่วน ค่าโง่คลองด่าน ค่าโง่โทรศัพท์ และกำลังจะมีค่าโง่รถไฟฟ้า ที่ไม่มีสถานีที่เชื่อมต่อกัน ทั้งๆ ที่อยู่ภายในการกำกับดูแลหน่วยงานเดียวกัน ทำไมเชื่อมไม่ได้ ฉะนั้นต้องนำเรื่องค่าโง่ต่างๆ มาศึกษาทั้งระบบ มิเช่นนั้น เชื่อว่าอนาคตจะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย"
บางหน่วยงานจงใจซุกดาบไว้ในกระเป๋า
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพ กล่าวว่า กรณีปัญหาคอร์รัปชั่นเมืองไทยมีความซับซ้อน ร่วมกันทุจริตตั้งแต่เริ่มโครงการ ยันการทำคดี จึงสงสัยว่า หน่วยงานราชการไร้ประสิทธิภาพ หรือจงใจไร้ประสิทธิภาพ การหน่วยงานราชการแกล้งมืออ่อน แทนที่ปล่อยมัดช่วงเวลาเหมาะสม กับทอดภาระตรงจุดนั้น
"หากสภาพหน่วยงานราชการไทยยังเป็นแบบนี้ต่อไป อนาตจะมีค่าโง่เกิดขึ้นอีกมากมาย ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องนำกรณีค่าโง่ทั้งหมดมาศึกษา มองว่า ทำไมมีค่าโง่มากมาย เป็นการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการหรือไม่ อัยการเป็นที่ปรึกษากฎหมายต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ADB ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ "
นางสาวรสนา กล่าวถึงการทำงานของหน่วยงานราชการที่ไร้ประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่นหรือไม่ สังคมต้องตั้งคำถาม พร้อมเสนอแนะกระบวนการตรวจสอบการทุจริตแบบซ้ำซ้อน
ขณะที่รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คลองด่านกลายเป็นบทเรียนราคาแพง วันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถถอดบทเรียนออกมาได้แค่ไหน หากไม่ถอดบทเรียนจะเป็นบทเรียนราคาแพงมากๆ
"คลองด่านเป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิก มีผู้เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก นักการเมือง ข้าราชการ รวมถึง ADB ผู้ให้เงินกู้ ซึ่งไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย ขณะเดียวกัน ป.ป.ช. ก็ต้องถอดบทเรียนเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะข้ออ่อนของกฎหมาย" รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว และว่า ถึงวันนี้ยังไม่รู้ มหากาพย์คลองด่านจะจบเมื่อไหร่
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ต่อมามีการยกเลิก หลังโครงการฯ ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 98% อันนี้ถือว่า เป็นการช่วยกัน เป็นข้อต่อรองของพรรคการเมือง ซึ่งมีการวางแผนมาล่วงหน้า
ส่วนอนุญาโตฯ ดร.มานะ กล่าวว่า ยุคที่ผ่านมาหรือจากนี้ไป ภาครัฐก็จะยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ เพราะสำนักกฎหมายของต่างชาติจะมีความชำนาญ รู้เทคนิค เมื่อเลิกโครงการอะไรจะเกิดขึ้น พร้อมวางข้อกฎหมายดักเอาไว้แล้ว แต่ข้าราชการไทยขาดความชำนาญ ไม่รู้เทคนิคด้านกฎหมาย
"ปลายปีที่แล้วหากยังจำได้ ทีมกฎหมายทีมเดียวกันกับที่บอกจะสู้คดีคลองด่านใหม่ บอกเองว่า อย่างไรก็ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้านบาท ไม่จ่ายไม่ได้ มีแต่ภาคประชาชน นักวิชาการเท่านั้นที่เห็นว่า หยุดจ่าย ไม่ควรจ่ายค่าโง่คลองด่านซ้ำให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่เมื่อจ่ายงวดแรกไปแล้ว กระแสกลับไม่หยุดนิ่ง ภาคประชาชน ภาควิชาการ สื่อมวลชนทำให้กระแสเดินต่อ สุดท้ายนำมาซึ่งคำสั่งนายกรัฐมนตรี "
พร้อมกันนี้ ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า สังคมต้องถอดบทเรียนให้เห็นว่า ทำไมหน่วยงานราชการต่างๆ จึงปล่อยปละละเลย ต่างคนต่างไม่ทำ จนทำให้บางหน่วยงานจงใจซุกดาบไว้ในกระเป๋า เข้าข้างฝ่ายคนโกง
ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีคลองด่าน เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานคอร์รัปชั่น ยุ่งอิรุงตุงนัง กว่าจะถึงผู้บริโภค แถมมีห้วงเวลาที่ต่อเนื่อง ซับซ้อน ยากกว่าที่คนนอกจะเข้าใจ
"เชื่อมหากาพย์นี้ยังขุดไม่หมด มีตำนานอีกหลายกาพย์ และจะกลายเป็นบททดสอบ โจทย์ที่ซับซ้อน เราต้องรู้เท่าทันเกมอีกหลายเกม"
ศ.สุริชัย กล่าวด้วยว่า การที่ประเทศต้องลงทุนไปหลายหมื่นล้านบาทกับโครงการใดโครงการหนึ่ง แล้วได้ขยะไม่ได้ใช้ประโยชน์มานั้น สังคมต้องตั้งคำถามกระบวนการตัดสินใจของส่วนราชการ คิดมาได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงหาคนผิด สังคม ราชการ จำเป็นต้องร่วมรับผิดชอบ สมคบกันหรือไม่ คลองด่าน มีนัยยะของอนาคตที่สำคัญมาก ฉะนั้น เราไม่ควรหลงเชื่อคำอธิบายง่ายๆ ของอรหันต์เราก็จะตกกับกับดักชนิดเดิมๆ
สุดท้ายนางสาวดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้แทนกลุ่มเรารักคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า อดีตกรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คือน้ำเสีย อนาคตคือขยะ เชื่อว่า ถึงวันนี้ก็ไม่ได้ให้บทเรียนกับข้าราชการทุจริต หรือเอกชนผู้สนับสนุนการทุจริต รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ไม่พึงสังวรณ์ใดๆ เลย เกิดการทุจริตซ้อนทุจริต คนมานั่งในตำแหน่งสำคัญ ก็เอาดาบที่มีอยู่แล้วไปซุกไว้
"คลองด่านจึงไม่ได้ให้บทเรียนใดๆ เลยกับสังคมไทย แถมความกล้าหาญผู้ยุติการทุจริตนั้น กลับถูกตรวจสอบการละเมิด แทนเอาผิดคนเตะถ่วงคดีให้ล่าช้าไป ตอนนี้อยากวิงวอนต่อศาลฎีกา ให้ผลออกมาเร็วๆ"