- Home
- Isranews
- ข่าว
- โชว์ผลงานรอบปี ‘ดีเอสไอ’ กำชับคดี ‘โอ๊ค-พวก’ ฟอกเงินกรุงไทย ต้องสอบสวนเสร็จกลางปี 61
โชว์ผลงานรอบปี ‘ดีเอสไอ’ กำชับคดี ‘โอ๊ค-พวก’ ฟอกเงินกรุงไทย ต้องสอบสวนเสร็จกลางปี 61
ดีเอสไอแถลงผลงานรอบปี 60 สอบสวนเสร็จ 124 คดี จากทั้งหมด 291 คดี ‘พ.ต.อ.ไพสิฐ’ เผยคืบหน้าคดี ‘โอ๊ค-พวก’ ฟอกเงินกรุงไทย คาดสอบสวนเสร็จกลางปี 61 ก่อนหมดอายุความฟ้อง -คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รับไว้ 17 สำนวน มูลค่าความเสียหาย 3.3 แสนล. บางส่วนส่งอัยการแล้ว ขณะที่ตามหาตัว ‘ธัมมชโย’ ยังไม่พบ
วันที่ 26 ธ.ค. 2560 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ แถลงผลงานในรอบปีงบประมาณ 2560 ว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินคดีพิเศษจำนวน 291 คดี และสอบสวนเสร็จ จำนวน 124 คดี ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 120 คดี
ทั้งนี้ เมื่อรวมการดำเนินคดีพิเศษทั้งหมดตั้งแต่ปี 2547-2560 รับคดีพิเศษทั้งสิ้น 2,382 คดี สอบสวนเสร็จ 1,997 คดี และเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 385 คดี โดยคดีที่สอบสวนเสร็จเป็นการส่งพนักงานอัยการ 1,601 คดี ส่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 134 คดี ส่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 3 คดี และงดสอบสวนหรือเปรียบเทียบปรับ 259 คดี
มีมูลค่าความเสียหายที่สามารถเรียกคืนหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่รัฐประชาชนได้ 866 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 3.52 แสนล้านบาท สำหรับมูลค่าความเสียหายที่สามารถเรียกคืนหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่รัฐประชาชนได้ เฉพาะปี 2560 เป็นคดีมีมูลค่าฯ 84 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งเกินจากค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อถึงคดีพิเศษที่สำคัญในการดำเนินงานรอบปี 2560 ยกตัวอย่างคดีเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย ซึ่งขยายผลมาจากการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งพบว่าเงินที่ได้จากการกระทำผิดบางส่วนเข้าสู่วัดพระธรรมกายและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งดีเอสไอรับไว้สอบสวน 3 คดี และแต่ละคดีได้มีความคืบหน้า
1.คดีพิเศษ ที่ 27/2559 ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร กรณีพบว่ามีเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดคดีสหกรณ์สั่งจ่ายเป็นเช็คไปยังวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 27 ฉบับ เป็นเงินประมาณ 1,458 ล้านบาท
ขณะนี้คดีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้ส่งสำนวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 5 คนไปยังพนักงานอัยการ ตั้งแต่ 13 มิ.ย.2559 คดีมีการออกหมายจับพระธัมมชโย ซึ่งมีหลักฐานร่วมกันกระทำผิดด้วย โดยพระธัมมชโยได้หลบหนีคดีและศาลอาญาออกหมายจับตามหมายจับเลขที่ 942/2559 ลงวันที่ 17 พ.ค. 2559 ปัจจุบันได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามจับกุมตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนประเด็นการดูแลพื้นที่วัดพระธรรมกาย มีคณะทำงานระดับจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ซึ่งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราในพื้นที่วัดพระธรรมกายทุกวัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่พบเบาะแสพระธัมมชโยกลับเข้ามาในพื้นที่ของวัด
2.คดีพิเศษ ที่ 21/2560 ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ระหว่างนายธรรมนูญ อัตโชติ ผู้กล่าวหา กับพระวิรัตน์ ฐิติรัตน์ กับพวก มูลค่าความเสียหายประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องการนำเงินที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดไปซื้อหุ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในมี.ค. 2561
3.คดีพิเศษที่ 24/2560 ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ระหว่างนายธรรมนูญ อัตโชติ ผู้กล่าวหา กับบุคคลยังไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด (มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง) มูลค่าความเสียหายประมาณ 125 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.พ. 2561 นอกจากนั้นดีเอสไอยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อขยายผลอีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีคดีตัวอย่างเกี่ยวกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งดีไอเอสรับไว้เป็นคดีพิเศษทั้งหมด 17 สำนวน มูลค่าความเสียหาย 335,434.78 ล้านบาท ขณะนี้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว 8 สำนวน อยู่ระหว่างการสอบสวน 9 สำนวน และเป็นเรื่องสอบสวน 2 สำนวน
พ.ต.อ.ไพสิฐ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของคดีพิเศษเกี่ยวกับการฟอกเงินกรณีผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กระทำการทุจริตในการปล่อยกู้เครือบริษัท กฤษดามหานคร 2 คดี คือ
1.คดีพิเศษที่ 36/2550 ซึ่งเป็นคดีหลัก คดีนี้สอบสวนเสร็จและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 13 คน ในความผิดฐานฟอกเงิน ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2560 คดีนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการชั้นอัยการ
2.คดีพิเศษ ที่ 25/2560 กรณีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) มีหนังสือเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ขอให้ดีเอสไอ พิจารณาดำเนินการกรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร กับพวกรวม 4 คน ที่รับโอนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในการปล่อยกู้ฯ ด้วย 10 ล้านบาท และ 26 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้ร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหา 1.นางเกศินี จิปิภพ 2.นายกาญจนาภา หงษ์เหิน 3.นายวันชัย หงษ์เหิน 4.นายพานทองแท้ ชินวัตร ในข้อกล่าวหา สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฟอกเงิน เพราเหตุที่ได้มีการสมคบแล้ว และให้โอกาสนายพานทองแท้ กับพวก นำหลักฐานมาชี้แจง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ภายใน 60 วัน จะครบกำหนดวันที่ 18 ธ.ค. 2560 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้ส่งเอกสารหลักฐานมาเพื่อแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ได้กำชับพนักงานสอบสวนให้สอบสวนให้เสร็จภายในกลางปี 2561 ก่อนคดีหมดอายุความฟ้อง .
อ่านประกอบ:ก่อน ปปง.กล่าวโทษคดีฟอกเงินกรุงไทย ขุมธุรกิจพันล.‘พานทองแท้’ ปี’59ฟัน198 ล.ขาดทุนยับ
คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ'
เฉลยชื่อผู้รับเช็คจาก'เสี่ยวิชัย’คดีกรุงไทย-‘พานทองแท้-มานพ’อยู่ในข่าย?
ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินกรุงไทย!ชื่อ‘พานทองแท้-พวก’โผล่รับเช็ค-ไม่เอ่ยถึงมูลนิธิรัฐบุรุษฯ