ร่ำไห้กลางศาล!‘ปู’ครวญตกเป็นเหยื่อการเมือง-ขอตัดสินเป็นธรรมไม่ฟังคำชี้นำใคร
‘ยิ่งลักษณ์’ แถลงปิดคดีจำนำข้าว ร่ำไห้กลางศาลฎีกาฯ ครวญตกเป็นเหยื่อเกมการเมืองลึกซึ้ง ขอให้ศาลพิจารณาบทบาทให้ชัด ไม่ใช่ฐานะผู้ปฏิบัติ ชี้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกล่าวหานายกฯจากนโยบายแบบนี้มาก่อน ยันทำด้วยความสุจริต หวังช่วยเหลือชาวนา ขอพิพากษาตามข้อเท็จจริง-เป็นธรรม อย่าฟังคำชี้นำใคร แม้แต่หัวหน้า คสช.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของจำเลย ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีสรุปได้ว่า ตนรู้ดีว่าเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้งจึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม ได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และสภาวะแวดล้อมในขณะที่ตนปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การตั้งสมมติฐาน ที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้ว มาตัดสินการดำเนินการในอดีต
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่พาณิชย์นโยบายที่คิดกำไร ขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้ ขณะเดียวกันตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดชอบในส่วนงานของตนเอง จึงควรพิจารณาบทบาทของตน ในฐานะผู้กำกับนโยบายไม่ใช่ในฐานะผู้ปฏิบัติ หากมีผู้ปฏิบัติกระทำผิดในขั้นตอนใด ย่อมเป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้น ๆ โดยที่ไม่เคยมีกรณีที่มากล่าวหาให้บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมด้วยกับฝ่ายปฏิบัติดังเช่นที่โจทก์และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทำในครั้งนี้ อย่างที่ไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนใด ๆ ถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้มาก่อน
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ขอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของดิฉัน ตามรายงาน ป.ป.ช. ที่สรุปชี้มูลว่าตนไม่ได้ทุจริตหรือสมยอมให้ทุจริต และไม่รับฟังพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่ได้ผ่านการไต่สวนหรือกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช. แต่เป็นการที่โจทก์เพิ่มเติมหลักฐานใหม่เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจผิดว่า ตนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี รวมทั้งกระบวนการสร้างความเสียหายให้ต้องรับผิดทางแพ่งจำนวนเงิน 35,000ล้านบาท เป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่สั่งการในที่ประชุมว่า ไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม
“ดิฉันขอยืนยันในความบริสุทธิ์ของดิฉัน และขอได้โปรดพิจารณาคดีนี้ โดยคำนึงถึงเจตนาที่สุจริต ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ ที่เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำงานรับใช้ประเทศชาติ และพี่น้องประชาชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ตามขอบเขตแห่งอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายไม่เคยปล่อยปละละเลยสิ่งใดให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน และได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่เคยสมยอมให้บุคคลใดทุจริต ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริตตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
หลังจากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ เริ่มสะอื้น และร้องไห้ โดยระบุว่า “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิดแต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคนเกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิต ที่ครั้งหนึ่งดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ให้กับชาวนา”
“แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตาม ในการที่จะต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ ที่พยายามบิดเบือน และกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ดิฉันก็จะอดทนมุ่งมั่นต่อไป เพื่อหวังว่ารัฐบาลต่อไปในอนาคต จะได้สามารถนำนโยบายสาธารณะมาสู่ประชาชนพี่น้องเราจะได้ปลดหนี้สิน จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับเขาบ้าง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ท้ายสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ดิฉันใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณา พิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริตไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใด ๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า “ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร” ซึ่งคำพูดนี้เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่ามีการกระทำความผิดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ศาลที่เคารพยังไม่ได้ตัดสิน ทั้งนี้ตนเชื่อในคำกล่าวที่ว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” จึงขอความเมตตาต่อศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วย
ในช่วงท้าย องค์คณะผู้พิพากษาฯอ่านกระบวนความพิจารณา กรณีทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฏหมายในคดีจำนำข้าว ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 โดยองค์คณะผู้พิพากษาฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยว่าคำร้องดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าคู่ความจะส่งคำร้องดังกล่าวเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ทุกกรณี โดยตามนัยคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อนหน้านี้ ระบุว่า การพิจารณาว่าจะส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม และคำสั่งของศาลฎีกาฯที่ผ่านมา ไม่มีคำสั่งใดผิดระเบียบ หรือกฎหมาย หรือมีปัญหาแต่อย่างใด จึงมีมติให้ยกคำร้อง และนัดฟังคำพิพากษาตามเดิม ในวันที่ 25 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของคำแถลงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ขอความเมตตาต่อศาลให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ถูกสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าใช้คำได้ถูกต้องหรือไม่ เพราะปกติแล้ว จะใช้คำว่า ยกคำร้องโจทก์ หรือยกฟ้องจำเลย เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังทีมฝ่ายกฏหมายพรรคเพื่อไทย ได้รับการยืนยันว่า เป็นคำศัพท์ของฝ่ายจำเลย ไม่ได้ใช้คำผิดแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
แม้ยุ่งยากแต่ขอโปรดเมตตา!‘ปู’ยื่นซ้ำรอบ3ขอศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว
ไม่ส่งศาล รธน.ตีความ!พิพากษาคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’-พร้อมจีทูจี'บุญทรง' 25 ส.ค.นี้
ล้วงเหตุผล! ทำไม‘ปู’ต้องยื่นศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว ก่อนอัยการค้าน
แค่ประวิงเวลา!อัยการยื่นศาลฎีกาฯค้านคำร้อง‘ปู’ส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว-ทนายยื่นซ้ำ