ไม่ส่งศาล รธน.ตีความ!พิพากษาคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’-พร้อมจีทูจี'บุญทรง' 25 ส.ค.นี้
ศาลฎีกาฯนัดพิพากษาคดีจำนำข้าว ‘ยิ่งลักษณ์’ 25 ส.ค. พร้อมคดีจีทูจี 'ภูมิ-บุญทรง' อนุญาตแถลงปิดคดีด้วยวาจาได้ 1 ส.ค. แต่ยกคำร้องไม่ส่งให้ศาล รธน. ตีความ ปม ม.5 พ.ร.บ.อาญานักการเมืองฯ ขัด รธน.ใหม่ เหตุให้โอกาสคู่ความนำพยานมาไต่สวนเต็มที่แล้ว - ไม่อนุญาตเลื่อนวันไต่สวน 'อำพน' อดีตเลขาฯ ครม.
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยเป็นนัดสุดท้าย ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
ภายหลังการไต่สวนพยาน ศาลฎีกาฯ ได้อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 ส.ค. 2560 และให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 ส.ค. 2560 และนัดพิพากษาคดีดังกล่าว ในวันที่ 25 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 น.
ส่วนกรณีที่ทนายฝ่ายจำเลย ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 ขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 3, 25, 29 และ 235 วรรคหก ซึ่งฝ่ายโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านไปแล้วนั้น
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ ศาลให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด อันเป็นการให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายอันเป็นหลักการสำคัญของระบบไต่สวน
คำร้องของจำเลยพร้อมด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างนั้นยังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้องของจำเลย (อ่านประกอบ : ล้วงเหตุผล! ทำไม‘ปู’ต้องยื่นศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว ก่อนอัยการค้าน, แค่ประวิงเวลา!อัยการยื่นศาลฎีกาฯค้านคำร้อง‘ปู’ส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว-ทนายยื่นซ้ำ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ตามนัดแล้วจะต้องไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยจำนวน 5 ปาก คือ 1.นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล อดีต ผอ.องค์การคลังสินค้า (อคส.) 2.รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นักวิชาการด้านโครงการสาธารณะ 3.นายพศดิษฐ์ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้าโคราช 4.นายประสิทธิ์ ดำรงชัย อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายอำพน กิตติอำพน (เลื่อนมาจากวันที่ 18 พ.ย. 2559) อย่างไรก็ดีสามารถไต่สวนได้แค่ 3 ปาก คือ นายชนุตร์ปกรณ์ รศ.ดร.กิตติ และนายพศดิษฐ์
ส่วนนายประสิทธิ์ ทนายความฝ่ายจำเลยแจ้งว่า ขอเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเดียว และนายอำพน มีเหตุขัดข้องเนื่องจากล้มป่วยกระทันหันด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยในรายนายประสิทธิ์ทนายฝ่ายจำเลยไม่ติดใจนำมาไต่สวนในชั้นศาล ส่วนนายอำพน ขอให้ศาลพิจารณาหาทางนำมาไต่สวนเพิ่มเติม
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รายของนายประสิทธิ์ ได้ยื่นคำร้องของทนายฝ่ายจำเลยให้ฝ่ายโจทก์ทราบแล้ว ฝ่ายโจทก์ไม่ติดใจไต่สวน จึงอนุญาตตามที่ขอ แต่กรณีของนายอำพน เห็นว่า ก่อนหน้านี้ต้องมาตามนัดในวันที่ 18 พ.ย. 2559 แต่มีเหตุขัดข้องเลยมาไม่ได้ และจำเลยต้องการให้นายอำพนมาเบิกความเป็นพยานในประเด็นคำสั่งของจำเลยที่ผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ปัจจุบันศาลได้ไต่สวนประเด็นดังกล่าวมากพอสมควรแล้ว จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีไปไต่สวนอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 25 ส.ค. 2560 เป็นวันที่ศาลฎีกาฯนัดพิพากษาคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กลุ่มเอกชนเครือข่ายนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง เป็นจำเลยด้วย
อ่านประกอบ :
แกะรอยพยาน‘ปู’เบิกความปม‘สยามอินฯ-เสี่ยเปี๋ยง’ ก่อน 2 บิ๊ก รมต.ยันสอบไม่ได้?
สอบสยามอินฯไม่ได้เหตุไม่ใช่คู่สัญญารัฐ! 'นิวัฒน์ธำรง'เบิกความคดีข้าว'ยิ่งลักษณ์'
ชนักติดหลัง‘ยิ่งลักษณ์’ รวยผิดปกติ-สารพัดข้อหาใน ป.ป.ช.-ไม่จบแค่คดีข้าว?
‘อัยการ’ซัก‘ยิ่งลักษณ์’ตอบ! ท่าที‘นารีขี่ม้าขาว’แจงคดีข้าว-ไฉนสอบไม่เจอทุจริต?