- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ล้วงเหตุผล! ทำไม‘ปู’ต้องยื่นศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว ก่อนอัยการค้าน
ล้วงเหตุผล! ทำไม‘ปู’ต้องยื่นศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว ก่อนอัยการค้าน
“…ล้วนแต่เป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ความเห็นและดุลยพินิจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรคหก หากเป็นผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหา เป็นคำสั่งที่เพิ่มภาระเกินสมควรแก่เหตุ และไม่เป็นธรรม ดังนั้นไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะไต่สวนเพิ่มเติมเอกสารดังกล่าวเข้ามาในคดีนี้ เพราะไม่ได้มีการรวมคดีเข้าด้วยกัน อีกทั้งฐานความผิดคนละฐาน…”
สาธารณชนอาจทราบไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่รับผิดชอบสำนวนคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย
สาระสำคัญของคำร้องดังกล่าวคือ ขอให้องค์คณะผู้พิพากษา ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า บทบัญญัติมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการยึดสำนวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลักว่า จะขัดหรือไม่ขัดกับมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีวรรคท้ายว่า ให้ยึดสำนวน ป.ป.ช. เป็นหลัก แต่ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ หรือไม่ เบื้องต้นองค์คณะผู้พิพากษารับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า สาเหตุสำคัญที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพิ่งมายื่นคำร้องตอนนี้ ทั้งที่การพิจารณาคดีเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2558 เนื่องจากศาลฎีกาฯจะไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้ายในวันที่ 21 ก.ค. 2560 หรือประมาณสัปดาห์หน้า
นั่นหมายความว่า ศาลฎีกาฯอาจมีคำพิพากษาในคดีนี้ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. นี้ หรืออีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้นั่นเอง
เมื่อคำพิพากษางวดเข้ามาทุกขณะ ทำให้ฝ่ายกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเป็นต้อง ‘เดินหมาก’ เกมนี้ขึ้น ?
อย่างไรก็ดีฝ่ายพนักงานอัยการตอบโต้ทันควัน ยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านคำร้องของฝ่ายทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์
ทว่าฝ่ายทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมแพ้ ได้ยื่นหนังสือซ้ำสองขอให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ได้
(อ่านประกอบ : แค่ประวิงเวลา!อัยการยื่นศาลฎีกาฯค้านคำร้อง‘ปู’ส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว-ทนายยื่นซ้ำ)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำร้องของฝ่ายทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบดังนี้
คำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบื้องต้นสรุปได้ว่า ศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องคดีไม่ระงับโครงการรับจำนำข้าว ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย และคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก เป็นจำเลย แต่ไม่ได้รวมคดีเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้การดำเนินคดีอาญาต้องสันนิษฐานก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ผิด และเป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา ที่จะไม่ถูกลงโทษจนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างได้ว่ากระทำผิดจริง เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรคหก บัญญัติว่า การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้นำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ‘และ’ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
จากบทบัญญัติดังกล่าว ที่มีองค์ประกอบ 2 ประการจึงบัญญัติคำว่า ‘และ’ ไว้ด้วย โดยถือเป็นบทบังคับที่กำหนดอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกาฯ หากจะไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญคือต้อง เป็นไป ‘เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม’ เท่านั้น สุดแท้แต่ศาล ‘เห็นสมควร’
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรคหก ถือเป็นบทบังคับอันเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับควารับผิดทางอาญา จึงบังคับให้การไต่สวนของศาลฎีกาฯ มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
อย่างไรก็ดีตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 277 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 เป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลอาจใช้ดุลยพินิจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามสมควร ซึ่งคำว่าเห็นสมควร หมายความว่า ‘เห็นว่ามีความเหมาะสม’
ดังนั้นก่อนหน้าที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 วรรคหก ใช้บังคับ จึงถือว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ไม่มีหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาที่รัฐให้ความรับรองในตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฏหมายดังกล่าว
ทั้งนี้หากศาลฎีกาฯจะใช้อำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้นอกเหนือจากรายงาน ป.ป.ช. จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรคหก เนื่องจากเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
จำเลยฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ หยิบยกตัวอย่างบางหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสาร ที่ฝ่ายโจทก์ (พนักงานอัยการ) นำมายื่นบัญชีให้ศาลฎีกาฯไต่สวน เช่น นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือเอกสารเกี่ยวกับการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเมื่อปี 2557 (ภายหลังเกิดรัฐประหาร) รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับการระบายข้าวจีทูจี ที่ยื่นในคดีระบายข้าวจีทูจีด้วย
ฝ่ายจำเลยเคยยื่นคำร้องคัดค้านการยื่นบัญชีพยานดังกล่าวแล้ว เพราะเป็นเอกสารใหม่นอกสำนวนการไต่สวน ป.ป.ช. ซึ่งการไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมของศาลจะเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย และเสียเปรียบมิได้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และหลักนิติธรรม ซึ่งข้อคัดค้านดังกล่าวเป็นไปทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคหก แต่องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วยกคำร้อง โดยอ้างอำนาจในการไต่สวนเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5
ในช่วงท้ายทนายฝ่ายจำเลย สรุปสาระสำคัญว่า ที่องค์คณะผู้พิพากษาฯยกกฎหมาย รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 277 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 เพื่อให้ศาลไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มนั้น
ล้วนแต่เป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ความเห็นและดุลยพินิจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรคหก หากเป็นผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหา เป็นคำสั่งที่เพิ่มภาระเกินสมควรแก่เหตุ และไม่เป็นธรรม ดังนั้นไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะไต่สวนเพิ่มเติมเอกสารดังกล่าวเข้ามาในคดีนี้ เพราะไม่ได้มีการรวมคดีเข้าด้วยกัน อีกทั้งฐานความผิดคนละฐาน
ทั้งหมดคือคำร้องโดยสรุปของทนายฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องการให้ศาลฎีกาฯส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
อย่างไรก็ดีฝ่ายพนักงานอัยการ ที่ได้รับมอบหมายจาก อสส. ให้รับผิดชอบคดีนี้ ยื่นคำร้องคัดค้านการกระทำดังกล่าวต่อองค์คณะผู้พิพากษาแล้ว สรุปได้ว่า บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญทั้งปี 2550 และปี 2560 ต่างเปิดโอกาสให้ฝ่ายโจทก์และจำเลยยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลเพื่อไต่สวนหา ‘ความจริง’ แล้ว ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
พนักงานอัยการจึงขอค้านเรื่องนี้ โดยเห็นว่าเป็นการ ‘ประวิงเวลา’ การพิจารณาคดี
ล่าสุด ทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องซ้ำสองให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาอีกครั้งแล้ว โดยมีเนื้อความคล้ายคลึงกับของเดิมที่ยื่นไปครั้งแรก
ท้ายสุดองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯที่รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ จะพิจารณาอย่างไร ต้องรอดูผลในวันที่ 21 ก.ค. นี้
อ่านประกอบ :
แกะรอยพยาน‘ปู’เบิกความปม‘สยามอินฯ-เสี่ยเปี๋ยง’ ก่อน 2 บิ๊ก รมต.ยันสอบไม่ได้?
สอบสยามอินฯไม่ได้เหตุไม่ใช่คู่สัญญารัฐ! 'นิวัฒน์ธำรง'เบิกความคดีข้าว'ยิ่งลักษณ์'
ชนักติดหลัง‘ยิ่งลักษณ์’ รวยผิดปกติ-สารพัดข้อหาใน ป.ป.ช.-ไม่จบแค่คดีข้าว?
‘อัยการ’ซัก‘ยิ่งลักษณ์’ตอบ! ท่าที‘นารีขี่ม้าขาว’แจงคดีข้าว-ไฉนสอบไม่เจอทุจริต?