- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- ฉบับเต็ม!รายงาน กมธ.สื่อฯคุ้ยเจอหลักฐานใหม่คดีไร่ส้ม-บิ๊ก อสมท ปล่อยโฆษณาเกินเวลา?
ฉบับเต็ม!รายงาน กมธ.สื่อฯคุ้ยเจอหลักฐานใหม่คดีไร่ส้ม-บิ๊ก อสมท ปล่อยโฆษณาเกินเวลา?
"...จึงเห็นว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายขาย ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ออกอากาศเกินกว่ากฎหมายกำหนด ข้อตกลงตามสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และได้รับเงินค่ารางวัลนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นกว่าจำนวนเงินที่จะได้รับตามกฎหมาย ตามสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัดและระเบียบของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องด้วยการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ และละเลยการกำกับควบคุมตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายงานการพิจารณาศึกษาเพิ่มเติม กรณีการทุจริตค่าโฆษณาเกินเวลา ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยคณะทำงานพิจารณาฯ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยพบข้อเท็จจริงว่า ผู้บริหารใน อสมท ทราบเรื่องการโฆษณาเกินเวลาตลอดมา และจงใจปล่อยให้มีการโฆษณาเกินเวลาเกิดขึ้น ทำให้ อสมท ได้รับความเสียหายประมาณ 237 ล้านบาท โดยคณะทำงานฯ กมธ.สื่อฯ สนช. ได้ส่งรายงานให้กับนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมว.ยุติธรรม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว
----
1.องค์ประกอบของคณะทำงาน ประกอบด้วย
1.1 นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ประธานคณะทำงาน
1.2 นายประมุท สูตะบุตร คณะทำงาน
1.3 นายปรีดี จุลเจิม คณะทำงาน
1.4 นายสมเกียรติ เดชรักษาวัฒนา คณะทำงาน
1.5 นายวรเศรษฐ์ อิสระยั่งยืน คณะทำงาน
1.6 นายเกรียงศักดิ์ กังวานวงศ์ เลขานุการคณะทำงาน
2.วิธีการพิจารณาศึกษาของคณะทำงาน
คณะทำงานพิจารณาศึกษากรณีการทุจริตค่าโฆษณาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้กำหนดวิธีการพิจารณาศึกษาไว้ ดังนี้
2.1 ตรวจสอบสัญญาร่วมดำเนินรายการระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น
2.2 ตรวจสอบเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตค่าโฆษณา เช่น หนังสือชี้ชวนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) รายงานการตรวจสอบงบการเงินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เส้นทางการเงิน ฯลฯ
2.3 เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำแก่คณะทำงาน
2.4 ขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณา
2.5 วิเคราะห์ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ความเสียหายที่เกิดขึ้น ความรับผิดชอบของบุคคล คณะบุคคล หน่วยงานผู้มีหน้าที่กำกับดูแล
3.ข้อมูลความเป็นมา (เพิ่มเติม)
คณะทำงานได้เชิญนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานในวันที่ 12 มิถุนายน 2560 เพื่อรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนข้อมูลอื่นที่จำเป็นในการพิจารณาเกี่ยวกับการทุจริตค่าโฆษณาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ภายหลังจากนั้น นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 มิถุนายน 2560 เรื่องขอเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการของคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ประกอบการพิจารณาแล้ว
ต่อมาคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ สว (สนช)(กมธ 1) 0009/3335 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ขอเชิญนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)และมีหนังสือด่วนที่สุดที่ สว (สนช)(กมธ 1) 0009/3336 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560ขอเชิญนายพลชัย วินิจฉัยกุล เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานในวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2560 เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อมูล ข้อเท็จจริง นโยบายและแนวทางของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งคณะทำงานได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสองท่าน และได้นำข้อมูลดังกล่าวรวบรวมไว้ประกอบการพิจารณาแล้ว
จากนั้นคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน ได้มีหนังสือที่ สว (สนช)(กมธ 1) 0009/4287 ลงวันที่ 5 กันยายน 2560 เรียนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องขอเชิญเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงาน โดยขอเชิญผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบกรณีการทุจริตค่าโฆษณาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานในวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2560 เพื่อให้ข้อมูลข้อมูล ข้อเท็จจริง เพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการในการตรวจสอบบัญชีของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานในวันดังกล่าว และได้ร่วมหารือเกี่ยวกับพยานหลักฐานเพิ่มเติมของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัทไร่ส้ม จำกัด เกี่ยวกับกรณีการทุจริตค่าโฆษณาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งต่อคณะทำงานว่าจะนำข้อมูลพยานหลักฐานเพิ่มเติมประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ สว (สนช)(กมธ 1) 0009/5025 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2560 เรียนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องขอความอนุเคราะห์ให้ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ โดยพบว่ามีโฆษณาที่ไม่อาจจำแนกได้ว่าเป็นโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ปรากฏในการออกอากาศโฆษณาช่วงเวลาเกิดเหตุ โดยปราศจากข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการบันทึกรายได้จากค่าโฆษณาช่วงเวลาดังกล่าวเป็นรายได้ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในปีใดหรือไม่เพียงใด ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) อันเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จะต้องแบ่งส่วนรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือที่ ตผ 0042/0382 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการขอข้อมูลเอกสารจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบการตรวจสอบแล้ว แต่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจัดส่งเอกสารคิวโฆษณาในช่วงเวลาปี 2548 – 2549 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จำเป็นในการตรวจสอบให้อย่างครบถ้วน โดยชี้แจงว่าเนื่องจากระยะเวลาผ่านมานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว และเอกสารได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการหลายชุด หลายคณะ เป็นเหตุให้เอกสารไม่ครบถ้วน ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องบริษัท ไร่ส้ม จำกัด แล้ว ตั้งแต่ปี 2558 ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.697/2558 รวมทั้งไม่มีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงไม่อาจตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมาธิการขอความอนุเคราะห์ได้
ดังนั้นคณะกรรมาธิการจึงมีหนังสือด่วนที่สุดที่ สว(สนช)(กมธ 1) 0009/1594 ลงวันที่ 15มีนาคม 2561 ขอเชิญผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 22 มีนาคม 2561 เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือกับคณะทำงานเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการตรวจสอบข้อมูลงบการเงินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แล้ว
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีหนังสือขอทราบผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยแลคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา คณะทำงานจึงได้ประสานสอบถามไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวกับผลการพิจารณาตรวจสอบงบการเงินและโฆษณาที่ไม่อาจจำแนกได้ว่าเป็นโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทไร่ส้ม จำกัด ปรากฏในการออกอากาศโฆษณาช่วงเวลาเกิดเหตุ โดยปราศจากข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการบันทึกรายได้จากค่าโฆษณาช่วงเวลาดังกล่าวเป็นรายได้ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ในปีใดหรือไม่เพียงใด และได้รับแจ้งข้อมูลว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีหน้าที่ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวได้จัดทำสำนวนการตรวจสอบข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว โดยอยู่ระหว่างการเสนอตามลำดับชั้นบังคับบัญชาเพื่อพิจารณาสั่งการตามลำดับขั้นตอนต่อไป
ในระหว่างนี้ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือที่ นร 6100/2756 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2561 เรื่องแจ้งผลความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับการกล่าวหาพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยแจ้งว่าได้มีหนังสือขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยละเอียดอีกครั้งและขอให้แจ้งผลให้ทางบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทราบต่อไป
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาศึกษาพบปัญหาและอุปสรรคบางประการจากการขาดความร่วมมืออย่างบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งทำให้การพิจารณาศึกษาขาดข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงที เกิดความล่าช้า
4.ผลการพิจารณาศึกษาของคณะทำงาน
จากการพิจารณาเอกสารหลักฐานและคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมแล้ว ได้ข้อสรุปดังนี้
4.1 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ออกอากาศรายการโฆษณาเกินกว่าที่ตกลงกับบริษัทไร่ส้ม จำกัด ในสัญญาร่วมผลิตรายการคุยคุ้ยข่าว
จากการตรวจสอบสัญญาดำเนินการรายการโทรทัศน์ “คุยคุ้ยข่าว” ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัทไร่ส้ม จำกัด ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2549 พบว่ามีการตกลงให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ผลิตรายการคุยคุ้ยข่าว ออกอากาศในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 21.30 – 22.00 นาฬิกา รวม 30 นาที ให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ออกอากาศรายการโฆษณาได้จำนวน 2 นาที 30 วินาที ในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 12.00 ถึง 13.00 นาฬิกา รวม 1 ชั่วโมง ให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ออกอากาศรายการโฆษณาได้จำนวน 5 นาที
อย่างไรก็ดี ก่อนที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด จะทำสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์กันแต่ละฉบับ ฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะออกหนังสืออนุมัติการดำเนินการร่วมผลิตรายการให้แก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทุกครั้ง โดยระบุว่า “ อนุมัติให้บริษัทร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” แบบ Time Sharing(50/50)...และหากประสงค์จะร่วมดำเนินการผลิตรายการตามวันเวลาที่แจ้งดังกล่าวข้างต้น กรุณามีหนังสือยืนยันมายังฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์” จึงได้ข้อสรุปว่าการพิจารณาข้อตกลงเกี่ยวกับส่วนแบ่งเรื่องการออกอากาศรายการโฆษณาของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาจากสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์แต่ละฉบับแล้ว ยังต้องนำหนังสืออนุมัติก่อนทำสัญญาร่วมผลิตรายการมาพิจารณาประกอบด้วย เพื่อให้หยั่งทราบถึงข้อตกลงตามเจตนารมณ์และความเข้าใจที่ตรงกันของคู่สัญญาอย่างแท้จริง
จากการพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมพบว่าหนังสืออนุมัติการดำเนินการร่วมผลิตรายการให้แก่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด หมายถึงข้อตกลงที่ให้ผู้ร่วมผลิตรายการทั้งสองฝ่ายมีสิทธิในการขายเวลาโฆษณาในรายการฝ่ายละเท่าๆ กัน ปรากฏตามบันทึกคำชี้แจงของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในช่วงเวลาเกิดเหตุ และบันทึกคำชี้แจงของนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ดังนั้น กรณีที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัดได้รับส่วนแบ่งในการออกอากาศรายการโฆษณาจำนวน 2 นาที 30 วินาที สำหรับรายการที่ออกอากาศในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และจำนวน 5 นาที สำหรับรายการที่ออกอากาศในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ทางฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จึงมีส่วนแบ่งในออกอากาศรายการโฆษณาจำนวนเท่ากัน คือ 2 นาที 30 วินาที และ 5 นาที ตามลำดับ เช่นเดียวกับฝ่ายบริษัทไร่ส้ม จำกัด ด้วย แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดส่วนแบ่งการออกอากาศรายการโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ไว้ในสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ก็ตาม
ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า แม้จะปรากฏว่าฝ่ายบริษัท ไร่ส้ม จำกัดมีเวลาออกอากาศรายการเกินกว่า 2 นาที 30 วินาที ในช่วงรายการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และจำนวน 5 นาทีในช่วงรายการวันเสาร์และวันอาทิตย์ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าในช่วงระหว่างปี 2547 ถึง 2549 ฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ได้ออกอากาศรายการโฆษณาในส่วนของตน เกินกว่าจำนวนส่วนแบ่งเวลาจำนวน 2 นาที 30 วินาที และจำนวน 5 นาที ตามลำดับ รวมเวลาโฆษณาส่วนเกินของฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 1,085 นาที 16 วินาที คิดเป็นมูลค่า 237 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติในคดีพิพาทเป็นคดีปกครองระหว่างบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดี ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกคลองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1141/2551 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.697/2558
และคณะทำงานยังได้ตรวจสอบจากเอกสารหลักฐานใบ BR พบข้อมูลยืนยันว่าบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีโฆษณาเกินกว่าข้อตกลงจริง ส่วนที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดต่างๆ รวมทั้งกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่พบการโฆษณาเกินของฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หลังจากเกิดเหตุนั้นได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเพราะหลังจากเกิดเหตุได้ตรวจสอบโฆษณาเกินแต่เฉพาะในฝั่งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ฝ่ายเดียวว่าเกินกว่าข้อตกลงไปเป็นจำนวนเท่าใด โดยไม่ได้ตรวจสอบโฆษณาในฝั่งบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เนื่องจากไม่เคยทราบว่ามีหนังสืออนุมัติการดำเนินการร่วมผลิตรายการให้แก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่กำหนดข้อตกลงการแบ่งผลประโยชน์ Time Sharing (50:50)
จึงสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุบริษัท อสมทจำกัด (มหาชน) ได้ออกอากาศรายการโฆษณาเกินส่วนแบ่งที่ตนมีสิทธิได้รับตามสัญญาร่วมผลิตรายการที่ทำกับบริษัท ไร่ส้ม จำกัดด้วย โดยการนำรายการคุยคุ้ยข่าวซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไปขายเวลาโฆษณาในฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และนำเวลาโฆษณาที่ขายได้เกินกว่าเวลาโฆษณาที่ได้รับอนุญาตจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มาลงเป็นเวลาโฆษณาในรายการ คุยคุ้ยข่าว การกระทำดังกล่าวของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผิดสัญญาที่ได้กระทำกับคู่สัญญาที่เป็นเอกชน โดยบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์และเป็นรัฐวิสาหกิจจะอ้างความเป็นเจ้าของสถานีเพื่อปัดความรับผิดชอบไม่ได้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจการโดยปราศจากหลักธรรมาภิบาล และยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการออกอากาศกรายการโทรทัศน์ คือระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะเกิดเหตุ รวมทั้งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
จึงเห็นว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายขาย ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ออกอากาศเกินกว่ากฎหมายกำหนด ข้อตกลงตามสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และได้รับเงินค่ารางวัลนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นกว่าจำนวนเงินที่จะได้รับตามกฎหมาย ตามสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัดและระเบียบของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องด้วยการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ และละเลยการกำกับควบคุมตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ
4.2 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เอาเปรียบคู่สัญญาที่เป็นเอกชนโดยการนำสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นไปใช้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
จากการตรวจสอบสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ ระหว่างบริษัทอสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด แล้ว พบว่าในสัญญาฉบับแรกและทุกฉบับมีข้อตกลงให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในงานต่าง ๆ ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ รวมทั้งสิทธิของนักแสดง ซึ่งคำว่า “ลิขสิทธิ์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาไม่ว่าโดยรูปลักษณะอย่างใดหรือวิธีใดรวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย ต่อมาเพิ่งจะปรากฏในสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ฉบับปี2549 ว่ามีข้อตกลงให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยินยอมให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นำรายการคุยคุ้ยข่าว ไปแพร่เสียงแพร่ภาพสู่สาธารณชนทางสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกันตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้อันแสดงให้เห็นว่าในกรณีที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะนำเนื้อหารายการคุยคุ้ยข่าวไปเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือหรือเกินกว่าที่ตกลงแบ่งผลประโยชน์กันตามสัญญา จะต้องมีการตกลงยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างกันเป็นการเฉพาะเจาะจง มิใช่ว่าบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)สามารถนำเนื้อหารายการคุยคุ้ยข่าวไปใช้หาประโยชน์ได้ตามอัธยาศัยแต่ฝ่ายเดียว
ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)มีรายการโทรทัศน์ออกอากาศหลายรายการ แต่รายการคุยคุ้ยข่าวเป็นรายการอันเป็นที่นิยมมียอดผู้ชมสูงที่สุดในขณะนั้น การที่ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ กระทำการออกอากาศรายการโฆษณาเกินกว่าจำนวนในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่มีสิทธินำรายการคุยคุ้ยข่าวไปขายเวลาโฆษณาตามที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในรายการจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ตามสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์และเกินจำนวนเวลาโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด
จึงส่อแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ ประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด ผู้บริหารฝ่ายขาย และผู้บริหารฝ่ายฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติขายและได้รับเงินรางวัลนำเข้า แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยสัญญาและฉวยโอกาสขายเวลาโฆษณาในรายการที่มียอดผู้ชมสูง มีอุปทานการซื้อเวลาโฆษณาจำนวนมาก แล้วนำมาออกอากาศแทรกในรายการคุยคุ้ยข่าว อันเป็นการนำทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นไปใช้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการกระทำโดยปราศจากหลักธรรมาภิบาล ความเสมอภาค และเป็นการใช้สิทธิความเป็นผู้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเอาเปรียบคู่สัญญาฝ่ายเอกชน นอกจากนั้นยังอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เนื่องจากการนำรายการโฆษณาส่วนเกินมาแทรกในรายการคุยคุ้ยข่าว ล้วนเป็นการกระทำของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด (มหาชน) ส่งคิวโฆษณาเกินให้แก่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการที่ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายขาย ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด และผู้บริหารฝ่ายฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติขายและได้รับเงินรางวัลนำเข้า จงใจออกอากาศรายการโฆษณาเกินส่วนแบ่งตามสัญญาและเกินจำนวนของโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยังโยงใยไปถึงประเด็นการจ่ายรางวัลเงินนำเข้าโฆษณาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยนอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการปล่อยปละละเลยให้มีการจ่ายรางวัลเงินนำเข้าโฆษณาส่วนเกินให้แก่ผู้บริหารและพนักงานโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ข้อตกลงตามสัญญา และระเบียบ ส่อให้เห็นถึงเจตนาทุริตอย่างร้ายแรงของผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายงานดังกล่าวข้างต้น
4.3 การควบคุมเวลาออกอากาศรายการโฆษณาให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2535
จากข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่าตามระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2535 ออกตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะเกิดเหตุ ข้อ 31 ได้กำหนดให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตให้มีรายการโฆษณาและบริการธุรกิจต้องใช้เวลาสำหรับรายการโฆษณาและบริการธุรกิจไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที เว้นแต่กรมประชาสัมพันธ์อาจพิจารณากำหนดเป็นอย่างอื่นได้สำหรับรายการวิทยุโทรทัศน์บางรายการ ซึ่งกรณีของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รับการพิจารณาอนุญาตให้ในการออกอากาศรายการ 1 ชั่วโมง สามารถมีรายการโฆษณาและบริการธุรกิจได้ 12 นาที 30 วินาที โดยแบ่งออกเป็นรายการโฆษณาและบริการธุรกิจ 10 นาที การออกอากาศรายการ 30 นาที จึงสามารถมีรายการโฆษณาและบริการธุรกิจได้ 5 นาที
อย่างไรก็ดี เมื่อได้ข้อสรุปว่าในช่วงระหว่างปี 2547 ถึง 2549 ทั้งบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัทไร่ส้ม จำกัด ออกอากาศโฆษณาเกินส่วนบ่งเวลาตามสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ในรายการคุยคุ้ยข่าวที่แพร่ภาพออกอากาศวันจันทร์ถึงศุกร์ ซึ่งมีเนื้อหารายการรวม 30 นาที มีการออกอากาศรายการโฆษณาและบริการธุรกิจเกินกว่า 5 นาที และที่แพร่ภาพออกอากาศในวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งมีเนื้อหารายการรวม 1 ชั่วโมง มีการออกอากาศโฆษณาและบริการธุรกิจเกินกว่า 10 นาที ฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2535 ข้อ 31 ซึ่งมีกำหนดโทษในระเบียบดังกล่าวข้อ 35 โยให้คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติดำเนินการลงโทษได้ 5 สถานเดียวกัน กล่าวคือ (1) ออกคำสั่งให้สถานีชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร (2) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร (3) มีคำสั่งระงับการออกอากาศรายการที่ฝ่าฝืน (4) เพิกถอนการอนุญาตหรือการรับรองที่ได้ออกให้ตามระเบียบนี้ หรือ (5) มีคำสั่งให้ปิดสถานี
จากระเบียบดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่กำกับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาและบริการธุรกิจในรายการของสถานีเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจักได้รับบทลงโทษตามระเบียบฯซึ่งมีกำหนดโทษร้ายแรงอันกระทบถึงภาพลักษณ์ในเรื่องความโปร่งใสของการดำเนินการบริหารกิจการสถานีไปจนถึงขั้นอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานีหรือถูกสั่งให้ปิดสถานีได้ ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในกรณีที่มีการออกอากาศรายการโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบฯได้ และไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างว่าหน้าที่กำกับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาเป็นไปตามระเบียบฯ ได้ และไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างว่าหน้าที่กำกับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาเป็นไปตามระเบียบฯ อยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าเพียงผู้เดียว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธุรการผู้นั้นเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ มิใช่ระดับบังคับบัญชาแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ ได้มอบหมายอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาและบริการธุรกิจในรายการของสถานีเป็นไปตามระเบียบให้แก่เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าผู้นั้นด้วย
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าการออกอากาศรายการโทรทัศน์ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินการทางปฏิบัติโดยทำผังรายการประจำวันล่วงหน้า ซึ่งมีการรับรองความถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายรายการ ฝ่ายธุรกิจ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายควบคุมการออกอากาศ รวมถึงผู้อำนวยการสถานี และเมื่อได้ออกอากาศแล้วจะต้องมีการรายงานรับรองผลการออกอากาศด้วยว่าได้มีการปฏิบัติตรงตามผังออกอากาศประจำวันหรือไม่ จึงย่อมหมายความว่ามีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจัดทำและเสนอผังรายการและคิวโฆษณาไปยังแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีการเสนอให้ผู้อำนวยการพิจารราอนุมัติและรับรองผลทั้งในช่วงก่อนและหลังออกอากาศ จึงสรุปได้ว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ ได้รับรู้และจงใจปล่อยให้มีการออกอากาศรายการโฆษณาเกินในรายการคุยคุ้ยข่าวตลอดมาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบฯ
จึงสรุปความเห็นว่า ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายงานกลยุทธ์การตลาด และส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติในการออกอากาศเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ในขณะเกิดเหตุ กระทำการโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2535
4.4 ระบบการพิจารณาอนุมัติและรับรองคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทราบถึงการออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของทั้งสองฝ่าย
จากการตรวจสอบสัญญาจ้างงานของเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต พบว่ามีการระบุตำแหน่งงานไว้ว่า “พนักงานพิมพ์ดีด” แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วได้ความว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าผู้นั้นจัดทำใบคิวโฆษณารวมในรายการต่าง ๆ ที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมดำเนินการผลิตกับเอกชน แล้วส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติเพื่อออกอากาศตามขั้นตอน
เมื่อได้ตรวจสอบใบคิวโฆษณารวมของรายการคุยคุ้ยข่าวที่เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าผู้นั้นได้จัดทำขึ้นเพื่อเสนอให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติแล้ว พบว่าได้มีการระบุรายการโฆษณาทั้งของฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และฝ่ายบริษัทไร่ส้ม จำกัด ถูกต้องตรงกับคิวโฆษณาที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ส่งมาให้ทำใบคิวโฆษณารวม โดยไม่มีการปกปิดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข และได้มีการเสนอใบคิวโฆษณารวมแก่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าในขณะนั้น หรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าและผู้บริหารสำนักกลยุทธ์การตลาดตามลำดับการบังคับบัญชา ให้พิจารณาและลงลายมือชื่ออนุมัติการออกอากาศ เมื่อผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าในขณะนั้น หรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารที่ได้รับมอบหมายลงลายมือชื่ออนุมัติให้ออกอากาศแล้ว จะมีการจัดทำสำเนาใบคิวโฆษณารวมจำนวน 16 ชุด แจกจ่ายไปยังแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ แล้ว จึงจะมีการออกอากาศรายการโฆษณาตามใบคิวโฆษณาดังกล่าว และภายหลังจากที่มีการออกอากาศรายการโฆษณาแล้ว ฝ่ายออกอากาศของสถานีโทรทัศน์จะจัดทำรายการรับรองผลการออกอากาศ (Master Control) ระบุรายละเอียดเวลาโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และเวลาโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด อย่างชัดเจนส่งไปยังผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า และผู้บริหารสำนักกลยุทธ์การตลาดในขณะนั้น กำกับดูแลอยู่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนให้บริการจัดทำเอกสารแสดงหลักฐานการโฆษณาทางโทรทัศน์ประจำวันของสถานีโทรทัศน์ตามที่ออกอากาศจริง (Monitor Advertising หรือ BR) เพื่อเป็นหลักฐานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปตรวจสอบการทำธุรกรรมของตนว่าได้มีการออกอากาศจริงตามข้อตกลงหรือไม่
จึงสรุปได้ว่ารายการโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าวทั้งของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นรายการที่เปิดเผยปรากฏอยู่ในเอกสารใบคิวโฆษณารวมซึ่งมีการส่งไปยังแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทุกครั้งก่อนแพร่ภาพออกอากาศ หลังจากออกอากาศแล้วก็ปรากฏในเอกสารรายงานรับรองผลการออกอากาศ (Master Control) ซึ่งมีการพิจารณาและลงลายมือชื่อรับรองอนุมัติโดยเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แล้ว โดยไม่มีการปกปิดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลรายการโฆษณาแต่อย่างใด
จากการศึกษาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว มีความเห็นว่าใบคิวโฆษณารวมที่เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริตจัดทำขึ้นและรายงานรับรองผลของการออกอากาศ (Master Control) ที่ฝ่ายออกอากาศของสถานีจัดทำ ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่ระดับบริหารพิจารณาลงลายมือชื่ออนุมัติและตรวจสอบ เป็นหลักฐานอันหนักแน่นที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ต้องทราบและได้อนุมัติให้มีการออกอากาศรายการโฆษณาเกินเวลาทั้งของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัทไร่ส้ม จำกัด ตลอดมา โดยไม่เคยถูกปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโฆษณาเกินของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด
ส่วนข้อที่อ้างว่าไม่ทราบว่ามีโฆษณาเกิน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าไม่รายงานการออกอากาศโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ให้ทราบนั้น มีความเห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวมีความไม่สมเหตุผล เพราะเมื่อใบคิวโฆษณารวมและรายการรับรองผลการออกอากาศ (Master Control) ปรากฏรายการโฆษณาเกินเวลาทั้งของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ตามที่ได้มีการออกอากาศจริงแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้พิจารณาและลงลายมือชื่ออนุมัติให้ออกอากาศรายการโฆษณาดังกล่าวและผู้บริหารสำนักกลยุทธ์การตลาดในขณะนั้น ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบโฆษณาทั้งหมดรวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ อาทิ ผู้บริหารฝ่ายขายผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ และผู้บริหารบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง จะไม่ทราบถึงรายการโฆษณาเกินเวลาไปได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก ใบคิวโฆษณารวมและรายงานรับรองผลการออกอากาศ (Master Control) มีรายละเอียดการโฆษณาเกินเวลาของทั้งสองฝ่ายตามที่ออกอากาศจริง
จึงมีความเห็นว่าเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ชัดเจนแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายงานต่าง ๆ ที่มีอำนาจและหน้าที่ตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นั้น ได้ทราบถึงการโฆษณาเกินเวลาของทั้งสองฝ่ายตลอดมา โดยที่ไม่จำต้องได้รับรายงานใดๆเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก การที่มีรายการโฆษณาเกินเวลาของทั้งสองฝ่ายในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริหารของบริษัทบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุมิใช่การถูกผู้ใต้บังคับบัญชาปกปิดไม่รายงานโฆษณาส่วนเกินแต่อย่างใด
ความในข้อนี้ยังปรากฏจากรายงานการประชุมบันทึกคำชี้แจงของนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันที่ระบุว่ากรณีรายการคุยคุ้ยข่าวมีโฆษณาเกินเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายและผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่ดูแลด้านนี้อนุมัติหรือปล่อยให้มีโฆษณาเกินเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอันเป็นการสนับสนุนความเห็นดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2548 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แจ้งให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มาชำระเงินโฆษณาส่วนเกิน ซึ่งนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้ทั้งท้วงบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ในเรื่องบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของตนเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา และเกินกว่าจำนวนรายการโฆษณาส่วนเกินของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต่อมาจึงมีข้อตกลงว่าบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะให้เครดิตการออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินแก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยจะนำเครดิตดังกล่าวไปหักกลบกับเวลาออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้นำรายการคุยคุ้ยข่าวซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไปขายเวลาโฆษณาเกินกว่าข้อตกลงในสัญญาร่วมดำเนินการโทรทัศน์ในแต่ละสัญญาทุกสิ้นเดือน หากกลบกันแล้ว รายการโฆษณาส่วนของเกินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีมากกว่าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะไม่เรียกให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ชำระเงิน แต่หากรายการโฆษณาส่วนเกินของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีมากกว่าของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แล้ว บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะแจ้งให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทราบ และให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มาชำระเงินโดยทำหนังสือขอซื้อเวลาออกอากาศรายการโฆษณาเฉพาะส่วนที่ล้ำจำนวนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยให้ชำระราคาภายใน 1 เดือน ผลจากข้อตกลงดังกล่าว
ปรากฏหลักฐานในเอกสารบันทึกภายในของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 21 มีนาคม 2548 หลังจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทำหนังสือของซื้อเวลาโฆษณาและขออนุมัติเครดิต ลงวันที่ 2 มีนาคม 2548 เพื่อให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พิจารณาอนุมัติเครดิตและส่วนลดค่าเวลาโฆษณา ซึ่งผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้มีการพิจารณาอนุมัติไปตามลำดับขั้นตอนจนเสร็จสิ้น และในเดือนมีนาคม 2548 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ออกอากาศรายการโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดในสัญญาเป็นเวลา 7 นาที 15 วินาที แต่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าได้แจ้งเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต ให้แจ้งแก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ว่าให้มาชำระเงินค่ารายการโฆษณาส่วนเกินเพียง 3 นาที 30 วินาที และได้มีการทำสัญญาซื้อเวลาโฆษณาในเดือนพฤษภาคม 2548 ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด
นอกจากนี้ในการที่มีเวลาโฆษณาเกินที่กฎหมายกำหนดเกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะรายการได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก หากผู้บริหารฝ่ายขายและฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีความเห็นว่าสมควรจะขายเวลาการออกอากาศรายการคุยคุ้ยข่าวจากระยะเวลา 30 นาที เป็นระยะเวลา 60 นาที เป็น 90 นาที หรือจาก 60 นาที เป็น 90 นาที ระยะเวลา 60 นาที เป็นระยะเวลา 90 นาที หรือ 120 นาที ดังเช่นรายการถึงลูกถึงคนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ก็อยู่ในอำนาจของผู้บริหารของฝ่ายงานกลยุทธ์การตลาด ฝ่ายขายและฝ่ายงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการได้ตามอำนาจและหน้าที่ที่มีอยู่ และนำไปสู่การแก้ไขสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ที่มีอยู่ต่อไป
ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีข้อตกลงว่าหากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินมากกว่าแล้ว บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ต้องเป็นฝ่ายแจ้งให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทราบเพื่อเรียกเก็บเงิน เพราะการกำกับดูแลการออกอากาศโฆษณาเป็นฝั่งบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แต่ผู้เดียว แต่ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและผู้บริหารฝ่ายขายในขณะเกิดเหตุ กลับละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว อันส่อให้เห็นถึงพิรุธที่น่าสงสัยว่าสาเหตุที่ไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าโฆษณาส่วนเกินตลอดมานั้น สืบเนื่องจากผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุละเลยหรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการนำเข้าและออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งล้ำจำนวนกว่าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นอันมาก ครั้นพอมีการสอบสวนจนพบข้อเท็จจริงว่าบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีโฆษณาเกินข้อตกลง ก็กลับไม่มีการตรวจสอบโฆษณาเกินข้อตกลงในฝั่งบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดต่าง ๆ รวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ตรวจสอบแต่เฉพาะรายการโฆษณาเกินกว่าข้อตกลงของฝั่งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น และพยานที่เกี่ยวข้องที่เป็นพนักงานและบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จึงไม่สามารถอธิบายถึงข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติในการออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าวอย่างชัดเจน เพราะเกรงว่าจะส่งผลให้ผู้บริหารและพนักงานจำนวนมากของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ข้อตกลงตามสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ และต้องมีความรับผิดทางกฎหมาย
จึงมีความเห็นว่าสมควรให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงในการลงโฆษณาส่วนเกินเวลาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในการนำรายการคุยคุ้ยข่าวซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไปขายเวลาโฆษณาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในการลงเวลาโฆษณาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และนำเวลาโฆษณาที่ขายนั้นมาลงโฆษณาในรายการคุยคุ้ยข่าวมีจำนวนเวลาโฆษณาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เกินกว่าข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์แต่ละฉบับระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีจำนวนเพียงใด และจำต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในการนำรายการคุยคุ้ยข่าวไปขายเวลาโฆษณาให้แก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จำนวนเพียงใด ตามสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์แต่ละฉบับและตามที่กฎหมายกำหนด
4.5 นอกจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะออกอากาศรายการโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด แล้ว ยังมีการออกอากาศรายการโฆษณาที่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นเจ้าของในรายการคุยคุ้ยข่าวด้วย
จากการศึกษาพบว่า นอกจากผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะละเลยต่อหน้าที่ในการตรวจสอบรายงานโฆษณาส่วนเกินแล้ว ยังปล่อยปละละเลยโดยไม่สอบสวนการโฆษณาที่มิใช่ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มาลงในใบคิวโฆษณารวมและแพร่ภาพออกอากาศ ทั้งนี้ จากการศึกษารายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีพลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ เป็นประธาน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2548 และวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 เจ้าหน้าที่และธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต ได้จัดทำใบคิวโฆษณารวมของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ในรายการคุยคุ้ยข่าว โดยแจ้งโฆษณาบางรายการว่าเป็นของโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
ครั้นเมื่อตรวจสอบแล้วกลับพบโฆษณาบางรายการดังกล่าวไม่ใช่รายการโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด แต่เป็นโฆษณาแฝงหรือที่เรียกว่า “โฆษณาผี” มีรายการโฆษณาสินค้าเป็นของบริษัท เบนเฮอร์ แอดเวอร์ไทด์ซิ่ง จำกัด บริษัทยูนิค แพลนเนอร์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ฮิปฮิปฮูเรย์ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ธุรกิจอาวุโสฝ่ายกฎหมายธุรกิจในขณะเกิดเหตุ ได้ฝากให้เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต นำไปลงโฆษณาในรายการคุยคุ้ยข่าว อันเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นำรายการโฆษณามาให้เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าลงในใบคิวโฆษณารวมโดยระบุว่าเป็นรายการโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
แต่ในความจริงพบว่าเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริตได้นำสินค้าดังกล่าวไปโฆษณาในรายการคุยคุ้ยข่าว และเป็นผู้รับเงินค่าโฆษณารายการดังกล่าวเป็นของตนเอง ทำให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสียหายไม่ได้รับเงินค่าโฆษณาดังกล่าว คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,130,000 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
นอกจากนั้น ในรายการผลสรุปการสอบสวนข้อเท็จจริงที่พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ เป็นประธานมีข้อเสนอแนะให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เรียกเงินค่าโฆษณาผีจากเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า และผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์การตลาดในขณะนั้น จำนวน 1,130,000 บาท แต่กระทั่งปัจจุบัน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้ดำเนินคดีแก่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า และผู้บริหารสำนักกลยุทธ์การตลาดดังกล่าวแต่อย่างใด
จึงมีความเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้านำโฆษณาผีมาลงในใบคิวโฆษณารวม แต่ไม่มีการสอบสวนว่าโฆษณาผีเป็นรายการที่มีผู้ใดเป็นเจ้าของและมีการนำโฆษณาผีมาออกอากาศในรายการคุยคุ้ยข่าวได้อย่างไร ทั้งที่การสอบสวนจะทำให้พบมูลเหตุแห่งการทุจริต รวมถึงตัวการกระทำความผิดซึ่งรับประโยชน์โดยมิชอบอยู่เบื้องหลัง ถือเป็นการที่ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงเห็นสมควรให้นำผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ เป็นประธาน มาพิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนชุดดังกล่าวให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ยังเห็นว่าสมควรดำเนินการตรวจสอบเรื่องโฆษณาผีต่อไปและหากพบว่ามีบุคคลใดเข้ามาเกี่ยวข้องให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
4.6 การตรวจสอบพยานหลักฐานสำคัญในเรื่องบัญชีเงินฝากของเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต กระทำอย่างไม่ครบถ้วน ซึ่งทำให้ผลการสอบสวนไม่สามารถเปิดเผยความจริงได้ครบถ้วนผิดต่อหลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม
จากการศึกษาพบว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุ เดือนมกราคม 2548 ถึงเดือนธันวาคม 2549 มีเงินฝากและเช็คที่สั่งจ่ายให้เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต ที่มิใช่ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด อีก 46 รายการ รวมเป็นเงินจำนวนกว่า 3,100,000 บาท แต่กลับมีการตรวจสอบเพียงธุรกรรมการฝากเช็คเพียง 7 ฉบับ ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งจำนวนเงินสั่งจ่ายตามเช็คแต่ละฉบับมีหน่วยเป็นตัวเลขทศนิยม รวมเป็นเงิน 730,000 บาทเศษ ส่วนเงินและเช็คที่ฝากเข้าบัญชีจำนวน 46 ครั้ง จำนวนเงินแต่ละครั้งเป็นตัวเลขถ้วน กลับไม่มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาจากการที่เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการนำรายการโฆษณาผีที่ไม่ปรากฏเจ้าของจำนวนหลายรายการมาออกอากาศในรายการคุยคุ้ยข่าว ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ ย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความผิดปกติของรายการเดินบัญชีเงินฝากของเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า ซึ่งมีการนำเงินจำนวนสูงผิดปกติเข้าฝากในระหว่างช่วงเวลาเกิดเหตุ เนื่องจากการสอบสวนดังกล่าวอาจนำไปสู่การพบเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตเรื่องรายการโฆษณาผี แต่ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ก็หากระทำไม่ ส่อแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน ความไม่สุจริตใจในการดำเนินกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความสงสัยว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จักต้องกระทำตามกฎหมาย
เห็นว่า สมควรให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาของเงินฝากในบัญชีของเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริตในช่วงระหว่างเวลาเกิดเหตุให้ครบถ้วน หากมีการตรวจสอบพบที่มาของเงินอันเกิดจากการกระทำโดยทุจริตให้ดำเนินการตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และดำเนินการตามกฎหมายต่อไปโดยเร็วและให้อยู่ภายในกำหนดอายุความ เพื่อประโยชน์ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ต่อไป
5. ข้อเสนอแนะ
จากข้อเท็จจริงและผลการพิจารณาศึกษาที่ปรากฏ เห็นว่าควรเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาศึกษาเพิ่มเติม ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เจาะข้อมูล บิ๊ก อสมท ปล่อย‘โฆษณาผี’โผล่คดีไร่ส้ม แต่ไม่สอบสวนเอาผิด?
เปิดข้อมูลเด็ด! มัดบิ๊ก อสมท เซ็นอนุมัติใบคิวแต่ปล่อย? โฆษณาเกินเวลาคดีไร่ส้ม
รอชง กก.อสมท พิจารณาปม กมธ.สื่อฯ สนช.พบหลักฐานใหม่คดีไร่ส้ม-ป.ป.ช.ยังไม่เห็นเรื่อง
ส่อเจตนาทุจริตร้ายแรง!พฤติการณ์บิ๊ก อสมท ‘จงใจตลอดมา’ โฆษณาเกินเวลาคดีไร่ส้ม?
กมธ.สื่อฯพบหลักฐานใหม่คดีไร่ส้ม อสมท โฆษณาเกินเวลาด้วย-บิ๊กพัวพันอื้อไม่เคยถูกสอบ