ส่อเจตนาทุจริตร้ายแรง!พฤติการณ์บิ๊ก อสมท ‘จงใจตลอดมา’ โฆษณาเกินเวลาคดีไร่ส้ม?
“…ผู้บริหารของ อสมท จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ในกรณีที่มีการออกอากาศรายการโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบได้ และไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างว่าหน้าที่กำกับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาเป็นไปตามระเบียบฯ อยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าเพียงผู้เดียว … ว่าผู้บริหารของ อสมท ในขณะเกิดเหตุ ได้รับรู้และจงใจปล่อยให้มีการออกอากาศรายการโฆษณาเกินในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ตลอดมาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบ…”
คดีไร่ส้ม หรือกรณียักยอกเงินค่าโฆษณา อสมท ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด กำลังกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง!
ภายหลังคณะทำงาน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เจอหลักฐานใหม่ว่า กรณีพิพาทในการโฆษณาเกินเวลาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ อสมท และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไม่ได้มีแค่ฝ่ายบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เท่านั้นที่โฆษณาเกินเวลา แต่ อสมท เอง ก็โฆษณาเกินเวลาด้วย คิดเป็นมูลค่ากว่า 237 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญคือ ที่ผ่านมาในการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะทำงานชุดต่าง ๆ รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลับสอบในส่วนการโฆษณาเกินเวลาฝ่ายบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เพียงอย่างเดียว ไม่เคยสอบในส่วนของ อสมท ที่โฆษณาเกินเวลาเลย เนื่องจากไม่เคยทราบว่า มีหนังสืออนุมัติการดำเนินการร่วมผลิตรายการให้แก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่กำหนดข้อตกลงการแบ่งผลประโยชน์ Time Sharing (50/50)
คณะทำงานใน กมธ.สื่อฯ สรุปข้อเท็จจริงว่า การกระทำของ อสมท เป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ผิดสัญญาที่ได้กระทำกับคู่สัญญาที่เป็นเอกชน นอกจากนี้ผู้บริหารของ อสมท ในช่วงเกิดเหตุ ได้แก่ ผู้บริหารฝ่ายขาย ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด รวมทั้งผู้บริหารของ อสมท ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ออกอากาศเกินกว่ากฎหมายกำหนด ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องด้วยการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ละเลยการกำกับควบคุมให้ออกอากาศรายการโฆษณาตามกฎหมายกำหนด เพื่อประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ (อ่านประกอบ : กมธ.สื่อฯพบหลักฐานใหม่คดีไร่ส้ม อสมท โฆษณาเกินเวลาด้วย-บิ๊กพัวพันอื้อไม่เคยถูกสอบ)
คำถามประการถัดมาคือ ผู้บริหารใน อสมท รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้มาโดยตลอดหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงตามรายงานของคณะทำงาน กมธ.สื่อฯ สนช. ให้ทราบ ดังนี้
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ระหว่างปี 2547-2549 ทั้ง อสมท และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ออกอากาศโฆษณาเกินส่วนแบ่งเวลาตามสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ ในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ โดยโฆษณาเกินเวลาในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ เกิน 5 นาที/ชั่วโมง และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เกิน 10 นาที/ชั่วโมง ฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2535 มีกำหนดโทษในระเบียบดังกล่าวข้อ 35 โดยให้คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ดำเนินการลงโทษได้ 5 สถานเดียวกัน 1.ออกคำสั่งให้สถานีชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร 2.ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 3.มีคำสั่งระงับการออกอากาศรายการที่ฝ่าฝืน 4.เพิกถอนใบอนุญาตหรือการรับรองที่ได้ออกให้ตามระเบียบนี้ หรือ 5.มีคำสั่งให้ปิดสถานี
โดยในช่วงเกิดเหตุ อสมท มีรายการโทรทัศน์ออกอากาศหลายรายการ แต่รายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ เป็นรายการอันเป็นที่นิยมมียอดผู้ชมสูงที่สุดในขณะนั้น การที่ผู้บริหารของ อสมท ในขณะเกิดเหตุ กระทำการออกอากาศรายการโฆษณาเกินกว่าจำนวนในส่วนของ อสมท มีสิทธินำรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ไปขายเวลาโฆษณาตามที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในรายการจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ตามสัญญา
จึงส่อแสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารของ อสมท ในขณะเกิดเหตุ ประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด ผู้บริหารฝ่ายขาย และผู้บริหารฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติขาย และได้รับเงินรางวัลนำเข้า แสวงหาประโยชน์มิชอบด้วยสัญญา และฉวยโอกาสขายเวลาโฆษณาในรายการที่มียอดผู้ชมสูง มีอุปทานการซื้อโฆษณาจำนวนมาก แล้วนำมาออกอากาศแทรกในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ เป็นการกระทำโดยปราศจากหลักธรรมาภิบาล ความเสมอภาค และเป็นการใช้สิทธิความเป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐเอาเปรียบคู่สัญญาฝ่ายเอกชน
นอกจากนี้ยังอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เนื่องจากการนำรายการโฆษณาส่วนเกินมาแทรกในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ล้วนเป็นการกระทำของ อสมท ทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ส่งคิวโฆษณาเกินให้แก่ อสมท แต่อย่างใด
คณะทำงานฯ เห็นว่า การที่ผู้บริหารของ อสมท ประกอบด้วยผู้บริหารฝ่ายขาย ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด และผู้บริหารฝ่ายงานทีเกี่ยวข้องกับการอนุมัติขาย และได้รับเงินรางวัลนำเข้า จงใจออกอากาศรายการโฆษณาเกินส่วนแบ่งตามสัญญา และเกินจำนวนของโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยังโยงใยไปถึงประเด็นการจ่ายรางวัลเงินนำเข้าโฆษณาในส่วนของ อสมท โดยนอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบแล้ว ยังเป็นการปล่อยปละละเลยให้มีการจ่ายรางวัลเงินนำเข้าโฆษณาส่วนเกินให้แก่ผู้บริหาร และพนักงานโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ข้อตกลงตามสัญญา และระเบียบ ส่อให้เห็นถึงเจตนาทุจริตอย่างร้ายแรงของผู้บริหาร อสมท ในฝ่ายงานดังกล่าวข้างต้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้บริหารของ อสมท มีหน้าที่กำกับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาและบริการธุรกิจในรายการของสถานีเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจักได้รับบทลงโทษตามระเบียบซึ่งกำหนดโทษร้ายแรงอันกระทบถึงภาพลักษณ์ในเรื่องของความโปร่งใสของการดำเนินการบริหารกิจการสถานี ไปจนถึงขั้นอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานี หรือถูกสั่งให้ปิดสถานีได้
ผู้บริหารของ อสมท จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ในกรณีที่มีการออกอากาศรายการโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบได้ และไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างว่าหน้าที่กำกับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาเป็นไปตามระเบียบฯ อยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าเพียงผู้เดียว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธุรการผู้นั้นเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ มิใช่ระดับบังคับบัญชาแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า ผู้บริหารของ อสมท ในขณะเกิดเหตุ ได้มอบหมายอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบให้การออกอากาศรายการโฆษณาและบริการธุรกิจในรายการของสถานีเป็นไปตามระเบียบให้แก่เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าผู้นั้นด้วย
นอกจากนี้ยังปรากฏว่า การออกอากาศรายการโทรทัศน์ของ อสมท มีการดำเนินการทางปฏิบัติโดยทำผังรายการประจำวันล่วงหน้า มีการรับรองความถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายรายการ ฝ่ายธุรกิจ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายควบคุมการออกอากาศ รวมถึงผู้อำนวยการสถานี และเมื่อได้ออกอากาศแล้ว จะต้องมีการรายงานรับรองผลการออกอากาศด้วยว่า มีการปฏิบัติตรงตามผังออกอากาศประจำวันหรือไม่ ย่อมหมายความว่ามีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ จัดทำและเสนอผังรายการและคิวโฆษณาไปยังแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีการเสนอให้ผู้อำนวยการพิจารณาอนุมัติ และรับรองผลทั้งในช่วงก่อน และหลังออกอากาศ
จึงสรุปได้ว่าผู้บริหารของ อสมท ในขณะเกิดเหตุ ได้รับรู้และจงใจปล่อยให้มีการออกอากาศรายการโฆษณาเกินในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ตลอดมา อันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบ โดยผู้บริหารของ อสมท ในฝ่ายงานกลยุทธ์การตลาด และส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติในการออกอากาศเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ในขณะเกิดเหตุ กระทำการโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2535
นี่เป็นเพียงข้อเท็จจริงในส่วนที่ว่า ผู้บริหาร อสมท ขณะนั้น มีส่วนรู้เห็นในการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด หรือไม่ ?
ส่วนรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับใบคิวโฆษณา ที่เป็นหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการโฆษณาเกินเวลาของ อสมท สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในตอนถัดไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ศาลรับฎีกา-ตีหลักทรัพย์5ล.ให้ประกัน 'สรยุทธ-พวก'คดีไร่ส้ม มีเงื่อนไขห้ามไป ตปท.
ฎีกาไม่ให้ประกันตัว'สรยุทธ-พวก'หลังยื่น4ล.-ศาลอุทธรณ์ยืนคุก13ปี4เดือนคดีไร่ส้ม
ถ้าทุจริตคงไม่ร่วมมือ อสมท สอบ! คำต่อคำ‘สรยุทธ’หลังศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีปลอมเอกสาร
ศาลอุทธรณ์ตัดสินคดี‘สรยุทธ’โฆษณาเกินเวลา 29 ส.ค.-ยืนชั้นต้นจำหน่ายคดีปลอมเอกสาร
ชัด ๆ คำพิพากษาศาล! คดี‘สรยุทธ-พวก’โฆษณาเกินเวลา 138 ล.
ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก‘สรยุทธ-พวก’ 13 ปี 4 เดือนคดีไร่ส้ม
ช่อง 3 โยน บ.ไร่ส้ม ตัดสินใจ เปลี่ยนพิธีกร 'เรื่องเล่าเช้านี้'