เปิดใจ ‘สุทัด’ ฉายทิศธุรกิจ บ.ศิริวัฒนาฯ -พร้อมแข่งอีพาสปอร์ตเฟส 3 ครั้งใหม่
“...บางครั้งมีข้อสงสัยว่า ทำไมการเตรียมการเรื่องทำพาสปอร์ตจึงต้องใช้ระยะเวลานานถึง 9 เดือน ลำดับแรกแรก พาสปอร์ตเมื่อมีการออกแบบใหม่ ตัวพาสปอร์ตดังกล่าวนี้จะต้องส่งให้กับทาง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทั่วโลก เพื่อให้ ตม. รับรู้ว่าพาสปอร์ตนี้เป็นของใหม่ที่จะมีการใช้อย่างเป็นทางการ แล้วทั่วโลกจะต้องมีการตอบรับกลับมา ถึงจะให้เริ่มใช้งานได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ไม่สามารถเร่งเวลาให้เร็วกว่านี้ได้ ลำดับต่อมา วัสดุพวกชิป กระดาษ ในการสั่งของต้องใช้เวลา เช่น การสั่งกระดาษเข้ามาเพื่อผลิต ต้องรอประมาณ 3 เดือน ดังนั้นหากผลิตได้เร็วที่สุดอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน...”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอกรณีเกี่ยวกับการประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม หรือ ภายในระยะเวลา 7 ปีแล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน กำหนดราคากลาง 12,438,750,000 บาท หรือเล่มละ 829.25 บาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มาอย่างต่อเนื่อง โดยต่อมา เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2561 นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร 16 ราย เสนอราคา 4 ราย แต่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อเอกชนต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ ผู้เสนอราคา 4 ราย ประกอบด้วย 1.กิจการร่วมค้า จันวาณิชย์ (บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด และบริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด) ซึ่งเป็นคู่สัญญาในปัจจุบัน 2. กิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า TIM (บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด, IDEMIA (ฝรั่งเศส) MSC และ CP) 3.กิจการร่วมค้า ดาต้าโปรดักส์ ทอปปัง (บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ทอปปัง ฟอร์ม จำกัด และ Gemalto) และ 4.กิจการร่วมค้า WIN (สามารถ, ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, MSCS และ Dermalug (เยอรมัน)) (อ่านประกอบ : ยกเลิกประกวดราคาทำพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม อ้างเอกชนเสนอถูกต้องเพียงรายเดียว)
ต่อมามีข้อมูลว่า เอกชนที่เสนอราคาถูกต้องตามทีโออาร์เพียงรายเดียวคือ กิจการร่วมค้า WIN ซึ่งมีบริษัท ศิริวัฒนาฯเป็นพันธมิตรอยู่ด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 นายสุทัด ครองชนม์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศิริวัฒนาซีเคียวริตี้พริ้นท์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์รายใหญ่ (ในเครือเดียวกับ บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด) นัดหมายพูดคุยกับทีมงานสำนักข่าวอิศรา ณ สำนักข่าวอิศรา ในเรื่องทิศทางธุรกิจของบริษัทในเครือศิริวัฒนา รวมถึงการเข้าร่วมประกวดราคาพาสปอร์ตรอบใหม่
ทิศทางของธุรกิจสิ่งพิมพ์ยุคปัจจุบัน นายสุทัด กล่าวว่า กระแสของการทำสิ่งพิมพ์ต่างๆ นั้น เปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว สิ่งสิ่งพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นประเภท นิตยสารและหนังสือพิมพ์ ส่วนสิ่งพิมพ์รูปแบบอื่นๆ นั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก
“งานนิตยสารกระทบมาก เนื่องจากรายได้หลักของผู้ผลิตนิตยสารอยู่ที่การขายโฆษณา พอโฆษณาเปลี่ยนทิศทางไปลงในส่วนของสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้เจ้าของนิตยสารได้รับผลกระทบ มีการปรับลดจำนวนพิมพ์ลง และส่งผลกระทบต่อมาที่โรงพิมพ์ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ คนหันไปอ่านข่าวออนไลน์ เพราะรวดเร็วกว่าหนังสือพิมพ์”
แต่กระนั้นในส่วนของหนังสือเล่มยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะคนยังนิยมอ่านที่เป็นหนังสือเล่มอยู่ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทส่งเสริมการขายของห้างร้านต่างๆ ยังไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน อีกทั้งงานประเภทแคตตาล็อกสินค้าก็ยังมีการพิมพ์เป็นเล่มอยู่เรื่อยๆ เพราะในทางปฏิบัติผู้ซื้อใช้ง่ายกว่าเข้าระบบออนไลน์
ในช่วงการเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากของแท็บเล็ต ทางบริษัทในเครือก็มี บริษัท ศิริมีเดีย จำกัด ผลิตสื่อเพื่อรองรับตลาดที่เป็นดิจิตอล แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความนิยมในหนังสือที่เป็นเล่มกระดาษอยู่ ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนมาทำงานประเภทส่งเสริมงานขายแทน
ทิศทางของการดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์ นายสุทัด เปิดเผยว่า งานพิมพ์ประเภททั่วไปนั้นปรากฏว่า ปี 2560 มีทิศทางที่ดีขึ้นจากที่ผ่านมา และประเมินว่าในปี 2561 ก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากการที่โรงพิมพ์ขนาดเล็กได้ปิดตัวลง ผู้ที่เคยว่าจ้างโรงพิมพ์ขนาดเล็กเหล่านั้นจึงต้องเปลี่ยนมาใช้บริการกับโรงพิมพ์ขนาดใหญ่แทน ในส่วนของสิ่งพิมพ์ด้านความปลอดภัยก็เติบโตขึ้น เพราะตลาดมีความต้องการมากขึ้น สิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาจะเป็นเรื่องของระบบไอทีมากกว่า
ฉะนั้นโดยภาพรวม หากถามว่าธุรกิจการพิมพ์จะแย่ลงหรือไม่ ต้องตอบว่า อยู่ที่ลักษณะการพิมพ์ ถ้าโรงพิมพ์ไหนพิมพ์แต่นิตยสารอย่างเดียวก็ได้รับผลกระทบแน่นอน
ในส่วนของกลุ่มศิริวัฒนาเอง มีการประเมินว่า ในปีหน้าจะโตอีกไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2561 นี้แน่นอน
บริษัทเครือศิริวัฒนานั้นเปิดมากว่า 40 ปี แต่ในประเทศไทยอาจจะไม่เป็นที่รู้จักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างพิมพ์มาจากลูกค้าต่างประเทศ ส่วนงานที่ทำในประเทศก็มีทั้งงานของรัฐและเอกชน เช่น บัตรเลือกตั้ง บัตรผู้พิการ บัตรอีซี่พาส (การทางพิเศษฯ) ข้อสอบตำรวจ แบบฟอร์มของบริษัทประกัน บัตรสมนาคุณหรือสิ่งพิมพ์ส่งเสริมการขายของห้างร้านต่างๆ ใบรับรองเกรดของมหาวิทยาลัย บัตรพลาสติกต่างๆ
ส่วนงานจ้างพิมพ์จากต่างประเทศนั้น เมื่อก่อนมีสัดส่วนจำนวน 60% ของงานทั้งหมด ส่วนงานในประเทศอีก 40% แต่ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา งานจ้างจากต่างประเทศลดเหลือ 30% ส่วนงานในประเทศ 70% ของงานทั้งหมด ซึ่งทางบริษัทพยายามที่จะดึงงานจากต่างประเทศกลับมา โดยหนังสือเล่มนั้น ทางบริษัทมีโอกาสที่จะเข้าไปแข่งขันได้ เพราะสามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าโรงพิมพ์ในยุโรป
ในส่วนของการปรับตัวของบริษัท นายสุทัด เปิดเผยว่า ภาวะทางเศรษฐกิจทางบริษัทเองมีการปรับตัวเช่นกัน เมื่อก่อนแรงงานของบริษัทมีทั้งหมดประมาณ 3,000 คน โดยอยู่ที่ประเทศไทย 1,600 คน และอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว 1,400 คน แต่ปัจจุบันก็มีการใช้แรงงานคนน้อยลง นำเครื่องจักรเข้ามาช่วยมากขึ้น ซึ่งตอนนี้แรงงานคนเหลือประมาณ 2,000 คน โดยอยู่ที่ประเทศลาว 1,200 และประเทศไทย 800 คน
เมื่อสำนักข่าวอิศราถามถึงกรณีการเข้าร่วมประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3
นายสุทัด กล่าวว่า ยังไม่ถอดใจ จะเข้าร่วมแข่งขันประกวดราคาในโครงการดังกล่าวในครั้งครั้งต่อไป (ครั้งที่ 2) อย่างแน่นอน และทางบริษัทมีความพร้อม เพราะมีความเชี่ยวชาญและผลิตสิ่งพิมพ์ป้องกันการปลอมแปลงอยู่แล้ว
นายสุทัด ยังให้ข้อมูลอีกว่า บางครั้งมีข้อสงสัยว่า ทำไมการเตรียมการเรื่องทำพาสปอร์ตจึงต้องใช้ระยะเวลานานถึง 9 เดือน ลำดับแรกแรก พาสปอร์ตเมื่อมีการออกแบบใหม่ ตัวพาสปอร์ตดังกล่าวนี้จะต้องส่งให้กับทาง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทั่วโลก เพื่อให้ ตม. รับรู้ว่าพาสปอร์ตนี้เป็นของใหม่ที่จะมีการใช้อย่างเป็นทางการ แล้วทั่วโลกจะต้องมีการตอบรับกลับมา ถึงจะให้เริ่มใช้งานได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ไม่สามารถเร่งเวลาให้เร็วกว่านี้ได้ ลำดับต่อมา วัสดุพวกชิป กระดาษ ในการสั่งของต้องใช้เวลา เช่น การสั่งกระดาษเข้ามาเพื่อผลิต ต้องรอประมาณ 3 เดือน ดังนั้นหากผลิตได้เร็วที่สุดอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน
ดังนั้นหากบริษัทเจ้าเดิมได้ทำการเปลี่ยนรูปแบบของพาสปอร์ต ก็ต้องมีการเวียนให้ ตม. ทั่วโลกอย่างที่กล่าวไปแล้วเช่นกัน ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่างกัน
สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบนั้น เพราะถ้าหากมีการใช้รูปแบบเดิมเป็นเวลานาน มิจฉาชีพหรือผู้ที่ต้องการทำการปลอมแปลงจะเริ่มรู้วิธีการทำให้เหมือนจริงมากขึ้น ทางปฏิบัติจึงต้องมีการเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ
ทั้งหมดนี้คือทิศทางธุรกิจของกลุ่มศิริวัฒนา ผู้ประกอบการเบอร์ต้นๆในธุรกิจประเภทนี้
อ่านประกอบ :
ลางานยาว-ติดต่อไม่ได้! ซี 8 ลาออกหลังถูกตั้งเป็นกก.ตรวจรับพาสปอร์ต1.2หมื่นล.จริงหรือ?
บันทึกว่อนขรก.กต.! ซี8 ยื่นลาออกประท้วงถูกตั้งเป็นกก.ตรวจรับจ้างผลิตพาสปอร์ต1.2หมื่นล.
ขอหารือคกก.ก่อน! 'ดอน'ยังตอบไม่ได้ประกวดราคาพาสปอร์ต1.2 หมื่นล.ครั้งใหม่ เริ่มเมื่อไร
ข้องใจล้มประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม! เอกชนยื่นให้เปิดเผยผลคะแนน
ล้มกระดานประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม ใครได้ประโยชน์?
ไม่เปิดชื่อบ.ยื่นข้อเสนอถูกต้อง!อธิบดีกงสุล ยันยกเลิกประกวดราคาพาสปอร์ต15ล้านเล่ม ตามกม.
ยกเลิกประกวดราคาทำพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม อ้างเอกชนเสนอถูกต้องเพียงรายเดียว
'อิศรา' ถาม 'อธิบดีกรมการกงสุล' ตอบ! ประเด็นร้อนจ้างผลิตพาสปอร์ต2ช่วง 1.47 หมื่นล.
เมินข้อตกลงคุณธรรม? ไม่เปิดเผยรายชื่อเอกชนยื่นประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม
คำนึงความโปร่งใส-ปย.สูงสุดราชการ! กรมการกงสุล แจงจ้างผลิตพาสปอร์ต2ช่วง 1.47 หมื่นล.
2 ปม‘ให้คะแนน’ ประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม ไฉน'เจ้าเดิม' โอกาสสูง?
ดูชัดๆ เกณฑ์ให้คะแนนประกวดพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม เจ้าเดิม-หน้าใหม่ ใครเข้าวิน?
เปิดตัว 4 บิ๊กบริษัท ชิงพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม - เผยเกณฑ์ให้คะแนน 60 : 40
ผ่าเล่มพาสปอร์ต ‘เครื่องบันทึกข้อมูล’ จุดชี้ขาด ใครกวาด 15 ล้านเล่ม?
ห้ามผู้ยื่นเข้าดูพื้นที่จริง-เปิดข้อมูลทางเทคนิคไม่ได้! คำชี้แจงกรณีพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม
ชื่อบ.จันวาณิชย์เข้าร่วมด้วย! 'ดอน' ยันจัดซื้อพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม 1.2 หมื่นล.โปร่งใส
ยุคทักษิณ-บิ๊กตู่ ใครคือรายใหญ่ กวาด PASSPORT- Visa Sticker 1.6 หมื่นล.?
เผย 4 รายประกวดทำพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม 1.2 หมื่นล.-กรมบัญชีกลางปิดชื่อเอกชน