- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- 'อิศรา' ถาม 'อธิบดีกรมการกงสุล' ตอบ! ประเด็นร้อนจ้างผลิตพาสปอร์ต2ช่วง 1.47 หมื่นล.
'อิศรา' ถาม 'อธิบดีกรมการกงสุล' ตอบ! ประเด็นร้อนจ้างผลิตพาสปอร์ต2ช่วง 1.47 หมื่นล.
"...สำหรับผมในช่วง 1 ที่ผ่านมา ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งตรงนี้ ผมระมัดระวังตัวมาก เก็บตัวเหมือนกับพระเข้าจำพรรษา ไม่ออกไปกินข้าวนอกบ้าน ไม่ยุ่งไม่ไปเกี่ยวข้องกับเอกชนรายไหน แต่โดยส่วนตัวถ้ามองในแง่มุมความเสี่ยงการดำเนินงาน ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ผมมองว่าถ้างานนี้ เอกชนรายเดิมได้รับงาน เราก็จะเจ็บตัวน้อยกว่ารายอื่น เพราะเขาคุ้นเคยกับระบบงานอยู่แล้ว แต่อันนี้เรายังบอกหรือยืนยันอะไรไม่ได้หรอก เพราะผมก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วใครจะได้งาน จะมีอะไรเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นหรือไม่ แต่ผมในฐานะคนกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายไหน มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลงานให้โปร่งใสและเป็นไปตามระเบียบมากที่สุดนั้นคือหน้าที่สำคัญที่เราต้องทำ..."
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกโครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 วงเงิน 2.7 พันล้านบาท และงานประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15,000,000 เล่ม (สิบห้าล้านเล่ม) หรือ ภายในระยะเวลา 7 ปีแล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน กำหนดราคากลาง 12,438,750,000 บาท หรือเล่มละ 829.25 บาท มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ขมวดปม กต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน2.7พันล. ฝ่าฝืนRepeat Order -บิ๊กขรก.ชิงลาออก?, 2 ปม‘ให้คะแนน’ ประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม ไฉน'เจ้าเดิม' โอกาสสูง?)
ล่าสุดในช่วงสายวันที่ 15 ส.ค.2561 ที่ผ่านมา นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางมาที่สำนักข่าวอิศราด้วยตนเองพร้อมทีมงาน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดำเนินงานโครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการหนังสือเดินทางทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ให้กองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศราได้รับทราบ
โดยนายชาตรี ระบุว่า การเดินทางมาชี้แจงข้อเท็จจริงครั้งนี้ พร้อมให้ซักถามได้ทุกเรื่อง เพราะไม่มีข้อวิตกกังวลอะไร ต้องการรับทราบประเด็นไหนขอให้ซักถามได้เต็มที่ แต่ขอให้ข้อมูลอยู่ในช่วงการดำเนินโครงการจัดจ้างระหว่างช่วงระยะที่ 2 ไประยะที่3 เพราะข้อมูลเรื่องหนังสือเดินทางมีจำนวนมาก ขณะที่การดำเนินงานในช่วงระยะที่ 1 ก็ผ่านมานานเป็น 10 ปี แล้ว
จากนั้นนายชาตรี ได้เริ่มต้นชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 วงเงิน 2.7 พันล้านบาท ว่า เหตุผลที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเอกชนโดยวิธีการว่าจ้างงานเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่าRepeat Order เป็นเพราะว่าการว่างานจ้างผลิตหนังสือเดินทางระยะที่ 2 ที่ตามสัญญาจะสิ้นสุดลงในช่วงเดือนมี.ค.2560 ตามข้อตกลงการว่าจ้างผลิตจำนวน 7 ล้านเล่ม ภายในระยะเวลา 7 ปี แต่เนื่องจากปริมาณการทำหนังสือเดินทางของคนไทยมีจำนวนมากขึ้น งานครบกำหนด 7 ล้านเล่ม ภายในช่วงเวลาแค่ 5 ปีเท่านั้น
" เมื่อครบกำหนดการจ้างงานตามระยะที่ 2 ก่อนกำหนด ยอมรับว่าทางกรมฯ ตั้งหลักไม่ทัน เริ่มแรกเดิมที่มีความคิดว่าจะทำการว่าจ้างแบบ Repeat Orderให้งานต่อเนื่องเลย แต่ทางสำนักงานอัยการสูงสุดทักท้วงว่า ควรจะใช้สิทธิตามสัญญาว่าจ้างงานเดิมระยะที่ 2 ข้อ 26 ในราคาเล่มละ 400 บาท ภายในช่วง 180 วันไปก่อน ทางกรมฯ ก็ตัดสินดำเนินการตามคำแนะนำของทางสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน จึงได้ทำหนังสือแจ้งเอกชนให้ดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญา และเมื่อครบกำหนดการบังคับงานตามสัญญาดังกล่าว แต่งานยังไม่เสร็จ เพราะระยเวลาที่เตรียมวางแผนไว้สำหรับการดำเนินงานประกวดราคาระยะที่ 3 ต้องใช้เวลาประมาณ 18 เดือน จึงมีการทำสัญญาว่าจ้างRepeat Order เพิ่มเติม และนั้นก็เป็นที่มาของงานว่าจ้างจำนวน 3.5 ล้านเล่ม วงเงิน 2.7 พันล้านบาท "
นายชาตรี ยังกล่าวยืนยันว่าการทำสัญญาว่าจ้าง Repeat Order ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านงานจากระยะที่ 2 ไป 3 วงเงิน 2.7 พันล้านบาท ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบทุกประการ ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ทั้งผู้ใหญ่ในรัฐบาล สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานส่วนนี้ มีเพียงแค่กรณีที่เอกชนคู่สัญญา แจ้งขอสงวนสิทธิไว้ หลังถูกราชการบังคับให้ทำงานตามสัญญาข้อ 26 ในราคาเล่มละ 400 บาท เท่านั้น โดยอ้างว่าไม่สามารถทำงานในราคานี้ได้ เพราะสัญญาเขียนเอาไว้อย่างหนึ่งแต่ทีโออาร์ระบุไว้อย่างหนึ่ง แต่กรมฯ ก็ยืนยันดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่บอกให้ต้องทำราคา 400 บาท ก็ทำตามนั้น ส่วนในอนาคตเอกชนจะยื่นเรื่องฟ้องร้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร ยังบอกไม่ได้
"สรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานว่าจ้างงานช่วงเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 มีการทำRepeat Order ทำเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น คือช่วงหลังจากที่ทางราชการให้เอกชนทำงานเพิ่มตามสัญญาเดิมระยะที่ 2 ในข้อ 26 ในราคาเล่มละ 400 บาท ภายในช่วงระยะเวลา 180 วัน รวมจำนวนเล่มทั้งหมดอยู่ที่ 8.2 แสนเล่ม และเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย ขณะที่ช่วงเวลาการทำสัญญาก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงระยะเวลาตามสัญญาเดิมอยู่ ไม่ได้ทำหลังจากที่หมดสัญญาไปแล้ว "
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมหลังจากครบกำหนดการบังคับใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 26 ภายในระยะเวลา 180 วันแล้ว ไม่ใช่วิธีการเปิดประกวดราคาใหม่แทนการใช้วิธีว่าจ้างแบบ Repeat Order เพื่อจะได้ต่อรองราคาให้ถูกลง และไม่ถูกมองว่าเป็นการผูกขาดงานจากเอกชนรายเดียว
นายชาตรี ระบุว่า อย่างที่ชี้แจงไปว่า ในช่วงนั้น มีเงื่อนไขเวลาที่บีบบังคับ เพราะการดำเนินงานว่าจ้างสัญญาระยะที่ 3 ต้องใช้เวลาประมาณ 18 เดือน หากไปเปิดประกวดราคาว่าจ้างใหม่ จะไม่ทัน การใช้วิธีว่าจ้างแบบ Repeat Order จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และในการดำเนินการก็มีการต่อรองราคากับผู้ว่าจ้างงานให้ถูกลงด้วยจากราคาเดิม เล่มละ 829.25 บาท เหลือ เล่มละ 790.73 บาทด้วย
"ถ้าให้ความสำคัญกับเรื่องราคา ก็อาจจะมองแบบนั้นได้ แต่ถ้าดูถึงเรื่องความสำคัญของงานที่ต้องทำต่อเนื่อง การทำงานแข่งกับเวลา อำนาจการต่อรองรัฐแทบไม่มี เพราะถ้าไปใช้วิธีการเปิดประกวดราคาใหม่ ถ้าได้เจ้าใหม่เข้ามาทำงาน เจ้าเก่าก็ต้องขนของออก งานจะวุ่นวายมาก เพราะงานของหลวงต้องใช้ของใหม่ทั้งหมด ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ถ้าเป็นเจ้าเก่าก็สามารถทำงานได้ต่อเลย และราคางานเราก็สามารถต่อรองลงมาได้ด้วย"
เมื่อถามว่า เหตุผลที่เป็นแบบนี้ เพราะการทำงานเรื่องหนังสือเดินทางผูกขาดงานกับเอกชนเจ้าใดเจ้าหนึ่งมาตลอด เลยทำให้รัฐต้องอยู่ในภาวะจำยอมใช่หรือไม่
นายชาตรีตอบว่า ไม่ใชคำว่าภาวะจำยอม แต่เป็นเรื่องอำนาจการต่อรอง ที่ตอนนั้นรัฐมีข้อจำกัดในช่วงนั้น ลองคิดดูงานมีระยะเวลาแค่ 18 เดือน เอกชนรายไหนจะกล้าเข้ามาลงทุน และที่สำคัญที่สุดถ้างานต้องหยุดชะงักไปกระทบการให้บริการประชาชนใครจะต้องรับผิดชอบ
"ตอนนั้นข้อจำกัดเรื่องเวลามีความสำคัญมาก อำนาจต่อรองรัฐแทบไม่มี เราทำงานให้บริการสาธารณะ ต้องคำนึงถึงความเดือนร้อนของประชาชนเป็นอับดับหนึ่ง เวลามันหมดไปเรื่อยๆ จะไปหาเจ้าใหม่มาทำงานก็ไม่มีทางทำได้ ขอบเขตงานมันเยอะ คุณไปทำวิธีพิเศษ ได้เจ้าไหนไม่รู้ไม่เคยทำงานกันมา ต้องสั่งขนย้ายของเก่าออกเข้าของใหม่เข้ามา งานก็มีหลายจังหวัด มีเรื่องคนอีก ปัญหามันจะมีมากขนาดไหน แต่เจ้าเก่าทำงานได้เลย นี่คือความจำเป็น เราจะปล่อยให้เกิดปัญหามีผลกระทบกับการให้บริการประชาชนไม่ได้ "
@ เมื่อถามว่า จริงหรือไม่ ที่การทำสัญญาว่าจ้างแบบแบบ Repeat Order ที่ดำเนินการไป ส่อว่าจะมีปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติงาน เลยทำให้อธิบดีคนเก่าตัดสินใจยื่นใบลาออกไป
นายชาตรีตอบว่า "ผมรู้จักกับอธิบดีคนเก่าดี ส่วนเหตุผลที่ท่านตัดสินใจลาออกไป เป็นเพราะหลังจากที่ท่านกลับมาจากการเป็นทูต เข้ามาเป็นอธิบดี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ออกมา เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน งานหลายเรื่องมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ต้องดูแลมาก ท่านก็เหลือเวลาทำงานอีกปีเดียว จึงตัดสินใจลาออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนดีกว่า ซึ่งในส่วนของงาน ว่าจ้างแบบ Repeat Order ที่ดำเนินการไป ท่านก็เป็นคนลงนามเองด้วย การลาออกจึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ ซึ่งถ้าใครเข้าใจวัฒนธรรมคนกระทรวงการต่างประเทศ จะรู้ว่าไม่มีใครอยากมาเป็นอธิบดีกันหรอกทุกคนอยากเป็นทูต กันหมด เรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีทราบดี
สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15,000,000 เล่ม (สิบห้าล้านเล่ม) หรือ ภายในระยะเวลา 7 ปีแล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน วงเงิน 12,438,750,000 บาท หรือเล่มละ 829.25 บาท นั้น
นายชาตรี ยืนยันว่าการดำเนินงานทุกขั้นตอน เป็นไปด้วยความโปร่งใสทำตามระเบียบขั้นตอนทุกประการเช่นกัน ส่วนเอกชนรายใดจะได้งานนี้ ก็ขอให้รอฟังผลตัดสินในวันที่ 17 ส.ค.2561 ที่จะถึงพร้อมกัน เพราะในรายละเอียดตนไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากไม่ได้มีส่วนรวมอยู่ในคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างด้วย
"ส่วนเหตุผลที่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ซื้อซอง เป็นเรื่องของกรมบัญชีกลางในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ อีกทั้งก่อนที่กรมการกรมสุลจะเตรียมการให้เอกชนเข้าสาธิตในพื้นที่จำลอง เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2561 กรมการกงสุลยังไม่ทราบข้อมูลด้วยซ้ำไปว่ามีเอกชนเสนอราคากี่รายและยื่นเสนอทางเทคนิคกี่ราย และยอมรับว่าจุดนี้เป็นข้อบกพร่องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่จะผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณา ปรับแก้ไขในโอกาสต่อไป" (อ่านประกอบ: เมินข้อตกลงคุณธรรม? ไม่เปิดเผยรายชื่อเอกชนยื่นประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม)
เมื่อถามว่า เอกชนที่เข้าร่วมประกวดราคางานครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าทุกรายหรือไม่
นายชาตรี ตอบว่า ธุรกิจประเภทนี้ทำเจ้าเดียวไม่ได้ ซึ่งในการประกวดราคาเฟส 3 นี้ เอกชนทุกรายที่เข้ามาแข่งขัน ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ในการทำงานธุรกิจนี้มาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี และจริงๆ ธุรกิจนี้ ก็ทำกันไม่กี่เจ้า ไปดูได้เลย เพราะงานหนังสือเดินทางเป็นงานสำคัญที่ต้องได้รับรองมาตรฐานระดับโลก ส่วนบริษัทเอกชนคู่สัญญาเดิมของกรมฯ ก็อาจจะถูกมองว่าได้เปรียบในเรื่องประสบการณ์ เพราะเคยทำงานมาก่อน เปรียบเหมือนเป็นเจ้าบ้าน มีคนอื่นเข้ามาแข่งในบ้านของตนเอง ซึ่งตนเองคุ้นชินกับสนามมากกว่า
"แต่ทางกรมฯ ก็มีหน้าที่ควบคุมดูแลการประกวดราคาให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามระเบียบมากที่สุด ไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ส่วนงานหนังสือเดินทางเฟส 3 เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งที่คนไทยจะได้เห็น มีข้อดีหลายประการ อาทิ คุณภาพเล่มดีกว่าเดิม จากเดิมที่เก็บข้อมูลลายนิ้วมือ จะเพิ่มเรื่องการเก็บข้อมูลม่านตาเข้ามาด้วยป้องกันปัญหาการปลอมแปลง การลดระยะเวลาการรับคำร้องเป็น 12 นาทีจากเดิม 20 นาที นอกจากนี้ยังจะเพิ่มศูนยผลิตหนังสืออีก 1 แห่ง เพิ่มอายุการใช้งานสำหรับผู้บรรลุนิติภาวะจากเดิม 5 ปีเป็นสูงสุด 10 ปีด้วย"
เมื่อถามว่า ยืนยันว่าในการดำเนินงานเรื่องหนังสือเดินทาง ของกรมการกงสุล กับเอกชนบางราย ไม่ได้มีนอกมีในอะไรกัน
อธิบดีกรมการกุงศล ตอบชัดเจนว่า "สำหรับผมในช่วง 1 ที่ผ่านมา ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งตรงนี้ ผมระมัดระวังตัวมาก เก็บตัวเหมือนกับพระเข้าจำพรรษา ไม่ออกไปกินข้าวนอกบ้าน ไม่ยุ่งไม่ไปเกี่ยวข้องกับเอกชนรายไหน แต่โดยส่วนตัวถ้ามองในแง่มุมความเสี่ยงการดำเนินงาน ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ผมมองว่าถ้างานนี้ เอกชนรายเดิมได้รับงาน เราก็จะเจ็บตัวน้อยกว่ารายอื่น เพราะเขาคุ้นเคยกับระบบงานอยู่แล้ว แต่อันนี้เรายังบอกหรือยืนยันอะไรไม่ได้หรอก เพราะผมก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วใครจะได้งาน จะมีอะไรเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นหรือไม่ แต่ผมในฐานะคนกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายไหน มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลงานให้โปร่งใสและเป็นไปตามระเบียบมากที่สุดนั้นคือหน้าที่สำคัญที่เราต้องทำ"
---------------
ทั้งหมดนี่ คือ คำถาม ของอิศรา และคำตอบของอธิบดีกรมการกุงศล ต่อกรณีการว่าจ้างผลิตพาสปอร์ต 2 ช่วง รวมวงเงินกว่า 1.47 หมื่นล้าน ที่กำลังอยู่ในความสนในของสาธารณชนอยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ:
ขมวดปม กต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน2.7พันล. ฝ่าฝืนRepeat Order -บิ๊กขรก.ชิงลาออก?
อสส.ทักเล่มละ400บ.แต่ทำสัญญา790 บ.! เบื้องหลังกต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน 2.7 พันล.
2 ปม‘ให้คะแนน’ ประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม ไฉน'เจ้าเดิม' โอกาสสูง?
ดูชัดๆ เกณฑ์ให้คะแนนประกวดพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม เจ้าเดิม-หน้าใหม่ ใครเข้าวิน?
เปิดตัว 4 บิ๊กบริษัท ชิงพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม - เผยเกณฑ์ให้คะแนน 60 : 40
ผ่าเล่มพาสปอร์ต ‘เครื่องบันทึกข้อมูล’ จุดชี้ขาด ใครกวาด 15 ล้านเล่ม?
ห้ามผู้ยื่นเข้าดูพื้นที่จริง-เปิดข้อมูลทางเทคนิคไม่ได้! คำชี้แจงกรณีพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม
ชื่อบ.จันวาณิชย์เข้าร่วมด้วย! 'ดอน' ยันจัดซื้อพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม 1.2 หมื่นล.โปร่งใส
ยุคทักษิณ-บิ๊กตู่ ใครคือรายใหญ่ กวาด PASSPORT- Visa Sticker 1.6 หมื่นล.?
เผย 4 รายประกวดทำพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม 1.2 หมื่นล.-กรมบัญชีกลางปิดชื่อเอกชน