- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- ขมวดปม กต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน2.7พันล. ฝ่าฝืนRepeat Order -บิ๊กขรก.ชิงลาออก?
ขมวดปม กต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน2.7พันล. ฝ่าฝืนRepeat Order -บิ๊กขรก.ชิงลาออก?
"...เมื่อเทียบเคียงกับการทำสัญญาว่าจ้างผลิตหนังสือเดินทางในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน วงเงินกว่า 2,700 ล้านบาท ดังกล่าว ของกระทรวงการต่างประเทศ พบว่า มีการทำสัญญาเพิ่มเติม หลังจากที่สัญญางานเดิมสิ้นสุดไปแล้ว จะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดการทำสัญญาว่าจ้าง ในรูปแบบ Repeat Order หรือไม่ เพราะล่าสุดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า กรณีการทำสัญญาจัดซื้อหนังสือเดินทางในช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว แบบ Repeat Order อาจมีความเกี่ยวข้องกับกรณีที่ ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ ชิงตัดสินใจขอลาออกจากราชการ ไปก่อนหน้านี้ก็เป็นได้..."
P
ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสนใจติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง!
ต่อกรณี กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินการผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน วงเงิน 2,767,555,000 บาท ตามสัญญาเลขที่ 655/2560 ภายใต้ชื่อโครงการจัดจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม Repeat Order ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโครงการจ้างผลิตและให้บริหารจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 เป็นจำนวน 3,500,000 เล่ม หรือภายในระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งมีการลงนามในสัญญาว่าจ้างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2560 ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยตกเล่มละ 790.73 บาท (กำหนดราคากลางอยู่ที่ 2,902,375,000 บาท หรือ 829.25 บาท ต่อเล่ม)
ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การตรวจสอบพบข้อมูลว่า ในช่วงเดือนก.พ.2560 สำนักงานอัยการสูงสุด เคยทำหนังสือแจ้งตอบกลับกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่อง ร่างสัญญาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่างสิ้นสุดสัญญาระยะที่ 2 กับช่วงเริ่มต้นสัญญาระยะที่ 3 ที่กระทรวงการต่างประเทศ ส่งร่างให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ
โดยสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามสัญญาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 26 กระทรวงต่างประเทศมีสิทธิให้ผู้รับจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้อีก 180 วันหลังจากสิ้นสุดสัญญาในราคาค่าจ้างเล่มละ 400 บาท ดังนั้น หากสามารถจัดซื้อจัดจ้างผู้รับจ้างรายใหม่และจัดการให้ผู้รับจ้างรายใหม่เริ่มงานผลิตได้ภายในเวลาดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศ ก็ควรใช้สิทธิตามข้อ 26 โดยไม่ควรทำสัญญาจ้างใหม่ ตามร่างสัญญาที่ส่งมาให้ตรวจนี้ แต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ และจัดการให้ผู้รับจ้างรายใหม่เริ่มผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ภายใน 180 วัน ก็สามารถทำสัญญาใหม่ในลักษณะ Repeat Order ตามร่างสัญญาที่ส่งมาได้
แต่ในการเจรจาต่อรองค่าจ้างในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ควรคำนึงถึงสิทธิที่จะให้ผู้รับจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในราคาเล่มละ 400 บาท ได้เป็นเวลา 180 วัน ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้รับจ้างนี้เป็นผู้รับจ้างรายเดิมสามารถดำเนินการผลิตได้โดยไม่ต้องจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใหม่ และไม่ต้องจัดฝึกอบรมพนักงานเพิ่มเติม อันส่งผลให้ต้นทุนของผู้รับจ้างลดลง และนำมาต่อรองกับผู้รับจ้างเพื่อให้ได้อัตราค่าจ้างที่เหมาะสมด้วย (อ่านประกอบ: อสส.ทักเล่มละ400บ.แต่ทำสัญญา790 บ.! เบื้องหลังกต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน 2.7 พันล.)
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้พยายามติดต่อ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการกรมสารนิเทศ แจ้งว่า ให้ฝากเรื่องและเบอร์ติดต่อไว้ จะนำเรื่องเรียนอธิบดีฯ และจะติดต่อกลับไปอีกครั้ง
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศราได้พยายามติดต่อ นางสาวจิรวัลย์ ยุทธโกวิท กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด และ บริษัท จันวาณิชย์ ซิเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด เพื่อขอสัมภาษณ์เช่นกัน แต่เบื้องต้นเจ้าหน้าที่โอเปอร์เรเตอร์แจ้งว่า นางสาวจิรวัลย์ ไม่ได้เข้ามาที่สำนักงานเป็นเวลาหลายวันแล้ว และได้โอนสายไปที่สำนักงานเลขานุการ โดยเจ้าหน้าที่เลขานุการ แจ้งว่า นางสาวจิรวัลย์ อยู่ในช่วงลาป่วย ให้ฝากเรื่องและเบอร์ติดต่อกลับไว้
จึงทำให้ยังไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นข้อมูลข่าวเกี่ยวกับการว่าจ้างเอกชนข้ามาเป็นผู้รับจ้างดำเนินการผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน พบว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ทำหนังสือแจ้งตอบกลับกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่อง ร่างสัญญาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยแถลงข่าวผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม คสช. ได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต โดยเฉพาะหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ( e-Passport)เป็นการออกหนังสือเดินทางโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ว่า ปัจจุบันมีประชาชนไปติดต่อขอทำพาสปอร์ตและต่ออายุพาสปอร์ต วันหนึ่งประมาณ 10,000 เล่ม
พลโทสรรเสริญ ระบุข้อมูลว่า ในการทำ e-Passport นั้น กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตกลงว่าจ้างบริษัทหนึ่งให้ดำเนินการโดยมีสัญญาว่าจ้างระบุไว้จำนวน 7 ล้านเล่ม หากการดำเนินการ e-Passport ครบ 7 ล้านเล่มถือว่าหมดสัญญา ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้เหลือพาสปอร์ตอยู่ประมาณ 30,000 เล่มก็จะครบ 7 ล้านเล่มตามสัญญาว่าจ้างที่ตกลงไว้
ทั้งนี้ หากนับจากวันนี้จะเหลือเวลา 3 วัน หรือไม่เกินวันที่ 3 มีนาคม 2560 ก็จะครบตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ถ้าเลยวันที่ 3 มีนาคม 2560 ประชาชนหรือบุคคลใดจะไปขอทำพาสปอร์ตไม่ได้แล้ว
โฆษกรัฐบาล ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่าได้คิดและจัดเตรียมเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding เพื่อหาบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ต่อ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 1 ปี
ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี เพราะต้องมีลายน้ำ ลายเส้น และต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลด้านความมั่นคงของทุกประเทศ เพราะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องการดูแลความมั่นคงและความปลอดภัยของทุกประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเขียนร่างขอบเขตงานจ้างหรือ TOR ได้ง่าย ๆ
ในระหว่างที่รอการดำเนินการดังกล่าว 1 ปี นั้นกระทรวงการต่างประเทศ หาแนวทางออกไว้โดยจะทำสัญญาใหม่กับบริษัทเดิมหรือ Repeat Order กับบริษัทเดิมต่อไปอีก 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องและบรรจบกับห้วงเวลาที่ทำ e-Bidding โดยเก็บค่าบริการกับประชาชนสำหรับการทำพาสปอร์ต 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงการต่างประเทศจะทำ Repeat Order กับบริษัทเดิม จึงนำสัญญา Repeat Order ดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างกับบริษัทเดิมอยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และหากจะดำเนินการก็จะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบและพบเป็นความผิด ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการออกมาตรา 44 เพื่อให้บริษัทเดิมทำงานไปก่อน 1 ปี ระหว่างที่รอทำ e-Bidding ให้บริษัทใหม่เข้ามาดำเนินการต่อไป
เบื้องต้น ที่ประชุม คสช. ยังไม่มีมติที่จะให้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 แต่มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะให้บริษัทเดิมทำหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้ e-Bidding โดยมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมไปหารือร่วมกันทั้ง สตง. สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจกับ สตง.แก้ปัญหาเพื่อให้เป็นไปอย่างเหมาะสมโดยไม่ยึดเพียงกฎ กติกา หรือระเบียบอย่างเดียว แต่ให้พิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันประกอบการดำเนินการ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44
แต่หาก สตง. ยังยืนยันว่าไม่สามารถดำเนินการได้ จึงค่อยกลับมาพิจารณาในเรื่องการออกคำสั่งตามมาตรา 44 อีกครั้ง (อ้างอิงข่าวจาก http://thaitribune.org/contents/detail/314?content_id=26248&rand=1507435686)
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งปรากฎข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2560 กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัท จันวาณิชย์ เป็นผู้รับจ้างดำเนินการผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน วงเงิน 2,767,555,000 บาท ตามสัญญาเลขที่ 655/2560 ภายใต้ชื่อโครงการจัดจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม Repeat Order ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโครงการจ้างผลิตและให้บริหารจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 เป็นจำนวน 3,500,000 เล่ม หรือภายในระยะเวลา 18 เดือน ดังกล่าว
ทั้งนี้ หากนับช่วงระยะเวลาที่สัญญาจ้างผลิตหนังสือเดินทางระยะ 2 สิ้นสุดลง คือ วันที่ 3 มีนาคม 2560 จนถึงวันที่ลงนามสัญญาใหม่กับ บริษัท จันวาณิชย์ คือ วันที่ 23 ส.ค.2560 จะอยู่ที่ตัวเลข 173 วัน
ซึ่งตัวเลข 173 วัน ถือว่ายังอยู่ในช่วง 180 วัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เคยตั้งข้อสังเกตว่า ตามสัญญาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 ข้อ 26 กระทรวงต่างประเทศมีสิทธิให้ผู้รับจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้อีก 180 วันหลังจากสิ้นสุดสัญญาในราคาค่าจ้างเล่มละ 400 บาท
คำถามที่น่าสนใจ คือ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ มีสิทธิตามสัญญาเดิม ที่จะว่าจ้างบริษัท จันวาณิชย์ ให้ทำงานต่อในรูปแบบ Repeat Order ในราคาเล่มละ 400 บาท ได้อีก 180 วัน นับตั้งแต่สิ้นสุดสัญญาระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2560 ทำไมถึงไม่รักษาสิทธิตามสัญญาเดิมไปก่อน แต่กลับปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาจนใกล้จะครบ 180 วัน และค่อยทำสัญญาจ้าง แบบ Repeat Order โดยอ้างอิงราคาจัดซื้อเดิมในระยะที่ 2 คือ เล่มละ 829.25 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาเล่มละ 400 กว่าเท่าตัว
ทั้งที่ สำนักงานอัยการ ก็ย้ำชัดแล้วว่า ในการเจรจาต่อรองค่าจ้างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ควรคำนึงถึงสิทธิที่จะให้ผู้รับจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในราคาเล่มละ 400 บาท ได้เป็นเวลา 180 วัน ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้รับจ้างนี้เป็นผู้รับจ้างรายเดิมสามารถดำเนินการผลิตได้โดยไม่ต้องจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใหม่ และไม่ต้องจัดฝึกอบรมพนักงานเพิ่มเติม อันส่งผลให้ต้นทุนของผู้รับจ้างลดลง และนำมาต่อรองกับผู้รับจ้างเพื่อให้ได้อัตราค่าจ้างที่เหมาะสมด้วย
ซึ่งถ้าหากคำนวณราคาจัดซื้อในช่วงเปลี่ยนผ่าน จำนวน 3,500,000 เล่ม หรือภายในระยะเวลา 18 เดือน ในราคาเล่มละ 400 บาท รัฐจะเสียงบประมาณเพียงแค่ 1,400 ล้านบาท ถูกกว่าราคาที่ตกลงไปแล้ว 2,767 ล้านบาทเป็นอย่างมาก
แต่เงื่อนปมที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ ในการทำสัญญาจัดซื้อลักษณะ Repeat Order กรมบัญชีกลาง เคยมีความเห็นไว้ว่า สามารถทำได้เฉพาะในช่วงที่สัญญาว่าจ้างเดิม ยังไม่สิ้นสุดเท่านั้น
ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยเผยแพร่วินิจฉัยผลตรวจสอบโครงการประชาสัมพันธ์ด้านพลังงานของสำนักนโยบายและพลังงาน (สนพ.) จำนวน 9 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 96,249,266 บาท ที่พบพิรุธกระบวนการจัดจ้างไม่โปร่งใสไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดถึงการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ดำเนินงานเพียงรายเดียว ซึ่งมีการระบุถึงข้อตรวจพบการทำสัญญาแบบ Repeat Order ไว้ด้วย
โดยสตง.ระบุว่า "การจ้างเพิ่มเติม หรือ Repeat Order เมื่อแต่งตั้งให้มีคณะกรรมการจัดจ้างแล้ว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 24 (5) ได้กำหนดให้ คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษมีหน้าที่ต้องเจรจากับผู้รับจ้างรายเดิมตามสัญญาที่ยังไม่สิ้นระยะเวลาส่งมอบ เพื่อให้มีการจ้างตามรายละเอียดและราคาที่ต่ำกว่าหรือราคาเดิม แต่ในข้อเท็จจริง สนพ.มีการทำสัญญาใหม่เกิดขึ้นรายละเอียดแตกต่างไปจากสัญญาเดิมมิได้แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ ฯ ได้เจราจากับบริษัทสัญญาเดิมเพื่อขอให้มีการจ้างตามรายละเอียดและราคาที่ต่ำกว่า จึงไม่ใช่เป็นกรณีการจ้างเพิ่มเติม ( Repeat Order ) แต่เป็นการจ้างทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ โดยมีสัญญาใหม่และไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีจุดมุ่งหมายไม่ให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานรัฐเพียงรายเดียว" (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก https://thaipublica.org/2015/07/series-government-advertising-3/)
เมื่อเทียบเคียงกับการทำสัญญาว่าจ้างผลิตหนังสือเดินทางในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน วงเงินกว่า 2,700 ล้านบาท ดังกล่าว ของกระทรวงการต่างประเทศ พบว่า มีการทำสัญญาเพิ่มเติม หลังจากที่สัญญางานเดิมสิ้นสุดไปแล้ว จะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดการทำสัญญาว่าจ้าง ในรูปแบบ Repeat Order หรือไม่
แถมล่าสุดยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เกิดขึ้นว่า กรณีการทำสัญญาจัดซื้อหนังสือเดินทางในช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว แบบ Repeat Order อาจมีความเกี่ยวข้องกับกรณีที่ ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ ชิงตัดสินใจขอลาออกจากราชการ ไปก่อนหน้านี้?
เพราะเป็นช่วงเวลาหลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม คสช.ให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้ เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน โดยเบื้องต้น ตัวแทนสตง.ยืนยันคัดค้านว่า กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ควรใช้วิธี Repeat Order ให้เอกชนเข้ามารับงานต่อเนื่อง ควรใช้วิธีการจัดประกวดราคาใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการผูกขาดเอกชนรายเดียวเข้ามารับงาน ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดก็ตีกลับข้อหารือหลายครั้ง ยืนยันให้การปฏิบัติตามสัญญาข้อ 26 ที่กระทรวงต่างประเทศมีสิทธิให้ผู้รับจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้อีก 180 วันหลังจากสิ้นสุดสัญญาในราคาค่าจ้างเล่มละ 400 บาท
แต่กระทรวงการต่างประเทศ ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป โดยให้เหตุผลเรื่องความจำเป็นเรื่องด่วน ก่อนที่ข้อสรุปสุดท้ายของการหารือจะออกมาในลักษณะที่ว่า ขอทำครั้งนี้ไปก่อน ส่วนในอนาคตถ้ามีปัญหาถูกร้องเรียนก็ค่อยไปว่ากันในภายหลังอีกที
ทั้งหมดนี่ จึงเป็นเงื่อนปมสำคัญที่ผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องรีบออกมาชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชนให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างชัดเจนโดยเร็วที่สุด
และเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง ของหน่วยงานตรวจสอบ โดยเฉพาะ สตง. ที่จะต้องเข้าไปติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะเงินแผ่นดิน ซึ่งมีที่มาจากเงินภาษ์ประชาชน ให้ถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและเกิดความโปร่งใสมากที่สุดด้วย