- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- สตง.สั่งสอบปมจัดซื้อรถ-เรือกู้ภัย 1.7พันล. ซัดปภ.ตรวจทุจริตอย่าดูแค่เอกสาร
สตง.สั่งสอบปมจัดซื้อรถ-เรือกู้ภัย 1.7พันล. ซัดปภ.ตรวจทุจริตอย่าดูแค่เอกสาร
ผู้ว่าฯ สตง. สั่งเจ้าหน้าที่ลุยสอบข้อมูลเชิงลึก 3 บ.กลุ่มเดียวรวบจัดซื้อรถยนต์กู้ภัย-บรรทุกน้ำ ปภ. 1.7 พันล.แล้ว ชี้หลักการตรวจสอบทุจริต ไม่ใช่ดูแค่เอกสาร อ้างคำพูดว่าทำตามหลักกม.-ระเบียบ แต่ต้องลงลึกรายละเอียด พิสูจน์ให้ได้ว่าเอกชนที่เข้าร่วมประกวดราคา เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ราชการ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ทำสัญญาจัดซื้อรถยนต์และเรือยนต์กู้ภัย 7 รายการจากเอกชน 4 รายเมื่อ 24 เม.ย. 57 รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,758,989,000 บาท โดยบริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาครั้งนี้ มี 3 ใน 4 รายคือบริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด, บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด มีความเชื่อมโยงกัน นั้น
ล่าสุด นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้แล้ว และจะสั่งการเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกันระหว่างเอกชนทั้ง 3 แห่ง ที่เข้ามาแข่งขันการประมูลงานพร้อมกัน
ส่วนกรณีที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิกรม ปภ. ยืนยันว่า ปภ.มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลตามที่กฎหมายให้ไว้ คือ การดูเฉพาะความสัมพันธ์ของเอกชน ตามเอกสารที่ยื่นมาให้พิจารณาในการแข่งขันประกวดราคาคราวเดียวกัน ว่าจะต้องไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง ส่วนบริษัทจะมีความสัมพันธ์นอกเหนือจากนั้นไม่สามารถทำอะไรได้
นายพิศิษฐ์ ตอบว่า ตามหลักการของการตรวจสอบป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือการเอื้อประโยชน์ของเอกชนที่เข้ามาแข่งขันเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเจ้าของโครงการ มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบข้อมูลขั้นตอนการดำเนินการอย่างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอะไรขึ้น การแข่งขันสู้ราคาต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม ที่สำคัญราชการต้องไม่เสียเปรียบ
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่หน่วยงานราชการเจ้าของโครงการต้องทำอย่างจริงจังเพื่อรักษาผลประโยชน์ คือ การตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียด ของบริษัทเอกชน ที่เข้ามาแข่งขันราคากัน ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกันหรือไม่
" แม้ในเอกสารที่นำมายื่นไว้ จะไม่ได้แสดงความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน บริษัทไม่ได้มีกรรมการหรือผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน แต่เราก็ต้องไปดูพฤติการณ์อื่นประกอบ เช่น บริษัทมีที่อยู่แห่งเดียวกันหรือไม่ กรรมการบริษัทไปทำอะไรกันอื่นๆ อีกหรือเปล่า เพื่อดูว่าบริษัทที่เข้ามาสู้ราคาแข่งขันกัน เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกันหรือไม่ "
ผู้ว่าฯ สตง. ยังกล่าวย้ำด้วยว่า การอ้างว่าปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมายราชการดีแล้ว ก็อาจจะทำได้ แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้น คือ กระบวนการในการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของราชการ ทำกันอย่างไร ทำอย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ออกมาหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่า การอ้างด้วยคำพูด
"เพราะถ้าในข้อเท็จจริง มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า เป็นบริษัทเอกชนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด และมาเข้าร่วมประมูลงานพร้อมกัน ถามว่าแบบนี้จะเป็นการแข่งขันราคาที่เป็นธรรมหรือ จะมีการแข่งขันกันจริงๆ หรือ ซึ่งเรื่องนี้ สตง.ให้ความสำคัญมาก และจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง"
อ่านประกอบ :
พลิกระเบียบพัสดุฯเทียบกรณีซื้อรถดับเพลิง ปภ. 7 พันล. โดยชอบหรือฉาบฉวย?
ฉัตรชัย พรหมเลิศ:จัดซื้อรถ-เรือกู้ภัย ปภ. เราทำตามระเบียบ ทำเกินหน้าที่ไม่ได้
อธิบดีปภ.ยันซื้อรถกู้ภัยโปร่งใสตามระเบียบ ลั่นระวังเต็มที่ รักตัวกลัวตายทุกคน
3 บ.ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกวาดจัดซื้อรถกู้ภัย-บรรทุกน้ำกรมป้องกันฯ มท. 1.5 พันล.
ไขสัมพันธ์ลึก 3 บ.กลุ่มเดียวรวบจัดซื้อรถยนต์กู้ภัย-บรรทุกน้ำ ปภ. 1.5 พันล.
บ.เชสฯรวบ“รถดับเพลิง”ปภ. 20 โครงการ 5.5 พันล. บริษัทเครือข่ายเป็น“คู่เทียบ”
บ.เชสฯรวบจัดซื้อรถดับเพลิง-ไฟป่า ปภ.อีก 5 สัญญารวด-ยอดพุ่ง 2 พันล้าน
2 บ.กลุ่มเดียวยื่นซอง“รถดับเพลิง”ปภ.3 สัญญา-เคาะราคาห่างกันแค่ 34,000 บาท
เปิด 8 โครงการซื้อรถกู้ภัย ปภ.ในกำมือ“วีม่า-ดี แอล เอ็มฯ”1.3 พันล.-บ.เชสฯคู่เทียบ
สำรวจที่ตั้ง บ.เชส ฯ เจอรถโบราณ ไร้เงาเจ้าของ ไม่พบรถ-เรือกู้ภัย ปภ.2 พันล.
บริษัทขายรถ-เรือกู้ภัย ปภ.54 ลำ 330 ล้าน อยู่ห้องเช่า
พิสูจน์ที่ตั้ง บ.วีม่าฯ คว้าจัดซื้อรถกู้ภัย ปภ.700 ล. ซุกตัวอพาร์ตเมนท์ฝั่งธนฯ