- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกระเบียบพัสดุฯเทียบกรณีซื้อรถดับเพลิง ปภ. 7 พันล. โดยชอบหรือฉาบฉวย?
พลิกระเบียบพัสดุฯเทียบกรณีซื้อรถดับเพลิง ปภ. 7 พันล. โดยชอบหรือฉาบฉวย?
พลิกระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุฯ ฉบับแก้ไข ปี 2541 ดูความหมาย “ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”เทียบกรณีจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงกู้ภัย ปภ. 29 โครงการ 7 พันล้าน ไขคำตอบ“โปร่งใส”หรือฉาบฉวย?
กรณีการประกวดราจัดซื้อรถยนต์บรรทุกดับเพลิงและเรือยนต์กู้ภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รวมวงเงิน กว่า 7 พันล้านบาท ตามข่าวที่สำนักข่าวอิศรานำเสนออย่างต่อเนื่องนั้น ถูกตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่?
ขณะที่ผู้บริหารของกรมป้องกันและบรรเทาธารณภัยชี้แจงว่าการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และ ระเบียบพัสดุฯระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (ในกรณีที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าผู้เสนอราคา 3 รายมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน)
(อ่านประกอบ:ฉัตรชัย พรหมเลิศ:จัดซื้อรถ-เรือกู้ภัย ปภ. เราทำตามระเบียบ ทำเกินหน้าที่ไม่ได้ )
เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน สำนักข่าวอิศรา www.isranws.org นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และข้อเท็จจริงของผู้เสนอราคา เรียบเรียงเห็นอย่างชัดๆ ดังนี้
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2541 ปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นิยามคำว่า “ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ความหมายว่า
บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เข้าเสนอราคาขายในการซื้อพัสดุของทางราชการ หรือเข้าเสนอราคาเพื่อรับจ้างทำพัสดุ หรือเข้าเสนองานเพื่อรับจ้างเป็นที่ปรึกษา หรือรับจ้างออกแบบแลควบคุมงานให้แก่ส่วนราชการใด เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอื่นที่เข้าเสนอราคาหรือเข้าเสนองานให้แก่ส่วนราชการนั้นในคราวเดียวกัน
“การมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯฉบับดังกล่าว กำหนดไว้ 3 ลักษณะ คือ
(1)มีความสัมพันธ์กันในเชิงบริหาร โดยผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของบุคคลธรรมดา หรือของนิติบุคคลรายหนึ่ง มีอำนาจหรือสามารถใช้อำนาจในการบริหารจัดการกิจการของบุคคลธรรมดาหรือของนิติบุคคลอีกรายหนึ่งหรือหลายราย ที่เสนอราคาหรือเสนองานให้แก่ส่วนราชการนั้นในคราวเดียวกัน
สรุปแบบเข้าใจง่ายๆก็คือ บริษัท A กับ บริษัท B มีผู้บริหารคนเดียวกัน ร่วมเสนอราคาในคราวเดียวกันไม่ได้
(2)มีความสัมพันธ์ในเชิงทุน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัดอีกรายหนึ่งหรือหลายรายที่เสนอราคาหรือเสนองานให้แก่ส่วนราชการนั้นในคราวเดียวกัน
(ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หมายถึงถือหุ้นเกินกว่า 25%)
สรุปแบบเข้าใจง่ายๆก็คือ บริษัท A กับ บริษัท B มีผู้มีถือหุ้นรายเดียว ร่วมเสนอราคาในคราวเดียวกันไม่ได้
(3) ความสัมพันธ์กันในลักษณะไขว้กันระหว่าง ( 1) กับ (2) โดยผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของบุคคลธรรมดาหรือของนิติบุคครายหนึ่ง เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด อีกรายหนึ่งหรือหลายรายที่เข้าเสนอราคาหรือเสนองานให้แก่ส่วนราชการนั้นในคราวเดียวกันหรือในนัยกลับกัน
สรุปเข้าใจง่ายๆก็คือ ผู้บริหารบริษัท A จะถือหุ้น (เกินกว่า 25%) ใน บริษัท B หรือ ผู้บริหารบริษัท B ถือหุ้นในบริษัท A และ ร่วมเสนอราคาในคราวเดียวกันไม่ได้ (ถือหุ้นไขว้)
ข้อห้ามทั้ง 3 ข้อดังกล่าวยังใช้บังคับต่อ คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลใน 3 ข้ออีก
นอกจากนี้ระเบียบสำนักนายกฯฉบับนี้ยังระบุว่า
“ในกรณีบุคคลใดใช้ชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นโดยที่ตนเองเป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารที่แท้จริงหรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของหุ้นส่วน หรือ บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด แล้วแต่กรณี และห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าเสนอราคาหรือเสนองานให้แก่ส่วนราชการนั้นในคราวเดียวกัน ให้ถือว่าผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองานนั้นมีความสัมพันธ์ตาม (1) ( 2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี”
สรุปเข้าใจง่ายๆก็คือ ห้ามบุคคลใดใช้ชื่อบุคคลอื่น เป็นตัวแทน (นอมินี) เข้าร่วมเสนอราคา
ข้อเท็จจริงของการประกวดราคา
กรณีการประกวดราจัดซื้อรถยนต์บรรทุกดับเพลิงและเรือยนต์กู้ภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รวมวงเงิน 7,071,271,900 บาท (ระหว่างปี 2555-2557) มีผู้ชนะ 4 ราย
1.บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา 20 โครงการ รวมวงเงิน 5,509,706,900 บาท
2.บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 6 โครงการ 1,034,183,000 บาท
3.บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด จำนวน 2 โครงการ รวมวงเงิน 330,012,000 บาท
4. บริษัท อีซูซุประกิตมอเตอร์บ้านโป่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา 1 โครงการ 197,370,000 บาท
20 โครงการที่ บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด ชนะกวดราคา มี บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้เข้าร่วมประกวดราคาด้วยถึง 17 โครงการ และมี 3 โครงการ ที่มีบริษัทผู้ร่วมเสนอราคาเพียง 2 รายคือ บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด และ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด
6 โครงการ ที่ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด ชนะประกวดราคา มี บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด เป็นผู้ร่วมเสนอราคา 5 โครงการ
และ ในจำนวน 2 โครงการ ที่ บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา มี บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด ร่วมเสนอราคา 1 โครงการ
ข้อเท็จจริงของผู้เสนอราคา
บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด ณ 30 เม.ย.57 มีผู้ถือหุ้น 3 ราย
1.นายเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ 220,000 หุ้น
2.นายชวน ปรัชญาสันติ 40,000 หุ้น
3.นายณรงค์ เดชสกุลฤทธิ์ 40,000 หุ้น
นายเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ นายชวน ปรัชญาสันติ และนายณรงค์ เดชสกุลฤทธิ์ ร่วมเป็นกรรมการ
บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด ณ 12 ก.ค.56 มีผู้ถือหุ้น 3 คน
1.น.ส.อรรัตน์ พฤทธิ์รัตนมณี 49,000 หุ้น
2.น.ส.วรรณี เดชสมฤทธิ์ฤทัย 48,000 หุ้น
3.น.ส.ดวงมณี ใบยพฤกษ์ 3,000 หุ้น
นายศิลป์ชัย รักษาพล เป็นกรรมการ
บริษัทดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด ณ 30 เม.ย.57 มีผู้ถือหุ้น 4 คน
1.นายโดม ชโยธิน 33,333 หุ้น
2.น.ส.นิภาพร ไชยชาวงศ์ 33,334 หุ้น
3.นายสมยศ เจริญวงศ์ไพศาล 33,333 หุ้น
4.นายชัชวาล เงินนาค 400,000 หุ้น
นายชัชวาล เงินนาค และนายจรินทร์ ศรีแก้วประพันธ์ เป็นกรรมการ
ความเกี่ยวพัน
ข้อแรก นายเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ และ นายชวน ปรัชญาสันติ กรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด ทำธุรกิจร่วมกับ นายศิลป์ชัย รักษาพล กรรมการบริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด ในชื่อ บริษัท เชสแลนด์ พัฒนา ที่ดิน จำกัด
ข้อที่ 2 นายศิลป์ชัย รักษาพล ทำธุรกิจร่วมกับ นายชัชวาล เงินนาค กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด ในชื่อบริษัท สำนักงานสามสิบสี่ ออดิต จำกัด
ข้อที่ 3 น.ส.อรรัตน์ พฤทธิ์รัตนมณี ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด เกี่ยวข้อง เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก นายเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด และ บริษัท เชสแลนด์ พัฒนา ที่ดิน จำกัด ในการยื่นจดทะเบียนแก้ไขที่ตั้ง บริษัท เชสแลนด์ พัฒนา ที่ดิน จำกัด ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร ในช่วงปี 2548
นายศิลป์ชัย รักษาพล เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ดูเอกสาร)
น.ส.อรรัตน์ พฤทธิ์รัตนมณี ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท วีม่าฯ ก็เคยเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งนายเจษฎา ในบริษัทเชส แลนด์ฯ
ขณะที่ นายชัชวาล เงินนาค กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด ระบุ ในเอกสารรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท สำนักงานสามสิบสี่ ออดิต จำกัด ว่า“อาชีพรับจ้าง” (นายชัชวาลถือหุ้นเพียง 2,000 หุ้น -20% ในบริษัท สำนักงานสามสิบสี่ ออดิต)
บริษัท สำนักงานสามสิบสี่ ออดิต จำกัด นั้น มีนาย a. (ของสวงนชื่อ-นามสกุลจริง) และนายธนาดล รักษาพล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เคยมีชื่อนางสาวอนงค์ ชำนาญโลหะวานิช เป็นกรรมการ ต่อมาเปลี่ยนเป็น น.ส.อรรัตน์ พฤทธิรัตนมณี เป็นกรรมการ ในปัจจุบัน
ในกรณีนี้พิจารณาจากเอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการปัจจุบัน จะไม่พบว่าผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย เป็นผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ตามคำชี้แจงของผู้บริหาร ปภ.ก่อนหน้านี้
แต่ถ้าตรวจสอบในเชิงลึกอย่างตรงไปตรงมาแล้วพบข้อเท็จจริงว่า ผู้ถือหุ้นและกรรมการ 2 บริษัท คือ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด เป็นเพียง “นอมินี”ของ “บุคคลใด” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุข้างต้น
จะถือว่าเป็น“ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน” เพราะ “มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”หรือไม่ ?
และนำไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า กระบวนการประกวดราคามีความโปร่งใสโดยชอบหรือไม่?
อ่านประกอบ :
อธิบดีปภ.ยันซื้อรถกู้ภัยโปร่งใสตามระเบียบ ลั่นระวังเต็มที่ รักตัวกลัวตายทุกคน
3 บ.ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกวาดจัดซื้อรถกู้ภัย-บรรทุกน้ำกรมป้องกันฯ มท. 1.5 พันล.
ไขสัมพันธ์ลึก 3 บ.กลุ่มเดียวรวบจัดซื้อรถยนต์กู้ภัย-บรรทุกน้ำ ปภ. 1.5 พันล.
บ.เชสฯรวบ“รถดับเพลิง”ปภ. 20 โครงการ 5.5 พันล. บริษัทเครือข่ายเป็น“คู่เทียบ”
บ.เชสฯรวบจัดซื้อรถดับเพลิง-ไฟป่า ปภ.อีก 5 สัญญารวด-ยอดพุ่ง 2 พันล้าน
2 บ.กลุ่มเดียวยื่นซอง“รถดับเพลิง”ปภ.3 สัญญา-เคาะราคาห่างกันแค่ 34,000 บาท
เปิด 8 โครงการซื้อรถกู้ภัย ปภ.ในกำมือ“วีม่า-ดี แอล เอ็มฯ”1.3 พันล.-บ.เชสฯคู่เทียบ
สำรวจที่ตั้ง บ.เชส ฯ เจอรถโบราณ ไร้เงาเจ้าของ ไม่พบรถ-เรือกู้ภัย ปภ.2 พันล.
บริษัทขายรถ-เรือกู้ภัย ปภ.54 ลำ 330 ล้าน อยู่ห้องเช่า
พิสูจน์ที่ตั้ง บ.วีม่าฯ คว้าจัดซื้อรถกู้ภัย ปภ.700 ล. ซุกตัวอพาร์ตเมนท์ฝั่งธนฯ
“ยุ่งเรื่องซังกะบ๊วย"คำต่อคำ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบปมจัดซื้อรถเรือดับเพลิง ปภ.หลายพันล.
ปภ.แจงจัดซื้อรถ-เรือกู้ภัย 1.7 พันล.ไม่ฮั้ว-เปิดสัญญาให้"อิศรา"ไม่ครบ