ฉัตรชัย พรหมเลิศ:จัดซื้อรถ-เรือกู้ภัย ปภ. เราทำตามระเบียบ ทำเกินหน้าที่ไม่ได้
“..คือคุณสงสัยได้ สังคมสงสัยได้ว่าบริษัทนั้นได้งานซ้ำนะ แต่ราชการยังใช้ความสงสัย คาดการณ์หรือจินตนาการไม่ได้ ตรงนี้ต้องยอมรับ ผมทำตามระเบียบ แต่ถ้าจับไม่ได้คาหนังคาเขา ถ้าสงสัยแล้ว ไม่มีหลักฐาน เขาก็ซัดเรากลับมา ว่าเราทำเกินกว่าหน้าที่...”
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ทำสัญญาจัดซื้อรถยนต์และเรือยนต์กู้ภัย 7 รายการจากเอกชน 4 รายเมื่อ 24 เม.ย. 57 รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,758,989,000 บาท โดยบริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาครั้งนี้ มี 3 ใน 4 รายคือบริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด, บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด มีความเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ การจัดซื้อรถยนต์บรรทุกและเรือยนต์ กู้ภัยและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของ ปภ.ในระหว่างปีงบประมาณ 2555-2557 ซึ่งมีการทำสัญญาจัดซื้อทั้งสิ้น 29 โครงการ รวมวงเงิน 7,071,271,900 บาท บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาถึง 20 โครงการ โดยบริษัทวีม่าฯ และบริษัทดีแอลเอ็มฯที่มีความเชื่อมโยงกับ บ.เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ เป็นคู่เทียบราคาหลายโครงการนั้น
ล่าสุดในช่วงเย็นวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม ปภ. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยคณะทำงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกอบด้วย นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล รองอธิบดี, นายภูสิต สมจิตต์ เลขานุการกรมฯ, นายสมเชษฐ กองเขต วิศวกรเครื่องกล และนายคูณ ควรกระโทก รักษาการผู้อำนวยการกองคลัง ร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงกับสำนักข่าวอิศรา ในทุกประเด็นที่สงสัย
นับจากบรรทัดนี้ไป คือคำถาม และคำตอบ ที่เกิดขึ้นในห้องประชุมครั้งนี้
@ กรณีที่อิศรา ตรวจสอบการจัดซื้อรถและเรือกู้ภัยของ ปภ. ตั้งแต่ ปี 2555-2557 พบว่าในจำนวน 29 โครงการมี 3 บริษัทที่ได้งานคือ บ.เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ บ.วีม่าฯ และ บ.ดีแอลเอ็มฯ ซึ่งอิศราตรวจสอบพบความเชื่อมโยง ของกรรมการทั้ง 3 บริษัทนี้ แม้แต่ 7 โครงการล่าสุด ที่ทำสัญญาเมื่อวันที่ 24 เม.ย.57 ก็เป็นสามบริษัทนี้ได้งาน ความเชื่อมโยงดังกล่าว มีส่วนทำให้เอกชนกลุ่มนี้ได้งานหรือไม่ ?
ฉัตรชัย : ในประเด็นนี้ขอบคุณอิศราที่มาถามและให้เรามีโอกาสได้ชี้แจง ผมมาเป็น อธิบดีเมื่อ 1 ตุลาคม ปี 2555 แต่กรมฯ ก็ตั้งมา 10 กว่าปีแล้ว ก่อนหน้านี้ การซื้อรถก็ดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ วิธีการซื้อรถของราชการเราต้องมีแผนการจัดซื้อ มีฝ่ายวิศวกรรมเครื่องกล มีฝ่ายช่างร่วมกับฝ่ายบริหาร มีฝ่ายเครื่องจักรกล ส่วนอุปกรณ์ที่กรมฯ หรือรัฐบาลจัดหาก็จะไม่เหมือนที่ท้องถิ่น ที่ อบต. มี เราเป็นเครื่องมือพิเศษทั้งสิ้น สเปกเราคือมาตรฐานสากล ไม่ใช่มาตรฐานท้องถิ่น เมื่อเรามีแผนจัดซื้อต่อเนื่อง การตรวจสอบก็มีตั้งแต่ในชั้นของกรรมาธิการ
สาระสำคัญคือ วิธีจัดซื้อเราเป็นระบบเปิด ต้องแข่งขันโดยวิธีอีอ๊อกชั่นเท่านั้น มีการกำหนดร่างทีโออาร์ หรือสเปก ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นในประกาศเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ถ้าเป็นเรื่องเทคนิค กรณีเฉพาะ จะมีผู้เชี่ยวชาญโดยตรง หรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากต่างประเทศมาวิจารณ์ เมื่อประชาพิจารณ์แล้ว ก็กำหนดจัดซื้อ นอกจากกรรมการด้านสเปก ก็มีกรรมการประกวดราคาที่เขาจะตรวจสอบเรื่องผู้มีคุณสมบัติ ว่ามีคุณสมบัติตามประกาศไหม และดูว่ามีผลประโยชน์ ร่วมกันไหมและดูคุณสมบัติเฉพาะทางเทคนิค อย่างน้อย 3 เรื่องนี้เราต้องดู
ขั้นตอนราชการมีหลายขั้น ไม่ใช่อยู่ๆ มาถึง ซื้อเลย เมื่อถึงวันกำหนดเคาะราคาแม้แต่ผมก็ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ ต้องเชื่อว่า เมื่อระบบที่เขาออกมาเป็นเช่นนี้ คือผ่านขั้นตอนมาแล้วที่เขาไปแข่งกัน เมื่อระบบออกมาแบบนี้ ถ้าจะบอกว่าเขาฮั้วกัน ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะไปรู้ได้ยังไง คือผมสรุปคร่าวๆ
ที่คุณถามมา ว่าล็อคสเปกหรือเปล่า เป็นการแข่งขันที่มีประโยชน์ร่วมกันหรือเปล่า ซึ่งการล็อกสเปกนั้น ผมก็อธิบายแล้วว่ากรรมการเขามาจากไหนบ้าง และมีการพิจารณาซองเทคนิคโดยเฉพาะ ถ้าล็อคสเปก หมายความว่ากำหนดให้เข้าได้เฉพาะราย แต่นี่กรรมการสเปกก็มาหลากหลาย คนใน ปภ.มีไม่มาก ส่วนใหญ่มาจากคนนอก
@ แต่ประเด็นที่เราตรวจสอบพบคือเอกชนที่มาเข้าร่วมประมูล ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กัน ?
ฉัตรชัย : การที่เราจะมองว่าเชื่อมโยงหรือไม่ ผมเรียนตั้งแต่ต้นว่าความเป็นราชการ เราต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย
คราวนี้ถามว่า เรื่องนี้ ระเบียบสำนักนายกฯ ปี 2535 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ) และในเรื่องการอีอ๊อกชั่น ปี 2549 (ระเบียบพัสดุฯระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549) เขากำหนดคำว่านิยาม คำว่าผลประโยชน์ร่วมกัน ต้องไปดูว่าเขาพิจารณาอะไรบ้าง
ประเด็นที่หนึ่ง กรรมการผู้บริหารร่วมกัน ประเด็นที่สอง มีทุนร่วมกัน มีการจดทะเบียนร่วมกัน และระบุว่า ต้องมีผลนัยสำคัญเปลี่ยนแปลงถึง 25% ประเด็นที่สาม คือทั้งสองอย่างนั้นมาไขว้กันและระเบียบฯ ยังระบุว่าพิจารณาอย่างไร ทั้งทางตรงทางอ้อม คือคู่สมรสไม่ได้ ลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ไม่ได้ แต่ถ้าบรรลุนิติภาวะ ระเบียบฯ ไม่บังคับ
สาระสำคัญคือ ระเบียบฯ ยังระบุด้วยว่าในการยื่นแข่งขันในคราวเดียวกัน คือหมายถึงการยื่นประกวดราคาในครั้งนี้ ในคราวเดียวกัน กรรมการที่เป็นคนตรวจ เขาต้องตรวจละเอียด ไม่เช่นนั้น กรรมการตาย เขาก็ไปดูละเอียดตามนิยามตามกฎหมาย
ผู้เสนอราคาร่วมกัน หมายถึงบุคคลธรรมดา นิติบุคคลเสนอราคาหน่วยงานรัฐ ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ระเบียบเขาคุมไว้หมดแล้ว ซึ่งกรณีนี้คุณอาจดูว่าเป็นทางอ้อม แต่ต้องดูให้จบบท คือ มีการระบุว่า ผู้เสนอราคา เข้าเสนอราคา เสนองานให้กับหน่วยราชการนั้นในคราวเดียวกัน หมายความว่าการประกวดราคาให้ส่วนราชการในคราวเดียวกัน ดังนั้น ราชการก็ต้องดูจากผู้เสนอราคาในคราวเดียวกันนั้น ต้องเอาคนกลุ่มเดียวกันมาพิจารณา อย่าเอาคนต่างกลุ่มมา ราชการก็ต้องดูจากผู้เสนอราคา เพราะไม่มีใครรู้หรอก
คืออย่างนี้ ผมพูดตรงๆ เก่งมากนะ ที่ไปดูว่าเขาเกี่ยวกันยังไง เพราะระเบียบฯไม่ได้ให้เราตรวจ ระเบียบกฎหมายกำหนดว่าให้ตรวจตรงไหนราชการก็ต้องทำตามนั้น เพราะเราจะไปสุ่มตรวจได้ที่ไหนได้ทั่วไปหมด ว่าใครไปเกี่ยวกับใคร
เมื่อกำหนดชัดเจนว่าการเสนอราคาในคราวเดียวกัน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องดูว่าในคราวนี้ เรื่องนี้ มีใครบ้าง ก็ต้องนำใบบริคณห์สนธิ หรือหลักฐานที่เขามายื่นทั้งหมด เอามาตรวจ ในเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่เอาเรื่องนี้ ไปตรวจกับเรื่องนู้น ไม่เช่นนั้น จะวุ่นไปหมด เพราะถ้าเป็น บริษัทข้ามชาติ ใครจะไปรู้ หรือแม้แต่บริษัทในประเทศ ที่ไปร่วมลงทุนกับกิจการอื่นที่ไม่ได้ยื่นในคราวนี้ นี่คือข้อมูลที่ผมชี้แจงในเรื่องหลักปฏิบัติ เพราะเราไม่ปฏิบัตินอกเหนือระเบียบ ไม่เช่นนั้นกรรมการตาย
@ พ.ร.บ. ฮั้วประมูล มีส่วนที่ระบุถึงผู้เสนอราคา ร่วมกันกีดกันการแข่งขัน กรณีนี้ เอกชนที่เข้ามาร่วมประมูล และการได้งานของ บ.เชสฯ มักมี อีก 2 บริษัท มาร่วม เป็นเครือข่ายกลุ่มเดียวกัน ปภ. จะนำ เอา พ.ร.บ. ฮั้ว มาพิจารณากรณีนี้หรือไม่ ?
ฉัตรชัย: คือการจะพิจารณาว่าเขาเกี่ยวพันกันหรือไม่ ก็พิจารณาใน 3 เรื่อง ในคราวเดียวกัน ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง อันนี้ ก็ต้องไปพิสูจน์
@ ในส่วน ของ พ.ร.บ. ฮั้วประมูล ก็มีมาตรการป้องกัน อยู่ที่ดุลยพินิจของกรรมการว่าจะใช้ดุลพินิจอย่างไร นอกจากนี้ หลังรัฐประหาร คสช. มีคำสั่งว่า กรณีแม้เพียงแค่สงสัยว่าทุจริต ก็ให้ตั้งกรรมการเข้าไปตรวจสอบ กรณีนี้ ปภ. ดำเนินการอย่างไร ?
ฉัตรชัย : ผมจะไปทำนอกเหนือระเบียบฯ ไม่ได้ แต่จะทำอย่างดีที่สุด คือเขาคุณสมบัติผ่าน เราก็ไปหยุดเขาไม่ได้ เขาก็เข้าไปสู่กระบวนการไปแข่งกัน ไม่มีใครรู้ อันนี้ ผมขอลำดับความเข้าใจตรงนี้ ส่วนประเด็นที่อิศราสงสัย ว่าได้ทำคำสั่งตาม คสช. หรือไม่ คือยืนยันว่าผมทำ เรื่องนี้ ยืนยันว่าไม่มีใครกล้าทำพิสดารไปกว่าระเบียบนี้ ซึ่งในการวินิจฉัยเราตรวจอย่างดี ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่ซวยไปด้วย เราต้องมั่นใจ ผมยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามระเบียบ ขั้นตอนโดยเคร่งครัด
ส่วนในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการเป็นการแข่งขันทางการค้าเราไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เราจะรักษาประโยชน์ราชการ และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เราไม่เลี่ยง ไม่หนี และยืนยันว่า ทำถูกต้องตามระเบียบ ขั้นตอน และมีการตรวจสอบมาก่อนหน้านี้
แต่ดีที่คุณถาม เพราะอย่างน้อยที่สุด วันนี้ เมื่ออิศราตามและพบว่ามีเรื่องนี้ ผมต้องหารือกับระดับบนว่า หากผมทำต่อนี่ ผมจะมีปัญหาไหม ถ้าผมระงับ ผมจะมีปัญหาไหม วันนี้ ผมต้องหาทางออก ผมต้องหารือกับหหน่วยที่ออกระเบียบทั้งหมด หารือกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ระเบียบออกมาจากไหน เราก็ต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้น ราชการทำต่อไม่ได้ คือจะคัดหนีเลย ก็เป็นไปไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าเกิดขึ้นก่อนหรือ หลัง คสช. เราก็ต้องตรวจสอบ แต่ยืนยันว่า เราทำตามระเบียบเป๊ะ ผู้ที่ได้หรือไม่ได้ ก็เป็นเรื่องทางองค์กรธุรกิจ ซึ่ง ควรไปดูด้วยว่าบริษัทเหล่านี้ เขาขายให้ใครอีกบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมว่า ไม่ใช่เฉพาะกับกรมป้องกันฯ
@ เนื่องจากเราตรวจสอบข้อมูลบริษัทที่เข้าประมูล พบว่าปูมหลัง มีความสัมพันธ์กัน ประเด็นที่เราสนใจ คือ ที่เขาทำแบบนี้ มีผลต่อการประมูลไหม มีผลทำให้หนึ่งในสามบริษัทนี้ มีผลต่อการได้งานไหม และการกระทำแบบนี้ ตามระเบียบแล้วทำได้ไหม ที่เราตั้งคำถามคือพฤติการณ์ของบริษัทเหล่านี้ ปภ.ดำเนินการอย่างไร ?
ฉัตรชัย : คือถ้าคนจะทำผิด ก็เป็นไปตามกฎหมายก็ต้องว่ากันไป แต่สิ่งที่ผมยืนยันคือราชการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย รัฐบาลในฐานะส่วนราชการ ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วย ว่าคุณจะเอาใครมาแข่งกับใคร แต่ถ้าคุณไม่มีคุณสมบัติคุณก็ต้องตกไป
@ สำหรับกรณีนี้ที่อิศราตรวจสอบพบข้อมูลทั้งหมด อธิบดี ตั้งกรรมการสอบหรือไม่ ?
ฉัตรชัย : เราจะไปสอบใคร แต่ผมก็ไปตรวจสอบลูกน้องผมเองว่า คุณได้ตรวจสอบตามระเบียบไหม ถ้าทำตามระเบียบ ก็จบไปและประเด็นที่สองคือ อะไรที่เป็นประเด็นที่สังคมสนใจ ก็ขอให้อิศราแจ้งเรามาเป็นประเด็นเลยเพื่อเป็นฐานข้อมูล แจ้งมาเป็นประเด็นเลยว่าอยากให้เราทำอะไร และที่เราทำตอนนี้ คือการหารือเรื่องหลักปฏิบัติ ถ้าเขาบอกแบบนี้ไม่ได้ เราก็ไม่ทำต่อไปในอนาคต ส่วนที่ผ่านมา ที่มันผ่านไปแล้ว เราก็ทำไปตามระเบียบ กรมเราก็ต้องดูว่าเราตามระเบียบไหม ซึ่งเราทำนอกเหนือระเบียบไม่ได้
คือคุณสงสัยได้ สังคมสงสัยได้ว่าบริษัทนั้นได้งานซ้ำนะ แต่ราชการยังใช้ความสงสัย คาดการณ์หรือจินตนาการไม่ได้
ตรงนี้ต้องยอมรับ ผมทำตามระเบียบ แต่ถ้าจับไม่ได้คาหนังคาเขา กรณีที่มายื่นในคราวเดียวกันนะ เพราะถ้าสงสัยแล้ว ไม่มีหลักฐาน เขาก็ซัดเรากลับมา ว่าเราทำเกินกว่าหน้าที่ เราระวัง ทุกคนรักตัวกลัวตายทั้งนั้นในฐานะของการเป็นราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้ รัฐบาล นายกฯก็พูดทุกวันว่า ถ้าผิดก็โดน เราก็สำเหนียกอยู่แล้ว
@ ในส่วนของ บ.เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ วันนี้ สรุปแล้ว ได้งานไปเท่าไหร่ ?
อนุสรณ์ : เรายังไม่ได้ ทำสรุปขนาดนั้น แต่เราหาข้อมูลไว้ให้ได้
ฉัตรชัย : เราหาข้อมูลไว้ให้ได้
@ กรณีที่ อธิบดีจะหารือผู้เกี่ยวข้องเรื่องระเบียบฯ จะดำเนินการเมื่อไหร่ ?
ฉัตรชัย : จะส่งเรื่องไปโดยเร็ว จะต้องกำหนดแนวทางว่าเมื่อมีคนสงสัย เรื่องนี้ แต่การที่ราชการจะไปสงสัย ว่าทำไมเขาได้งานบ่อย คือเราควรต้องดูข้อเท็จจริง ว่าเขามีอาชีพนี้จริงไหม เราต้องมองทั้งบวกทั้งลบ ในหลายมิติ แต่อิศราก็ทำให้คิดว่า ปีหน้าก็ต้องคิดแล้ว
@ เรื่องหนังสือจดทะเบียนบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิ ที่บริษัทผู้ประมูลนำมายื่น ปภ.ต้องตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอคำยืนยันหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบการเชื่อมโยงบริษัท การมีประโยชน์ไขว้กันหรือไม่ ?
ฉัตรชัย : เราก็ดูบริคณห์สนธิจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีสำเนาถูกต้อง
@ ดูเรื่องความเชื่อมโยงของบริษัทหรือไม่ ?
ฉัตรชัย : กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเรา
ภูสิต : การเสนอราคา มีการกำหนดไว้ว่าตรวจสอบอะไรบ้าง เราไม่สามารถทำนอกเหนือไปได้ เพราะเป็นการทำเกินขอบเขต ดังนั้น กรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ ไม่มีทางรู้ได้ว่า บริษัทคุณไปทำอะไรกันมา ก็ดูเพียงตามเอกสาร แต่เรื่องนี้ ทางกรมก็ไม่ได้ปล่อยไป ก็กำลังดำเนินการ
ฉัตรชัย : เอกสารการประกวดราคา ก็ตรวจสอบทั้งหมด ประเด็นที่คุณสงสัย มีเหตุผล อาจมองความเชื่อมโยง
แต่ระเบียบฯ กำหนดไว้เฉพาะการยื่นประกวดราคาคราวเดียวกันนี้ ไม่อย่างนั้น เราจะถูกฟ้องแทน ถ้าทำเหนือระเบียบ อาจโดนข้อหากีดดันการค้า ถ้าเราเป็นเจ้าหน้าที่ ไปทำนอกเหนือ เราก็โดน ฟ้อง ม.157 ทันที ว่าไปกลั่นแกล้ง
@ กังวลไหมที่ สตง. เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ?
ฉัตรชัย : เราก็แจ้ง สตง. ตาม ปกติอยู่แล้ว ในเรื่องสัญญา ต่างๆ และขึ้นเว็บไซต์กรมบัญชีกลางด้วย
ภูษิต : คำถามที่ว่ากลัว สตง. ตรวจสอบไหม ทุกอย่างที่เราทำ เราพร้อมให้ สตง. เราคำนึงถึงเรื่องนี้ตลอดว่าโปร่งใส จริงๆ ที่ถามว่า ทำไม บ.เชสฯ ได้งานถี่ เรื่องนี้ มันอยู่นอกความคาดหมายของเรา คือเราไม่สามารถคาดหมายได้ว่าใครจะได้ เนื่องจากสเปกเราเป็นกลาง นั่นเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ถ้าผมจะไปกำหนดว่า บ.เชสฯ ห้ามเข้า เดี๋ยวจะไปซ้ำกับบริษัทนู้น บริษัทนี้ มันก็ไม่ใช่ปกติวิสัย ก็ขอชี้แจง ส่วนข้อสังสัยของอิศรา มีเหตุผล แต่เราก็กางระเบียบฯดูเลย ทั้งความเชื่อมโยงของสามี ภรรยา ลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
@ กรณีที่ อิศราตรวจสอบพบช่วงปี 2555-2557 บ.เชสฯ ได้งาน ปภ. 20 ครั้ง และมีหลายครั้ง ที่บ. วีม่าฯ เป็นคู่เทียบราคา ปภ.คำนึงถึงนัยนี้หรือไม่ ?
ฉัตรชัย : ถ้าเราไปบอกคู่เทียบก็ไม่ได้ ต้องเรียกคู่แข่ง การแข่งขัน แม้แต่ตามระเบียบฯ เดิม ให้ยื่นรายเดียวไม่ได้เลย แต่เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ไม่มีผู้ยื่นซอง เขาจึงอนุโลมว่าแม้มีรายเดียวก็ได้ถ้าจำเป็น เพราะบางหน่วยงานนี่ ไม่มีคนยื่น คือ ถ้าเราไปบอกว่าคู่เทียบจะมีปัญหา เขาอาจจะบอกได้ว่ารู้ได้ยังไงว่าเป็นคู่เทียบ เขาบอกว่าเป็นคู่แข่ง
แต่ผมมั่นใจว่า ถ้าเราพูดอย่างเป็นกลางนะ หากกระบวนการตรวจสอบพบว่าถูกต้อง คือกี่ครั้ง เขาก็มาได้ นี่พูดอย่างเป็นกลางนะ ถ้าคุณเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน เข้าสู่การเคาะราคา ก็ต้องมีการวางหลักประกัน มีเงื่อนไขอีกเยอะ ต้องมีศักยภาพ ระเบียบกำหนดว่าต้องมีหนังสือค้ำประกัน ก่อนเริ่มกระบวนการ ก็มีหลักเกณฑ์ต่างๆ และถ้าเขาทิ้งงาน ก็จะมีหนังสือเวียน ถ้าเราพูดกันอย่างกลางๆ หรือเริ่องบางรื่องเป็นเรื่องของความชำนาญเฉพาะ ระเบียบก็เปิดให้เขาก็แข่งในอาชีพเขาความสงสัยนั้น ผมว่าสงสัยได้ แต่ถ้าพูดตามข้อเท็จจริง ก็เป็นอาชีพเขา และต้องดูคุณสมบัติ ซึ่งแรกๆ ก็มีหลายบริษัทสู้กัน แต่ต่อมาก็ลดน้อยลง
เราเป็นราชการ เราก็ไปกีดกันไม่ได้ แต่อิศราพูดเราก็คิดแล้ว และหากปีหน้าเขาได้งานอีก ผมจะผิดหรือเปล่านี้
@ : ประเด็นของเราคือ เรื่องความสัมพันธ์และพฤติการณ์ ตาม พ.ร.บ. ฮั้วประมูล ?
ฉัตรชัย : คือพฤติการณ์ ต้องชัดเจน และเราจึงใช้วิธีอีอ๊อกชั่น เปิดกว้าง
@ เป็นไปได้ไหมที่วิธีอีอ๊อกชั่น นำไปสู่กรณีที่มีการไปตกลงกันข้างนอก ?
ฉัตรชัย : นี่คือความห่วงใยที่ดี แต่ถ้าเราไปกล่าวหาเขา เขาก็สวนหมัดเรา
ภูสิต : เรื่องที่คุณพูด เราไม่รู้หรอกครับ มันอยู่นอกเหนือการตรวจสอบของเรา แต่ถ้ารู้แล้วไม่ดำเนินการ เราก็ผิดชัดเจน
@ ทีมงาน นายกฯ มีการสอบถามเรื่องนี้หรือไม่ ?
ฉัตรชัย : ยังไม่มี คือเนื่องจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เราก็ใช้ระเบียบพัสดุฯ ปี 35 และ ระเบียบสำนักนายกฯ เรื่องอีอ๊อกชั่นปี 49 ดังนั้น แม้ท่านนายกฯ จะถามหรือไม่ ผมก็ยังยืนยันเช่นนี้ ยืนยันกับอิศราด้วยและขอบคุณที่สอบถามเรื่องนี้ แต่การที่เราจะไประงับ ก็อาจจะโดนฟ้องว่าเรากีดกันการแข่งขัน และการจะไปตรวจสอบนอกเหนือจากที่กำหนด เราก็ทำไม่ได้ แต่คุณทำได้ ดังนั้น ประเด็นคืออยากให้เข้าใจว่า ฐานะของราชการ เราทำได้ เฉพาะที่ระเบียบ กำหนด ไม่เช่นนั้น เราจะโดนกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบ แต่เราก็มีเป้าหมายที่ความสุจริต โปร่งใส
ถ้าผมทำนอกเหนือจากระเบียบ ผมอาจถูกกล่าวหาว่าไปกลั่นแกล้ง ดังนั้น ประเด็นคือ ปภ. ก่อตั้งมา 11-12 ปี ต้องลองไปดูว่า บริษัทที่กล่าวมา เขาขายมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ผมอยากให้ลองดูภาพกว้าง
ผมไม่รู้เรื่อง กรรมการบริษัทนะ เพราะผมเป็นส่วนนโยบาย แต่ผมเชื่อว่า บริษัทอาจตั้งมาก่อนที่จะมี ปภ. เราน่าจะลองมองข้อเท็จจริงในทุกมิติ เพราะถ้าเรามองแค่วันนี้ อาจมองว่าเชื่อมโยงกับกรมฯ แต่ผมอยากให้ลองเช็คดู ว่าบริษัทมีก่อนและขายมาก่อนมีกรมฯหรือไม่ เพราะกรมฯ เพิ่งก่อตั้ง ปี 2545
…
ทั้งหมดนี่ คือ คำตอบจากอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และทีมงานบางส่วน ต่อประเด็นความเชื่อมโยงของเครือข่าย บ.เอกชน ที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบความเชื่อมโยงของกรรมการบริษัทและพบว่าเครือข่ายดังกล่าวคว้างาน ปภ.รวมวงเงินกว่า 7 พันล้านบาท
อ่านประกอบ :
อธิบดีปภ.ยันซื้อรถกู้ภัยโปร่งใสตามระเบียบ ลั่นระวังเต็มที่ รักตัวกลัวตายทุกคน
3 บ.ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกวาดจัดซื้อรถกู้ภัย-บรรทุกน้ำกรมป้องกันฯ มท. 1.5 พันล.
ไขสัมพันธ์ลึก 3 บ.กลุ่มเดียวรวบจัดซื้อรถยนต์กู้ภัย-บรรทุกน้ำ ปภ. 1.5 พันล.
บ.เชสฯรวบ“รถดับเพลิง”ปภ. 20 โครงการ 5.5 พันล. บริษัทเครือข่ายเป็น“คู่เทียบ”
บ.เชสฯรวบจัดซื้อรถดับเพลิง-ไฟป่า ปภ.อีก 5 สัญญารวด-ยอดพุ่ง 2 พันล้าน
2 บ.กลุ่มเดียวยื่นซอง“รถดับเพลิง”ปภ.3 สัญญา-เคาะราคาห่างกันแค่ 34,000 บาท
เปิด 8 โครงการซื้อรถกู้ภัย ปภ.ในกำมือ“วีม่า-ดี แอล เอ็มฯ”1.3 พันล.-บ.เชสฯคู่เทียบ
สำรวจที่ตั้ง บ.เชส ฯ เจอรถโบราณ ไร้เงาเจ้าของ ไม่พบรถ-เรือกู้ภัย ปภ.2 พันล.
บริษัทขายรถ-เรือกู้ภัย ปภ.54 ลำ 330 ล้าน อยู่ห้องเช่า
พิสูจน์ที่ตั้ง บ.วีม่าฯ คว้าจัดซื้อรถกู้ภัย ปภ.700 ล. ซุกตัวอพาร์ตเมนท์ฝั่งธนฯ
“ยุ่งเรื่องซังกะบ๊วย"คำต่อคำ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบปมจัดซื้อรถเรือดับเพลิง ปภ.หลายพันล.
ปภ.แจงจัดซื้อรถ-เรือกู้ภัย 1.7 พันล.ไม่ฮั้ว-เปิดสัญญาให้"อิศรา"ไม่ครบ
ภาพประกอบจาก : www.google.co.th