- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- ประมวล“ข้อสังเกต-คำถาม” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จ้างสื่อใหญ่จัดอีเวนต์ 240 ล.
ประมวล“ข้อสังเกต-คำถาม” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จ้างสื่อใหญ่จัดอีเวนต์ 240 ล.
ประมวล“ข้อสังเกต- คำถาม” ถึง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" กรณีปมจ้างบริษัทสื่อเอกชน 240 ล้านบาท จัดงานอีเวนต์ กม.เงินกู้2ล้านล. “สร้างอนาคตไทย 2020”
ยังคงเป็นปริศนาสำคัญที่สังคมไทยยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ต่อกรณีการว่าจ้างบริษัทสื่อเอกชน เข้ามารับจัดงานอีเวนต์ ประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน “สร้างอนาคตไทย 2020” เป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงขนส่งของประเทศ พ.ศ....หรือเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการดำเนินงานในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการใช้วิธีพิเศษว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงาน และการไม่เปิดเผยราคากลางผ่านเว็บไซต์ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103 (7)ที่กำหนดให้มีการประกาศราคากลางในเว็บไซต์ของทุกหน่วยงานและเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง เป็นต้น
(อ่านประกอบ:เก็บตก!!ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ"ปชป."ชำแหละงบพีอาร์สร้างชาติ 240ล.)
ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อสังเกตในการดำเนินการโครงการฯนี้มากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ทำการประมวลข้อสังเกตที่เกิดขึ้น มานำเสนออย่างเป็นระบบดังนี้
1.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อธิปรายว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ยังไม่ผ่านวุฒิสภา และยังไม่รู้จะผ่านหรือไม่ แต่นายกฯ กลับใช้อำนาจในการอนุมัติงบประมาณประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแล้ว
ถามว่าถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่าน จะรับผิดชอบอย่างไรกับเงิน 240 ล้านบาทที่เสียไปแล้ว
นายจุฤทธิ์ ยังระบุด้วยว่า มีการใช้เงินมากผิดปกติมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพราะเดิมทีแต่ละปีตั้งแต่มีงบประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2548 – 2556 รัฐบาลใช้เงินทั้งสิ้น 66 ล้านบาท
แต่ครั้งนี้เพียงแค่เดือนเดียวใช้ไป 200 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังแอบไปหยิบงบกลางปี 2556 อีก 40 ล้านบาท รวมเป็น 240 ล้านบาท และเฉลี่ยให้ 12 จังหวัด จังหวัดละ 20 ล้านบาท จากงบรายจ่ายอื่น ๆ ที่เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล 500 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า งานนิทรรศการ "สร้างอนาคตไทย 2020" จัดขึ้นทั้งสิ้น 12 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย เริ่มต้นที่ จ.หนองคาย ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม ต่อด้วยวันที่ 11-13 ตุลาคม จัดที่อาคารเรียนรวมหลังใหม่ (อาคาร 35) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา, วันที่ 15-17 ตุลาคม ที่เซ็นทรัลพัทยาบีช จ.ชลบุรี, วันที่ 18-20 ตุลาคม ที่ศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ขององค์การบริหาร จ.อุบลราชธานี และวันที่ 25-27 ตุลาคม ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
ในเดือนพฤศจิกายน จัดพร้อมกันถึง 2 ภูมิภาค วันที่ 1-3 พฤศจิกายน ที่แรก คือ เทศบาลนครนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ อีกแห่งคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา, วันที่ 8-10 พฤศจิกายน จัดที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จ.พระนครศรีอยุธยา อีกแห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จ.เพชรบุรี จากนั้นวันที่ 15-17 พฤศจิกายน จัดที่เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่ และวันที่ 22-24 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ก่อนปิดท้ายวันที่ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา
คำถามที่น่าสนใจสำหรับข้อสังเกตเรื่องนี้ หากกม.เงินกู้ 2 ล้านล้านไม่ผ่าน โครงการจำนวนมากที่ประกาศออกไปไม่ได้ดำเนินการ เงินจำนวน 240 ล้านบาท ที่ถูกใช้จ่ายไปแล้ว กลายเป็นเงินที่ถูกใช้จ่ายไม่คุ้มค่า รัฐบาลจะรับผิดชอบกับเรื่องนี้อย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเงินภาษีประชาชนที่สูญเสียไป?
(อ่านประกอบ:"สตง."ตั้งทีมติดตามข้อมูล"รบ.ยิ่งลักษณ์"จ้าง"สื่อเอกชน"จัดอีเวนต์ 240 ล.)
2. ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าว นายจุฤทธิ์ ได้เปิดภาพถ่ายโครงการดังกล่าวที่ จ.อยุธยา โดยระบุว่ามีเก้าอี้ไม่ถึง 1,000 ตัว แล้วคนจะมาถึง 20,000 คนได้อย่างไร เพราะโครงการนี้ ตั้งเป้าให้คนเข้าชม 564,374 คน เฉลี่ยวันละ 26,875 คน
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ทำหนังสือที่ สฏ 0017.2/ว.8110 ถึงหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการส่วนกลาง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประธานหอการค้าจังหวัด และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ขอความร่วมมือจัดบุคลากรเข้าร่วมงาน นิทรรศการและเสวนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน “สร้างอนาคตไทย 2020” ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช
โดยในคำสั่งดังกล่าวได้อ้างคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เอกชน 2 ราย จัดนิทรรศการและเสวนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน “สร้างอนาคตไทย 2020” จังหวัดสุราษฏร์ธานีพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ซึ่งกำหนดเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานของจังหวัดสุราษฏร์ธานี จำนวน 4,000 คน จึงขอความร่วมมือพิจารณาจัดบุคลากรเข้าร่วมงานในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ตามจำนวนกลุ่มเป้าหมาย และภายหลังการร่วมงานให้รายงานจำนวนบุคลากรที่เข้าร่วมงานและรวบรวมความคิดเห็นให้จังหวัดทราบเพื่อจะได้เสนอรัฐบาลต่อไป
คำถามที่น่าสนใจสำหรับข้อสังเกตนี้ คือ ประสิทธิภาพในการจัดงานของบริษัทสื่อเอกชนทั้ง 2 ราย ว่ามีมากน้อยเพียงใด ทำไมจังหวัดต้องสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด จัดคนเข้าร่วมงานให้ครบตามเป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชน และที่สำคัญใครเป็นผู้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการเรื่องนี้
3.ในขั้นตอนการว่าจ้างบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจสื่อ เข้ามารับงานนี้ โดยใช้วิธีการพิเศษดังกล่าว รัฐบาลส่อว่าจะมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายบางฉบับนี้ ดังนี้
1.พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาตรา 103/7 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องมีมติเห็นชอบเพื่อสั่งการให้หน่วยงานราชการทั่วประเทศประกาศราคากลาง และวิธีคิดคำนวณราคากลาง ไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง หรือกรมบัญชีกลาง คู่กันทั้งสองหน่วย เพื่อป้องกันการทุจริต
โดยเบื้องต้น มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า ในการว่าจ้างบริษัทสื่อเอกชนจำนวน 2 ราย เข้ามารับจัดงานอีเวนต์ในโครงการนี้ โดยใช้วิธีพิเศษ
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศราคากลาง ผ่านเว็บไซต์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 วงเงิน 40 ล้านบาท โดยระบุว่ากำหนดราคากลาง (ราคาอ้างอิง) ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 อ้างอิงแหล่งที่มาของราคากลางจาก 2 แหล่ง คือ สำนักงบประมาณ และสื่อในเครือบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 วงเงิน 200 ล้านบาท กำหนดราคากลาง (ราคาอ้างอิง) วันที่ 11 ตุลาคม 2556 อ้างอิงแหล่งที่มาจาก การจัดงานโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 ณ จังหวัดหนองคาย ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2556 และจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 ซึ่งคณะกรรมการราคากลางได้กำหนดราคากลางในการจัดโครงการดังกล่าว จังหวัดละ 20 ล้านบาท (ตามหนังสือสั่งจ้าง ที่ 1/2557 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556)
รวมวงเงินในประกาศทั้งสองฉบับ คือ 240 ล้านบาท
แต่การแจ้งประกาศราคากลางทั้ง 2 ครั้ง เกิดขึ้น หลังจากที่มีการใช้วิธีพิเศษว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงานเสร็จสิ้นไปแล้ว (งานนิทรรศการ "สร้างอนาคตไทย 2020" จัดขึ้นทั้งสิ้น 12 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย เริ่มต้นที่ จ.หนองคาย ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม)
โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 นายจุฤทธิ์ ส.ส.ปชป. ได้ระบชัดเจนว่า "ป.ป.ช. สั่งให้งานที่ต้องขึ้นเว็บไซต์คือ “กรณีการจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง การจ้างให้จัดทำกิจกรรมหรืองานอีเวนต์ อาจระบุราคาในแต่ละรายการตามขอบเขตการดำเนินงาน” หรือพูดง่าย ๆ ว่าใครจัดอีเวนต์เกิน 100,000 บาท ต้องประกาศราคากลางในเว็บไซต์ด้วย"
กรณีนี้ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมรัฐบาล ถึงไม่ประกาศเปิดเผยราคากลาง ในช่วงก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทสื่อเอกชนเข้ามารับงานนี้
ขณะที่การเปิดเผยราคากลางดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนที่พรรคฝ่ายค้าน จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 เพียง 1 วัน
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ในข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลไม่ต้องการที่จะเปิดเผยข้อมูลนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะไม่ต้องการให้มีผู้รับรู้ข้อมูลอะไรมากเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการนี้ที่ใ้ช้วิธีการพิเศษ ทั้งเรื่อง ผู้รับจ้าง หรือวงเงินที่ใช้
แต่หลังจากได้รับข้อมูลว่าฝ่ายค้านเตรียมที่จะหยิบยกข้อมูลเรื่องนี้ ขึ้นมาอภิปราย รัฐบาลจึงต้องรีบประกาศ เพื่อลบข้อครหาจากฝ่ายค้าน
ล่าสุด ในส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า ได้ยื่นเรื่องนี้ ให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)รับไปตรวจสอบอย่างเป็นทางการแล้ว
2.พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542
ผลจากการที่รัฐบาลแจ้งประกาศราคากลางการดำเนินงานโครงการนี้ ผ่านมาเว็บไซต์ มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า ในการประกาศราคากลางของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 วงเงิน 40 ล้านบาท มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของราคากลางจาก 2 แหล่ง คือ สำนักงบประมาณ และบริษัทสื่อเอกชนแห่งหนึ่ง
โดยในส่วนของข้อมูลสื่อในเครือบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง นั้น มีการระบุแหล่งที่มาแยกออกเป็น 4 ส่วน คือ ข้อเสนอราคาของบริษัทใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ของสื่อ 3 แห่ง ในเครือของบริษัทใหญ่เอง
ไม่มีการสืบค้นหรือจัดหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาประกอบหรือเปรียบเทียบแต่อย่างใด
และท้ายที่สุดในขั้นตอนการว่าจ้างก็เป็นบริษัทสื่อเอกชนรายนี้ที่ได้รับงานไป พร้อมกับบริษัทสื่อเอกชนอีกแห่งหนึ่ง
(อ่านประกอบ: พิลึก"รบ."ประกาศราคากลางหลังใช้“วิธีพิเศษ”จ้างอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.)
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องเลือกที่จะสืบราคากลางจากบริษัทสื่อเอกชนรายนี้ เพียงรายเดียว
ทำไมถึงไม่สืบราคาจากบริษัทสื่อเอกชนแห่งอื่นด้วย เพื่อที่จะได้นำมาใช้เปรียบเทียบข้อมูล ก่อนที่จะมีการว่าจ้าง แม้ว่าจะเป็นการใช้วิธีว่าจ้างพิเศษก็ตาม
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ตามหลักการสืบราคาที่ถูกต้อง ควรจะนำมาจากหลายแห่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบราคา ก่อนที่จะหาค่าเฉลี่ยนำมากำหนดราคากลางที่เหมาะสม
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ในข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาล มีความต้องการที่จะว่าจ้างบริษัทสื่อเอกชน หนึ่งในสองราย ให้เข้ามารับงานไว้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปสืบราคากลางจากแหล่งอื่นอีก
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในลักษณะนี้ อาจจะทำให้ถูกมองว่า เป็นการกีดกัน หรือหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมได้
เพราะตามข้อกำหนดในมาตรา 4 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ขณะที่ผู้ใดเป็นธุระในการชักชวนให้ผู้อื่นร่วมตกลงกันในการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องพิจารณากันต่อไป คือ การว่าจ้างจัดงานอีเวนต์ครั้งนี้ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ที่จะต้องใช้วิธีพิเศษเพื่อดำเนินการ และงานนี้ นอกจากบริษัทสื่อเอกชน ทั้งสองรายนี้ แล้ว ในโลกใบนี้ ไม่มีบริษัทสื่อเอกชนอื่นที่สามารถดำเนินการได้แล้วใช่หรือไม่
นอกจากนี้ ผลงานที่ออกมาคุ้มค่ากับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ถ้าทุกอย่างดำเนินการไปได้ด้วยดี มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องจัดคนเข้าร่วมงานให้ครบจำนวน 4,000 คน เหมือนกับกรณีจังหวัดจังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่มีการตรวจสอบพบข้อมูลไปก่อนหน้านี้ด้วย
(อ่านประกอบ: ผู้ว่าฯสุราษฎร์ฯเกณฑ์คนร่วมอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.ที่ปชป.ยำใหญ่ในสภา)
ทั้งหมดนี่คือข้อสังเกต และ คำถาม ต่อรัฐบาล กรณีการควักเงิน 240 ล้านบาท จ้างบริษัทสื่อเอกชนสองรายรับงานอีเวนต์ กม.เงินกู้2ล้านล้าน“สร้างอนาคตไทย 2020” ที่กำลังถูกจับตามองอยู่ในขณะนี้
ภาพประกอบจากbangkokvoice