- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เก็บตก!!ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ"ปชป."ชำแหละงบพีอาร์สร้างชาติ 240ล.
เก็บตก!!ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ"ปชป."ชำแหละงบพีอาร์สร้างชาติ 240ล.
"..ป.ป.ช. สั่งให้งานที่ต้องขึ้นเว็บไซต์คือ “กรณีการจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง การจ้างให้จัดทำกิจกรรมหรืองานอีเวนต์ อาจระบุราคาในแต่ละรายการตามขอบเขตการดำเนินงาน” หรือพูดง่าย ๆ ว่าใครจัดอีเวนต์เกิน 100,000 บาท ต้องประกาศราคากลางในเว็บไซต์ด้วย.."
เป็นที่น่าโล่งใจสำหรับฝ่ายรัฐบาล หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อถอดถอน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รมว.มหาดไทย ผ่านฉลุยด้วยคะแนนไว้วางใจ 297 เสียง และ 296 เสียงตามลำดับ
อย่างไรก็ตามยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการอภิปรายครั้งนี้นั่นคือเรื่องร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. หรือ “ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท” ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างประชาสัมพันธ์ด้วยโครงการ “สร้างอนาคตไทย 2020” ที่ถูก “จุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฎ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยกขึ้นมาโจมตีรัฐบาลอีกด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สรุปข้อมูลการอภิปรายเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท” ของ “จุฤทธิ์” ไว้ดังนี้
“จุฤทธิ์” เริ่มอภิปรายว่า นายกรัฐมนตรี ได้นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 (กฎหมาย ป.ป.ช.) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 โดยนายกฯ นั่งเป็นประธานเอง และขอเวลา 180 วันในการเตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช.
หลังจากนั้นในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ได้อนุมัติให้ทุกหน่วยงานดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางของทางราชการให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งต้องประกาศไว้ในเว็บไซต์ของทุกหน่วยงาน และเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 สิงหาคม 2556
ประเด็นสำคัญคือ ป.ป.ช. สั่งให้งานที่ต้องขึ้นเว็บไซต์คือ “กรณีการจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง การจ้างให้จัดทำกิจกรรมหรืองานอีเวนต์ อาจระบุราคาในแต่ละรายการตามขอบเขตการดำเนินงาน” หรือพูดง่าย ๆ ว่าใครจัดอีเวนต์เกิน 100,000 บาท ต้องประกาศราคากลางในเว็บไซต์ด้วย
“จุฤทธิ์” ถามว่า อีเวนต์นั้นคืออะไร อีเวนต์คือโครงการสร้างอนาคตไทย 2020 เป็นงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งจัดโดยสำนักเลขานายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2556 โดยเป็นการตกลงจัดซื้อจัดจ้างหลังจากการประกาศบังคับใช้กฎหมาย ป.ป.ช. แล้ว และมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ “จุฤทธิ์” ระบุว่า โครงการดังกล่าวมีสิ่งผิดปกติ 3 เรื่อง
1.เรื่องเงิน
2.ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. เพราะไม่ประกาศในเว็บไซต์สำนักเลขานายกฯให้รู้ราคากลาง
3.เรื่องพฤติกรรมผิดปกติ
1.เรื่องเงิน
“จุฤทธิ์” อธิบายว่า มีการใช้เงินมากผิดปกติมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพราะเดิมทีแต่ละปีตั้งแต่มีงบประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2548 – 2556 รัฐบาลใช้เงินทั้งสิ้น 66 ล้านบาท แต่ครั้งนี้เพียงแค่เดือนเดียวใช้ไป 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแอบไปหยิบงบกลางปี 2556 อีก 40 ล้านบาท รวมเป็น 240 ล้านบาท และเฉลี่ยให้ 12 จังหวัด จังหวัดละ 20 ล้านบาท จากงบรายจ่ายอื่น ๆ ที่เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล 500 ล้าน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวตั้งเป้าให้คนเข้าชม 564,374 คน เฉลี่ยวันละ 26,875 คน อย่างไรก็ตาม “จุฤทธิ” ได้เปิดภาพถ่ายโครงการดังกล่าวที่ จ.อยุธยา โดยระบุว่ามีเก้าอี้ไม่ถึง 1,000 ตัว แล้วคนจะมาถึง 20,000 คนได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีภาพที่ระบุข้อความว่า “พี่ไปเชียงใหม่ น้องชายไปหัวหิน พ่อแม่ไปโคราช เย็นกลับมากินข้าวด้วยกัน” ซึ่งถือว่าการสารภาพกลางสภาของรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากชี้เจตนาชัดเจนว่าไม่มีรถไฟไปถึงหนองคาย
และภาพที่ปรากฏ “ยิ่งลักษณ์” นั่งทดสอบรถไฟความเร็วสูงจำลอง โดยในขบวนดังกล่าวนั่งได้ 36 ที่นั่ง แต่ขณะเดียวกันคนมางานตามเป้าของรัฐบาลคือกว่า 2 หมื่นคน/วัน แล้วที่นั่งน้อยขนาดนี้จะนั่งพอได้อย่างไร นอกจากนี้รถไฟความเร็วสูงจำลองดังกล่าวก็ย้ายไปแสดงตามจังหวัดอื่นเรื่อย ๆ ดังนั้นบริษัทรับเหมาจึงมีกำไรมาก และกินงบประมาณ 20 ล้านบาทโดยใช่เหตุ
“จุฤทธิ์” ระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษกับ “บริษัทสื่อที่เชียร์รัฐบาล”
2.ผิดกฎหมาย
“จุฤทธิ์” อธิบายว่า นายกฯ ทราบเรื่องแล้ว แต่ปล่อยให้เกิดเรื่องนี้ได้อย่างไร การจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวก็ไม่มีขึ้นเว็บไซต์สำนักงานเลขานายกฯ ท้าให้เปิดเลย
“ท่านไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธเป็นอย่างอื่น ในเว็บสำนักงานเลขานายกฯไม่มีแน่นอน ในเว็บกรมบัญชีกลางไม่มี เพราะจัดจ้างพิเศษ และเป็นผลตอบแทนทางการเมืองแบบพิเศษ”
“จุฤทธิ์” สรุปว่าโครงการดังกล่าวผิดกฎหมายทั้งหมด 4 เรื่อง
1.ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 เพราะโครงการดังกล่าว เข้าข่ายการจัดจ้างที่ไม่ใช่งานก่อสร้างทุกประการ
2.ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เนื่องจากในฐานะเป็นผู้ออกคำสั่งแล้วไม่ทำตามกฎหมาย
3.ผิดต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากแถลงไว้ว่าจะขจัดคอร์รัปชั่นแต่มาทำเสียเอง
4.ผิดมติ ครม. เนื่องจากนายกฯ นั่งเป็นประธานเอง และบอกให้คนทั้งประเทศทำ แต่ตัวเองไม่ทำ
3.เรื่องพฤติกรรมผิดปกติ
“จุฤทธิ์” ระบุว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ยังไม่ผ่านวุฒิสภา และยังไม่รู้จะผ่านหรือไม่ แต่นายกฯ กลับใช้อำนาจในการอนุมัติงบประมาณประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแล้ว ถามว่าถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่าน จะรับผิดชอบอย่างไรกับเงิน 240 ล้านบาทที่เสียไปแล้ว
“ประเด็นสำคัญคือ อยากทำความเข้าใจกับคนทั้งประเทศว่า ไม่ได้มาคัดค้านความเจริญ ผมไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการทำถนน 4 เลน แต่การพัฒนาดังกล่าวจะต้องการเงินกู้ดังกล่าว จะต้องเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา มิใช่มีความไม่ปกติตั้งแต่การออก พ.ร.บ.”
ระหว่างอภิปรายอยู่นั้น “จุฤทธิ์” ได้เปิดคลิปวีดีโอขณะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 โดยระหว่างนับองค์ประชุมเพื่อลงมติ ปรากฏเห็นชายคนหนึ่งเก็บบัตรละคะแนนไว้ในลิ้นชัก เพื่อเตรียมลงคะแนนแทนสมาชิกคนอื่น
“จุฤทธิ์” ระบุว่า กรณีดังกล่าวได้ร้องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ผ่านเนื่องจากเกิดการตรากฎหมายที่ไม่ชอบ แล้วนายกฯ จะรับผิดชอบอย่างไรต่อเงิน 240 ล้านบาทที่เสียไปแล้ว
“ถามนายกฯ ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญขบวนการตรามิชอบ นายกฯ จะไม่รับอำนาจศาลอีกรึเปล่า จะฝืนประกาศใช้หรือเปล่า จะนำไปทูลเกล้าหรือเปล่า นายกฯ จะต้องแสดงความรับผิดชอบ และตอบคำถามเพราะไม่มีท่านใดตอบแทนท่านได้”
ทั้งนี้น่าสนใจว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญจริง
รัฐบาลจะรับผิดชอบกับงบประมาณที่เสียอย่างไร และ “ยิ่งลักษณ์” จะตอบคำถามประชาชนได้อย่างไร ?
น่าติดตาม !
ภาพประกอบจากthainews