- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- EXCLUSIVE: เปิดคำชี้แจง บ.ผลิตกำไล EM เช่า74 ล. ไฉนถอดออกได้-ของจีนใช่หรือไม่?
EXCLUSIVE: เปิดคำชี้แจง บ.ผลิตกำไล EM เช่า74 ล. ไฉนถอดออกได้-ของจีนใช่หรือไม่?
"...จริงๆแล้วอุปกรณ์ที่ทางบริษัทฯ ได้ส่งมอบให้กับทางกรมคุมประพฤตินั้นสามารถใส่ได้ทั้งข้อมือและข้อเท้า ซึ่งจากการทดสอบก็เห็นแล้วว่าการดึงออกจากข้อเท้าเป็นเรื่องที่ยากมาก พอดึงเสร็จก็ขาดเลย ซึ่งเท่าที่ได้ยินมาตอนที่หารือกับกรมคุมประพฤติ ในเบื้องต้นกรมคุมประพฤติจะเปลี่ยนวิธีการใส่กำไล EM ก่อน โดยจะให้ไปใส่ที่ข้อเท้าทั้งหมดแทน แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอข้อสรุปที่เป็นทางการของทางคณะกรรมการตรวจสอบที่ทางกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งขึ้นอีกครั้งก่อนจะว่าทำกันอย่างไรต่อไป..."
สืบเนื่องจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้จัดให้มีการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานกำไลคุมประพฤติ หรือ EM (Electronic Monitoring) ที่กรมคุมประพฤติ ทำสัญญาเช่าต่อมาจาก บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่า 74,470,000 บาท จำนวน 4,000 เครื่อง ระยะเวลาเช่า 21 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ถึงเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งพบว่า สามารถถอดออกได้ พร้อมสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อทำความชัดเจนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ภายใน 2 สัปดาห์ (อ่านประกอบ : 'สมศักดิ์' ตั้งกก.สอบกำไลEM ถอดออกได้ แจงยังไม่ผิดTOR เหตุมีให้เลือกว่าใส่ข้อมือหรือเท้า)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูล กำไลคุมประพฤติ หรือ EM ที่กรมคุมประพฤติเช่ามาใช้งานในปัจจุบัน พบว่ามี ยี่ห้อ Xentrack บริษัท นิปปอน ไซซิทส์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการผลิต ส่วนบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่าย (อ่านประกอบ : พบแล้ว บ.ผลิตกำไล EM เช่า 74 ล.ตัวจริง-ก่อน 'สมศักดิ์' จัดพิสูจน์เห็นเต็มตาถอดออกได้)
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังบริษัท นิปปอน ไซซิทส์ฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้งาน กำไลคุมประพฤติ หรือ EM เพิ่มเติม
โดย นายธรรมนูญ เวชวิทยาขลัง หนึ่งในผู้ถือหุ้นและเป็นผู้ที่ดูแลด้านเทคนิคและการผลิตของบริษัทฯ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า ทางบริษัทนิปปอนฯ ทราบข่าวผลการทดสอบแล้ว และได้มีการหารือกับทางกรมคุมประพฤติไปเบื้องต้นแล้ว และคงจะต้องหารือกับทางบริษัทสุพรีมฯ อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามขอเรียนว่า ในช่วงที่มีการดึงกำไล EM ออก ระหว่างการทดสอบที่ปรากฎเป็นข่าว ระบบมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ของกรมคุมประพฤติทันที
เมื่อถามต่อว่า กรณีดังกล่าวอาจจะมีความผิดพลาดหรือไม่ เพราะกำไลอาจถูกออกแบบให้ใส่ไว้กับเท้า แต่ปรากฏว่าทางกรมคุมประพฤติกลับนำไปใส่ที่ข้อมือแทน
นายธรรมนูญกล่าวว่า "จริงๆแล้วอุปกรณ์ที่ทางบริษัทได้ส่งมอบให้กับทางกรมคุมประพฤตินั้นสามารถใส่ได้ทั้งข้อมือและข้อเท้า ซึ่งจากการทดสอบก็เห็นแล้วว่าการดึงออกจากข้อเท้าเป็นเรื่องที่ยากมาก พอดึงเสร็จก็ขาดเลย ซึ่งเท่าที่ได้ยินมาตอนที่หารือกับกรมคุมประพฤติ ในเบื้องต้นกรมคุมประพฤติจะเปลี่ยนวิธีการใส่กำไล EM ก่อน โดยจะให้ไปใส่ที่ข้อเท้าทั้งหมดแทน แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอข้อสรุปที่เป็นทางการของทางคณะกรรมการตรวจสอบที่ทางกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งขึ้นอีกครั้งก่อนจะว่าทำกันอย่างไรต่อไป"
เมื่อถามต่อ ถึงเทคโนโลยีกำไล EM ของบริษัทว่า มาจากที่ไหนกันแน่ เพราะมีบางข้อมูลระบุว่ากำไลข้อมือนั้นเป็นกำไลจากประเทศจีน
นายธรรมนูญกล่าวว่า "ตัววัตถุส่วนประกอบต่างๆนั้นมีการสั่งทำจากโรงงานในประเทศจีนจริง แต่กระบวนการวิจัยและพัฒนา องค์ความรู้ต่างๆ รวมไปถึงการประกอบจนได้กำไล EM นั้นเป็นสิ่งที่ทำในประเทศไทย และกำไลตัวนี้ก็ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทนิปปอนฯด้วย"
เมื่อถามต่อไปว่า เกี่ยวกับผลการทดสอบที่ปรากฏออกมา บริษัทฯ จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้างหรือไม่
นายธรรมนูญกล่าวว่า “ทางด้านของฝ่ายวิจัยและพัฒนานั้นได้มีการเปลี่ยนสายให้เป็นไฟเบอร์ออปติก ซึ่งมันจะมีความทนทาน มีความยืดหยุ่นจนไม่ระคายเคืองกับผู้ใส่เกินไป แต่ความยืดหยุ่นนี้จะไม่เท่ากับยาง เพราะถ้าหากมีการดึงที่มากเกินไป ตัวแท่งแก้วที่อยู่ในไฟเบอร์จะหัก ดังนั้นความแม่นยำในการตรวจสอบรวมไปถึงการตรวจข้อมูลว่ามีการถอดออกโดยผู้สวมใส่นั้น กำไลที่ทำจากไฟเบอร์ออปติกก็จะมีความแม่นยำมากกว่าที่เป็นรุ่นที่ทำจากยาง”
นายธรรมนูญกล่าวต่อว่า "กำไลทำจากไฟเบอร์ออปติกนั้นมีการผลิตตัวต้นแบบและทำการทดสอบเรียบร้อยแล้ว และจะเป็นสินค้ารุ่นต่อไปของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะเปลี่ยนสินค้าเป็นกำไลรุ่นนี้ทั้งหมดคงต้องดูในประเด็นเรื่องสัญญาการค้าที่ทางบริษัทสุพรีมฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ทำสัญญาทางการค้ากับกรมคุมประพฤติไว้ด้วย โดยเมื่อดูจากงบประมาณที่ทำไว้ในขณะนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนกำไล EM ที่ใช้อยู่ทั้งหมดเป็นรุ่นใหม่ที่ว่ามานี้"
“ยกตัวอย่าง ถ้าทางกรมฯ จะมีแนวทางเปลี่ยนให้ไปใช้กับข้อขาทั้งหมดแล้วมันจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ หรือว่าทางกรมคุมประพฤติจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าจะให้บริษัทคู่ค้านั้นเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือไม่ ตรงนี้ผมก็ตอบแทนเขาไม่ได้” นายธรรมนูญระบุ
เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทนิปปอนฯกับบริษัทสุพรีมฯว่าเป็นอย่างไร มีลักษณะเป็นกิจการร่วมค้ากันหรือไม่
นายธรรมนูญกล่าวยืนยันว่า ทางบริษัทสุพรีมฯนั้นเป็นบริษัทที่มาซื้อของกับทางบริษัทนิปปอนฯเท่านั้น ไม่มีคนของทางบริษัทสุพรีมมาถือหุ้นกับทางบริษัทนิปปอนแต่อย่างใด
"บริษัทสุพรีมฯนั้นเขาเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการค้ากับหน่วยงานต่างๆ เขาก็จะรับหน้าที่ไปขายเพราะมีความสามารถตรงนี้ ส่วนเรื่องการดูแลผลิตภัณฑ์หลังการขายต่างๆ รวมถึงการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์นั้น จะเป็นหน้าที่ของบริษัทสุพรีมฯอีกเช่นกัน ส่วนบริษัทนิปปอนฯนั้นที่ผ่านมาได้ดำเนินการฝึกฝนเจ้าหน้าที่จากทางบริษัทสุพรีมฯให้มีความสามารถในการดูแลผลิตภัณฑ์เท่านั้น"
อนึ่ง สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบข้อมูล นายธรรมนูญ เวชวิทยาขลัง เพิ่มเติมพบว่านายธรรมนูญ ปัจจุบันเป็น เลขาธิการสมาคม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ATCI (อ้างอิงข้อมูลจาก:https://www.aripfan.com/atci-new-president-and-new-team/)
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท นิปปอน ไซซิทส์ จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอไปแล้วว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549 ทุนปัจจุบัน 5,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 10 ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 แยก 10 แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจประกอบกิจการจำหน่ายและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รับจ้างเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ปรากฎชื่อ นางสาว ขวัญตา เลิศพงศ์ไพบูลย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2562 นางสาว ขวัญตา เลิศพงษ์ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่สุด 55% มูลค่า 2,750,000 บาท นางสาว บุญลดา เวชวิทยาขลัง ถืออยู่ 40% นาย ธรรมนูญ เวชวิทยาขลัง ถืออยู่ 5 %
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2561 แจ้งว่า มีรายได้รวม 79,570,719.87 บาท รวมรายจ่าย 78,037,046.99 บาท กำไรสุทธิ 984,952.22 บาท
ข้อมูลในเว็บไซต์ https://xentrack.com/about-nippon-sysit/ ระบุว่า Xentrack เป็น Brand คนไทย ที่ผลิตและพัฒนาอุปกรณ์ IoT ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท นิปปอน ไซซิทส์ จำกัด (Nippon SySits Co.,Ltd) ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ IT มาตั้งแต่ปีปี 2000 โดยให้บริการเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์โดยมุ่งเน้นการดูแลช่วยเหลือธุรกิจ โดยครอบคลุมบริการทั้งซอร์ฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ และเน็ตเวิร์ค เพื่อให้ลูกค้าเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยเจ้าหน้าที่ที่มี ความรู้ความชำนาญกว่า 35 คน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าระดับเล็ก กลาง ใหญ่ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
และพัฒนาต่อยอดมาเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน IoT โดยเฉพาะ โดยผลิต อุปกรณ์ที่ระบบเซ็นเซอร์และพัฒนา IoT ด้วยนวัตกรรม BLE และสัญญาณไร้สายต่างๆ โดยมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำระบบ IoT โดยคนไทยเพื่อก้าวไปยังระดับสากล ด้วยความเข้าใจและความสามารถในการดูแลให้คำปรึกษาจากสถานฑูตมากกว่า 10 สถานฑูตใน ประเทศไทย, บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวมากกว่า 100 บริษัท และองค์กรขนาดใหญ่เช่น Honda, Shering Ploug รวมถึง โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทย และ หน่วยงานราชการต่างๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบประเภทของสินค้าจำหน่าย ที่บริษัทนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ ไม่พบว่ามี กำไลคุมประพฤติ หรือ EM (Electronic Monitoring) รวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
'สมศักดิ์' ตั้งกก.สอบกำไลEM ถอดออกได้ แจงยังไม่ผิดTOR เหตุมีให้เลือกว่าใส่ข้อมือหรือเท้า
พบแล้ว บ.ผลิตกำไล EM เช่า 74 ล.ตัวจริง-ก่อน 'สมศักดิ์' จัดพิสูจน์เห็นเต็มตาถอดออกได้
เสนอต่ำกว่าราคากลาง41ล.! เจาะลึกสัญญากรมคุมประพฤติ เช่ากำไล EM บ.สุพรีมฯ 74.4 ล.
แกะเส้นทางเช่า 'กำไลEM' 74 ล. ก่อน 'สมศักดิ์' สั่งสอบสเปค-เพจดังแฉถอดออกเองได้?
เจาะทีโออาร์เช่ากำไล EM กรมคุมประพฤติ 74 ล. สเปคระบุชัดใส่ข้อมือ/เท้า ถอดออกไม่ได้