เสนอต่ำกว่าราคากลาง41ล.! เจาะลึกสัญญากรมคุมประพฤติ เช่ากำไล EM บ.สุพรีมฯ 74.4 ล.
"...ข้อมูลรายชื่อผู้ยื่นเอกสาร เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2561 ปรากฏรายชื่อเอกชน 3 ราย คือ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (หนึ่งในบริษัทที่สืบราคากลาง) และ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด และผ่านการพิจารณษคุณสมบัติและเทคนิค ทั้ง 3 ราย สรุปข้อมูลการเสนอราคาเบื้องต้น ระบุว่า เสนอราคาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2561 ทั้งสิ้น 3 ราย ใช้หลักเกณฑ์ราคาในการพิจารณา ราคาต่ำสุดที่เสนอคือ 74,470,000 บาท โดยไม่ปรากฏข้อมูลว่า เอกชนแต่ละรายเสนอราคาเท่าไรบ้าง..."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลผลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเช่าอุปกรณ์กำไลคุมประพฤติ หรือ EM (Electronic Monitoring) ของ กรมคุมประพฤติ มานำเสนอให้สาธารณชนได้่รับทราบกันไปแล้ว หลังจากที่นายเอกพล กงภูธร เจ้าหน้าที่ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ช่วยตรวจสอบอุปกรณ์กำไลคุมประพฤติ หรือ EM ของ กรมคุมประพฤติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสหรือไม่ รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าด้วย เนื่องจากมั่นใจว่าสินค้าของบริษัทตนมีคุณภาพดีกว่า
ขณะที่ ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้สั่งการให้รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบแล้ว โดยจะตรวจสอบคุณสมบัติอุปกรณ์ตามที่ประกาศ (TOR) กรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และกรรมการตรวจรับว่ามีการผิดพลาด หรือคุณสมบัติไม่ตรงตามที่บริษัทดังกล่าวร้องเรียนหรือไม่ด้วย
เบื้องต้น พบว่า ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา กรมคุมประพฤติ ทำสัญญาเช่า EM จำนวน 1 สัญญา จาก บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่า 74,470,000 บาท โดยทำสัญญาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 (อ่านประกอบ : แกะเส้นทางเช่า 'กำไลEM' 74 ล. ก่อน 'สมศักดิ์' สั่งสอบสเปค-เพจดังแฉถอดออกเองได้?)
คราวนี้มาดูรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเช่าอุปกรณ์กำไลคุมประพฤติ หรือ EM วงเงิน 74,470,000 บาท ดังกล่าวกันบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า กรมคุมประพฤติ จัดเช่า EM สัญญาดังกล่าว ในชื่อ โครงการประกวดราคาเช่าการเช่าและติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำความผิด ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) (เลขที่โครงการ : 61067257357 เลขที่สัญญา : 61/2561)
- ออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเสนอราคา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561 ระบุว่า กรมคุมประพฤติ มีความประสงค์จะประกวดราคาเช่าการเช่าและติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำความผิด ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลางของงานเช่าในการประกวดราคาครั้งนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 115,560,000 บาท
-ขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) ระบุเกี่ยวกับคุณลักษณะเฉพาะ ระบุว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring : EM) หมายถึง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมติดตัวผู้กระทำผิดตามที่กรมคุมประพฤติหรือกระทรวงยุติธรรมกำหนด และหมายรวมถึงอุปกรณ์เสริมและระบบควบคุมการทำงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้กระทำผิดตามที่กรมคุมประพฤติหรือกระทรวงยุติธรรมกำหนด จำนวน 4,000 เครื่อง ระยะเวลาเช่า 21 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ถึงเดือน ก.ย. 2563
-ประกาศราคากลาง ระบุว่า วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 113,400,000 บาท กำหนดราคากลางเมื่อเดือน มิ.ย. 2561 เป็นเงิน 115,560,000 บาท กำหนดแหล่งที่มาราคากลาง ใช้วิธีสืบราคาจากท้องตลาด ทั้งสิ้น 5 แหล่ง คือ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด Zoom Information System Company Limited บริษัท อโกรสตาร์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เฟิรส์วัน ซิสเต็มส์ จำกัด
-ข้อมูลรายชื่อผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร ปรากฏรายชื่อเอกชน 13 ราย คือ ห้างหุ้นส่วน จำกัด ส.ริยาพันธ์ก่อสร้าง ซื้อเอกสารเมื่อวันที่ 20/06/2561 บริษัท เอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด 20/06/2561 บริษัท ทิวส์เดย์ จำกัด 21/06/2561 บริษัท ก้านขาวคอร์ปอเรชั่น จำกัด 22/06/2561 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท่าพระคอนสตรัคชั่น 22/06/2561 บริษัท แพลท เนรา จำกัด 25/06/2561 บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด 25/06/2561 สิณิฏาการโยธา 26/06/2561 บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด 27/06/2561 ห้างหุ้นส่วน จำกัด สิณารัตน์ก่อสร้าง 28/06/2561 บริษัท แฟคซิลิตี้ แมนเนจเมนท์ จำกัด 02/07/2561 บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 11/07/2561 และ บริษัท เซ็นส์ อินโฟ เทค จำกัด 17/07/2561
-ข้อมูลรายชื่อผู้ยื่นเอกสาร เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2561 ปรากฏรายชื่อเอกชน 3 ราย คือ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (หนึ่งในบริษัทที่สืบราคากลาง) และ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด และผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิค ทั้ง 3 ราย
สรุปข้อมูลการเสนอราคาเบื้องต้น ระบุว่า เสนอราคาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2561 ทั้งสิ้น 3 ราย ใช้หลักเกณฑ์ราคาในการพิจารณา ราคาต่ำสุดที่เสนอคือ 74,470,000 บาท โดยไม่ปรากฏข้อมูลว่า เอกชนแต่ละรายเสนอราคาเท่าไรบ้าง
ข้อสังเกต ราคาต่ำสุดที่เสนอ ต่ำกว่าราคากลาง 41,090,000 บาท
-ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 ระบุว่า ผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคา ได้แก่ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด โดยเสนอราคาต่ำสุด เป็นเงินทั้งสิ้น 74,470,000 บาท
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2536 ทุนปัจจุบัน 110 ล้านบาท สถานะยังดำเนินกิจการอยู่
สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 2/1 ซอยประดิษฐ์มนูธรรม 5 ถนนประดิษฐ์มนูธรรม แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ
แจ้งประกอบกิจการ จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วง อะไหล่คอมพิวเตอร์ บริการติดตั้ง บริการหลังการขาย ซ่อมบำรุงสินค้าจากการขายสินค้า
ปรากฏรายชื่อ นายภาณุวัฒน์ ขันธโมลีกุล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข้อมูลเชิงลึกไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รายงานผลการดำเนินงานนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้กระทำความผิดต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นทางการ
ระบุว่า กรมคุมประพฤติ ได้ทำสัญญาเช่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว จำนวน 4,000 เครื่อง พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำผิด กับ บริษัทสุพรีมดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 61/2561 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2561 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 74,470,000 บาท เป็นระยะเวลา 21 เดือน (มกราคม 2562 -กันยายน 2563
โดยบริษัทสุพรีมดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ส่งมอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำผิด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุการเช่าและติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิสติดตามตัวพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำผิด ได้ดำเนินการตรวจรับระหว่างวันที่ 7-14 ธันวาคม 2561 ซึ่งผลการตรวจรับปรากฏว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวและระบบที่เกี่ยวข้อง ถูกต้องครบถ้วนตรงตามขอบเขตของงาน (TOR) ทุกประการ
สำหรับผลการดำเนินงาน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึง 15 มกราคม 2562 มีผู้ถูกคุมความประพฤติติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวตามคำสั่งศาลแล้ว รวมจำนวนทั้งสิน 166 ราย ได้แก่ผู้ถูกคุมควมประพฤติที่กระทำผิดในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกจำนวน 156 ราย ฐานความผิดขับรถประมาทจำนวน 2 ราย ฐานความผิดกระทำความรุนแรง ในครอบครัว บุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธจำนวน 1 ราย ฐานความผิดยาเสพติดจำนวน 1 ราย และฐานความผิดบุกรุก จำนวน 6 ราย โดยระยะเวลาที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่เป็นระยะเวลา 15 วัน มีผู้ถูกคุมความประพฤติครบกำหนดถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 47 ราย และมีผู้ถูกคุมความประพฤติที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว จำนวน 1 ราย เนื่องจากการประกอบอาชีพเป็นช่างช่อมเครื่องประจำเครื่องบิน ซึ่งมีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากการติดตามประเมินผลเบื้องต้นพบว่าผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นมีความเคารพกฎระเบียบระมัดระวังตนเอง มีระเบียบวินัยตระหนักถึงความปลอดภัยมากขึ้นและไม่กล้าทำผิดอีก
สรุปผลโดยภาพรวมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวจะช่วยเสริมประสิทธิภาพงานคุมประพฤติ เป็นหลักประกันความปลอดภัยของชุมชนและส่งสริมคนดีให้กลับสู่สังคม
ขณะที่ แอดมิน เพจ 'บิ๊กเกรียน' ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ทางเพจฯ เคยติดตามตรวจสอบข้อมูลประสิทธิภาพกำไลคุมประพฤติ หรือ EM จากผู้ถูกควบคุมความประพฤติบางราย พบว่า มีปัญหาในหลายประเด็น คือ พื้นที่ในต่างจังหวัดบางจุดเป็นพื้นที่อับสัญญาณ ทำให้กำไลคุมประพฤติ ไม่สามารถใช้งานหรือส่งข้อมูลแจ้งตำแหน่งต่อกรมได้ ขณะที่กำไลคุมประพฤติบางเครื่องมีปัญหาเครื่องรวนสั่นค้าง แต่ข้อมูลที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ถูกควบคุมความประพฤติ บางรายสามารถที่จะถอดกำไลออกได้ด้วยตนเอง
"เราติดตามนำเสนอข่าวเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ มีผลกระทบทั้งต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ และอาจทำให้โครงการนี้ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องการควบคุมความประพฤติของผู้ถูกควบคุมได้จริง แต่ทางกรมคุมประพฤติก็ยังไม่ได้มีการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นทางการแต่อย่างใด " แอดมิน เพจ 'บิ๊กเกรียน' ระบุ
ส่วน นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ให้สัมภาษณ์ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า เตรียมรายงานภาพรวมปัญหาการใช้งานของระบบกำไลอีเอ็ม ภายหลังมีคลิปเผยแพร่กันในโซเซียลมีเดียว่ากำไลอีเอ็มสามารถถอดออกได้โดยไม่มีสัญญาณแจ้งเตือน (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จากhttps://news.thaipbs.or.th/content/282467)
ในท้ายที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอฟังผลการตรวจสอบจากทางกระทรวงยุติธรรมกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
แกะเส้นทางเช่า 'กำไลEM' 74 ล. ก่อน 'สมศักดิ์' สั่งสอบสเปค-เพจดังแฉถอดออกเองได้?
ภาพ EM จาก : แนวหน้า