เจาะทีโออาร์เช่ากำไล EM กรมคุมประพฤติ 74 ล. สเปคระบุชัดใส่ข้อมือ/เท้า ถอดออกไม่ได้
"...อุปกรณ์เสริมและระบบควบคุมการทำงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้กระทำผิดตามที่กรมคุมประพฤติหรือกระทรวงยุติธรรมกำหนด จำนวน 4,000 เครื่อง ที่มีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างน้อย ดังนี้ 1) เป็นระบบ GPS และระบบ RF แบบชิ้นเดียว น้ำหนักรวมไม่เกิน 250 กรัม และต้องได้การรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลตว่า เมื่อสวมใส่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่โดยง่าย (Hypo-allergenic) 2) มีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ RF ได้แก่ Home Unit หรือ Beacon Unit หรือ Wi-Fi Router หรือ Pocket Wi-Fi สำหรับติดตั้งภายในบ้านพักของผู้กระทำผิด 3) สามารถเลือกใช้สวมใส่ข้อมือหรือข้อเท้าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ สวมใส่สะดวก และไม่สามารถถอดออกได้ จะต้องใช้การตัดสายรัดหรืออุปกรณ์ในการถอดเท่านั้น...
"ผมได้มีการหารือกับส่วนราชการ เรื่องการลดจำนวนนักโทษไม่เด็ดขาดในเรือนจำ หากสามารถใช้กำไร EM ได้ จะสามารถผ่อนคลายความหนาแน่นในเรือนจำ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ส่วนปัญหาของเก่าที่กำลังทดลองใช้ ที่มีการร้องเรียนถึงมาตราฐานและปัญหาในวันที่ 9 ส.ค. เวลา 11.00 น. ที่กรมคุมประพฤติ จะพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง ว่าสามารถถอดได้ตามที่มีการร้องเรียนอย่างไร สัญญาณติดตามมีปัญหาจริงหรือไม่ จะแก้ไขยังไง อุปกรณ์จะเดินต่อไปข้างหน้าได้หรือไม่ จะพิสูจน์ให้ชัดเจน ดังนั้นหากใครสงสัย ขอให้ตามไปดูที่ได้กรมคุมประพฤติในวันและเวลาดังกล่าว"
คือ คำยืนยันของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อกรณีโครงการเช่าอุปกรณ์กำไลคุมประพฤติ หรือ EM (Electronic Monitoring) ของ กรมคุมประพฤติ ภายหลังจากที่ นายเอกพล กงภูธร เจ้าหน้าที่ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ให้ช่วยตรวจสอบอุปกรณ์กำไลคุมประพฤติ หรือ EM ของ กรมคุมประพฤติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสหรือไม่ รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าด้วย เนื่องจากมั่นใจว่าสินค้าของบริษัทตนมีคุณภาพดีกว่า
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 กรมคุมประพฤติ ได้ทำสัญญาเช่า EM จาก บริษัท พรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่า 74,470,000 บาท โดยขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) ระบุจำนวนเช่า 4,000 ชุด ระยะเวลา 21 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ถึงเดือน ก.ย. 2563 เบื้องต้นมีผู้เสนอราคา 3 ราย คือ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่า เอกชนแต่ละรายเสนอราคาเท่าไรบ้าง (อ่านประกอบ : แกะเส้นทางเช่า 'กำไลEM' 74 ล. ก่อน 'สมศักดิ์' สั่งสอบสเปค-เพจดังแฉถอดออกเองได้? , เสนอต่ำกว่าราคากลาง41ล.! เจาะลึกสัญญากรมคุมประพฤติ เช่ากำไล EM บ.สุพรีมฯ 74.4 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายละเอียดขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) โครงการเช่าอุปกรณ์กำไลคุมประพฤติ หรือ EM พบข้อมูลดังนี้
ความเป็นมา ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้มาตรการเลี่ยงโทษจำคุก รวมถึงมาตรการลงโทษระดับกลาง เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งสำหรับศาล หรือผู้มีอำนาจในการพิจารณากำหนดโทษอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาปัญหา "คนล้นคุก"
คุณลักษณะเฉพาะ ระบุว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring : EM) หมายถึง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมติดตัวผู้กระทำผิดตามที่กรมคุมประพฤติหรือกระทรวงยุติธรรมกำหนด และหมายรวมถึงอุปกรณ์เสริมและระบบควบคุมการทำงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้กระทำผิดตามที่กรมคุมประพฤติหรือกระทรวงยุติธรรมกำหนด จำนวน 4,000 เครื่อง ที่มีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างน้อย ดังนี้
1) เป็นระบบ GPS และระบบ RF แบบชิ้นเดียว น้ำหนักรวมไม่เกิน 250 กรัม และต้องได้การรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลตว่า เมื่อสวมใส่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่โดยง่าย (Hypo-allergenic)
2) มีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ RF ได้แก่ Home Unit หรือ Beacon Unit หรือ Wi-Fi Router หรือ Pocket Wi-Fi สำหรับติดตั้งภายในบ้านพักของผู้กระทำผิด
3) สามารถเลือกใช้สวมใส่ข้อมือหรือข้อเท้าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ สวมใส่สะดวก และไม่สามารถถอดออกได้ จะต้องใช้การตัดสายรัดหรืออุปกรณ์ในการถอดเท่านั้น
4) สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้กระทำผิดตามที่กราคุมประพฤติหรือกระทรวงยุติธรรมกำหนดได้ โดยใช้เทคโนโลยี GPS กรณีอยู่ภายนอกอาคาร และ RF กรณีอยู่ในบ้านพักของผู้กระทำผิด และมีหน่วยความจำสามารถบันทึก เก็บข้อมูลตำแหน่งได้ แม้ว่าอยู่ในที่อับสัญญาณ
5) รองรับการรับส่งข้อมูลครอบคลุมทั่วประเทศไทยโดยใช้เครือข่ายสื่อสารข้อมูล ณ ปัจจุบันของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 เครือข่าย
6) รองรับการเข้ารหัสในการรับส่งข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงและเป็นมาตรฐานสากล เช่น AES 128 หรือดีกว่า
7) มีระบบแจ้งเตือนสถานะของแบตเตอรี่และระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์ แบตเตอรี่เหลือน้อยกว่า 20% ออกนอกพื้นที่ที่กำหนด เข้าในเขตพื้นที่ที่กำหนด เข้าใกล้เขตพื้นที่ที่กำหนด อุปกรณ์ติดตามตัวถูกทำลายหรือเสียหายหรือกระทำอันเป็นการรบกวนการทำงานปกติ สายรัดถูกตัด เมื่อไม่มีสัญญาณ GPS เมื่อไม่มีสัญญาณ RF เมื่อไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เคลื่อนที่ออกนอกเส้นทางที่กำหนด และเคลื่อนที่เกินความเร็วที่กำหนด
8) แบตเตอรี่ต้องใช้งานได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 24 ชม. เมื่อมีการส่งข้อมูลพิกัดทุก 2 นาที
9) ระยะเวลาชาร์จแบตเตอรี่ นับตั้งแต่มีการเตือนแบตเตอรี่อ่อนจนแบตเตอรี่เต็มต้องไม่เกิน 2 ชม.
10) ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ IP-68 เป็นอย่างน้อย พร้อมเอกสารรับรอง
11) ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลิตว่า มีระบบป้องกันการสั่นสะเทือนและกระทบกระแทกจากการใช้ชีวิตประจำวันปกติ พร้อมเอกสารรับรอง
12) ต้องมีแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 5,000 มิลลิแอมป์ 1 หน่วยต่อเครื่องติดตามตัว 1 เครื่อง
13) อุปกรณ์เครื่องติดตาม เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ แบตเตอรี่สำรอง และอุปกรณ์เสริม (ถ้ามี) ต้องสามารถใช้กับระบบไฟฟ้ามาตรฐานของประเทศไทยได้
14) อุปกรณ์เครื่องติดตาม เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ แบตเตอรี่สำรอง และอุปกรณ์เสริม (ถ้ามี) ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน FCC หรือ CE หรือ UL เป็นอย่างน้อย พร้อมเอกสารรับรอง
15) ผู้เสนอราคาต้องแสดงเอกสารรายการอุปกรณ์เสริม (ถ้ามี) ในวันยื่นข้อเสนอ
16) ผู้เสนอราคาต้องมีเอกสารรับรองการเป็นผู้ผลิต หรือหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว จากผู้ผลิต โดยระบุ รุ่น ยี่ห้อ อย่างชัดเจน
ส่วนระบบความคุมการทำงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Sorftware Management) ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อยดังนี้
1) มีระบบแจ้งเตือนแบบ Real-time เมื่อ แบตเตอรี่เหลือน้อยกว่า 20% ออกนอกพื้นที่ที่กำหนด เข้าในเขตพื้นที่ที่กำหนด เข้าใกล้เขตพื้นที่ที่กำหนด อุปกรณ์ติดตามตัวถูกทำลายหรือเสียหายหรือกระทำอันเป็นการรบกวนการทำงานปกติ สายรัดถูกตัด เมื่อไม่มีสัญญาณ GPS เมื่อไม่มีสัญญาณ RF เมื่อไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เคลื่อนที่ออกนอกเส้นทางที่กำหนด และเคลื่อนที่เกินความเร็วที่กำหนด
2) สามารถกำหนดเขตบริเวณ พื้นที่ห้ามเข้า พื้นที่ห้ามออก พื้นที่ควบคุม เส้นทาง ความเร็ว และช่วงเวลาที่ควบคุมได้
3) สามารถติดตามและเก็บประวัติการเคลื่อนที่ (Tracking) ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวสำหรับสวมติดตัวผู้กระทำผิดได้ โดยไม่จำกัดระยะทาง
4) สามารถแจ้งเตือน (Notification) ผ่าน 3 ช่องทาง คือ Web SMS และ E-mail ได้เป็นอย่างน้อย พร้อมทั้งสามารถกำหนดเงื่อนไขการแจ้งเตือนเป็นรายบุคคล รายกลุ่ม รายอุปกรณ์ ประเภทการแจ้งเตือน และตามช่วงเวลา
5) สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ ตั้งแต่วันที่เริ่มติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว สำหรับสวมติดตัวผู้กระทำผิดจนถึงวันถอด และสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ตลอดเวลา
6) สามารถกำหนดสิทธิการเข้าใช้งานในระบบและการเข้าถึงข้อมูลเป็นรายบุคคล รายกลุ่ม และรายอุปกรณ์ได้
7) มีการจัดเก็บข้อมูลประวัติการใช้งานระบบ (Activity Log) เพื่อตรวจสอบประวัติการใช้งานย้อนหลังของผู้ใช้แต่ละราย
8) หน้าจอโปรแกรมการใช้งาน การบันทึกข้อมูล และรายงานต้องรองรับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
9) ต้องจัดให้มีระบบรองรับการนำเข้าข้อมูล เพื่อใช้งานระบบและสามารถประยุกต์ใช้งานข้อมูลนั้นได้ ดังนี้ ลำดับที่ ชื่อสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อผู้สั่งใช้ (เช่น ศาล) คดีหมายเลขดำ/แดง ฐานความผิด เงื่อนไขตามคำสั่งของผู้สั่งใช้ ชื่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เลขทะเบียนคดี รหัสประจำเครื่องอุปกรณ์ วันเดือนปีที่สวม/ถอด ที่อยู่ปัจจุบัน และข้อมูลอื่นเพิ่มเติม
10) สามารถออกรายงานสถิติ ผลการดำเนินการในรูปแบบรายงานผลภาพรวม ผลรายบุคคล และรายงานผลการแจ้งเตือน
11) สามารถนำเข้าข้อมูลและใช้งานระบบจากเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านระบบ Web Browser ที่มีการรักษาความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูลแบบ SSL เป็นอย่างน้อย
12) มีแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถทำงานร่วมกับข้อมูลได้ทุกสถานที่
13) ต้องสำรองข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และระบบควบคุม เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน โดยจัดเก็บในสื่ออิเล็กทรอนิกส์และต้องส่งมอบให้กรมคุมประพฤติ ตามระยะเวลาและรูปแบบที่กำหนด พร้อมทั้งจัดหาโปรแกรมในการเข้าถึง อ่าน และจัดการข้อมูลดังกล่าว
ระยะเวลาการดำเนินการ ระบุว่า เริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันลงนามสัญญา ต้องส่งมอบให้เรียบร้อยครบถ้วน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยมีระยะเวลาเช่าเป็นจำนวน 21 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ถึงเดือน ก.ย. 2563
ขณะที่ การเบิกจ่าย ระบุว่า การเบิกจ่ายค่าเช่า 21 เดือน แบ่งจ่ายเป็น 8 งวด ดังนี้
งวดที่ 1 ภายหลังการส่งมอุปกรณ์และระบบงาน และใช้งานมาแล้ว 1 เดือน พร้อมทั้งสรุปรายงานประจำเดือนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ส่งมอบกรมคุมประพฤติ เป็นจำนวนร้อยละ 20 ของราคาตามสัญญา
งวดที่ 2 ภายหลังการใช้งานแล้ว 4 เดือน เป็นจำนวนเงินร้อยละ 10 ของราคาสัญญา
งวดที่ 3 ภายหลังการใช้งานแล้ว 7 เดือน เป็นจำนวนเงินร้อยละ 10 ของราคาสัญญา
งวดที่ 4 ภายหลังการใช้งานแล้ว 10 เดือน เป็นจำนวนเงินร้อยละ 10 ของราคาสัญญา
งวดที่ 5 ภายหลังการใช้งานแล้ว 13 เดือน เป็นจำนวนเงินร้อยละ 10 ของราคาสัญญา
งวดที่ 6 ภายหลังการใช้งานแล้ว 16 เดือน เป็นจำนวนเงินร้อยละ 10 ของราคาสัญญา
งวดที่ 7 ภายหลังการใช้งานแล้ว 19 เดือน เป็นจำนวนเงินร้อยละ 10 ของราคาสัญญา
งวดที่ 8 ภายหลังการใช้งานแล้ว 21 เดือน เป็นจำนวนเงินร้อยละ 20 ของราคาสัญญา และในงวดสุดท้ายจะต้องสรุปรายงานรวมทั้งส่งมอบข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์และระบบควมคุม และระบบอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ตามสัญญา
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) โครงการเช่าอุปกรณ์กำไลคุมประพฤติ หรือ EM ของกรมคุมประพฤติ ที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบ
ส่วนการใช้งานจริงของเครื่องจะมีปัญหาตามที่ถูกร้องเรียน ในหลายประเด็น ทั้งปัญหาจุดอับสัญญาณ บางเครื่องมีปัญหาเครื่องรวนสั่นค้าง แต่ที่สำคัญที่สุด ผู้ถูกควบคุมความประพฤติ บางรายสามารถถอดออกได้ด้วยตนเอง
หลังการทดสอบในวันที่ 9 ส.ค. นี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เสนอต่ำกว่าราคากลาง41ล.! เจาะลึกสัญญากรมคุมประพฤติ เช่ากำไล EM บ.สุพรีมฯ 74.4 ล.
แกะเส้นทางเช่า 'กำไลEM' 74 ล. ก่อน 'สมศักดิ์' สั่งสอบสเปค-เพจดังแฉถอดออกเองได้?
ภาพ EM จาก : แนวหน้า