หมาป่าตัวเดียวแต่ไม่เดียวดาย!
พลันที่ ผบ.ทบ.สั่งศึกษาปฏิบัติการที่เรียกว่า lone wolf หลังจากเกิดเหตุมือปืนคนเดียวกราดยิงในที่สาธารณะบ่อยครั้งในช่วงหลัง ทำให้เกิดกระแสขานรับในแง่ของความตื่นตัวของกองทัพมากพอสมควร
แม้หลายคนที่ติดตามเรื่องแบบนี้มาอย่างต่อเนื่องจะวิจารณ์เชิงตั้งคำถามเบาๆ ว่า "ช้าไปไหม?" หรือ "เพิ่งตื่นหรือเปล่า?" ก็ตาม
แต่แน่นอนว่า เมื่อการมาช้ายังดีกว่าไม่มาฉันใด การศึกษาองค์ความรู้ให้แน่นหนาเพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดนโยบายอย่างถูกต้อง จึงไม่มีคำว่า "สายเกินไป" ฉันนั้น
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การศึกษาองค์ความรู้จำเป็นต้องทำอย่างถูกต้อง และถูกทิศถูกทางด้วย เริ่มตั้งแต่นิยามความหมายของ lone wolf ซึ่งนายทหารระดับสูงบางคนที่ให้สัมภาษณ์ยังใช้คำแปลว่า "หมาป่าเดียวดาย"
ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เขียนบทความเกี่ยวกับ lone wolf เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในแง่คำแปล ความหมาย และการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจริง
---------------------------
ในทุกศาสตร์มีคำบางคำที่มีลักษณะเป็น "คำทางเทคนิค" (technical terms) ที่ใช้ในสาขานั้นๆ และในบางกรณีอาจจะเป็นคำที่รับรู้กันในเชิงความหมายเฉพาะในสาขาดังกล่าว ซึ่งคำเหล่านี้ในหลายส่วนมีต้นทางมาจากคำที่เป็นภาษาอังกฤษ แล้วจึงนำมาแปลเป็นภาษาท้องถิ่น
ความมั่นคงศึกษา (Security Studies) เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่มีคำในลักษณะเช่นนี้อยู่หลายคำ และเป็นคำที่มีความหมายเฉพาะในสาขา เช่น คำว่า "bomber" ในสาขายุทธศาสตร์ศึกษา (Strategic Studies) มีความหมายถึง "เครื่องบินทิ้งระเบิด" แต่เมื่อถูกนำมาใช้ในบริบทของการก่อการร้ายในยุคปัจจุบัน คำนี้หมายถึงปฏิบัติการแบบ "ระเบิดฆ่าตัวตาย" ( suicide bomb หรือคำแปลเดิมคือ "ระเบิดพลีชีพ") เป็นต้น
ลักษณะเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า การแปลคำในภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยจึงต้องพยายามที่จะคงทั้งความหมายและบริบทของคำในสาขาวิชานั้นๆ และที่สำคัญยังต้องคงความหมายที่แท้จริงที่คำคำนั้นให้ได้ เพื่อสื่อกับผู้รับสารให้เกิดความเข้าใจอย่างที่ผู้ส่งสารต้องการ
หนึ่งในคำที่น่าสนใจในโลกความมั่นคงปัจจุบันได้แก่คำว่า "Lone Wolf" ผู้เขียนแปลว่า "หมาป่าตัวเดียว" หรือใช้ว่า "ปฏิบัติการแบบหมาป่าตัวเดียว" เพื่อชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของความรุนแรงที่เกิดว่าเป็นปฏิบัติการแบบอิสระของผู้ก่อเหตุคนเดียว หรือมีลักษณะเป็น "lone actor"
คำว่า "Lone Wolf" ในกรณีนี้จึงไม่อาจแปลว่า "หมาป่าเดียวดาย" เพราะถ้าใช้คำภาษาไทยเช่นนั้น ภาษาอังกฤษน่าจะเป็น "lonely wolf"
นอกจากนี้การใช้คำว่า "ปฏิบัติการแบบหมาป่าเดียวดาย" นั้น อาจจะต้องยอมรับความเป็นจริงว่าผู้ก่อเหตุในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้มีลักษณะ "เดียวดาย" อันทำให้การแปลเช่นนี้สื่อความหมายที่ผิดไปจากบริบทของการก่อเหตุ และการใช้คำคำนี้ก็ไม่ได้มีนัยในทางจิตวิทยาว่าผู้ก่อเหตุเป็นคน "เดียวดาย" (lonely)
หากแต่การแปลว่า "หมาป่าตัวเดียว" ก็เพื่อคงภาษาเดิม และชี้ให้เห็นถึงการก่อเหตุร้ายที่มาจากปฏิบัติการอิสระของคนคนเดียว ส่วนผู้ก่อเหตุจะมีลักษณะ "เดียวดาย" ในทางจิตวิทยาหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นของคำนี้ [หรืออาจเปรียบได้ว่าบุคคลคนเดียว (a person is alone) กับสภาวะคนโดดเดี่ยวหรือเดียวดาย (a person is lonely”) ไม่ใช่สิ่งเดียวกันและแตกต่างกันในเชิงความหมายอย่างสิ้นเชิง]
สำหรับนักศึกษาในสาขาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติบางส่วนอาจจะไม่ชอบคำว่า "lone wolf" ด้วยความรู้สึกว่าคำนี้ไม่สื่อสารอย่างแท้จริง และอาจจะดูเป็นการยกย่องด้วย แต่ชอบที่จะใช้คำว่า "lone actor" มากกว่า เพราะมองว่าเป็นคำที่น่าจะสื่อสารได้ตรงกว่า กล่าวคือเป็นปฏิบัติการอิสระจากบุคคลเดียว หรือเป็นปฏิบัติการแบบที่พึ่งตนเองเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงในทางปฏิบัติว่าปฏิบัติการแบบหมาป่าตัวเดียวที่คนคนเดียวออกมาก่อเหตุร้ายนั้น จะเป็นจริงเพียงใด เพราะอาจจะมีเครือข่ายบางส่วนให้การสนับสนุน เช่น การจัดหาวัตถุระเบิด เป็นต้น และคนคนเดียวอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด อันทำให้มีคำที่เกิดขึ้นคู่ขนาน เช่น "lone-wolf den" ในความหมายของ "ปฏิบัติการแบบหมาป่าจากถ้ำเดียว" อันมีนัยของการปฏิบัติการแบบอิสระของผู้ก่อเหตุร้ายที่อาจจะมาจากครอบครัวเดียวกัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า การก่อการร้ายในรูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นจากปฏิบัติการอิสระของคนคนเดียว หรือในคำเปรียบเทียบเชิงภาพลักษณ์คือ "หมาป่าตัวเดียว" ส่วนผู้ก่อเหตุรายนี้จะเป็นคนเดียวดาย คือเป็น "หมาป่าเดียวดาย" หรือไม่ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
สุดท้ายนี้คงต้องตระหนักในความเป็นจริงว่า แม้ผู้ก่อเหตุร้ายอาจจะเป็น "หมาป่าตัวเดียว" แต่ก็ไม่เคย "เดียวดาย" เพราะปฎิบัติการก่อการร้ายนั้นมักจะมีผู้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ!
--------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"โฮมโกรว์น – โลนวูล์ฟ" จิ้งจอกเดียวดายกับลัทธิก่อการร้าย...อันตรายทุกพื้นที่ในโลก
ความเสี่ยงของไทยต่อการก่อเหตุร้ายข้ามพรมแดน
"โฮมโกรว์น – โลนวูล์ฟ" จิ้งจอกเดียวดายกับลัทธิก่อการร้าย...อันตรายทุกพื้นที่ในโลก
ถอดรหัสก่อการร้าย"โลนวูล์ฟ-ประวัติขาว" สื่อโซเชียลฯปลดข้อจำกัดรูปแบบโจมตี
เมื่อ "หมาป่าตัวเดียว" กลายเป็นรูปแบบก่อการร้ายเขย่าโลก!
"โลนวูล์ฟ" รับมือได้? 7 มาตรการสู้ก่อการร้าย "ข้ามาคนเดียว"
"โลนวูล์ฟ-ป่วนเมือง" ได้เวลายกเครื่องมาตรการรปภ.