"โลนวูล์ฟ" รับมือได้? 7 มาตรการสู้ก่อการร้าย "ข้ามาคนเดียว"
เหตุการณ์คนร้ายขับรถตู้พุ่งชนผู้คนที่กำลังเดินอยู่บนสะพานลอนดอน ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนลงจากรถไปไล่แทงคนบนทางเท้าและในบาร์ย่านตลาดโบโร เมื่อกลางดึกคืนวันเสาร์ที่ 3 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ตอกย้ำกระแสการโจมตีแบบ "โลนวูลฟ์" หรือการก่อการร้ายเพียงลำพัง
แม้เหตุการณ์ล่าสุดนี้มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุถึง 3 คน แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนผู้ก่อเหตุน้อยกว่าการก่อการร้ายในอดีต
การโจมตีแบบ "โลนวูล์ฟ" เกิดขึ้นหลายครั้งในระยะหลัง โดยเฉพาะช่วงที่กลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส สูญเสียฐานที่มั่นในตะวันออกกลาง และบรรดานักรบพากันเดินทางกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้บ้านไทย
ขณะที่ผู้นำไอเอสประกาศให้บรรดานักรบและเครือข่ายของพวกเขา ปฏิบัติการโจมตีได้โดยอิสระ ซึ่งโดยนัยแล้วก็หมายถึงรูปแบบการโจมตีแบบ "โลนวูล์ฟ" นั่นเอง
ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง เพิ่งเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในแมนเชสเตอร์อารีนา ประเทศอังกฤษ กลางงานคอนเสิร์ตของนักร้องดัง ขณะที่เดือน มี.ค.ปีเดียวกัน เกิดเหตุโจมตีด้วยการขับรถไล่ชนและใช้มีดแทงคนที่สัญจรไปมา บนสะพานเวสต์มินสเตอร์ และอาคารรัฐสภาของอังกฤษ
ปีที่แล้ว เดือน ก.ค. คนร้ายใช้วิธีขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงคนขณะร่วมงานวันชาติฝรั่งเศส ในเมืองนีซ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 86 คน ต่อมาในเดือน ธ.ค.คนร้ายขับรถบรรทุกพุ่งชนเข้าไปในตลาดคริสต์มาสในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จนมีผู้เสียชีวิต 12 คน โดยที่ทุกกรณี กลุ่มไอเอสอ้างความรับผิดชอบ
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง บอกว่า หนึ่งในปัญหาที่ยุ่งยากของงานต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบันก็คือ ผู้ก่อการร้ายไม่ได้มีลักษณะในแบบเดิมอีกต่อไป เพราะผู้ก่อการร้ายเลือกโจมตีในแบบ "ผู้ปฏิบัติการตามลำพัง" ซึ่งหากใช้แบบสำนวนแบบไทยก็คือเป็นพวก "บุกเดี่ยว" หรือ "ข้ามาคนเดียว"
ในภาษาของวิชา "ก่อการร้ายศึกษา" แล้ว บุคคลเช่นนี้ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นดัง "หมาป่าตัวเดียว" ที่ออกล่าเหยื่อ หรือ lone-wolf terrorists
ลักษณะของการโจมตีแบบโลนวูล์ฟ ก็คือ ผู้ก่อการร้ายจะก่อเหตุด้วยตัวเอง โดยโลนวูล์ฟมักไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในเครือข่ายหรือโครงสร้างขององค์กรก่อการร้าย แต่พวกเขาปฏิบัติการเพราะอิทธิพลทางความคิดอจากองค์กรภายนอก ซึ่งใช้วิธีการส่งผ่านข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์
อาจเรียกได้ว่า "โซเชียลมีเดีย" กลายเป็นแหล่ง "จัดตั้ง" ผู้ก่อการร้ายแบบโลนวูล์ฟ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้คนเหล่านี้ไม่อยู่ในบัญชีการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐ
การที่ผู้ก่อการร้ายแบบโลนวูล์ฟ เป็นเสมือนกับ "เซลล์ที่นอนหลับ" หรือ sleeper cells ที่รอเวลาและโอกาสในการออกปฏิบัติการ พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยคำสั่งภายใต้โครงสร้างที่มีสายการบังคับบัญชา ขอเพียงแต่เวลาและโอกาสมาถึงเท่านั้น ทำให้การป้องกันการก่อการร้ายรูปแบบนี้ทำได้ยากอย่างยิ่ง และสร้างความหนักใจให้กับหน่วยงานความมั่นคงทั่วโลก จนหลายคนสรุปแบบรวบรัดว่าไม่สามารถหาทางป้องกันได้เลย...
แต่ล่าสุดก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย พยายามออกแบบมาตรการรับมือ "โลนวูล์ฟ" ซึ่งสามารถสรุปได้ 7 มาตรการ คือ
1.เจ้าหน้าที่ข่าวกรองและฝ่ายความมั่นคงต้องเรียนรู้คนกลุ่มนี้ให้เหมือนกับตนเองเป็น "โลนวูล์ฟ" ทั้งวิธีคิดและการกระทำ เพื่อให้รู้เท่าทันแผนการของโลนวูล์ฟ
2.เจ้าหน้าที่ข่าวกรองต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อป้องกันและจับกุมให้ได้ก่อนที่คนเหล่านี้จะก่อเหตุ ซึ่งหมายถึงการพัฒนางานด้านข่าวกรองให้เท่าทันกับภัยคุกคาม
3.ฝ่ายความมั่นคงต้องมี "เครื่องมือพิเศษ" เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการก่อการร้าย โดยอาจต้องยอมละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของประชาชนบ้าง และพยายามเสริมพลังให้ชุมชนในการช่วยสอดส่องพฤติกรรมของคนในแวดวงของตน
4.ศึกษารูปแบบกลุ่มเสี่ยงของคนที่เป็น "โลนวูล์ฟ" ซึ่งไม่ใช่แค่ศึกษาเฉพาะวิธีปฏิบัติการเท่านั้น แต่ต้องศึกษาเชิงลึกถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้คนเหล่านี้เป็นโลนวูล์ฟ
5.ปฏิบัติการแบบโลนวูล์ฟ หลายกรณีเกิดในสถานศึกษา เช่น โรงเรียนมัธยม และมหาวิทยาลัย ฉะนั้นหน่วยงานรัฐต้องลงไปสร้างสัมพันธ์กับครอบครัวและโรงเรียน เพื่อให้ช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเยาวชนกลุ่มเสี่ยง
6.สกัดการเผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ทางโซเชียลมีเดีย โดยต้องมีระบบมอนิเตอร์ข้อมูลต่างๆ ตลอดเวลา และทำลายเว็บไซต์หรือการส่งผ่านข้อมูลที่เข้าข่ายการปลุกระดมก่อการร้าย
7.ควบคุมอาวุธและวัตถุระเบิดอย่างจริงจัง รวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถใช้ประกอบระเบิดแสวงเครื่องได้
การรับมือกับการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ต้องปฏิรูปและปรับกระบวนทัศน์ผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคงใหม่ทั้งหมด รวมทั้งต้องให้ข้อมูลกับสังคมและชุมชน เพื่อสร้างพลังในการต่อสู้และหยุดยั้งการก่อการร้ายที่พัฒนารูปแบบและวิธีการอยู่ตลอดเวลา!
--------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : ปกรณ์ พึ่งเนตร
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากรายการล่าความจริง สถานีโทรทัศน์ NOW26
หมายเหตุ : บทความเนื้อหาคล้ายๆ กันนี้ นำเสนอในรายการล่าความจริง NOW26 หนังสือพิมพ์คมชัดลึก และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจด้วย
อ่านประกอบ :
"โฮมโกรว์น – โลนวูล์ฟ" จิ้งจอกเดียวดายกับลัทธิก่อการร้าย...อันตรายทุกพื้นที่ในโลก
ถอดรหัสก่อการร้าย"โลนวูล์ฟ-ประวัติขาว" สื่อโซเชียลฯปลดข้อจำกัดรูปแบบโจมตี