ความเสี่ยงของไทยต่อการก่อเหตุร้ายข้ามพรมแดน
จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ผู้การร้ายที่เป็นปัจเจก หรือ Lone wolf มาจากประเด็นที่ถูกเบียดขับออกมาเป็นคนชายขอบในสังคมนั้นเกิดความไม่พอใจและหันไปใช้ความรุนแรง แนะไทยมีนโยบายต่อประเทศมหาอำนาจแบบยืดหยุ่น อย่าเอียงข้างหนึ่งข้างใดมากเกินไป
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์กับเหตุการณ์ระเบิดในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ไล่มาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ที่ไทย กลุ่มติดอาวุธบุดยึดเมืองมาราวี ในฟิลิปปินส์ จนเป็นเหตุให้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และมีทีท่าว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีก จนกระทั่งมาเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายสองครั้งที่กรุงจาการ์ตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ถือได้ว่าแค่นับเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้น พอจะเห็นถึงความระส่ำบางอย่าง
นายจิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรูปแบบการก่อเหตุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ อาศัยความรุนแรงเพื่อแสดงท่าทีทางการเมืองบางอย่างในเชิงสัญลักษณ์ การต่อต้านอำนาจเพื่อเรียกร้องอะไรบ้างอย่าง หากเราเอาหมุดหมายเมื่อปี 2015 เหตุการณ์ในฝรั่งเศส เป็นต้นมา เเนวโน้มการก่อการร้าย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีทั้งในรูปของการอ้างของกลุ่มก่อการร้ายใหญ่ อย่างไอซิส เป็นต้น และอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นความท้าทาย และซับซ้อนของโลกปัจจุบัน คือการก่อการร้ายของกลุ่มที่เป็น ปัจเจกบุคคลที่อาศัยกำลังความรุนแรงในการโจมตี
หากมองปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. วิเคราะห์ว่า มีสองคำอธิบายใหญ่ๆ นั่นคือว่า คนเหล่านี้ได้รับอิทธิพลความคิดจากกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง หรือแม้กระทั่งมีการพูดถึงคนเหล่านี้มาจากตะวันออกกลาง ที่มาโจมตีในเมืองต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าแต่ละเมืองมักเป็นหัวเมืองใหญ่ และเลือกโจมตีตามจุดที่มีผลกระทบค่อนข้างสูง โดยคำอธิบายอีกชุดหนึ่ง นั่นคือ ผู้การร้ายที่เป็นปัจเจก หรือ Lone wolf (โลน วูลฟ์) ทั้งหลาย บางครั้งมาจากประเด็นที่เขาอยู่ในสังคมนั้น แล้วถูกเบียดขับออกมาเป็นคนชายขอบในสังคมนั้น
“ในทางวิชาการ มีการพูดถึงทฤษฎีในทำนองนี้ว่า คนเหล่านั้นที่กลายเป็นคนหัวรุนแรงใหม่ ทั้งๆ ที่เขาเกิดและเติบโตในสังคมยุโรป แต่ถูกผลักออกไปจากสังคม ไม่ได้รับเสรีภาพอย่างเต็มที่ และถูกเหยียดจากคนในสังคม เกิดความไม่พอใจและหันไปใช้ความรุนแรง” นายจิตติภัทร กล่าว และว่า มีแนวโน้มว่าคนเหล่านี้จะเพิ่มสูงมากขึ้นในสังคมตะวันตก ซึ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ ถ้าคนกลุ่มที่หนึ่ง ที่สองเชื่อมกันได้ ก็จะเป็นหายนะครั้งใหม่ของศตวรรษที่ 21
ขณะที่ความเสี่ยงของไทยต่อการก่อเหตุในลักษณะดังกล่าว นายจิตติภัทร มองว่า สิ่งสำคัญคือท่าทีและนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อมหาอำนาจในโลก สมมติเราเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไปเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง มีนโยบายที่ยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง
ส่วนประเด็นที่สอง ความเสี่ยงของกลุ่มคนที่ไม่พอใจในมิติของการเมือง และกลุ่มคนที่เป็นผู้ก่อการร้ายแบบโลนวู๊ลฟ์ที่จะอาศัยความรุนแรงในการตอบโต้รัฐ ในความเสี่ยงต่อมา คือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากท่าทีของรัฐที่ไม่ได้หลอมรวมคนในชาติ อย่างกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนมิติในระดับโลกที่มีการก่อเหตุข้ามพรมแดน และบางครั้งอาจไม่ได้มีเป้าหมายที่ไทยโดยตรงแต่อาจใช้เป็นทางผ่าน ซึ่งก็เพิ่มปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นไปอีก
อ่านประกอบ
ลำดับเหตุการณ์ กลุ่มติดอาวุธ Maute บุกยึดเมืองมาราวี ฟิลิปปินส์
ด่วน! ดูเตอร์เต้ประกาศกฎอัยการศึก60 วัน หลังกลุ่มก่อการร้ายบุกยึดมาราวี
อาเซียนส่อวุ่น ดูเตอร์เต้ กร้าวพร้อมยกระดับความรุนแรงหากกลุ่มติดอาวุธยังขัดขืน