เจาะคำพิพากษา-ย้อนตำนาน 21 ปีคดีอัลไพน์! คุกจริง‘ยงยุทธ’-ศาลไม่รับฎีกา?
“...เมื่อพิเคราะห์อีกว่า ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เมื่อปี 2545 ในช่วงที่จำเลยรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯแล้ว จึงน่าเชื่อว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน หวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง…”
สาธารณชนอาจทราบไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีต รมว.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย คดีทุจริตที่ดินสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์ โดยคดีนี้นายยงยุทธ ยื่นขออนุญาตฎีกา และใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว 9 แสนบาท
อย่างไรก็ดีศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในคดีนี้ ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงเตรียมนำตัวนายยงยุทธ จำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาที่ผลถึงที่สุด ตามศาลอุทธรณ์ที่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 (อ่านประกอบ : ศาลไม่รับฎีกา! ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ’ ติดคุกจริงทันที 2 ปีคดีทุจริตกอล์ฟอัลไพน์)
คดีกอล์ฟอัลไพน์ หากนับตั้งแต่จุดเริ่มต้น (ปี 2542) จนถึงจุดสิ้นสุด (17 ก.พ. 2563) กินระยะเวลายาวนานกว่า 21 ปี จนกระทั่งนายยงยุทธ ถูกศาลอุทธรณ์มีคำสั่งลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลไม่อนุญาตให้ฎีกา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปสาระสำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนี้
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นักการเมืองชื่อดัง อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.มหาดไทย ถูกกล่าวหาว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน มีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมาให้ได้รับประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
@ศาลชั้นต้นสั่งคุก 2 ปี อ้างกฎหมายพิเศษ-โยงคำสั่ง ‘เสนาะ เทียนทอง’
ข้อเท็จจริงคดีนี้ตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (ชั้นต้น) สรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า ก่อนนางเนื่อม ชำนาญศักดา ถึงแก่ความตาย ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลง ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ต่อมาเมื่อนางเนื่อมถึงแก่ความตาย มูลนิธิมหามงกุฎราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ได้โอนที่ดิน 2 แปลง (ทั้งสองแปลงอยู่ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แปลงแรกประมาณ 730 ไร่ มูลค่าขณะนั้นราว 3.9 ล้านบาท อีกแปลง 194 ไร่ มูลค่าขณะนั้นราว 9.3 แสนบาท) ให้กับมูลนิธิมหามงกุฎฯ
มูลนิธิมหามงกุฎฯ ได้ขายที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวให้กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด กับบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ในราคา 142 ล้านบาท และวันเดียวกันบริษัททั้ง 2 แห่ง ได้นำที่ดินทั้ง 2 แปลง ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินกับธนาคารเป็นเงิน 220 ล้านบาท
ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินข้างต้น ตลอดจนรายการจดทะเบียนลำดับต่อ ๆ มาจากรายการข้างต้น เนื่องจากเห็นว่า เป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผู้มีส่วนได้เสียรวม 290 ราย จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่กรมที่ดินยืนยันตามคำสั่งเดิม
ในช่วงที่ผู้เสียหายอุทธรณ์นี้เอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานผู้บังคับบัญชากรมที่ดิน ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้ออุทธรณ์ดังกล่าวขึ้น โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เพิ่งเลื่อนขั้นจากอธิบดีกรมที่ดิน มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ที่ประชุมเพื่อพิจารณาการอุทธรณ์นี้ เสียงแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรก เห็นว่า ที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว เป็นธรณีสงฆ์ ตามการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ขณะที่เสียงข้างมาก รวมถึงนายยงยุทธ เห็นว่า ไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ โดยมีการอ้างตามมาตรา 84 และ 85 รวมถึงการอ้าง ‘กฎหมายพิเศษ’ ที่ยกเว้นจากหลักการที่ดินอื่นในเชิงพาณิชย์
ท้ายที่สุดคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ยกเหตุผลของ นายเสนาะ เทียนทอง รมช.มหาดไทย (ขณะนั้น) ที่อ้างว่า ไม่อนุญาตให้วัดรับโอนที่ดินมรดกเกิน 50 ไร่ มาพิจารณา อย่างไรก็ดีมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบกรณีดังกล่าว เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยเยียวยาแล้ว แต่นายยงยุทธ และที่ประชุมไม่ได้หยิบยกมาพิจารณาแต่อย่างใด
สำหรับข้ออ้างของนายเสนาะนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากพิจารณาคำสั่งของนายเสนาะโดยละเอียด ย่อมพบความไม่ปกติในคำสั่งดังกล่าว และอาจมีการก้าวล่วงการดำเนินการของเจ้าอาวาสวัดด้วย
หลังจากนั้นนายยงยุทธ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯชุดนี้ ต้องส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ทว่าขณะนั้นปลัดกระทรวงมหาดไทยลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ต้องเลือกบุคคลขึ้นมารักษาการ ซึ่ง รมว.มหาดไทย (ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์) ได้เลือกนายยงยุทธ ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ขึ้นมารักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งที่นายยงยุทธมีอาวุโสลำดับที่ 3 จากทั้งหมด 7 ลำดับ ก่อนที่จะส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพื่อเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินดังกล่าวที่เป็นข้อพิพาทนี้ เป็นคำสั่งที่ถูกต้องด้วยกฎหมาย และข้อเท็จจริงแล้ว ประกอบกับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุว่า ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของวัดและธรณีสงฆ์ทันทีที่นางเนื่อมเสียชีวิต แม้ว่าจะไม่มีการโอนชื่อให้เป็นของวัดก็ตาม อีกทั้งยังพบว่า วัดได้ปล่อยเช่าที่ดินที่ได้รับจากนางเนื่อมเพื่อให้เกิดดอกออกผล และยังไปจดทะเบียนแล้วว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์
ขณะที่มติคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างเคร่งครัด อีกทั้งนายยงยุทธ ยังมีโอกาสขอทบทวนการอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้เสียหาย และยังทราบด้วยว่า สามารถให้ทุเลาการบังคับคดีทางปกครองไว้ก่อนได้ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่กลับไม่ทำ
นายยงยุทธต้องใช้ความรู้ความสามารถ พิจารณาอย่างรอบคอบ ระมัดระวังในข้อกฎหมายให้สมกับความรู้ และความสามารถในการดำรงตำแหน่งมาหลายตำแหน่ง จนได้รักษาการในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งที่เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในลำดับที่ 3 จาก 7 ลำดับ
ขณะเดียวกัน พินัยกรรมของนางเนื่อม ระบุชัดเจนว่า ยกที่ดินให้กับวัดเท่านั้น และให้มูลนิธิมหามงกุฎฯ ร่วมกับวัดไปช่วยกันจัดทำประโยชน์ในการครอบครองที่ดิน โดยที่ไม่อาจขยายความไปถึงการขายที่ดินได้
จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า นายยงยุทธได้ใช้หลักความมั่นคงแห่งสิทธิ ความสุจริต ความเสียหายต่อสาธารณะอย่างสุจริตใจ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัททั้ง 2 แห่ง ไม่ให้ถูกเพิกถอนการถือครองที่ดิน สิทธิและนิติกรรมตามคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน
ถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้ให้แก่ผู้อื่น เกิดความเสียหายกับวัดที่ถือเป็นทายาทตามพินัยกรรม เป็นการทำลายศรัทธาผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างนางเนื่อม ที่ระบุชัดในพินัยกรรมว่า ขอให้นำทรัพย์สินที่ได้หลังจากการมรณกรรมของตน นำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเป็นจตุปัจจัยถวายแด่พระภิกษุสงฆ์
คำสั่งของนายยงยุทธ จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ มีความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 2 ปี
(นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ขณะมาฟังคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ, ภาพจาก https://mpics.mgronline.com/)
@อุทธรณ์ยืนคุก 2 ปี ชี้แสวงผลประโยชน์ต่างตอบแทนหวังได้รับตำแหน่งระดับสูงภายหลัง-เอื้อ ‘ทักษิณ’
ต่อมาศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 2 ปี โดยมีประเด็นวินิจฉัยที่น่าสนใจคือ กรณีนี้ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต และแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่
นายยงยุทธ อุทธรณ์ว่า การกระทำดังกล่าวที่ทำไป ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายเสนาะ เทียนทอง รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) และกลุ่มบริษัทอัลไพน์ จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา ขณะที่ฝ่ายโจทก์ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไม่ได้นำสืบในประเด็นนี้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าฝ่ายโจทก์จะไม่ได้นำสืบในประเด็นนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงพบว่า เดิมสมัยจำเลยเป็นอธิบดีกรมที่ดิน ที่ดินมรดกดังกล่าวเป็นของกลุ่มบริษัทอัลไพน์ ที่มีนายเสนาะเป็นเจ้าของโดยพฤตินัย และเมื่อปี 2542 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์กับนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นคลิปเสียงยอมรับว่า ได้ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะจริง
ขณะที่จำเลยช่วงเป็นอธิบดีกรมที่ดิน พร้อมทำตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ต่อมาภายหลังรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กลับไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เชื่อได้ว่ามีมูลเหตุจูงใจทำให้การปฏิบัติหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อพิเคราะห์อีกว่า ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เมื่อปี 2545 ในช่วงที่จำเลยรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯแล้ว จึงน่าเชื่อว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน หวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง
ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่า ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และหลังเกษียณราชการ ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯด้วย จึงเชื่อได้ว่า จำเลย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทอัลไพน์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ทั้งนี้ฝ่ายโจทก์ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก เนื่องจากหากมีผู้เสียหายฟ้องร้องเอาผิดกับกรมที่ดิน จะถูกเรียกค่าเสียหายหลายพันล้านบาท ส่วนจำเลยขอให้ลงโทษสถานเบานั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาผิดกับกรมที่ดิน ดังนั้นจึงยังไม่แน่ชัดว่าจะมีความเสียหายตามที่โจทก์ระบุ ขณะที่โทษจำคุกตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เหมาะสมแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอีก
ทั้งหมดคือตำนานมหากาพย์คดีทุจริตสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่มีตัวละครเป็นนักการเมืองใหญ่มากหน้าหลายตาปรากฏในคำพิพากษา กินเวลาล่วงมาถึง 21 ปี แต่ท้ายที่สุดเอาผิดได้แค่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เพียงรายเดียว ?
อ่านประกอบ :
ละเอียด! คำพิพากษาคดีอัลไพน์ระบุชัด ‘ยงยุทธ’เอื้อ‘ทักษิณ’ ก่อนศาลสั่งคุกจริง 2 ปี
ศาลไม่รับฎีกา! ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ’ ติดคุกจริงทันที 2 ปีคดีทุจริตกอล์ฟอัลไพน์
อุทธรณ์พิพากษายืนคุกจริง 2 ปี'ยงยุทธ' คดีอัลไพน์-ศาลให้ประกันตัวด้วยเงินสด 9 แสน
‘เสริมศักดิ์’รอด! ป.ป.ช.ตีตกปมไม่ยกเลิกคำสั่ง‘ยงยุทธ’โอนที่ดินสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์
เลื่อนอ่านอุทธรณ์คดีกอล์ฟอัลไพน์ เหตุ ‘ยงยุทธ’ป่วย-ก่อนหน้านี้โดนคุกจริง 2 ปี
'ยงยุทธ' ไม่รอด! ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตพิพากษาจำคุก2ปี สนามกอล์ฟอัลไพน์
เบื้องหลังคดีกอล์ฟอัลไพน์!ก่อนศาลสั่งคุก2ปี‘ยงยุทธ’อ้าง กม.พิเศษ-โยงคำสั่ง‘ป๋าเหนาะ’?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/