- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ละเอียด! คำพิพากษาคดีอัลไพน์ระบุชัด ‘ยงยุทธ’เอื้อ‘ทักษิณ’ ก่อนศาลสั่งคุกจริง 2 ปี
ละเอียด! คำพิพากษาคดีอัลไพน์ระบุชัด ‘ยงยุทธ’เอื้อ‘ทักษิณ’ ก่อนศาลสั่งคุกจริง 2 ปี
“…ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่า ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และหลังเกษียณราชการ ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯด้วย จึงเชื่อได้ว่า จำเลย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทอัลไพน์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…”
หลายคนคงทราบแล้วว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยพรรคเพื่อไทย ถูกศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีเมื่อครั้งนั่งเก้าอี้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ (อ่านประกอบ : อุทธรณ์พิพากษายืนคุกจริง 2 ปี'ยงยุทธ' คดีอัลไพน์-เจ้าตัวฎีกาสู้-ยื่น 9 แสนขอประกัน)
สาระสำคัญในการอุทธรณ์ของฝ่ายนายยงยุทธ มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงมานำเสนอ ดังนี้
หนึ่ง การไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2482 ที่กำหนดให้รับฟังความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความผิดหรือไม่
นายยงยุทธ อุทธรณ์ว่า ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ที่ดิน กระทรวงมหาดไทย จึงดำเนินการเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน เนื่องจากมีบุคคลร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ให้ความเห็นกรณีการโอนที่ดินมรดกต้องตกเป็นของวัดธรรมิการามวรวิหาร ไม่ใช่ของมูลนิธิมหามงกุฎราชวิทยาลัย นั้น ถือว่าเป็นความเห็นที่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 84 ที่ให้อำนาจ รมว.มหาดไทย เรื่องการโอนที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นความเห็นที่มิชอบ
ส่วนกรณีไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนนั้น เพราะเชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจไม่รับเรื่องทบทวน
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลย (นายยงยุทธ) มีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และในฐานประธานคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ขณะที่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า เจตนารมณ์ของนางเนื่อม เจ้าของที่ดินดังกล่าวประสงค์จะยกมรดกให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร ไม่ใช่มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว
การที่นายยงยุทธอ้างว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เป็นความเห็นที่ไม่ได้พิจารณาให้ครบถ้วน หรือเปิดโอกาสให้บุคคลที่เสียหาย จึงเป็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ดินนั้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2482 กำหนดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นเมื่อคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาสิ่งใด และส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีมีมติเช่นนั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้การทำงาน หรือการออกคำสั่งใด ๆ ของรัฐบาล เป็นความเห็นที่ไม่มีอะไรรองรับ หรือไม่มีบรรทัดฐาน ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เชื่อได้ว่าเป็นผู้ทรงความรู้ และเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เชื่อว่าความเห็นต่าง ๆ น่าจะถูกต้อง มิได้เป็นความเห็นลอย ๆ แต่มีผลบังคับผูกพันกับทุกหน่วยงานของรัฐ หากไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ถือว่าขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงอาจผิดวินัย และมีผลในการบริหารราชการแผ่นดินได้
การจำเลยอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ดิน มีอำนาจในการเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าว โดยไม่สนใจความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ตามข้อเท็จจริงหากไม่ยึดถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่สามารถทำได้ เพราะมิฉะนั้นจะไม่มีบรรทัดฐานในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะแต่ละยุคสมัย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ดิน ต่างผลัดเปลี่ยนกันไป อาจจะพิจารณาคนละทิศทาง หรือพิจารณากันตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา จะทำให้ราชการเสียหาย และผู้บริหารจะไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ดินมีความเห็นแย้ง สามารถรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ได้ การอ้างว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่รับทบทวนนั้น จำเลยยังไม่เคยได้ยื่นเรื่องให้ทบทวนแต่อย่างใด อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้ในช่วงที่จำเลย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน ยังเคยเชื่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว แต่เมื่อเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กลับไม่เชื่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยอ้างว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงไม่รอบด้าน จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผล
สอง กรณีนี้ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต และแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่
นายยงยุทธ อุทธรณ์ว่า การกระทำดังกล่าวที่ทำไป ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายเสนาะ เทียนทอง รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) และกลุ่มบริษัทอัลไพน์ จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา ขณะที่ฝ่ายโจทก์ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไม่ได้นำสืบในประเด็นนี้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าฝ่ายโจทก์จะไม่ได้นำสืบในประเด็นนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงพบว่า เดิมสมัยจำเลยเป็นอธิบดีกรมที่ดิน ที่ดินมรดกดังกล่าวเป็นของกลุ่มบริษัทอัลไพน์ ที่มีนายเสนาะเป็นเจ้าของโดยพฤตินัย และเมื่อปี 2542 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์กับนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นคลิปเสียงยอมรับว่า ได้ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะจริง
ขณะที่จำเลยช่วงเป็นอธิบดีกรมที่ดิน พร้อมทำตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ต่อมาภายหลังรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กลับไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เชื่อได้ว่ามีมูลเหตุจูงใจทำให้การปฏิบัติหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อพิเคราะห์อีกว่า ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เมื่อปี 2545 ในช่วงที่จำเลยรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯแล้ว จึงน่าเชื่อว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน หวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง
ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่า ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และหลังเกษียณราชการ ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯด้วย จึงเชื่อได้ว่า จำเลย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทอัลไพน์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ทั้งนี้ฝ่ายโจทก์ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก เนื่องจากหากมีผู้เสียหายฟ้องร้องเอาผิดกับกรมที่ดิน จะถูกเรียกค่าเสียหายหลายพันล้านบาท ส่วนจำเลยขอให้ลงโทษสถานเบานั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาผิดกับกรมที่ดิน ดังนั้นจึงยังไม่แน่ชัดว่าจะมีความเสียหายตามที่โจทก์ระบุ ขณะที่โทษจำคุกตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เหมาะสมแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอีก
อุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
‘เสริมศักดิ์’รอด! ป.ป.ช.ตีตกปมไม่ยกเลิกคำสั่ง‘ยงยุทธ’โอนที่ดินสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์
เลื่อนอ่านอุทธรณ์คดีกอล์ฟอัลไพน์ เหตุ ‘ยงยุทธ’ป่วย-ก่อนหน้านี้โดนคุกจริง 2 ปี
'ยงยุทธ' ไม่รอด! ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตพิพากษาจำคุก2ปี สนามกอล์ฟอัลไพน์
เบื้องหลังคดีกอล์ฟอัลไพน์!ก่อนศาลสั่งคุก2ปี‘ยงยุทธ’อ้าง กม.พิเศษ-โยงคำสั่ง‘ป๋าเหนาะ’?