- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลังคดีกอล์ฟอัลไพน์!ก่อนศาลสั่งคุก2ปี‘ยงยุทธ’อ้าง กม.พิเศษ-โยงคำสั่ง‘ป๋าเหนาะ’?
เบื้องหลังคดีกอล์ฟอัลไพน์!ก่อนศาลสั่งคุก2ปี‘ยงยุทธ’อ้าง กม.พิเศษ-โยงคำสั่ง‘ป๋าเหนาะ’?
“ในท้ายที่สุดคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ยกเหตุผลของ นายเสนาะ เทียนทอง รมช.มหาดไทย (ขณะนั้น) ที่อ้างว่า ไม่อนุญาตให้วัดรับโอนที่ดินมรดกเกิน 50 ไร่ มาพิจารณา อย่างไรก็ดีมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบกรณีดังกล่าว เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยเยียวยาแล้ว แต่นายยงยุทธ และที่ประชุมไม่ได้หยิบยกมาพิจารณาแต่อย่างใด สำหรับข้ออ้างของนายเสนาะนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากพิจารณาคำสั่งของนายเสนาะโดยละเอียด ย่อมพบความไม่ปกติในคำสั่งดังกล่าว และอาจมีการก้าวล่วงการดำเนินการของเจ้าอาวาสวัดด้วย…”
สาธารณชนอาจทราบกันไปแล้วว่า ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาจำคุก นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นักการเมืองชื่อดัง อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.มหาดไทย เป็นเวลา 2 ปี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ในคดีเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน มีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมาให้ได้รับประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ล่าสุด ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาทแล้ว (อ่านประกอบ : 'ยงยุทธ' ไม่รอด! ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตพิพากษาจำคุก2ปี สนามกอล์ฟอัลไพน์)
ข้อเท็จจริงคดีนี้ตามคำพิพากษาของศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ สรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า ก่อนนางเนื่อม ชำนาญศักดา ถึงแก่ความตาย ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลง ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ต่อมาเมื่อนางเนื่อมถึงแก่ความตาย มูลนิธิมหามงกุฎราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ได้โอนที่ดิน 2 แปลง (ทั้งสองแปลงอยู่ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แปลงแรกประมาณ 730 ไร่ มูลค่าขณะนั้นราว 3.9 ล้านบาท อีกแปลง 194 ไร่ มูลค่าขณะนั้นราว 9.3 แสนบาท) ให้กับมูลนิธิมหามงกุฎฯ
มูลนิธิมหามงกุฎฯ ได้ขายที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวให้กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด กับบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ในราคา 142 ล้านบาท และวันเดียวกันบริษัททั้ง 2 แห่ง ได้นำที่ดินทั้ง 2 แปลง ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินกับธนาคารเป็นเงิน 220 ล้านบาท
ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินข้างต้น ตลอดจนรายการจดทะเบียนลำดับต่อ ๆ มาจากรายการข้างต้น เนื่องจากเห็นว่า เป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผู้มีส่วนได้เสียรวม 290 ราย จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่กรมที่ดินยืนยันตามคำสั่งเดิม
ในช่วงที่ผู้เสียหายอุทธรณ์นี้เอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานผู้บังคับบัญชากรมที่ดิน ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้ออุทธรณ์ดังกล่าวขึ้น โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เพิ่งเลื่อนขั้นจากอธิบดีกรมที่ดิน มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ที่ประชุมเพื่อพิจารณาการอุทธรณ์นี้ เสียงแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรก เห็นว่า ที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว เป็นธรณีสงฆ์ ตามการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ขณะที่เสียงข้างมาก รวมถึงนายยงยุทธ เห็นว่า ไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ โดยมีการอ้างตามมาตรา 84 และ 85 รวมถึงการอ้าง ‘กฎหมายพิเศษ’ ที่ยกเว้นจากหลักการที่ดินอื่นในเชิงพาณิชย์
ท้ายที่สุดคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ยกเหตุผลของ นายเสนาะ เทียนทอง รมช.มหาดไทย (ขณะนั้น) ที่อ้างว่า ไม่อนุญาตให้วัดรับโอนที่ดินมรดกเกิน 50 ไร่ มาพิจารณา อย่างไรก็ดีมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบกรณีดังกล่าว เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยเยียวยาแล้ว แต่นายยงยุทธ และที่ประชุมไม่ได้หยิบยกมาพิจารณาแต่อย่างใด
สำหรับข้ออ้างของนายเสนาะนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากพิจารณาคำสั่งของนายเสนาะโดยละเอียด ย่อมพบความไม่ปกติในคำสั่งดังกล่าว และอาจมีการก้าวล่วงการดำเนินการของเจ้าอาวาสวัดด้วย
หลังจากนั้นนายยงยุทธ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯชุดนี้ ต้องส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ทว่าขณะนั้นปลัดกระทรวงมหาดไทยลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ต้องเลือกบุคคลขึ้นมารักษาการ ซึ่ง รมว.มหาดไทย (ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์) ได้เลือกนายยงยุทธ ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ขึ้นมารักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งที่นายยงยุทธมีอาวุโสลำดับที่ 3 จากทั้งหมด 7 ลำดับ ก่อนที่จะส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพื่อเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินดังกล่าวที่เป็นข้อพิพาทนี้ เป็นคำสั่งที่ถูกต้องด้วยกฎหมาย และข้อเท็จจริงแล้ว ประกอบกับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุว่า ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของวัดและธรณีสงฆ์ทันทีที่นางเนื่อมเสียชีวิต แม้ว่าจะไม่มีการโอนชื่อให้เป็นของวัดก็ตาม อีกทั้งยังพบว่า วัดได้ปล่อยเช่าที่ดินที่ได้รับจากนางเนื่อมเพื่อให้เกิดดอกออกผล และยังไปจดทะเบียนแล้วว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์
ขณะที่มติคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างเคร่งครัด อีกทั้งนายยงยุทธ ยังมีโอกาสขอทบทวนการอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้เสียหาย และยังทราบด้วยว่า สามารถให้ทุเลาการบังคับคดีทางปกครองไว้ก่อนได้ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่กลับไม่ทำ
นายยงยุทธต้องใช้ความรู้ความสามารถ พิจารณาอย่างรอบคอบ ระมัดระวังในข้อกฎหมายให้สมกับความรู้ และความสามารถในการดำรงตำแหน่งมาหลายตำแหน่ง จนได้รักษาการในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งที่เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในลำดับที่ 3 จาก 7 ลำดับ
ขณะเดียวกัน พินัยกรรมของนางเนื่อม ระบุชัดเจนว่า ยกที่ดินให้กับวัดเท่านั้น และให้มูลนิธิมหามงกุฎฯ ร่วมกับวัดไปช่วยกันจัดทำประโยชน์ในการครอบครองที่ดิน โดยที่ไม่อาจขยายความไปถึงการขายที่ดินได้
จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า นายยงยุทธได้ใช้หลักความมั่นคงแห่งสิทธิ ความสุจริต ความเสียหายต่อสาธารณะอย่างสุจริตใจ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัททั้ง 2 แห่ง ไม่ให้ถูกเพิกถอนการถือครองที่ดิน สิทธิและนิติกรรมตามคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน
ถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้ให้แก่ผู้อื่น เกิดความเสียหายกับวัดที่ถือเป็นทายาทตามพินัยกรรม เป็นการทำลายศรัทธาผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างนางเนื่อม ที่ระบุชัดในพินัยกรรมว่า ขอให้นำทรัพย์สินที่ได้หลังจากการมรณกรรมของตน นำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเป็นจตุปัจจัยถวายแด่พระภิกษุสงฆ์
คำสั่งของนายยงยุทธ จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ มีความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 2 ปี