"มนัญญา" สั่งกรมวิชาการเกษตรแจงภายใน 26 พ.ย. เหตุยืดเวลาคืนสารเคมี 3 ชนิด
ปลัดเกษตรฯ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ด้าน 'มนัญญา ไทยเศรษฐ์' สั่งให้กรมวิชาการเกษตรทำหนังสือชี้แจง หลังมีกระแสข่าวจะยืดเวลาเรียกคืน 3 สารเคมีทางการเกษตร ออกไปอีก 6 เดือน
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากการประชุมที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปวิเคราะห์ผลกระทบและเสนอมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งตั้งสมมติฐานว่าหากมีการแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร
นายอนันต์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาและได้ข้อสรุปว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปคิดโครงการในการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ มาตรการในการเยี่ยวยา โดยให้จัดทำหลักเกณฑ์ การกำหนด กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการเยียวยา จำนวนพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ อัตราที่จะใช้การเยียวยา เป็นต้น มาตรการจัดการเชิงปฏิวัติในการกำจัดวัชพืชหากมีการยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว อาทิ การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือการทำเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้จัดตั้งทีม Task Force เพื่อศึกษาวิจัย หาสารชีวภัณฑ์ หรือ จุลินทรีย์ มาทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งในประเด็นดังกล่าวจะมีการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาต่อไป
ด้าน นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางในการยกเลิกใช้สารเคมี 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ของกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น ได้ขอความร่วมมือไปยังร้านค้าสหกรณ์ให้เตรียมนำสารเคมี ออกจากร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของสหกรณ์ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และได้หามาตรการเยียวยาสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร หลังจากที่ได้มีการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะสำรวจความต้องการของสหกรณ์การเกษตรเพื่อสนับสนุนให้สหกรณ์จัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรและเครื่องมือต่าง ๆ ในการกำจัดวัชพืชและเตรียมดินเพื่อเพาะปลูก เช่น รถไถ เครื่องตัดหญ้า รถแทรคเตอร์ เพื่อให้สหกรณ์นำไปบริการแก่สมาชิกราคาถูก โดยรัฐอุดหนุน 90% สหกรณ์ 10%
สำหรับสหกรณ์ต้องมีคุณสมบัติ คือ 1) ต้องได้รับความเห็นชอบและมีมติยินยอมเข้าร่วมโครงการจากที่ประชุมคณะกรรมการดาเนินงานสหกรณ์ 2) สถาบันเกษตรกรต้องมีสมาชิก เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ามัน 3) สามารถปิดบัญชีได้ในปีปัจจุบัน และ 4) ไม่มีข้อบกพร่องหรือมีแต่ได้รับการแก้ไขแล้วเสร็จ เป็นต้น เป้าหมาย 169 แห่ง เกษตรกร 101,400 คน แบ่งเป็น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 44 แห่ง ยางพารา 78 แห่ง มันสำปะหลัง 17 แห่ง ปาล์มน้ำมัน 19 แห่ง อ้อย 5 แห่ง และไม้ผล 6 แห่ง ทั้งนี้จะจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ต่อไป
นางสาวมนัญญา กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 27 พ.ย.นี้ ผลการประชุมจะเปลี่ยนไปหรือไม่นั้น คิดว่าควรกลับมาดูเหตุผลของครั้งแรกว่า ทำไมถึงแบนสาร 3 ชนิดนี้ หากประชุมในครั้งที่ 2 ผลจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจน นอกจากนี้เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 62 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสารวัตรเกษตรจากทั่วประเทศเพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันในการปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีการยกเลิกการใช้ ที่ประชุมก็ได้รับทราบนโยบายและเข้าใจตรงกัน โดยไม่มีใครคัดค้าน และวันที่ 25 พ.ย.ก็ได้ประชุมร่วมกับสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการวางแผน เตรียมมาตรการไว้รองรับ
"หากมติที่ประชุมในวันที่ 27 พ.ย.นี้จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ยอมรับผลการประชุม เดินหน้าทำเต็มที่แล้ว หากใครต้องการให้ชี้แจงก็ยินดี เมื่อทำแล้วก็พร้อมที่จะผิดชอบ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
ส่วนกรณีที่กรมวิชาการเกษตร ขยายเวลาบังคับใช้ในการจัดเก็บคืนสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด ออกไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน เนื่องจากมีสต๊อกเหลือกว่า 2 หมื่นตัน หลังจากที่มีการประกาศแบน 3 สาร วันที่ 1 ธ.ค.62 นั้น รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เร่งทำหนังสือชี้แจงมาภายในวันที่ 26 พ.ย. 62 ถึงเหตุผลที่ต้องขยายเวลาออกไป หรือมีปัญหาติดขัดในส่วนไหน ให้ชี้แจงมา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตรออกคำสั่ง ให้ผู้ที่มีวัตถุอันตราย “พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต” ที่อยู่ในความครอบครอง แจ้งปริมาณการมีไว้ในครอบครองภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าว เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือมีไว้ครอบครอง) มีผลบังคับใช้ ตลอดจนให้ส่งมอบวัตถุอันตรายดังกล่าวที่มีในครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แจ้งปริมาณการครอบครอง โดยให้แจ้งและส่งมอบที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุเกษตร หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัด เขต 1-8
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร มี 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชในครอบครอง ต้องส่งมอบภายในสิ้นปี
เครือข่ายหนุนยกเลิกสารพิษ ห้ามรัฐบาลกลับใจไม่แบนสารเคมี 3 ชนิด
ไบโอไทย จี้รัฐประกาศให้ชัด เลือกทางไหนจัดการสารเคมีที่ถูกแบน
คกก.วัตถุอันตราย มติเเบน 3 สารเคมีเกษตรเสี่ยงสูง
ภาคประชาสังคม จี้คกก.วัตถุอันตรายประชุม 23 พ.ค. ต้องแบนพาราควอต ไม่ใช่แค่จำกัด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/