- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- แพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร มี 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชในครอบครอง ต้องส่งมอบภายในสิ้นปี
แพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร มี 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชในครอบครอง ต้องส่งมอบภายในสิ้นปี
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร ระบุชัด มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไว้ในครอบครองต้องแจ้ง และส่งมอบให้จนท.ภายใน 15 วัน
วันที่ 18 พ.ย.ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 1511/2562 เรื่อง การดำเนินการกำกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 25358 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 วัตถุอันตรายตามคำสั่งนี้ หมายความว่า วัตถุอันตรายไกลโฟเซต ไกลโฟเซต -เซสควิโซเดียม ไกลโฟเซต - โซเดียม ไกลโฟเซต - ไดแอมโมเนียม ไกลโฟเซต - ไตรมีเซียมไกลโฟเซต -โพแทสเซียม ไกลโฟเซต - โมโนเอทิลแอมโมเนียม ไกลโฟเซต - โมโนแอมโมเนียม ไกลโฟเซต -ไอโซโพรพิลแอมโมเนียมคลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส - เมทิล พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์ และพาราควอตไดคลอไรด์ [บิส (เมทิลซัลเฟต)] ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายยชื่อวัตถุอันตราย ออกตามความในมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
ข้อ 2 ให้วัตถุอันตราย ตามข้อ 1 ที่อยู่ในความครอบครอง ก่อนวันที่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายนั้นเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครอง ภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าว เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้
2.1 กรุงเทพมหานคร แจ้งที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุกำรเกษตร
2.2 ภูมิภาคแจ้งที่
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา
ข้อ 3 ให้ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ตามข้อ 2 ส่งมอบวัตถุอันตรายดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครอง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แจ้งปริมาณการครอบครอง ดังนี้
3.1 กรุงเทพมหานคร ส่งมอบที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
3.2 ภูมิภาคส่งมอบที่
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา
คำสั่งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562
เสริมสุข สลักเพ็ชร์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นางสาวเสริมสุข เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ให้ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายจำนวน 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย และครอบครอง กรมวิชาการเกษตรได้ทำการสำรวจปริมาณวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดจากร้านค้า ผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ทั่วประเทศพบว่า ปัจจุบัน ณ วันที่ 12 พ.ย. 2562 มีจำนวนคงเหลือประมาณ 38,855 ตัน ซึ่งคาดว่าภายในวันที่ 30 พ.ย. 2562 จะมีวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดที่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายส่งมอบให้กรมวิชาการเกษตรนำไปทำลายตามหลักวิชาการที่ถูกต้องในจำนวนที่ลดลงกว่านี้ เนื่องจากในช่วงระหว่างนี้ร้านค้ายังสามารถจำหน่ายสารทั้ง 3 ชนิดให้แก่เกษตรกรที่ผ่านการอบรมตามมาตรการจำกัดการใช้ได้จนกว่าจะถึงวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562
ทั้งนี้ ในที่ประชุมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการกล่าวถึงประเด็นการใช้งบประมาณในการทำลายสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงประสบการณ์จากการทำลายวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย โดยในปี 2561 ได้ว่าจ้างให้บริษัทอัคคีปราการ เผาทำลายวัตถุอันตรายในราคา 1 แสนบาท/ตัน ซึ่งการทำลายวัตถุอันตรายจะต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตรจึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการทำลายสารเคมี เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการทำลายเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา โดยปัจจุบันยังไม่ได้รับหนังสือตอบรับกลับมาจากทั้ง 2 หน่วยงาน ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้มีการเสนอรายชื่อบริษัทใดที่จะกำจัดสารเคมีทั้ง 3 ชนิดทั้งสิ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/