ภาคประชาสังคม จี้คกก.วัตถุอันตรายประชุม 23 พ.ค. ต้องแบนพาราควอต ไม่ใช่แค่จำกัด
ภาคประชาสังคมจับตา 23 พ.ค. 61 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ‘แบน’ พาราควอต เผยหากมติแค่จำกัดการใช้ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ต้องรับผิดชอบ เห็นแก่ประโยชน์ของบรรษัทมากกว่าสุขภาพประชาชน
วันที่ 22 พ.ค. 2561 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง จัดแถลงข่าวเรื่อง ยุติผลประโยชน์ทับซ้อนเรียกหาความโปร่งใสของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ณ โรงแรมตรัง กรุงเทพฯ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุโดยตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาแบนสารพิษอันตรายร้ายแรงอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน จะเห็นได้จากคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด 12 คน ที่ศึกษาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และจะนำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 23 พ.ค. 2561 มี 4 คน แต่งตั้งจากผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอีก 4 คน แต่งตั้งจากบุคคลใกล้ชนิดที่แสดงจุดยืนให้มีการใช้เป็นระยะ รวมทั้งหมด 8 คน ขณะที่ตัวแทนภาคประชาสังคมมีเพียง 1 คนเท่านั้น
“เมื่อศึกษาเสร็จต้องเปิดเผยรายงาน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นรายงานของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก่อนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่ทราบคร่าว ๆ ว่า มีการต่อสู้อย่างมากจากตัวแทนภาคประชาสังคม”
ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวต่อว่า ขณะที่ในวันที่ 23 พ.ค. 2561 จะมีคณะกรรมการพิจารณาวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน 3 คน ซึ่งไม่ควรอยู่ในการพิจารณา คนที่ 1 คืออดีตข้าราชการกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันเป็นผู้จัดการสมาคมอารักขาพืชไทย คนที่ 2 เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันทำงานให้กับสมาคมอารักขาพืชไทย และคนสุดท้าย อ้างว่าได้รับการแต่งตั้งในฐานะตัวแทนองค์กรสาธารณประโยชน์ เเต่ขอยังไม่เปิดเผยรายชื่อในวันนี้
“หากไม่แบนจะถือเป็นความรับผิดชอบของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลทั้งคณะ และแสดงว่า รัฐบาล คสช. ที่อ้างว่าเข้ามาบริหารเพื่อปฏิรูปประเทศกลับเห็นแก่ผลประโยชน์ของบรรษัทมากกว่าสุขภาพของประชาชน” นายวิฑูรย์ กล่าว
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้สำรวจความรู้สึกของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาเกษตรกรรม 2 รอบ โดยรอบแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนใจ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ข้าว ยางพารา เกษตรพันธสัญญา ปุ๋ย และพาราควอต ขณะที่รอบสอง พาราควอต เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจมากที่สุดเป็นอันดับ 1 เพราะเป็นปัญหาคอร์รัปชันสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และต้องการให้จัดการเรื่องดังกล่าวให้จบสิ้นโดยเร็ว
“สิ่งที่ไม่เข้าใจเวลาเราพูดเรื่องคอร์รัปชัน ปกติถ้ารัฐบาลชี้นกชี้ไม้แล้ว เรื่องจะจบในทิศทางนั้น แต่ลักษณะพาราควอต คือ ปี 2560 รัฐมนตรี 5 กระทรวง มีมติร่วมกัน ‘แบน’ แต่พอต้นปี 2561 รัฐมนตรี 3 กระทรวง มีมติร่วมกัน ‘แบน’ ซึ่งคิดว่าน่าจะจบแล้ว ไม่ควรจะมีอะไรอีกแล้ว” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว และว่าหากเย็นวันนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลงาน 4 ปี แล้วระบุว่า เห็นด้วยในการแบนพาราควอต ถามว่าสุดท้ายแล้ว จะแบนสำเร็จหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้นรัฐมนตรี 3 กระทรวง มีมติร่วมจะแบน แต่ยังแบนไม่สำเร็จ ฉะนั้นทำให้เราต้องติดตามหนักไปอีกว่า กำลังเกิดปัญหาอะไรขึ้นในระบบราชการไทย
“หากประเทศไทยเห็นแก่ประชาชนจริง ๆ อะไรที่เป็นอันตรายกับประชาชน ควรหยุดไว้ก่อน จนกว่าผู้จำหน่ายจะพิสูจน์ได้ว่า สิ่งนั้นไม่เป็นอันตราย โดยเริ่มต้นจากพาราควอตเป็นอย่างแรก” ดร.มานะ กล่าวในที่สุด .