พลิกปมค่านายหน้าฉาวคดีปาล์มอินโด! Mr.Burhan พยานปากเอกก่อน‘สุภา’ถูกร้องให้สินบน?
“…จากการตรวจสอบของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีบริษัท พีทีที.จีอี. ได้รายงานถึงผู้บริหารระดับสูงใน ปตท. ทราบว่า การจัดซื้อที่ดินทำโครงการปลูกปาล์มน้ำมันดังกล่าวอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ PT.Az Zhara และ PT.KPI มีบริษัทนายหน้า Kalimantan Sawit Lestari Ltd. (KSL) จดทะเบียนในสาธารณรัฐโดมินิกัน เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยได้รับค่าบริการรวมประมาณ 34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีบุคคลสัญชาติไทย 2 ราย เป็นผู้มีอำนาจลงนามใน KSL ดำเนินการทำสัญญาค่านายหน้า และค่าที่ปรึกษา…”
“กรณีที่ถูกพาดพิงนั้นไม่เป็นความจริง เพราะการไต่สวนคดีปลูกปาล์มอินโดนีเซีย เป็นการไต่สวนระหว่างประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไทย ต้องส่งคำถามที่จะไต่สวนพยานให้กับ ป.ป.ช.อินโดนีเซียเสียก่อน หลังจากนั้นเดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช.อินโดนีเซีย ฝ่าย ป.ป.ช.ไทย และฝ่ายอัยการ เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ไม่มีสิทธิตั้งคำถาม และการถามคำถามเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.อินโดนีเซีย จึงนึกไม่ออกว่ามีการกล่าวหาให้สินบนพยานจะทำได้อย่างไร ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบกระแสข่าวที่อ้างว่าได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจอินโดนีเซียนั้น ไม่พบว่ามีการร้องทุกข์ดังกล่าว ยืนยันว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำงานหนักกันทุกคน”
เป็นคำชี้แจงของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีถูกกล่าวหาว่า ให้ถุงเงินสินบนแก่พยานที่อินโดนีเซีย ในการไต่สวนคดี พีทีที.จีอี. เครือ ปตท. ลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่พบความไม่ชอบมาพากลหลายประการ และมีค่านายหน้า และค่าที่ปรึกษากว่า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนกรณีที่อดีตประธานสภาหอการค้าอินโดนีเซีย-ไทยร้องผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กระทบต่อส่วนตัว และองค์กร ป.ป.ช. จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการอย่างไรหรือไม่ น.ส.สุภา กล่าวว่า คงไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนมีสิทธิ์สงสัย ต้องเชื่อมั่นในองค์กร (อ่านประกอบ : เชื่อมั่นองค์กร! ‘สุภา’เมินถูกร้องให้สินบนพยาน-ยันไปสังเกตการณ์ ป.ป.ช.อินโดฯไต่สวน)
เรื่องการให้ถุงสินบนพยานนั้น ต่างฝ่ายต่างมีข้อเท็จจริงเป็นของตัวเอง ดังนั้นคงต้องรอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่รับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวไว้แล้ว เป็นผู้พิจารณา ?
ประเด็นที่น่าสนใจคือ พยานคดีปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียที่ น.ส.สุภา ลงทุนบินตรงไปอินโดนีเซียเพื่อไต่สวนนั้นเป็นใคร มีความสำคัญมากขนาดไหนในคดีนี้ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
คดี พีทีที.จีอี. หรือบริษัท พีทีที.กรีน เอเนอยี่ฯ ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย รวม 5 โครงการ ได้แก่ PT.MAR Pontianak PT.Az Zhara PT.MAR Banyuasin PT.FBP และ PT.KPI วงเงินหลายหมื่นล้านบาท ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี 2556 เบื้องต้นแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน มี พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ต่อมาพบว่า มีเส้นทางการเงินซับซ้อน และมีตัวละครผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงตั้งองค์คณะไต่สวนโดยมีกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ (9 ราย) เป็นองค์คณะฯ มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีบริษัท พีทีที.จีอี. ได้รายงานถึงผู้บริหารระดับสูงใน ปตท. ทราบว่า การจัดซื้อที่ดินทำโครงการปลูกปาล์มน้ำมันดังกล่าวอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ PT.Az Zhara และ PT.KPI มีบริษัทนายหน้า Kalimantan Sawit Lestari Ltd. (KSL) จดทะเบียนในสาธารณรัฐโดมินิกัน เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยได้รับค่าบริการรวมประมาณ 34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีบุคคลสัญชาติไทย 2 ราย เป็นผู้มีอำนาจลงนามใน KSL ดำเนินการทำสัญญาค่านายหน้า และค่าที่ปรึกษา
ราย Mr.Agustiar (เจ้าของโครงการ PT.Az Zhara)
ได้เข้าทำสัญญาชื่อ Commission Service Agreement (ข้อตกลงค่านายหน้า) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2550 กับบริษัท KSL โดยมีนายธนกฤษณ์เป็นผู้มีอำนาจลงนาม และมีบุคคลต่างชาติรายหนึ่งลงนามเป็นพยาน มีเงื่อนไขระบุขนาดที่ดินที่ PT.Az Zhara จะขายให้ ปตท. ว่าอยู่ที่ 1.1 แสนเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ ประมาณ 6 ไร่) แต่สัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท. ในกิจการดังกล่าว จะอยู่ที่ 55% โดย KSL เป็นผู้ตั้งราคาขายให้กับ ปตท. แต่มูลค่าที่เกินกว่า 17,272,500 เหรียญสหรัฐฯจะตกเป็นของ KSL
ต่อมาบริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า มีเอกสารแก้ไขสัญญาดังกล่าวชื่อ Commission Service Agreement Addendum no.2 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2551 ลงนามโดยบุคคลสัญชาติไทย ผู้มีอำนาจในบริษัท KSL ระบุสาระสำคัญว่า ขนาดที่ดินที่จะทำการซื้อขายเปลี่ยนเป็น 40,500 เฮกตาร์ โดยขายที่ราคา 550 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ เป็นจำนวนที่ดินและราคาที่ดินที่ตรงกับ SPA (สัญญาซื้อขายหุ้น) ที่ลงนามในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2551 และ ปตท. จะเข้าถือหุ้น 100%
อย่างไรก็ดีมีเงื่อนไขระบุว่า เจ้าของที่ดินจะได้รับส่วนแบ่ง 327.25 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ (รวม 13.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่วน KSL จะได้รับส่วนแบ่ง 22.75 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ (รวม 9.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ราย Mr.Burhan (เจ้าของโครงการ PT.KPI)
KSL ได้ทำสัญญา Consultancy Service Agreement (ข้อตกลงค่าที่ปรึกษา) ลงวันที่ 22 พ.ค. 2552 กับ Mr.Burhan (โดย Mr.Burhan อ้างว่าลงนามต้นปี 2553) โดยมีบุคคลต่างชาติรายหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนาม (บุคคลต่างชาติรายนี้คือคนเดียวกับที่ลงนามเป็นพยานในสัญญาค่านายหน้าในโครงการ PT.Az Zhara กับ KSL)
เงื่อนไขสำคัญในสัญญาคือ ราคาที่ Mr.Burhan จะขายให้ ปตท./PTT.GE ได้คือ 1,325 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ ซึ่งผู้ขาย (Mr.Burhan) จะชำระค่าที่ปรึกษา (Consultancy Service Fee) ให้กับ KSL ในราคา 325 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ รวมเป็นเงินประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ (รายงานของ ปตท. ระบุว่า PTT.GE ซื้อที่ดินโครงการนี้รวม 78,877 เฮกตาร์ มูลค่า 52.62 ล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อมามีการทำสัญญาแก้ไข เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2555 ลงนามโดยบุคคลสัญชาติไทยผู้มีอำนาจลงนามในบริษัท KSL
บริษัท ดีลอยท์ฯ สืบค้นฐานข้อมูลธุรกิจของบุคคลสัญชาติไทยรายนี้ พบว่าเป็นกรรมการบริษัทเอกชนในไทยอย่างน้อย 2 แห่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีเครือญาติของอดีต ‘คนใกล้ชิด’ นักการเมืองชื่อดังเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ เส้นทางการเงินคดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย มีการจ่ายค่านายหน้า และค่าที่ปรึกษาให้กับ KSL บริษัทสัญชาติโดมินิกัน ที่มีบุคคลสัญชาติไทย 2 รายเป็นผู้มีอำนาจลงนาม วงเงินรวมประมาณ 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับ Mr.Burhan เจ้าของโครงการ PT.KPI คือพยานปากสำคัญที่ น.ส.สุภา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และนางรสยา เธียรวรรณ ผู้บริหาร พีทีที.จีอี. เดินทางไปสังเกตการณ์ไต่สวนเมื่อปี 2560
ขณะที่นายสยามราช ผ่องสกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจนางแนนซี่ มาตาซูตะ อดีตประธานหอการค้าไทย-อินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซีย ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้สอบสวน น.ส.สุภา ระบุว่า ผลจากการสอบปากคำ Mr.Burhan ดังกล่าว ส่งผลให้มีการพาดพิงถึงชื่อนางแนนซี่ด้วย จึงต้องดำเนินการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในกรณีนี้ (อ่านประกอบ : อดีต ปธ.หอการค้าไทย-อินโดฯร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ‘สุภา’ปมให้ถุงสินบนพยานคดีปาล์ม)
ทั้งนี้ น.ส.สุภา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึงนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันว่า ฝ่าย ป.ป.ช. ไม่ได้เป็นผู้ไต่สวนพยานปากนี้เอง แค่เป็นผู้สังเกตการณ์ โดยฝ่าย ป.ป.ช.อินโดนีเซีย เป็นผู้ทำการไต่สวน (อ่านประกอบ : คดีปาล์มอินโดฯคืบ 80%-ปธ.ป.ป.ช.ไม่ห่วงปม‘สุภา’ถูกฟ้อง ลั่นหลักฐานที่ใช้ต้องมาโดยชอบ)
รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อปี 2560 แจ้งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ข้อเท็จจริงก่อนที่ฝ่าย ป.ป.ช. จะเดินทางไปสอบปากคำ Mr.Burhan ฝ่าย ป.ป.ช. ได้ส่งคำถามล่วงหน้าให้พยานทราบก่อนแล้ว และกรรมการ ป.ป.ช. ที่เดินทางไปสอบปากคำพยานที่ประเทศอินโดนีเซียคือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ โดยระหว่างสอบปากคำ Mr.Burhan ผ่านล่ามแปลภาษาอินโดนีเซียนั้น พบว่า Mr.Burhan ได้เดินทางเข้าออกห้องเกือบตลอดเวลา เข้าใจว่าเพื่อปรึกษาทนายความ ทั้งนี้เมื่อสอบปากคำแล้วเสร็จ Mr.Burhan ได้ยอมลงนามโดยดี
ทั้งหมดคือเบื้องลึกฉากหลังเกี่ยวกับคดีปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียของ พีทีที.จีอี. ที่กลับมาได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องการให้ถุงสินบนแก่พยานจะเป็นอย่างไร คงต้องรอการพิจารณาจากผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป !
อย่างไรก็ดีผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ทั้งหมด ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ดังนั้นทุกรายจึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
อดีต ปธ.หอการค้าไทย-อินโดฯร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ‘สุภา’ปมให้ถุงสินบนพยานคดีปาล์ม
คดีปาล์มอินโดฯคืบ 80%-ปธ.ป.ป.ช.ไม่ห่วงปม‘สุภา’ถูกฟ้อง ลั่นหลักฐานที่ใช้ต้องมาโดยชอบ
เปิดลำดับเหตุการณ์สำคัญคดีปลูกปาล์มอินโดฯก่อนกรณีค่านายหน้า32ล.ดอลลาร์