ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดแผนโจรกรรม 1MDB - ปล้นเงินกองทุนแห่งชาติมาเลย์ 2 หมื่นล้าน
"...ในช่วงปี พ.ศ.2552 นายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรี และนายโจ โลว์ นักธุรกิจใหญ่ ผู้เป็นเพื่อนสนิทของนายนาจิบได้ร่วมกันผลักดัน การทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่าง 1MDB และบริษัทค้าน้ำมันชื่อเปโตรซาอุดิ อินเตอร์แนชั่นแนล (PetroSaudi International).....ซึ่งเงินจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าวนั้นถูกอ้างว่าเป็น “เงินกู้” และเปโตรซาอุดิจะต้องได้รับคืนตามสัญญากิจการร่วมค้า แต่ต่อมาเงินจำนวนดังกล่าวกลับถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งมีบริษัทที่นายโลว์เป็นผู้ควบคุมชื่อ กู๊ดสตาร์ (Good Star) เป็นเจ้าของบัญชี..."
ส่องคดีทุจริตโลกในสัปดาห์นี้ ยังคงอยู่ที่การตีแผ่ประเด็นทุจริต กองทุนแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย หรือ 1MDB ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานข้อมูลไปแล้วว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้คืนเงินจำนวนกว่า 57 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,798 ล้านบาท ซึ่งเรด แกรนิท พิคเจอรส์ บริษัทสตูดิโอน้องใหม่สัญชาติอเมริกา ถูกกล่าวหาว่าได้รับมาจาก 1MDB เพื่อสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ “The Wolf of Wall Street”ให้กับทางประเทศมาเลเซียไปแล้ว
โดยปรากฎข้อมูลว่านักธุรกิจชาวมาเลเซียชื่อนายโจ โลว์ (Jho Low) ซึ่งมีส่วนในการโอนถ่ายเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทจากกองทุน 1MDB ไปปรากฏอยู่ในบริษัทข้ามชาติ (Offshore Company) และบัญชีธนาคารมากมายในประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้นยังมีชื่ออยู่ในเครดิตภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน (อ่านประกอบ:ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยโกง 1MDB ก่อนสหรัฐคืนเงินค่าทำหนัง 1.7 พันล้าน ให้มาเลย์ฯ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา สำรวจข้อมูลบนเว็บไซต์สำนักข่าวซาราวัครีพอร์ท (Sarawak Report) เพื่อจะดูรายละเอียดการยักย้ายถ่ายเทเงินจำนวน 2.2 หมื่นล้านบาทของนายโจไปจากกองทุน 1MDB ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผ่านบทความที่ชื่อว่า “HEIST OF THE CENTURY - How Jho Low Used PetroSaudi As "A Front" To Siphon Billions Out Of 1MDB!” พบว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
นายโจ โลว์
ในรายงานระบุว่า ผลจากการสอบสวนของสำนักข่าวแห่งนี้ร่วมกับหนังสือพิมพ์ลอนดอน ซันเดย์ ไทมส์ (London's Sunday Times) นั้นพบว่าในช่วงปี พ.ศ.2552 นายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรี และนายโจ โลว์ นักธุรกิจใหญ่ ผู้เป็นเพื่อนสนิทของนายนาจิบได้ร่วมกันผลักดัน การทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่าง 1MDB และบริษัทค้าน้ำมันชื่อเปโตรซาอุดิ อินเตอร์แนชั่นแนล (PetroSaudi International)
ซึ่งเงินจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าวนั้นถูกอ้างว่าเป็น “เงินกู้” และเปโตรซาอุดิจะต้องได้รับคืนตามสัญญากิจการร่วมค้า แต่ต่อมาเงินจำนวนดังกล่าวกลับถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งมีบริษัทที่นายโลว์เป็นผู้ควบคุมชื่อ กู๊ดสตาร์ (Good Star) เป็นเจ้าของบัญชี
นอกจากนั้นเงินบางส่วนยังได้ถูกใช้เพื่อซื้อธนาคารยูบีจี (Uttar Bihar Gramin Bank) ของนายเทบ มามุด (Taib Mahmud) อดีตมุขมนตรีมาเลเซีย (Chief Minister) ในราคาสูง ซึ่งก่อนหน้านี้นายเทบพยายามขายธนาคารแห่งนี้ในตลาดแต่ไม่สำเร็จ จนบริษัทลูกของเปโตรซาอุดิ อินเตอร์ชั่นแนล ซึ่งจดทะเบียนที่เกาะเซย์เชลส์ (Seychelles) เป็นผู้ซื้อโดยเงินที่ถูกยักย้ายจาก 1MDB นั่นเอง
นอกจากนี้ สำนักข่าวซาราวัครีพอร์ทยังได้รับ ข้อมูลอีเมล์และเอกสารจำนวนหนึ่งที่ระบุการนัดพบที่เมืองนิวยอร์กระหว่างนายโลว์, นายลิ ลิน ซีท (Li Lin Seet) เพื่อนสนิทของนายโลว์, ทิฟฟานี เฮฮ์ ฝ่ายกฎหมายของธนาคารยูบีจี และนักธุรกิจชาวอังกฤษชื่อนายแพทริค มาโฮนี (Patrick Mahony) ซึ่งได้รับการแนะนำโดยนายทาเรก โอเบด (Tarek Obaid) ผู้บริหารของเปโตรซาอุดิ
นาย Patrick Mahony
โดยนายมาโฮนีนั้น พบข้อมูลว่าเขาทำงานให้แก่กลุ่มทุนชื่อ แอชมอร์ (Ashmore) ซึ่งให้ทุนเปโตรซาอุดิในการการขุดเจาะน้ำมันเช่นกัน โดยแหล่งขุดเจาะน้ำมันหลักของเปโตรซาอุดินั้นอยู่ที่ประเทศอาร์เจนตินา
และหลังจากการพบกัน นายมาโฮนี ได้อีเมล์ถึงนายโลว์ นายซีท และนางทิฟฟานี โดยระบุชัดว่า เปโตรซาอุดิยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมธุรกรรมต่าง ๆ ที่นายโลว์เสนอและคาดหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของวันเอ็มดีบีและปิโตรนาส
นายมาโฮนียังระบุในอีเมล์ยอมรับว่า ถึงแม้มูลค่าทรัพย์สินของเปโตรซาอุดิในประเทศอาร์เจนตินาจะมีอยู่เพียง 50-75 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.3 พันล้านบาทแต่ก็มีหนทางที่สามารถตีมูลค่าเปโตรซาอุดิได้มากถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาทเพื่อเข้าร่วมในการร่วมค้าครั้งนี้ เนื่องจากในขณะเดียวกันนั้น เปโตรซาอุดิกำลังจะร่วมค้ากับบูเรียด ฮิลล์ (Buried Hill) บริษัทสัญชาติแคนาดา เพื่อรับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในประเทศเติร์กเมนิสถาน ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินของบูเรียด ฮิลล์ในเติร์กเมนิสถานคำนวณได้ 1-1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท และจะสามารถนำมานับรวมกับทรัพย์สินของเปโตรซาอุดิได้
อย่างไรก็ตาม นายโลว์กลับต้องการให้เปโตรซาอุดิออกหน้าให้ เนื่องจากเจ้าของเปโตรซาอุดินั้นคือเจ้าชายเทอร์คิ บิน อับดุลลาห์ (Prince Turki bin Abdullah) หนึ่งในบุตรของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียในขณะนั้น
นายโลว์จึงดำเนินการเจรจาธุรกิจเพื่อการร่วมค้าระหว่าง1MDBและเปโตรซาอุดิเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยที่นายมาโฮนีคอยกระตุ้นการเจรจาอยู่เบื้องหลัง
นาย ลิ ลิน ซีท
ครั้งหนึ่ง นายลิ ลิน ซีท เพื่อนสนิทของนายโลว์ยังได้ส่งอีเมล์ถึงนายทาเรกและนายมาโฮนี ในหัวข้อ "นำเสนอระยะเวลาสำหรับการร่วมค้ากับเปโตรซาอุดิ" ระบุว่า นายโลว์ได้พูดคุยกับ "หัวหน้าใหญ่" และจะต้องปิดการเจรจาภายในวันที่ 20 กันยายน 2552 โดยจะลงนามสัญญาทุกอย่างและชำระเงินให้แก่เปโตรซาอุดิก่อนสิ้นเดือนกันยายน
ช่วงประมาณวันที่ 15 กันยายน 2552 นายโลว์ นายมาโฮนี นายซีท และนางทิฟฟานี ได้โต้ตอบกันทางอีเมล์ถึง "แนวเนื้อเรื่อง" ว่าควรจะนำเสนอ 1MDB อย่างไรถึงที่มาและการที่เปโตรซาอุดิเข้าหา1MDB และหลังจากนั้นจึงได้โทรศัพท์ประชุมสายระหว่างทีมของนายโลว์และนายชารอล ฮาลมิ (Shahrol Halmi) ผู้บริหารของ 1MDB ในขณะนั้น
ต่อมาประมาณวันที่ 18 กันยายน 2552 ซึ่งตามกำหนดการเหลือเวลาอีก 10 วันเท่านั้นในการลงนามสัญญา นายโลว์ก็ได้ส่งอีเมล์ถึงนายชารอลและนายทาเรก แนะนำคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายให้รู้จักกันอย่างเป็นทางการ โดยนายโลว์กล่าวอ้างว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซียและกษัตริย์ซาอุดิอารเบียได้เจรจาตกลงร่วมธุรกิจซาอุดิ-มาเลเซียแล้ว และยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายจะเดินหน้าในกิจการร่วมค้ามูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท และลงนามในสัญญาวันที่ 28 กันยายน 2552 อย่างแน่นอน
ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2552 ทีมงานของเปโตรซาอุดิและ1MDB ก็ได้พบกันที่กรุงลอนดอนและเจรจาเรื่องข้อตกลงร่วมค้า ซึ่งแน่นอนว่านายโลว์เป็นผู้บริหารจัดการการประชุมดังกล่าว
เมื่อ1MDB ลงนามในสัญญาร่วมค้าแล้ว กลับปรากฏว่ากองทุนนี้มีภาระที่จะต้องชำระคืน "เงินกู้" จำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่เปโตรซาอุดิซึ่งนับเป็นจำนวนสองในสามของเงินลงทุนที่วันเอ็มดีบีจะต้องชำระตามสัญญา
นอกจากนี้ยังมีการโต้ตอบอีเมล์ระหว่างนายมาโฮนีและเจ้าหน้าที่ธนาคารบีเอสไอ ธนาคารเอกชนสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ นายมาโฮนีระบุในอีเมล์ว่า เงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.1 พันล้านบาท จะถูกโอนไปยังเจพี มอร์แกน ลอนดอน (JP Morgan London), เงินจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 6.3 พันล้านบาท จะอยู่ในบัญชีบริษัทกิจการร่วมค้า1MDB Petro Saudi Ltd (BVI) และ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกโอนไปยังบัญชีหลายบัญชีซึ่งจะได้เปิดที่ธนาคารบีเอสไอต่อไป โดยระบุว่าเงินจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นเป็น "เงินพิเศษ" เกิดจากธุรกรรมและจะได้นำไปใช้สำหรับการลงทุนกิจการต่าง ๆ ในอนาคตโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเกี่ยวกับพลังงานเท่านั้น
อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างของนายมาโฮนีที่ให้แก่บีเอสไอ นั้นขัดแย้งกับข้อสัญญากิจการร่วมค้าอย่างชัดเจนเนื่องจากในสัญญาระบุว่า เปโตรซาอุดิจะต้องอัดฉีดเงินที่ได้รับตามสัญญาเข้าบริษัทลูกที่ร่วมอยู่ในข้อตกลงด้วย เพื่อให้เงินกลับเข้าสู่ระบบของกิจการร่วมค้าในที่สุด
สัญญากิจการร่วมค้าดังกล่าวได้ถูกร่างขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์โดยเริ่มต้นจากนางทิฟฟานี นักกฎหมายของนายโลว์ และต่อมาถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขให้มีการใช้คำมากขึ้นโดยสำนักงานกฎหมายในอังกฤษชื่อไวท์แอนด์เคส (White & Case) ซึ่งเป็นทีมกฎหมายของเปโตรซาอุดิ
ในช่วงระหว่างการเจรจาสัญญา นายมาโฮนีได้ลาออกจากกองทุนแอชมอร์ที่เขาทำงานอยู่เดิม และเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารของ เปโตรซาอุดิ นอกจากนั้น 1MDB ยังได้แต่งตั้งนายอารุล กานดา กานดาซามี (Arul Kanda Kandasamy) เข้าแทนที่เป็นซีอีโอ ซึ่งบริษัทยังคงยืนยันว่านายโลว์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดทั้งสิ้นกับการดำเนินงานของวันเอ็มดีบี
@ เส้นทางการโอนเงินผ่านธนาคาร
จากเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า "เงินกู้" จำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าวได้ถูกโอนเข้าบัญชีที่นายโลว์ควบคุมอยู่ในฐานะ "เงินพิเศษ" ทันทีภายหลังจากคู่สัญญาลงนามในสัญญาในวันที่ 29 กันยายน 2552
ไวท์แอนด์เคสยังได้ร่างสัญญากู้เปโตรซาอุดิ โดยระบุว่า PetroSaudi Cayman Holdings ได้ให้ 1MDB-เปโตรซาอุดิกู้ยืมเงินไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552 ซึ่งนายทาเรกได้ลงนามในสัญญากู้ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นเลยนอกเสียจากว่า "เงินกู้" ก้อนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการของเปโตรซาอุดิ บริษัทที่แทบจะไม่มีเงินทุนอะไรเลย แต่ภายใน 3 วันต่อมากลับกลายเป็นว่า 1MDBมีภาระต้องจ่ายเงินคืนให้แก่เปโตรซาอุดิ
ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2552 นายมาโฮนีได้ส่งอีเมล์ถึงนายโลว์ แนบเอกสารการลงทุน ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ รวมไปถึงหนังสือทวงถามให้ชำระคืนเงินกู้จำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายละเอียดบัญชีที่ถูกเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้ายด้วย
หนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ลงนามโดยนายทาเรก ระบุว่า ให้ 1MDB ชำระเงินจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐในทันทีโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร RBS Coutts ในเมืองซูริค และยังระบุว่าเป็นบัญชีของบริษัทในเครือเปโตรซาอุดิ
อย่างไรก็ตาม จากการสืบเอกสารต่อพบว่า บัญชีธนาคารดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นของเปโตรซาอุดิหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเปโตรซาอุดิแต่อย่างใด แต่เป็นของบริษัทที่ชื่อ กู๊ดสตาร์ ซึ่งมีนายโลว์เป็นผู้มีอำนาจควบคุมอยู่ และผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทและเป็นหัวหน้าฝ่ายการลงทุนของกู๊ดสตาร์นั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นนายลิ ลิน ซีท ผู้ช่วยที่ใกล้ชิดกับนายโลว์ตลอดการเจรจาสัญญากิจการร่วมค้าตั้งแต่ช่วงวันที่ 9-29 กันยายน 2552
นั่นจึงสรุปได้ว่า เงินที่กล่าวอ้างว่าจะต้องถูกชำระคืนให้แก่ เปโตรซาอุดิตามสัญญากิจการร่วมค้านั้น แท้ที่จริงแล้วถูกโอนเข้าบัญชีกู๊ดสตาร์ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามอย่างสิ้นเชิง
ซาราวัครีพอร์ท ได้เคยโทรศัพท์พูดคุยกับนายซีท แต่เมื่อถูกถามถึงกู๊ดสตาร์ นายซีทตอบกลับว่า "ฉันไม่รู้ว่าคุณพูดถึงอะไร" และวางสายไปทันที
ในการโอนเงินให้แก่กู๊ดสตาร์นั้น ยังได้ปรากฏหลักฐานเป็นอีเมล์จากนายชารอล (ซีอีโอของ1MDB ขณะนั้น) แสดงให้เห็นว่านายชารอลทราบดีว่าปลายทางของเงินจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ไม่ใช่เปโตรซาอุดิเนื่องจากเมื่อธนาคารของ1MDB ได้ขอข้อมูลจากนายชารอลเรื่องการโอนเงิน นายชารอลก็ได้ยืนยันชื่อบริษัทกู๊ดสตาร์ไว้อย่างชัดเจนในอีเมล์ ทั้งที่นายชารอลน่าจะรู้ได้ว่ากู๊ดสตาร์ ไม่ใช่บริษัทในเครือของเปโตรซาอุดิแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังปรากฏว่าในอีเมล์ได้มีการสำเนาถึงนายโลว์และนายมาโฮนีอีกด้วย
ท้ายที่สุด เงินจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐก็ได้ถูกเริ่มต้นโอนในวันที่ 30 กันยายน 2552 ไปจนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2552
โดยในวันที่ 29 กันยายน 2552 ซึ่งนายทาเรกได้ส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไปยัง1MDB วันเดียวกันนั้นเองกู๊ดสตาร์ ได้ทำสัญญาขึ้นมาสองฉบับลงนามโดยนายซีท ฉบับแรกเป็นสัญญาที่ตกลงว่านายทาเรกจะได้รับเงินค่านายหน้าเป็นจำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.6 พันล้านบาท และอีกฉบับหนึ่งเป็นสัญญาว่าจ้างนายมาโฮนีโดยกู๊ดสตาร์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการลงทุนเป็นจำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐและนายมาโฮนียังได้รับเงินตอบแทนการบริหารอีกร้อยละ 2 ต่อปี
@ ธุรกรรมการเงินของนายโลว์
ในปี 2555 ซาราวัครีพอร์ท พบว่านายโลว์ได้ซื้อแมนชั่นหรูในเมืองลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในราคา 39 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.2 พันล้านบาท นอกจากนั้นยังพบว่านายโลว์ซื้อบ้านราคา 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 5.5 พันล้านบาทให้แก่นายริซา อาซิซ (Riza Aziz) ลูกบุญธรรมของอดีตนายกนาจิบ ราซัค อีกด้วย และมีการคาดเดาว่านายโลว์ยังเป็นเจ้าของเรือยอร์ชออกทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
โดยนายโลว์มักจะออกสื่อและอ้างเสมอว่าเป็นผู้ชอบช่วยเหลือสังคมโดยการก่อตั้งมูลนิธิและให้เงินบริจาคเป็นหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ข้อเท็จจริงแล้วเงินที่นายโลว์ได้ใช้จ่ายไปนั้นแท้จริงแล้วคือเงินจากกองทุน 1MDB ที่ควรจะเป็นของประชาชนมาเลเซีย
เรียบเรียงจาก:http://www.sarawakreport.org/2015/02/heist-of-the-century-how-jho-low-used-petrosaudi-as-a-front-to-siphon-billions-out-of-1mdb-world-exclusive/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่ออดีตนายกฯฝรั่งเศส ขึ้นศาลปมใช้เงินหลวง35.6ล. จ้างเมีย-ลูก ช่วยงานรัฐสภา
ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงสินบน บ.ยักษ์ใหญ่บราซิล 2.5 หมื่นล. สะเทือนทั่วลาตินอเมริกา
ส่องคดีทุจริตโลก: ศาลจีนจำคุก จนท.มองโกเลีย 18 ปี เลียนแบบหนังสายลับซ่อนเงินสินบน700ล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อ บ.เชลล์-เอมิ เจอข้อหาให้สินบนหมื่นล้าน แลกใบอนุญาตสำรวจบ่อน้ำมัน
ส่องคดีทุจริตโลก : ศึกชิงเก้าอี้ ปธน.ยูเครน เดือด! ข้อกล่าวหาโกงซื้อเสียงเพียบ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อหัวคะแนนพรรครีพับลิกันโกงการเลือกตั้งรัฐนอร์ทแคโรไลน่า
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ป.ป.ช.ยูเครน ดองเรื่องไม่สอบทุจริตขนย้ายอะไหล่อาวุธ
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดโปงขบวนการทุจริตขายอาวุธยูเครน โยงข้อมูลธุรกิจบริษัทประธานาธิบดี?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อรัฐวิสาหกิจขายอาวุธยูเครนส่อโดนยุบจากข้อหาทุจริต 295ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชั่น เส้นสาย ฝังรากลึกในกองทัพปลดปล่อยปชช.จีน
ส่องคดีทุจริตโลก: ความพยายามในการขจัดอิทธิพลกลุ่มทุนในการเมืองสหรัฐ ผ่าน Dark Money
ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตผู้บริหารบ.จีน ส่อโดนโทษประหาร ปมขายความลับเรือบรรทุกเครื่องบิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติวิจารณ์นครดูไบเป็นสวรรค์การฟอกเงิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่จีน เจอข้อครหาฉ้อโกงราคาชิ้นส่วนโดรน 4.6 พันล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อเกม Fortnite กลายเป็นเครื่องมือฟอกเงินของอาชญากรไซเบอร์?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบ.ส่งเสบียงให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกสอบปมฉ้อโกงสัญญา 8 พันล.เหรียญ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก