- Home
- Isranews
- ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดโปงขบวนการทุจริตขายอาวุธยูเครน โยงข้อมูลธุรกิจบริษัทประธานาธิบดี?
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดโปงขบวนการทุจริตขายอาวุธยูเครน โยงข้อมูลธุรกิจบริษัทประธานาธิบดี?
"...สำหรับรูปแบบวิธีการทุจริตนั้น คือ การนำเข้ารถหุ้มเกราะมายังยูเครนนับร้อยๆคันจากประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกที่มีรถหุ้มเกราะเหล่านี้จนล้นที่เก็บ โดยผู้นำเข้าจะประกาศว่าสินค้าที่ถูกนำเข้าเหล่านี้เป็นอะไหล่สำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์ มีการถอดชิ้นส่วนทั้งหมดออก และเมื่อขนย้ายถึงประเทศยูเครน ก็ประกอบเข้ากันใหม่อีกครั้งหนึ่ง และแน่นอนว่าบางส่วนนั้นก็ยังได้ถูกส่งออกไปยังประเทศอื่นๆด้วยเช่นกัน..."
ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลรายงานข่าวของสำนักข่าวทาสก์ในประเทศรัสเซีย ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลว่า รัฐวิสาหกิจด้านการป้องกันประเทศยูเครน ที่ชื่อว่า Ukroboronprom อาจจะเข้าสู่ภาวะการชำระบัญชี เนื่องจากการสอบสวนการทุจริตในด้านการจัดซื้อชิ้นส่วนอะไหล่อาวุธที่สูงเกินราคาจริงถึง 300 เปอร์เซ็นต์ ในรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ขณะที่จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า กองทัพไทยเคยจัดซื้อรถถังจากรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ด้วยเช่นกันซึ่งล่าสุด พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราแล้วว่ากรณีดังกล่าวนั้นจะไม่กระทบกับกองทัพไทยอย่างแน่นอน เพราะทางประเทศไทยทำสัญญาซื้อขายอาวุธกับประเทศยูเครนแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งประเทศยูเครนจะต้องรักษาสัญญาในทุกกรณี (อ่านประกอบ:ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อรัฐวิสาหกิจขายอาวุธยูเครนส่อโดนยุบจากข้อหาทุจริต 295ล.,โฆษกกลาโหม แจงปมยูเครนสอบทุจริตรัฐวิสาหกิจในปท.ขายอาวุธ- เชื่อไม่กระทบกองทัพไทย)
ส่องคดีทุจริตโลกในสัปดาห์นี้ ยังให้ความสนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับกรณี Ukroboronprom ถูกสอบสวนเรื่องการทุจริตต่อเนื่อง
โดยล่าสุดมีรายงานข่าวจากเว็บไซต์สำนักข่าว Business News Europe ของอังกฤษ ระบุว่า ขณะนี้ นายเปโตร โปโรเชนโก้ ประธานาธิบดีของยูเครน กำลังเจออุปสรรคใหญ่หลวงที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง หลังจากที่สื่อหลายสำนักได้กล่าวหาว่านายโอเลย์ ฮลาดคอฟสกี ซึ่งเป็นทั้งผู้ช่วยมือขวาและรองประธานสภาความมั่นคงและกลาโหมแห่งชาติยูเครนว่า มีส่วนในการได้รับกำไรจากข้อตกลงการซื้อขายที่ไม่โปร่งใสในการส่งอาวุธและกำลังบำรุงไปยังกองทัพยูเครน ซึ่งประเด็นทุจริตทั้งหมดนั้นมีข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ในช่วงปี 2557
ในรายงานข่าว ระบุว่า อู่เรือคุซนยาซึ่งเคยเป็นธุรกิจของนายเปโตรก่อนที่เขาจะขายกิจการดังกล่าว และเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อครหาในเรื่องทุจริตเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และยังมีรายงานอีกว่า บริษัทยานยนต์ยี่ห้อ Bohdan ที่มีประวัติว่าได้สัญญาจัดซื้อจัดจ้างอาวุธมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นก็เคยเป็นธุรกิจของประธานาธิบดีเปโตรเช่นกัน
ซึ่งข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั้น นายเดนิส บิฮุส และนางเลสยา อิวาโนวา สื่อมวลชนที่ได้นำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมาในรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่ง โดยมีการเผยแพร่ข้อความสนทนาจำนวนหนึ่งที่ถูกมือดีแฮ็คออกมาได้ ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างนายอิยอร์ บุตรของนายโอเล ฮลาดคอฟสกีกับหุ้นส่วนทางธุรกิจที่กำลังหารือถึงการทำกำไรจากการขายอุปกรณ์ทางทหารที่ลักลอบขนย้ายจากรัสเซียไปยังยูเครน และยังมีการหารือด้วยว่าจะต้องส่งเงินบางส่วนไปให้กับนายโอเลซึ่งมีความสนิทกับประธานาธิบดีเปโตรในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจ และยังได้มีโอกาสดูแลสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพด้วย
ขณะนี้กระแสสังคมในยูเครนกำลังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้เนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 มี.ค. 2562 นี้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกีดกันที่จะไม่ให้สื่อนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ โดยอ้างว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของทางรัสเซียได้เหมือนกรณีทุจริตอื่นๆก่อนหน้านี้
แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเปโตรเองก็ไม่ได้นิ่งเฉยหลังจากที่มีข่าวนี้ออกมา เขาได้ไล่นายโอเลออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการยืนยันความหนักแน่นของข้อมูลที่สื่อมลชนได้รายงานออกมา ขณะที่สำนักงานต่อต้านการทุจริตแห่งชาติยูเครนหรือ Ukraine’s National Anti-corruption Bureau (NABU) ได้มีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้อยู่เช่นกัน
นอกจากนี้ประธานาธิบดีเปโตรยังได้ชักชวนให้ประเทศในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือเนโท ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมนั่งเป็นบอร์ดบริหารของรัฐวิสาหกิจ Ukroboronprom เพื่อยืนยันถึงความโปร่งใสในการทำหน้าที่และยุติการทุจริตดังกล่าว
ความท่าทีของ นายโอเล ฮลาดคอฟสกิเอง ได้ปฎิเสธทุกข้อกล่าวหาและกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการขนส่งและติดตั้งอุปกรณ์ทางทหารใหม่ หลังจากที่หลายปีก่อนหน้านี้กองทัพยูเครนนั้นได้ละเลยและเพิกเฉยต่อการดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบทางทหาร
@ คนกลางปริศนา
สำหรับข้อกล่าวหาการทุจริตด้านความมั่นคงของยูเครนที่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาในขณะนี้ เป็นการระบุว่า ในช่วงยุทธการณ์การรุกคืบของกองทัพยูเครนที่เข้าสู้รบกับกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ในช่วงหน้าร้อนปี 2557 นายดิมิตรี เมนเดลีฟ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Zerkalo Nedeli ได้บรรยายว่ากองพันอาสาสมัครของกองทัพยูเครนถูกบังคับให้ต้องซื้ออุปกรณ์ตั้งแต่ปืนประจำกายไปจนถึงรถหุ้มเกราะจากบริษัทนิรนามนาม อาทิ บริษัท Techimpex ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า บริษัทนี้มีความเกี่ยวโยงไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลของยูเครนด้วย
อีกทั้งในช่วงเวลาที่กองพันอาสาสมัครต้องดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์จากบริษัทนิรนามดังกล่าว พวกเขารู้ดีว่าต้องไปแข่งขันกับผู้ซื้อจากในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาด้วย ซึ่งแม้ว่ากองทัพยูเครนจะมียุทโธปกรณ์ที่ไม่ครบครัน แต่มีรายงานว่าประเทศยูเครนสามารถส่งออกอาวุธในสมัยสหภาพโซเวียตออกไปให้กับประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลางได้เป็นจำนวนมาก
ประธานาธิบดีเปโตรเองก็ได้ตอบโต้กับบทความของนายดิมิตรีเช่นกัน โดยเขาได้แนะให้ทางฝ่ายอัยการดำเนินการสืบสวนสอบสวนนายดิมิตรีทันที แต่ไม่ได้ดำเนินการสอบสวนในข้อกล่าวหาที่เขียนในบทความของนายดิมิตรีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามนายดิมิตรีก็ยังคงทำหน้าที่สืบสวนและสอบสวนกรณีทุจริตดังกล่าวนี้จนกระทั่งในปี 2559 เขาได้เขียนบทความเปิดโปงกรณีการทุจริตอย่างมโหฬารในบริษัทผลิตอาวุธในภูมิภาคคาร์คิฟ (Kharkiv) ที่พบข้อมูลว่า บริษัทดังกล่าวนั้นได้จ่ายเงินให้กับธุรกิจฟอกเงินแห่งหนึ่ง เพื่ออำพรางยุทธภัณฑ์และยังได้มีการขายยุทโธปกรณ์ไปยังบริษัทอย่าง Techimpex เพื่อให้ทำหน้าที่ส่งออกอาวุธนั้น
@ ชิ้นส่วนอะไหล่จากยุโรป
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่น่าตกใจออกมาว่าชื่อ ดิมิตรี เมนเดลีฟนั้นแท้จริงแล้วเป็นนามปากกา นายอนาโตลี ฮาริสเซนโก (Anatoly Hrytsenko) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของยูเครนและอดีตพันเอกของกองทัพยูเครน ผู้ซึ่งเคยผ่านการฝึกฝนทางด้านการทหารในประเทศสหรัฐอเมริกามาก่อน
โดยเขามีจุดยืนที่เอียงไปยังฝั่งตะวันตกอย่างเห็นได้ชัดและยังเป็นคู่แข่งของนายเปโตร รวมไปถึงคู่แข่งในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ซึ่งจากผลสำรวจนั้นพบว่านายอนาโตลีนั้นมีคะแนนความนิยมอยู่ในอันดับที่ 4 ส่วนภรรยาของนายอนาโตลีคือนางยูเลีย มอสโตวา นั้นเป็บรรณาธิการใหญ่และยังเป็นผู้ที่ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ Zerkalo Nedeli เช่นกัน
ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนี้นี่เองทำให้ประธานาธิบดีเปโตรได้ออกมาโจมตีว่าบทความที่กล่าวโทษเขานั้นมีวัตถุประสงค์แค่ทางการเมืองเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในปี 2560 โครงการด้านการรายงานกิจกรรมทางด้านอาชญากรรมและการทุจริตหรือ Organised Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ได้นำบทความดังกล่าวนี้มารายงานพร้อมกับเอกสารของบริษัท Techimpex อีกจำนวน 5 กล่อง ซึ่งเป็นการยืนยันถึงข้อเท็จจริงของหนังสือพิมพ์ Zerkalo Nedeli ได้เป็นอย่างดี
โดยการสืบสวนสอบสวนของโครงการนั้นยังพบว่าบริษัท Techimpex ที่ได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานด้านกลาโหมของยูเครน มีประวัติว่าในช่วงปี 2558-2559 บริษัทนี้ได้นำเข้าชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ยุคโซเวียต จากกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกหรือจากกลุ่มวอซอว์ แพ็ค เพื่อที่จะขายให้กับกองทัพยูเครน นอกจากนี้ยังพบว่ายุทโธปกรณ์ส่วนนี้ยังได้ถูกส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและในตะวันออกกลางที่ยังมีเหตุสู้รบกันอยู่
สำหรับรูปแบบวิธีการทุจริตนั้น คือ การนำเข้ารถหุ้มเกราะมายังยูเครนนับร้อยๆคันจากประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกที่มีรถหุ้มเกราะเหล่านี้จนล้นที่เก็บ โดยผู้นำเข้าจะประกาศว่าสินค้าที่ถูกนำเข้าเหล่านี้เป็นอะไหล่สำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์ มีการถอดชิ้นส่วนทั้งหมดออก และเมื่อขนย้ายถึงประเทศยูเครน ก็ประกอบเข้ากันใหม่อีกครั้งหนึ่ง และแน่นอนว่าบางส่วนนั้นก็ยังได้ถูกส่งออกไปยังประเทศอื่นๆด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่าบริษัท Techimpex ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อเหล็กจากโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ค ก่อนจะนำชิ้นส่วนเหล็กเหล่านี้เพื่อมาผลิตยานพาหนะที่ถูกประกอบขึ้นมาใหม่ และยังได้ให้หมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ใหม่กับรถหุ้มเกราะเหล่านี้ก่อนที่จะดำเนินการขายต่อให้กับกองทัพยูเครน หรือดำเนินการส่งออกรถหุ้มเกราะไปยังประเทศอื่นๆต่อไป ซึ่งประเทศที่พบว่ามีการส่งอาวุธไปมากที่สุดก็คือประเทศยูกันด้า ซึ่งทางด้านสหประชาชาติก็ได้มีการระบุว่าประเทศยูกันด้านั้นเป็นช่องทางการส่งอาวุธไปให้กับประเทศซูดานใต้ ซึ่งขณะนี้กำลังประสบกับภาวะสงครามกลางเมืองอยู่
โดยการกระทำของบริษัท Techimpex นั้น ถือได้ว่าเป็นความพยายามที่จะหลบหลีกในกรณีที่สหภาพยุโรปได้ลงโทษโดยห้ามไม่ให้ส่งอาวุธไปให้กับประเทศซูดานใต้ อย่างไรก็ตามทางด้านของ Techimpex ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยอ้างว่ารัฐวิสาหกิจของยูเครนนั้นเป็นเจ้าเดียวที่ผูกขาดการส่งออกอาวุธของยูเครนมาโดยตลอด
ต่อมาในปี 2560 มีรายงานข่าวว่า มีการถอดชิ้นส่วนรถหุ้มเกราะนำเข้าจากประเทศโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็คเป็นจำนวนรวมกว่า 200 คันและส่งออกไปประกอบที่ประเทศยูเครน โดยมูลค่าที่ขายให้กับประเทศยูเครนนั้นมีมูลค่าสูงถึงสิบเท่าจากราคารถหุ้มเกราะดั้งเดิม โดยในปี 2560 ประเทศยูเครนได้ซื้อรถหุ้มเกราะไปด้วยราคารวมที่ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,300,971,000 บาท ขณะที่มีรายงานจากสื่อว่านายโอเล ฮลาดคอฟสกีนั้นเป็นหนึ่งในผู้ที่รับประโยชน์สูงสุดในกรณีนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัท Techimpex ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายเมื่อปี 2560 แต่อย่างใด
และมีข้อมูลระบุว่า อู่ต่อเรือคุซนยาซึ่งเคยเป็นกิจการของประธานาธิบดีเปโตรก่อนที่จะขายธุรกิจเหล่านี้เพื่อป้องกันกรณีการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้น ยังได้กำไรจากการรับงานประกอบชิ้นส่วนรถหุ้มเกราะที่ถูกนำเข้ามา ก่อนที่บริษัท Bohdan ซึ่งเคยเป็นบริษัทของประธานาธิบดีเปโตร และมีนายโอเล ฮลาดคอฟสกีเป็นผู้ร่วมบริหารด้วยนั้นจะนำเอารถหุ้มเกราะเหล่านี้ส่งไปยังกองทัพยูเครนอีกต่อหนึ่ง
ขณะที่การสืบสวนจากทั้งหนังสือพิมพ์ Zerkalo Nedeli และจากโครงการ OCCRP ได้ระบุว่าท่าเรือคุซนยานั้นยังมีความเกี่ยวพันกับบริษัท Techimpex ในช่วงปี 2557 ด้วย โดยข้อมูลจากเอกสารบริษัท Techimpex ระบุว่าทั้งท่าเรือคุซนยาและบริษัท Techimpex ยังได้ร่วมกันอัพเกรดและประกอบรถหุ้มเกราะในยุคโซเวียตและส่งต่อไปให้กับกองทัพยูเครน (เรียบเรียงจาก:http://www.intellinews.com/poroshenko-ambushed-over-defence-sector-corruption-157571,https://www.thaipost.net/main/detail/11651)
รถหุ้มเกราะ BTR3E1 ของกองทัพไทย
ข้อมูลทั้งหมดนี้ จึงนับเป็นเรื่องสำคัญที่กองทัพไทยนั้นไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากรถถัง T84 Oplot ที่กองทัพไทยได้สั่งมาจากทางยูเครนแล้ว ยังปรากฎข้อมูลจากสื่อกระแสหลักในช่วงเดือน มิ.ย. 2561 ว่ากองทัพไทยโดยกองทัพบกได้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์แบบแรกจากยูเครน คือ ยานเกราะล้อยางลำเลียงพลตระกูล BTR-3E1 8x8 เป็นจำนวนรวมมากกว่า 220 คัน เช่นเดียวกับ นาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย(Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy) ที่จัดหายานเกราะล้อยางลำเลียงพล BTR-3E1 อีกจำนวน 12 คัน เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของกองทัพไทย และเงินภาษีประชาชน ให้ใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อรัฐวิสาหกิจขายอาวุธยูเครนส่อโดนยุบจากข้อหาทุจริต 295ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชั่น เส้นสาย ฝังรากลึกในกองทัพปลดปล่อยปชช.จีน
ส่องคดีทุจริตโลก: ความพยายามในการขจัดอิทธิพลกลุ่มทุนในการเมืองสหรัฐ ผ่าน Dark Money
ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตผู้บริหารบ.จีน ส่อโดนโทษประหาร ปมขายความลับเรือบรรทุกเครื่องบิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติวิจารณ์นครดูไบเป็นสวรรค์การฟอกเงิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่จีน เจอข้อครหาฉ้อโกงราคาชิ้นส่วนโดรน 4.6 พันล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อเกม Fortnite กลายเป็นเครื่องมือฟอกเงินของอาชญากรไซเบอร์?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบ.ส่งเสบียงให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกสอบปมฉ้อโกงสัญญา 8 พันล.เหรียญ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก