คณบดีเภสัช จุฬาฯ คาดเริ่มวิจัยกัญชาใช้การแพทย์ พ.ค. 62
คณบดีเภสัชฯ จุฬา เชิญ ‘อ.เดชา’ พร้อมหน่วยงานรัฐ-5 มูลนิธิ หารือวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ เริ่มได้ พ.ค. 62 คาดเสร็จภายใน 2-3 เดือน ‘ปานเทพ’ ชี้กม.ไม่ตอบโจทย์ ขาดความชัดเจน ต้นเหตุคนขึ้นทะเบียนน้อย จากคาดการณ์ผู้ใช้ใต้ดิน 2 ล้านคน
วันที่ 18 เม.ย. 2562 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ 5 มูลนิธิ ประกอบด้วย มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิสุขภาพไทย ประชุมหารือเครือข่ายการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ณ ห้อง 208 ชั้น 2 อาคารโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลการหารือเครือข่ายการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังพ้นกำหนดวันนิรโทษกรรม 19 พ.ค. 2562 วัตถุประสงค์ระยะสั้นเพื่อติดตามการใช้และวิเคราะห์สถานการณ์การใช้น้ำมันกัญชาตามแนวทางของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญและศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
โดยกิจกรรมจะเริ่มในวันที่ 29-30 เม.ย. 2562 นายเดชาจะได้รับการอบรมการใช้กัญชาทันที เมื่อสมัครเป็นหมอพื้นบ้านเรียบร้อยแล้ว จากนั้นต้น พ.ค. 2562 อย.จะอนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการวิจัย ซึ่งจะเก็บข้อมูลไปข้างหน้า และข้อมูลที่มีอยู่แล้วทั้งในส่วนของนายเดชา และศ.นพ.ธีระวัฒน์ พร้อมกับส่งข้อเสนอเรื่องจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์กลาง พ.ค. 2562
อีกทั้ง คณะกรรมการการแพทย์แผนไทย คณะกรรมการจังหวัดหรือสภาการแพทย์แผนไทย จะรับข้อเสนอตำรับกัญชาของนายเดชาไปพิจารณาให้เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม และจะขอใช้ของกลางเพื่อผลิตน้ำมันกัญชาสำหรับการวิจัยจากสำนักงาน ป.ป.ส. โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณจากการสนับสนุนของสกว. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งนี้ นายเดชายินดีมอบความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยทั้งหมดให้เป็นสมบัติของสาธารณะต่อไป
ส่วนวัตถุประสงค์ระยะกลางและยาว คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ทีมวิจัยจะนำไปพัฒนาข้อเสนอการวิจัยต่อไปอีก ทั้งในเรื่องการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านสายพันธุ์ องค์ประกอบสารออกฤทธิ์ในกัญชา และการวิจัยต่อยอดพัฒนาการใช้น้ำมันกัญชาตามแนวทางของนายเดชาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการสังเคราะห์องค์ความรู้จากกรณีของนายเดชาตามแนวทางมนุษยวิทยาด้วย
“หากดูจากไทม์ไลน์จะเริ่มการวิจัยได้ประมาณ พ.ค. 2562 และคาดว่าโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นประมาณ 2-3 เดือน แต่ในเบื้องต้นจะมีการนำร่องการวิจัยก่อน โดยได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อย. ป.ป.ส. กรมการแพทย์แผนไทยฯ ทำงานร่วมกันให้โครงการวิจัยเดินหน้าเร็วที่สุด” ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร กล่าว และว่า ส่วนกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคนั้น ให้เป็นหน้าที่ของ อย. ป.ป.ส. และกรมการแพทย์แผนไทยฯ เนื่องจากจะมีการประเมินผลกระทบของกฎหมายอยู่ แล้วหลังจากนั้นเชื่อว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายจะชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นกฎหมายกับการวิจัยว่า ปัจจุบันมีคนขึ้นทะเบียนกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อการแพทย์ประมาณ 1,000 คน แต่เชื่อว่า ยังมีคนแอบใช้กัญชาอยู่อีกราวสูงสุด 2 ล้านคน จึงเห็นว่า มีคนมาขอขึ้นทะเบียนน้อยมาก แม้กระทั่งส่วนของนายเดชา ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประชากรที่มีการแอบใช้น้ำมันกัญชา สะท้อนว่าหากปล่อยให้ใช้หรือมีขั้นตอนไม่สามารถหาทางออกได้ คนทั้งหมดจึงเป็นคนส่วนใหญ่ใช้อยู่ใต้ดิน และไม่สามารถมีคุณภาพความปลอดภัยหรือความเหมาะสมด้านราคาและคุณภาพของผลิตภัณฑ์
“คนส่วนใหญ่ไม่มาขึ้นทะเบียน ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้นิรโทษกรรมได้แล้ว เพราะยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเหตุการณ์หลัง 19 พ.ค. 2562 จะมีอิสรภาพแบบไหน ซึ่งเรื่องลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายยังไม่ตอบโจทย์และขาดความชัดเจน”
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า วิธีที่ทำได้ คือ ต้องทำกรณีของนายเดชาเป็นตัวอย่างเร็วที่สุดว่าสามารถเข้าสู่กระบวนการวิจัย ดูแลเรื่องความปลอดภัย และเข้าสู่กระบวนการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ รัฐต้องคิดถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายให้ผู้ป่วยมีสิทธิเข้าถึงยาได้ ในขณะที่รัฐยังไม่สามารถอำนวยปริมาณความต้องการกัญชาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้จึงต้องแก้ไขกฎหมายให้คล่องตัว ยืดหยุ่น และผู้ป่วยมีสิทธิเข้าถึงยาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกันที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงาน ก.พ. นายวัฒนา โมสิกมาศ ประธานสภากัญชาแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้ขอรับความสนับสนุนการจัดตั้งสภากัญชาแห่งประเทศไทย ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี และต้องให้เกษตรกรและประชาชนมีสิทธิร่วมลงทุนหรือปลูกกัญชาในนามสหกรณ์หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่บ้านละ 1-3 ไร่ ในปีแรก จัดตั้งศูนย์บำบัดและรักษาผู้ป่วยและผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัญชาในทุกอำเภอของประเทศ ตลอดจนจัดตั้งคณะกรรมการกัญชาแห่งชาติ เพื่อควบคุมและดูแลทั้งระบบด้วย .
อ่านประกอบ:อย. เผยแจ้งครอบครองกัญชาภายใน 19 พ.ค.62 ไม่ต้องรับโทษ
ป.ป.ส. ชี้รัฐ-มูลนิธิข้าวขวัญ ตีความคนละมุม ครอบครอง ‘กัญชา’ ช่วงนิรโทษฯ
‘เดชา’ ยันแจกน้ำมันกัญชา เป็นสิทธิพื้นฐาน อยู่ช่วงนิรโทษกรรม 90 วัน
คำแถลงทางการ 'เดชา ศิริภัทร' กรณีจับกุมมีกัญชาใช้ทางการเเพทย์
อย. ยืนยัน กรณีกัญชาไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน
ป.ป.ส. ปัดเจาะจงจับมูลนิธิข้าวขวัญ ครอบครอง 'กัญชา' -ยังไม่ดำเนินคดี 'เดชา ศิริภัทร'
หน.พรรคภูมิใจไทย ออกโรงขอเป็นผู้ประกันตัว-สู้คดีให้ อ.เดชา ศิริภัทร ปธ.มูลนิธิข้าวขวัญ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/