นักวิชาการเผยกรมป่าไม้เตรียมออกระเบียบ หลังกม.ปลดล็อกไม้หวงห้าม
นักวิชาการ มก. เเนะให้ติดตามการออกระเบียบของ 'กรมป่าไม้' ต้องเสร็จภายใน 1 ปี หลังกม.ปลดล็อก 18 รายชื่อ ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ ไม่ถือเป็นไม้หวงห้าม ขณะที่พงศา ชูแนม ชี้ 78 ปี ขยับได้แค่ 1 ก้าว ระบุมีอะไรซ่อนเร้น
สืบเนื่องจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2562 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (อ่านประกอบ:ปลดล็อกแล้ว พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ ไม่เป็นไม้หวงห้าม)
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าหลังจากนี้ต้องติดตามเกี่ยวกับการออกระเบียบของกรมป่าไม้ภายใต้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี กรณีที่ไม่แล้วเสร็จ จะต้องชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากรมป่าไม้ร่างเสร็จไว้แล้ว และอยู่ในกระบวนการเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็น
ทั้งนี้ ควรติดตามการออกระเบียบของกรมป่าไม้เป็นระยะ ๆ เพราะมีระเบียบหลายฉบับ โดยไม่ต้องรอให้เสร็จก่อน จึงค่อยมาวิจารณ์กัน แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรติดตามอย่างต่อเนื่อง
“เดิมทีในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ฉบับเดิม กำหนดให้ ‘ไม้สัก’ และ ‘ไม้ยาง’ ปลูกขึ้นที่ใดในราชอาณาจักรให้ถือเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ฉะนั้นการทำไม้ต่าง ๆ จึงมีระเบียบมาเกี่ยวข้องค่อนข้างเข้มงวด ภายหลังเมื่อไม้สองชนิดนี้ ไม่ถือเป็นไม้หวงห้ามแล้ว การทำไม้ก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อีกแล้ว” คณบดีคณะวนศาสตร์ กล่าว และว่า อีกประการหนึ่ง มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 106/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กำหนดให้ไม้ 16 รายชื่อ ได้แก่ ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ไม่ถือเป็นไม้หวงห้าม กรณีไม่ขึ้นในป่า
ผศ.ดร.นิคม กล่าวย้ำว่า วันนี้ไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 7 คือ ไม้สัก และไม้ยาง และไม้ 16 รายชื่อ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 106/2557 รวมทั้งสิ้น 18 รายชื่อ จึงไม่ใช่ไม้หวงห้าม หากปลูกขึ้นในที่ดินเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิการครอบครอง ฉะนั้นมั่นใจได้เลย อย่างไรก็ตาม สุดท้ายทั้งหมดขึ้นอยู่กับรายละเอียดการดำเนินการของระเบียบกรมป่าไม้ที่จะออกมา
ส่วนนายพงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ ในฐานะที่ต่อสู้เรื่องนี้มา 13-14 ปี โพสต์เฟชบุค พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ว่า อย่าเพิ่งดีอกดีใจ อย่าเพิ่งวางใจ และอย่าเพิ่งให้ใครตีกิน เพราะแม้ยกเลิกความเป็นไม้หวงห้าม แต่ยังถืออำนาจควบคุมบังคับไม่ให้แปรรูป จำหน่ายได้เสรี ทุกขั้นตอนยังต้องขออนูญาตจากกรมป่าไม้อยู่ นี่คือการหวงอำนาจและผลประโยชน์บนความไม่เชื่อประชาชน
ขณะที่การค้าและการประเมินมูลค่าในการรับรองไม้ให้ชอบด้วยกฏหมาย ยังไม่ให้เสรี ต้องให้รัฐหรือกลุ่มเอกชนรับรอง ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ในกฏหมาย แปลว่า ทุกอย่างต้องมีคนควบคุมกำกับการปลูกและจัดการต้นไม้อยู่
"ผมฐานะคนต่อสู้เรื่องนี้มา13-14ปี ขอบคุณ รมต.ทส.ขอบคุณสนช.และผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ช่วยกันทำให้เราขยับได้ในก้าวสำคัญ แต่ผมยังไม่พอใจ..เพราะเป็นกาาขยับก้าวเดียวหลังจากนิ่งมานานกว่า78ปี ยังไม่พอใจเพราะยังมีเงื่อนงำเงื่อนไขที่ใช้ควบคุมบังคับให้กระดิกก้าวต่อไปยากอยู่"
อ่านประกอบ:ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557
ปลดล็อกมาตรา 7 กับโจทย์แก้กฎหมาย 'ป่าไม้' ไทยที่ยังรอคำตอบ
ธ.ก.ส. เริ่มแล้ว ให้สมาชิกธนาคารต้นไม้ ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ลุ้นปลายกันยาฯ ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
'เอ็นนู' ชี้กฎกระทรวง นำ 'ไม้เศรษฐกิจ' ค้ำเงินกู้ให้เฉพาะกลุ่มวิสาหกิจ-สหกรณ์
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ....
‘นักวิชาการ’ ชงรื้อทิ้งมาตรา 7 กม.ป่าไม้ ยันอุปสรรคขวางปลูกไม้ยืนต้นในไทย
ภาพประกอบ:https://puechkaset.com
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/