ปลดล็อกแล้ว พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ ไม่เป็นไม้หวงห้าม
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 โดยสาระสำคัญ อยู่ที่มาตรา 7 ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม
วันที่ 16 เมษายน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับสาระสำคัญ อยู่ที่มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม”
มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 2/1 การรับรองไม้ มาตรา 18/1 มาตรา 18/2 และมาตรา 18/3 ของหมวด 1 การทำไม้และเก็บหาของป่า แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
การรับรองไม้
มาตรา 18/1 เพื่อประโยชน์ในการจำแนกแหล่งที่มาของไม้ เจ้าของไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือเจ้าของไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอหนังสือรับรองไม้ก็ได้ การแจ้งและการออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
มาตรา 18/2 ผู้ใดประสงค์จะขอหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และถ่านไม้ เพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และเสียค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองตามที่กรมป่าไม้กำหนด การขอและการออกหนังสือรับรอง และอัตราค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
มาตรา 18/3 การออกหนังสือรับรองตามมาตรา 18/1 หรือมาตรา 18/2 กรมป่าไม้จะกำหนดให้สถาบันหรือองค์กรอื่นดำเนินการแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ในการนี้ให้ถือว่าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันหรือองค์กรอื่นที่ดำเนินการแทนพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามความในส่วนนี้”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 25 ผู้ใดนำไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้ามเข้าเขตด่านป่าไม้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่เป็นการนำไปเพื่อใช้สอยส่วนตัวภายในเขตท้องที่จังหวัดที่ทำไม้นั้น หรือเป็นการนำไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง เข้าเขตด่านป่าไม้ไปใช้สอยส่วนตัวไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม”
มาตรา 9 บรรดาไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ที่ขึ้นในป่า ให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จนกว่าจะได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการกำหนดให้ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจที่ขึ้นในที่ดินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ป่า เป็นไม้หวงห้าม จึงทำให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้ในที่ดินดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ดังนั้น เพื่อให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้นเป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิดภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้เพื่อกำ หนดให้ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม
รวมทั้งกำหนดเพิ่มหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองไม้เพื่อประโยชน์ในการจำแนกแหล่งที่มาของไม้ ซึ่งเป็นมาตรการในการป้องกันการนำไม้ที่ลักลอบทำออกจากป่ามาสวมสิทธิว่า เป็นไม้ที่ทำออกจากที่ดินดังกล่าว และเพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2562/A/050/T_0106.PDF
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557
ปลดล็อกมาตรา 7 กับโจทย์แก้กฎหมาย 'ป่าไม้' ไทยที่ยังรอคำตอบ
ธ.ก.ส. เริ่มแล้ว ให้สมาชิกธนาคารต้นไม้ ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ลุ้นปลายกันยาฯ ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
'เอ็นนู' ชี้กฎกระทรวง นำ 'ไม้เศรษฐกิจ' ค้ำเงินกู้ให้เฉพาะกลุ่มวิสาหกิจ-สหกรณ์
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ....
‘นักวิชาการ’ ชงรื้อทิ้งมาตรา 7 กม.ป่าไม้ ยันอุปสรรคขวางปลูกไม้ยืนต้นในไทย