'เอ็นนู' ชี้กฎกระทรวง นำ 'ไม้เศรษฐกิจ' ค้ำเงินกู้ให้เฉพาะกลุ่มวิสาหกิจ-สหกรณ์
'เอ็นนู' มั่นใจ ก.พาณิชย์ออกกฎกระทรวง 'ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ' ค้ำประกันกู้เงินได้ ตามข้อเสนอ คกก.ปฏิรูปฯ ด้านสังคม เป็นประโยชน์เกษตรกร หลักเกณฑ์ต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจ-สหกรณ์ ปัจเจกบุคคลไม่ได้ ลดความเสี่ยงธนาคาร
สืบเนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เตรียมออกกฎกระทรวงรับรองให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งหมด 58 ชนิด สามารถใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินได้ โดยเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน ก.ย. 2561
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าการออกกฎกระทรวงรับรองไม้ยืนต้นให้ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินได้นั้น ถือเป็นความหวังของเกษตรกร ทั้งนี้แต่เดิมสถาบันการเงินไม่สามารถทำได้ เพราะยังขาดกฎหมายรองรับ ทำให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งได้รับเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรค่อนข้างมากจึงได้มีข้อเสนอเรื่องดังกล่าวและขณะนี้กระทรวงพาณิชย์รับทราบแล้ว
“กระทรวงพาณิชย์ดูเรื่องกฎกระทรวง โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์สามารถประกาศสิ่งที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มเติมได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนด” กรรมการปฏิรูปฯ กล่าว และว่า ที่ประชุมมีการพูดคุยกันหลายครั้ง เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะชาวบ้านสามารถนำไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยิ่งอายุมาก มูลค่ายิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นแทนที่หลักประกันจะเสื่อมลง กลับเพิ่มมูลค่าขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงให้แก่สถาบันการเงินได้
ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ในร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอ ครม.นั้น นายเอ็นนู ระบุเกษตรกรได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เช่น เดิมทีเกษตรกรมีที่ดิน 10 ไร่ นำมาจำนองได้ไร่ละ 10,000 บาท รวม 1 แสนบาท แต่หากที่ดินมีไม้ยืนต้นเศรษฐกิจอยู่ด้วย จะสามารถนำมาคำนวณเพื่อขออนุมัติวงเงินกู้เพิ่มสูงขึ้นได้อีก จากเดิมที่ทำไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรผิดนัดชำระ สถาบันการเงินมีสิทธิยึดที่ดินและต้นไม้ได้ แต่จะต้องรวมตัวในลักษณะสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้เท่านั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจะเป็นแบบปัจเจกบุคคลไม่ได้
"ปัจจุบันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ทำอยู่ก่อนแล้ว โดยให้รวมเป็นชุมชนและธนาคารต้นไม้ เพื่อช่วยดูแลและส่งเสริมให้ชาวบ้านตรวจสอบซึ่งกันและกัน มีจีพีเอส มีโฉนดต้นไม้ เหมือนโฉนดที่ดิน สถาบันการเงินจึงจะรับพิจารณา ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เดินมาหาได้เลย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการดูแล ขณะที่สถาบันการเงินพาณิชย์รายอื่นเห็นด้วยกับกระบวนการนี้ เพราะไม่มีคนเช่นกัน จึงสนับสนุนให้ชุมชนรวมตัวและพิสูจน์ตนเอง เพื่อช่วยลดภาระได้” กรรมการปฏิรูปฯ กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามบัญชีทั้งหมด 58 ชนิด มีดังต่อไปนี้ 1.สัก 2.พะยูง 3.ชิงชัน 4.กระซิก 5.กระพี้เขาควาย 6.สาธร 7.แดง 8.ประดู่ป่า 9.ประดู่บ้าน 10.มะค่าโมง 11.มะค่าแต้ 12.เคี่ยม 13.เคี่ยมคะนอง 14.เต็ง 15.รัง 16.พะยอม 17.ตะเคียนทอง 18.ตะเคียนหิน 19.ตะเคียนชันตาแมว 20.ไม้สกุลยาง 21.สะเดา 22.สะเดาเทียม 23.ตะกู 24.ยมหิน 25. ยมหอม 26.นางพญาเสือโคร่ง 27.นนทรี 28.สัตบรรณ 29.ตีนเป็ดทะเล 30.พฤกษ์ 31.ปีบ 32.ตะแบกนา 33.เสลา 34.อินทนิลน้ำ 35.ตะแบกเลือด 36.นากบุด 37.ไม้สกุลจำปี 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดิยาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46. จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กะทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไฝทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม .
ภาพประกอบ:ภาพป่าเศรษฐกิจ -http://lookforest.com/00_newlook/article_person.php?id_send=28
ภาพเอ็นนู ซื่อสุวรรณ -ไทยพับลิก้า