เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้างไม่ได้ คุยกับ “ปริญญา หอมเอนก”เมื่อสิงคโปร์เอาจริงจัดข่าวปลอม
“ข่าวปลอม ผมมองเป็นอาชญากรรม หรืออย่างข่าวกินกาแฟแก้วละเป็นหมื่น คนก็เชื่อ และแชร์ต่อกันเลย อันนี้ก็ต้องดูเจตนา การมาอ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์หมด โพสต์ข่าวปลอมไปวันหนึ่ง วันต่อมาจะมาขอโทษ ไม่มีเจตนา ไม่ได้”
รัฐบาลสิงคโปร์ ถือเป็นประเทศล่าสุดเตรียมที่จะออกกฎหมายป้องกันการเผยแพร่ข่าวลวงทางออนไลน์โดยเจตนา (The Protection from Online Falsehoods and Manipulation Bill) กำหนดบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ปรับ 1 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือ 23 ล้านบาท
มาตรการควบคุมการแพร่กระจายของข่าวลวงอย่างเข้มงวดเช่นนี้ ในมุมมองของ “ปริญญา หอมเอนก” กรรมการและเลขานุการ สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ ซึ่งให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวอิศรา” ชี้ชัดว่า ที่สิงคโปร์ทำได้ เพราะระบบการปกครองมีลักษณะ “เผด็จการ” (รัฐสภา) เขาจึงสามารถออกกฎหมายที่มีการลงโทษอย่างหนักๆ ได้ ข่าวปลอม ข่าวลวง หรือข่าวไม่จริง (Fake news) ทำให้คนในสังคมเข้าใจผิด เกิดความแตกแยก และทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ความจริงก็ควรได้รับโทษ
อ.ปริญญา บอกว่า ปัจจุบันนี้มีอีกหลายประเทศทั่วโลกหันไปใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอม อย่างเช่น ในมาเลเซีย หรือเยอรมณี ก็จับ และปรับหนัก ติดคุกหัวโตเช่นกัน เพราะเขามองว่า ข่าวปลอมเหล่านี้ไม่ได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ไปทำลายเศรษฐกิจ สังคม และทำลายความมั่นคง
“ข่าวปลอม ผมมองเป็นอาชญากรรม หรืออย่างข่าวกินกาแฟแก้วละเป็นหมื่น คนก็เชื่อ และแชร์ต่อกันเลย อันนี้ก็ต้องดูเจตนา การมาอ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์หมด โพสต์ข่าวปลอมไปวันหนึ่ง วันต่อมาจะมาขอโทษ ไม่มีเจตนา ไม่ได้”
เมื่อถามถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากกว่าสิงคโปร์ หากจะออกกฎหมายแบบนี้ออกมา เขาเชื่อว่า ทำได้ลำบาก หรือหากจะออกกฎหมายก็ต้องให้ความรู้คนก่อน เพราะเรามีตัวอย่างจาก พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ แล้ว แม้กฎหมายดีมาก แต่ไม่มีการให้ความรู้คนก่อน ก็เกิดการต่อต้าน
“การออกกฎหมายมาแบบสิงคโปร์ เห็นช้างขี้ขี้ตามช้างคงไม่ได้ จำคุก 10 ปี ปรับ 23 ล้านบาท คนๆ หนึ่งรีทวิตข่าวปลอม โดนปรับขนาดนี้เลยหรือ ผมมองว่าเกินไป ต้องดูลักษณะความเสียหาย แตกต่างจากคดีหมิ่นประมาท (เรื่องจริง ทำให้เขาเสียหาย)”
ส่วนกฎหมายที่ใกล้เคียง ที่จะมาสู้ข่าวลวง ข่าวปลอม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ มองว่า วันนี้ยังไม่มี แม้ว่า บ้านเราจะมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ เราก็ยังไม่มีการตีความว่า การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ กับข่าวปลอมเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่
“ผมมองว่า คนเต้าข่าว ต้นตอข่าวลวง ข่าวปลอม นี่ต้องโดนหนัก ส่วนคนรีโพสต์ หรือรีทวิต เพราะหลงเชื่ออยากให้ดูที่เจตนา ซึ่งประเทศที่มีประชาธิปไตยเขารับไม่ได้กับสิ่งลวงที่จงใจสร้างขึ้นมา และจงใจปล่อยในวงกว้าง ถามว่า นี่เป็นอาชญากรรมหรือไม่”
และเมื่อถามถึงบทบาทในการทำงานเพื่อการต่อสู้กับข่าวลวง เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ใช่หน้าที่ของรัฐบาลหรือไม่ อ.ปริญญา มองว่า วันนี้ยังไม่มีเจ้าภาพมารับผิดชอบด้านนี้โดยตรง
“ การปล่อยข่าวปลอม แล้วตลาดหุ้นตกเละเทะ คุณบอกจะมีปฏิวัติ คนเทขายหุ้นหมด ในที่สุดไม่มีปฏิวัติ รวมถึงยังทำให้คนรู้สึกเกลียดรัฐบาล เกลียดสถาบัน ซึ่งไม่ได้นานๆ ออกมาที แต่จะออกแทบทุกวันในรูปแบบข่าวล้างสมอง ปักความคิดทั้งวันทั้งคืน ถามว่า ควรโดนหรือไม่ เพราะสร้างความปั่นป่วนให้ประเทศชาติ ฉะนั้นการตีความเรื่องความมั่นคง หรือการก่อความไม่สงบ ต้องชัดเจน”
สำหรับแพลตฟอร์ม (Platform ) ที่พบข่าวลวง ข่าวปลอมมากสุด อ.ปริญญา ชี้ว่า เจอบนเฟชบุ๊กเกิน 50% ตามด้วยไลน์ แม้แต่ยูทิวป์ยังมี
สถิติที่คนไทยอยู่กับโซเชี่ยลมีเดีย 6.3 ชั่วโมงต่อวัน เล่นเฟชบุ๊ก 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital Literacy) ไม่เหมือนกันนั้น อ.ปริญญา เสนอแนะทิ้งท้าย สังคม 4G ชอบเสพสั้น เสพเร็ว เชื่อเร็ว โลกที่ความเร็วสูงดั่งสายฟ้าฟาด ทำให้ไม่มีเวลามาตั้งสติ ฉะนั้นตัวผู้บริโภคสื่อเองต้องสโลว์ไลฟ์ สโลว์ดาวน์
ส่วนรัฐบาลต้องให้ความรู้เกี่ยวกับข่าวปลอม ชัวร์ก่อนแชร์ สื่อสารกับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ทันท่วงที เชื่อว่า ข่าวปลอมพวกนี้จะหายไป แต่หากสังคมไทยยังเชื่อง่าย หลอกง่าย มีอคติ เกลียดคนนี้อยู่แล้ว ข่าวปลอมจะชอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ส่องกฎหมายจัดการข่าวปลอม Fake News ในหลายประเทศ
ดร.สุรชาติ ฉะกรธ.ขับรถแหกโค้ง ส่งผลคะแนนเลือกตั้งคำนวณออกไม่ได้
4 องค์กรวิชาชีพฯ เรียกร้อง 'เสรีภาพบนความรับผิดชอบ' สกัดกั้นข่าวปลอม