ทำไมข่าวลวงจึงชนะข่าวจริง?
"...คุณสมบัติสำคัญของข่าวลวงคือ มักเป็นข่าวที่มีความใหม่ (novelty) ที่คนไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้มีโอกาสสูงที่คนจะแชร์กันต่อ..."
Science วารสารวิชาการระดับโลก ได้ตีพิมพ์งานวิจัยหนึ่งในเดือนมีนาคม 2018
เค้าทำการศึกษาธรรมชาติของข่าวลวงในเครือข่ายสังคมหรือโลกออนไลน์ โดยทบทวนข่าวที่เผยแพร่กันใน Tweeter ตั้งแต่ปี 2006-2017 จำนวนกว่า 126,000 ชิ้น ที่ได้รับการ retweet ไปโดยคนจำนวนกว่า 3 ล้านคน คิดเป็นจำนวนกว่า 4.5 ล้านครั้ง
ข่าวทั้งหมดถูกตรวจสอบว่าจริงหรือเท็จ โดยความร่วมมือกันของ 6 องค์กร มีอัตราความเห็นตรงกันทุกองค์กรร้อยละ 95-98
พบว่า ข่าวลวงนั้นมีความสามารถทำให้คนเผยแพร่ไปได้ไกลกว่า มากกว่า และนานกว่าข่าวจริง ไม่ว่าจะเป็นข่าวหมวดใดก็ตาม ทั้งการเมือง วิทยาศาสตร์ อาชญากรรม ฯลฯ
ข่าวลวงจะสามารถทำให้คน retweet หรือส่งต่อได้มากกว่าข่าวจริงถึงร้อยละ 70
คุณสมบัติสำคัญของข่าวลวงคือ มักเป็นข่าวที่มีความใหม่ (novelty) ที่คนไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้มีโอกาสสูงที่คนจะแชร์กันต่อ
นอกจากนี้ เมื่อเทียบลักษณะการแพร่ข้อมูลของมนุษย์ผ่าน tweeter แล้วพบว่าอัตราสูสีกับการเผยแพร่ข้อมูลโดยหุ่นยนต์หรือระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ ต่างกันตรงที่การแพร่โดยน้ำมือมนุษย์นี้ยากในการสร้างระบบกลั่นกรองตรวจสอบก่อนส่ง
ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงเน้นย้ำถึงต้นเหตุหลักของปัญหาข่าวลวงในสังคมว่ามาจาก "มนุษย์" นั่นเอง
อ้างอิง: Vosoughi S et al. The spread of true and false news online. Science. March 2018;359:1146-51.
ที่มา : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://digitalmarketingwow.com