ดร.สุรชาติ ฉะกรธ.ขับรถแหกโค้ง ส่งผลคะแนนเลือกตั้งคำนวณออกไม่ได้
ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เปรียบเลือกตั้งไทยรอบนี้ เป็นไทยเบร็กซิท เหมือนอังกฤษ เห็นเงื่อนไขอายุคน -พื้นที่ ระบุชัด วันนี้สีเสื้อเหลืองแดงสลายลงไปมาก กระแสทักษิณแผ่ว แต่การเมืองชุดใหม่สังคมไทยต้องคิดต่อ
วันที่ 5 เม.ย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2562 โดยภายในงานมีเวทีเสวนาหัวข้อ "อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง" ณ ห้อง SC 3005 ชั้น 3 ตึกเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ (SC) ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต วิทยากรประกอบด้วย ศ.วุฒิสาร ตันไชย สถาบันพระปกเกล้า ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ น
ผศ. ดร.ปริญญา กล่าวถึงการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง เรื่องใหญ่คือใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่สูตรในการคำนวณก็มี 2 สูตรที่ส่งให้ผลเลือกตั้งแตกต่างกัน โดยระบบเลือกตั้งใช้ทุกคะแนน ทุกพรรคได้ส.ส.ตามสัดส่วน ถือเป็นครั้งแรกที่เลือกตั้งเสร็จแล้วไม่รู้พรรคการเมืองได้ ส.ส.เท่าไหร่
ผศ. ดร.ปริญญา กล่าวว่า การคำนวณที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จึงเปิดหนทางของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการคำนวณ และแนวทางในการตีความ จึงอยู่ที่ กกต. ซึ่งต้องระวังการทำหน้าที่ให้ไม่ถูกมองว่า เลือกข้าง เลือกฝ่าย ทำอย่างไรให้เกิดความเที่ยงธรรม ทุกอย่างต้องว่ากันตามกติกา ตามเนื้อผ้าจะดีที่สุด
"ระบบเลือกตั้งเรื่องแรกต้องมีการแก้ไข เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนถูกบังคับเลือกอย่างหนึ่งอย่างใด พร้อมกันนี้เชื่อว่าการเมืองยังไม่ถึงทางตัน ขอให้เดินไปตามกติกา ประกาศผลการเลือกตั้งก็ประกาศให้ครบอย่ากั๊กเอาไว้"
ด้านศ. ดร.สุรชาติ กล่าวถึงความน่ากลัวหลังการเลือกตั้ง คือการนับคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ผลการเลือกตั้งที่ออกไม่ได้ เดดล็อกทันที ควรมีการตั้งกรรมการกลางขึ้นมา มิเช่นนั้นบ้านเมืองจะเดินไม่ได้ เพราะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขับรถแหกโค้ง ผลการเลือกตั้งออกมาไม่ได้ การเมืองรอบนี้ เราจะเห็นมีชุดความคิดที่สู้กัน ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเผด็จการ และฝั่งเสรีนิยม อำนาจนิยม และอนุรักษ์นิยม
"การเลือกตั้งไทยรอบนี้ อยากจะเปรียบเทียบกับเบร็กซิท (Brexit) เป็นไทยเบร็กซิท เหมือนอังกฤษ เราจะเห็นเงื่อนไขอายุคน และเงื่อนไขพื้นที่ บริบทไทยอายุไขอายุคนคล้ายกัน คนอายุน้อยโหวตให้อังกฤษอยู่ คนอายุมากโหวตออก วันนี้ต้องยอมรับเราอยู่กับสังคมอีกชุดหนึ่งแล้ว" ศ. ดร.สุรชาติ กล่าว และว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ผมขอเรียกว่า 14 ตุลาฯ 4.0 เป็นการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ สภาพไม่ต่างกับ เหตุการณ์ 'อาหรับ สปริง' ปี 2554 ไทย กรุงเทพ กับ อียิปต์ ไคโร มีภาพบางภาพคล้ายกัน เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้กับรัฐบาลทหาร มีการใช้เครื่องมือสื่อสารชุดใหม่ เฟชบุ๊ก ทวิตเตอร์ เปิดพื้นที่การเมืองที่เป็นไซเบอร์ ต่อสู้กับรัฐบาลทหาร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน การเมืองไทยเลยเรื่องเสื้อเหลือง-แดง ขณะที่กระแสทักษิณก็แผ่วลง แต่สิ่งที่เราเห็น คือ การเมืองชุดแบบนี้น่าคิดต่อ
"ตัวเลขการนับคะแนนเป็นปมที่ไปต่อไม่ได้ เพราะสถาปนิกใหญ่ที่ออกแบบ ทำให้นึกถึงสนธิสัญญาฝรั่งเศสเรื่องการตีความ สุดท้ายต้องการคนชี้ขาด หากการออกแบบมีปัญหาโจทย์จากนี้ ตั้งรัฐบาลได้ ตู่หนึ่งก็เป็นนายกฯ ตั้งไม่ได้ตู่นี้ก็เป็นนายกฯ หรือโมฆะตู่คนเดิมก็เป็นนายกฯ แปลว่า โจทย์นี้ออกแบบเพื่อ 3 ตู่ ในความมีปัญหาคนที่รับผลบาปชุดใหญ่ คือ กกต. กลายเป็นแพะรับบาป หรือแพะบูชายันต์ ซึ่งอาจต้องมีการเลือกตั้งใหม่
ผมคิดว่าวันนี้ความละเอียดอ่อนของการเมืองไทย จากเดิมกองทัพไม่เคยออกมาพูดอะไร แต่การเลือกตั้งรอบนี้ออกมาพูด 4 ครั้ง 4 ประเด็น แสดงว่า ทหารเสนอตัวเป็นผู้จัดการทางการเมืองใช่หรือไม่ แปลว่า บทบาททหารกับการเมืองเป็นอะไรที่ต้องคิด ผมคิดว่า ไม่ใช่ชัยชนะของทหาร แต่เป็นทุกขลาภของทหาร โจทย์ชุดนี้ต้องคิดต่อ
และในระยะที่ผ่านมาเราจะสังเกตุเห็นการปลุกกระแสขวาจัด ดังนั้น ผมไม่อยากเห็น 6 ตุลาฯ อีกรอบ ซึ่งสนามรบครั้งนี้อยู่บนไซเบอร์ สัญญาณแบบนี้ไม่เป็นบวกกับสังคมไทย เราพูดถึง FAKE NEWS ก็ถูกสร้างขึ้นในสนามไซเบอร์โดยไม่มีการตรวจสอบ พวกเสพชุดแบบนี้ อ่านแล้วอิน กลายเป็นผู้ปฏิบัติการ ผู้ก่อการร้ายได้เลย"
ศ. ดร.สุรชาติ ยังกล่าวถึงรูปแบบการประท้วงชุดใหม่ของโลก เสื้อแจ็กเก็ทสีเหลืองที่ฝรั่งเศส ออกมาประท้วงทุกวันเสาร์ พบว่า การประท้วงไม่ได้มาจากการเมือง แต่มาจากปัญหาเศรษฐกิจ
ขณะที่สถานการณ์การเมืองของไทยที่เดาอะไรก็ไม่ได้ คาดไปข้างหน้าก็ไม่ได้ การคำนวณส.ส.ผ่านด่านนี้ไม่ได้ ตั้งรัฐบาล เปิดสภาไม่ได้ ศ. ดร.สุรชาติ ตั้งคำถาม ตกลงประเทศจะเอาอย่างไร เราจะเกิดสภาวะขาดเสถียรภาพและความไม่แน่นนอน
"โลกล้อมเรา ใครที่เป็นนายกฯ รอบนี้อาเซียนนั่งรอเราอยู่ เพราะไม่มีประธานอาเซียน หากปล่อยไปแบบนี้ภาพลักษณ์ไทยจะกลายเป็นคนป่วยที่อยู่ในห้องไอซียู เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหา"
สุดท้าย ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ คือการคนที่ออกมาใช้สิทธิ์มาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งทำให้ความชอบธรรมการเลือกตั้งสมบูรณ์ แต่ก็ไม่คิดว่า หลังการเลือกตั้ง จะมีคณิตศาสตร์พิสดารมีหลายแบบมาก ไม่มีใครผิดเลย สังคมอาจต้องกลับไปหาแล้วใครจะเป็นคนชี้ขาด
" ที่ผมเป็นห่วง คือ หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมของสังคมกำลังถูกสั่นคลอน หากตัดสินแล้วเกิดข้อกังขา จะมีผลต่อสังคมระยะยาว ที่ไปไกลกว่าความชอบธรรมการได้นายกฯ วันนี้แค่ตัดสินให้ใครได้ ใครเสีย เพียงสังคมมีข้อกังขาก็มีปัญหาแล้ว ผมเชื่อว่าสูตรการคิด คิดมาก่อนแล้ว รู้แล้วว่าคิดอย่างไร"
ศ.วุฒิสาร กล่าวแสดงความเป็นห่วง ระหว่างการเลือกตั้ง มีข้อโต้แย้ง วาทกรรม ซึ่งคาดหวังว่า เมื่อผลการเลือกตั้งจบ ควรจบ แต่เมื่อจบการเลือกตั้ง กลับรุนแรงมากขึ้น หวั่นว่า จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะคนยิ่งเสพซ้ำ ยิ่งเชื่อ นี่คืออันตรายของสังคม หลายเรื่องไม่จริง มีเพียงนิดเดียวกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
ส่วนระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ตกลงเรื่องนี้เหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ สะท้อนเจตนารมณ์จริงหรือไม่จริง คะแนนไม่ตกน้ำจริงหรือไม่ โจทย์ที่เราต้องทบทวนการออกแบบ