ย้ำ กม.ไซเบอร์ไม่ละเมิดสิทธิ์ ขาดประชาสัมพันธ์ ทำปชช.เข้าใจผิด
ปลัดกระทรวงดีอี ชี้การออกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ร่างเสร็จตั้งแต่ปี 2557 กว่าจะออกเป็นกฎหมายได้ปี 2562 ทั้งปรับปรุง ทบทวน ทำประชาพิจารณ์หลายรอบมาก ย้ำชัดหลักๆ เน้นการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น ไวรัส มัลแวร์ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ระบบ หรือโครงข่ายของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศ ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ
วันที่ 12 มีนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดสัมมนา "รู้จักพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" ณ อาคารสโมสร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดงาน
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการออกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ร่างเสร็จมาตั้งแต่ปี 2557 กว่าจะออกเป็นกฎหมายได้ปี 2562 มีการปรับปรุง และทำประชาพิจารณ์หลายรอบมาก โดยหลักๆ มุ่งเน้นที่จะป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น ไวรัส มัลแวร์ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ระบบ หรือโครงข่ายของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศ (CII) ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ กระทบต่อการให้บริการประชาชน หรือความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
"กฎหมายไซเบอร์จะบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้เวลา 1 ปี ในการออกกฎหมายลูก" ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว และว่า ภัยความมั่นคงทางไซเบอร์ ก็เหมือนโรคติดต่อ หากไม่มีทำงานร่วมกัน ในที่สุดก็จะควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ภารกิจแรกของพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลกัน เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และสร้างมาตรการป้องกัน ลดความเสี่ยง และปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ โดยมีคณะกรรมการไปทำประมวลแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งมีการระบุความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์,หามาตรการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น,ตรวจสอบและเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์, มีมาตรการเผชิญเหตุ และมาตรการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยังกำหนดไว้ชัดเจนมาก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ หากใช้อำนาจทางละเมิด ต้องขอคำสั่งศาล และหากพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติมิชอบ มีโทษอาญา
ด้านนายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ กล่าวถึงพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวม ในอดีตเวลาเจอการแฮกข้อมูล หรือมีผู้ที่พยายามหาวิธีการ หรือหาช่องโหว่เจาะระบบ ไม่เคยมีเจ้าภาพ วันนี้มีแล้ว มีหน่วยงานถาวร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งจะออกกฎเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำให้หน่วยงานที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศต้องทำ ซึ่งพ.ร.บ.ไซเบอร์ ยังมีโทษอาญาสำหรับกรรมการที่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
"พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ไม่มีอะไรที่ละเมิดสิทธิของประชาชน ด้วยคำนิยามภัยคุกคามไซเบอร์ ก็คือ โค้ดหรือโปรแกรมที่เข้ามาประทุษร้ายกับระบบคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นประชาชนสบายใจได้" นายปริญญา กล่าว และว่า อนาคตจะมีการออกกฎหมายลูกมาอธิบายเพิ่มเติม
นายปริญญา กล่าวอีกว่า กฎหมายไซเบอร์ถือเป็นของใหม่สำหรับประชาชน การขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้หลายคนไม่เข้าใจ ช็อกไปบ้าง จึงอยากให้อ่านตัวกฎหมายตั้งแต่ต้นจะรู้ว่าเป็นเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ไม่ได้ให้อำนาจไปยึดคอมฯ บ้านประชาชน หรือล้วงลับจับยึด หากจะยึดก็ยึดไปตรวจไวรัส การแฮกข้อมูล
"เราไม่คิดว่าจะมีคนเข้าใจผิด หลังๆ กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ดังนั้นต้องประชาสัมพันธ์และให้ความรู้สังคมมากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม นายปริญญา กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ร่างขึ้นมาโดยมี Cybersecurity Act 2018 ของสิงคโปร์เป็นต้นแบบ อะไรที่เข้มไปเราตัดออก ฉะนั้น ใครที่เข้าใจว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ เป็นกฎหมายดักฟังนั้น ไม่ใช่ คนละเรื่องกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘นพ.ประวิทย์’หวั่นไทยเป็นศรีธนญชัย บิด กม.มั่นคงไซเบอร์ สร้างความไม่ไว้วางใจ
ผู้เชี่ยวชาญฯ เห็นพ้อง กม.มั่นคงไซเบอร์ 'คุ้มกัน' มากกว่า 'ควบคุม' พื้นที่ออนไลน์