- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- ‘นพ.ประวิทย์’หวั่นไทยเป็นศรีธนญชัย บิด กม.มั่นคงไซเบอร์ สร้างความไม่ไว้วางใจ
‘นพ.ประวิทย์’หวั่นไทยเป็นศรีธนญชัย บิด กม.มั่นคงไซเบอร์ สร้างความไม่ไว้วางใจ
'นพ.ประวิทย์' หวั่นอนาคต กม.มั่นคงไซเบอร์ถูกบิด จนเกิดความไม่ไว้ใจ เเนะตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมาจากผู้เกี่ยวข้องจริง พร้อมจับตากฎหมายลูก ให้สร้างการมีส่วนร่วมกว้างขวาง มีนักเทคนิค -นักสิทธิฯ
วันที่ 8 มี.ค. 2562 นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนาเรื่อง “ กฎหมายไซเบอร์กับผลกระทบต่อผู้บริโภค คุ้มครองหรือคุกคาม” จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ทุกอย่างในโลกอนาคตจะเป็นดิจิทัลเชื่อมต่อกันทั้งหมด ยกตัวอย่าง เมืองอัจฉริยะ (smart city) หากถูกโจมตี จะทำงานไม่ได้ ชีวิตเราจะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม ทุกรัฐ ไม่เฉพาะไทย ต้องการจัดการโลกดิจิทัล 2 ส่วน กล่าวคือ
-การจัดระเบียบ โดยอำนาจรัฐในการควบคุมโลกดิจิทัล ไม่เหมือนโลกกายภาพ การแสดงความคิดเห็นจะรวดเร็ว แพร่หลาย และเป็นกระแส แต่ยังหาเครื่องมือจัดระเบียบที่มีประสิทธิภาพไม่ได้
-การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อดึงดูดนักลงทุน และส่วนใหญ่เนื้อหาดิจิทัลจะผ่านแพลตฟอร์มของโซเซียลมีเดียรายใหญ่ ซึ่งไม่ได้ตั้งเนื้อหาในไทย แต่ไปตั้งในสิงคโปร์หรือประเทศอื่น ๆ และยิ่งออกกฎหมายเข้มงวด ยิ่งไม่เข้ามาตั้งในไทย เพราะกลัวจะโดนสอดส่อง สืบค้น เจาะข้อมูล
“ปัญหาต้องชั่งใจว่าจะเดินด้านไหน เพราะหากออกกฎหมายเข้มมากหรือคลุมเครือก็จะไม่มา เศรษฐกิจดิจิทัลจะขับเคลื่อนได้ช้า”
ทั้งนี้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ได้รับความเห็นชอบให้ประกาศเป็นกฎหมาย พันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกออกแถลงการณ์ไม่สบายใจ โดยเป็นคำคลุมเครือทำให้ไม่มั่นใจในการลงทุน ซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนชัดเจน และรัฐก็ชั่งใจสองด้านนี้
“ส่วนหนึ่งมีมิติด้านดีของกฎหมายเช่นกัน เพราะสมัยก่อน รัฐทุกรัฐมีการกระทำใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง เพียงแต่สังคมพัฒนาบนดินมากขึ้น รัฐจึงต้องนำการปฏิบัตินั้นมาเข้าอยู่ในระบบของกฎหมาย ดังนั้นสิ่งที่เคยทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมาย ขึ้นมาอยู่กับกฎหมาย ทำให้เกิดจุดถกเถียงกันว่าแล้วอะไรคือสิ่งที่สังคมยอมรับได้”
อย่างไรก็ตาม เมื่อออกเป็นกฎหมายแล้ว กรรมการ กสทช. ระบุกังวลเกี่ยวกับการบิดกฎหมาย ซึ่งไทยมีความเป็นศรีธนญชัยสูง จนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ พร้อมกับเสนอว่า ในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามา จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีเทคนิคเฉพาะด้านจริงๆ มิฉะนั้นอาจทำให้หมิ่นเหม่ได้ว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และจะชี้เป็นชี้ตายตรงกฎหมายลูก ซึ่งมีความสำคัญ ดังนั้น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีนักเทคนิค นักคุ้มครองสิทธิ เป็นต้น เข้าร่วมด้วย
อ่านประกอบ:ผู้เชี่ยวชาญฯ เห็นพ้อง กม.มั่นคงไซเบอร์ 'คุ้มกัน' มากกว่า 'ควบคุม' พื้นที่ออนไลน์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/