ผู้เชี่ยวชาญฯ เห็นพ้อง กม.มั่นคงไซเบอร์ 'คุ้มกัน' มากกว่า 'ควบคุม' พื้นที่ออนไลน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศ เห็นพ้อง ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ ฉบับผ่าน สนช. ดีกว่าร่างฉบับเเรก 'คุ้มกัน' มากกว่า 'ควบคุม' พื้นที่ออนไลน์ เเนะเร่งออกกม.ลูก สนับสนุนใช้งานได้จริง
สืบเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ประกาศใช้กฎหมาย ขณะเดียวกันในโลกออนไลน์มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เช่น ข้อกังวลเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 7 มี.ค. 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 17 เรื่อง เจาะลึก พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ ’62 คุ้มกันหรือควบคุมพื้นที่ออนไลน์ ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. บังคับกับ 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ( Critical Information Infrastructure-CII) ไม่ได้บังคับใช้กับประชาชน ได้แก่ ด้านความมั่นคงของรัฐ ด้านบริการภาครัฐที่สำคัญ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ด้านสาธารณสุข และด้านอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งต้องมีมาตรฐานสูงและมีผู้กำกับดูแล แต่ปัจจุบันพบว่า มีเพียง ด้านการเงินการธนาคารที่มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้กำกับดูแลเท่านั้น แต่มาตรการยังไม่เข้มพอ เมื่อเทียบกับสากล ขณะที่ด้านความมั่นคงของรัฐ โดนโจมตี F5 ง่ายมาก ดังนั้นต้องจัดให้มีมาตรฐานสูงขึ้นตามหลักสากล ซึ่งจะถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก
ด้าน ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านนโยบายและผลกระทบ คณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฎหมายไทยให้อำนาจลอบดักฟัง โดยไม่ต้องขอศาลอยู่แล้ว ประเทศไหน ๆ ก็มี กรณีที่มีภัยอันตรายระดับสูง เช่น กฎอัยการศึก แต่บางคนยังไม่รู้ อย่างไรก็ตาม เรามักเป็นห่วงเรื่องการดักดูอีเมล หรือโพสต์ในโซเซียลมีเดีย เพราะกังวลจะสร้างความเสียหายในอนาคต แต่สิ่งเหล่านี้ถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วในร่าง พ.ร.บ.ฉบับผ่าน สนช. เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ ออกกฎหมายลูกให้ใช้งานได้จริง และทำให้คนในสังคมไทยเข้าใจว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
“เรื่อง CII ยกตัวอย่าง ธนาคารล่ม 1 แห่ง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเชื่อมต่อเป็นเน็ตเวิร์ก ดังนั้น ถ้าไม่สร้างมาตรฐานเท่าเทียมกัน สิ่งที่โจรจะทำ คือ โจมตีธนาคารที่อ่อนแอมากสุด และจะทำให้ธนาคารอื่นล่มตามไปด้วย จากนั้นปล่อยข่าวปลอมออกมาให้ตระหนก วันรุ่งขึ้น คนไปถอนเงินกันหมด อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาได้ดีกว่าร่างฉบับแรกมาก ได้รับการแก้ไข ด้วยความพยายามจะป้องกันสถานภาพทางไซเบอร์ของประเทศให้ได้” ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าว
ขณะที่ นายวีระ รัตนแสงเสถียร ประธานคณะทำงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เจตจำนงของ ร่าง พ.ร.บ. น่าจะเกี่ยวข้องกับการรักษา คุ้มครอง ปกป้อง ประชาชน โดยใช้กลไกดำเนินการผ่านคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) และคณะกรรมการย่อย ทำงานผ่านสำนักงาน และศูนย์ไซเบอร์แห่งชาติ
โดยเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. มีความเหมาะสมมากกว่าร่างเดิม และในกรณีที่ภาครัฐเข้าใจว่า สิ่งต่าง ๆ มีผลกระทบกับความมั่นคงปลอดภัย ได้ให้อำนาจของศาลเข้ามาถ่วงดุลช่วยในการพิจารณา จึงเป็นข้อดีมาก ฉะนั้น ฟันธง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มกันมากกว่าควบคุมพื้นที่ออนไลน์ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/