สัมพันธ์ผู้ปกครอง-นักการเมือง! ป.ป.ช. เผยช่องทุจริตรับ นร.เงื่อนไขพิเศษ-จี้ยกเลิก
พบสัมพันธ์ผู้ปกครอง-นักการเมือง อาศัยช่องโหว่โควตารับนักเรียน ‘เงื่อนไขพิเศษ’ ป.ป.ช. ชำแหละเป็นช่องทางทุจริต ทำให้เด็กไม่มีความเสมอภาคในการเข้าเรียน องค์กรปกครองท้องถิ่นตัวแปรสำคัญที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน จี้ ก.ศึกษาฯ ยกเลิก
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เสนอแก่คณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิกระบบรับนักเรียนแบบพิเศษ และโควตาจากสมาคมผู้ปกครองและครู รวมถึงให้ตรวจสอบรายรับ-รายจ่ายของสถานศึกษา ขณะเดียวกันชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการรับ ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การระดมทุนถือเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างผู้ปกครองและผู้มีอำนาจรับนักเรียนนั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เปลือยปมบริจาคเงินให้ ร.ร.-ชี้ต้นตอแป๊ะเจี๊ยะเพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะอนุกรรมการฯ ป.ป.ช. ที่ศึกษาปัญหาดังกล่าว ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า มีปัญหาที่น่าสนใจ คือ กรณีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ 7 ข้อ คือ 1.นักเรียนที่ได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน 3.นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส 4.นักเรียนที่เป็นบุตรเสียสละเพื่อชาติ หรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ 5.นักเรียนตามโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือโรงเรียนคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย 6.นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน 7.นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
จากการศึกษาพบว่า กรณีการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ข้อข้างต้น ถือเป็นดุลพินิจของแต่ละโรงเรียนที่จะกำหนดให้มีการรับนักเรียนด้วยกรณีเงื่อนไขพิเศษหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ดีจากการสุ่มตรวจโรงเรียนทั่วประเทศ มีข้อสังเกตว่า โรงเรียน/สถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูง จะมีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษเกือบทุกโรงเรียน และหลักเกณฑ์ข้อ 7.กรณีการรับนักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ถูกใช้เป็นเหตุผลและพิจารณาคัดเลือกมากที่สุด เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวเปิดกว้างให้คณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนสามารถใชดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง การกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษนั้น สพฐ. ได้ชี้แจงความจำเป็นโดยเป็นเหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้มีการเรียกรับเงิน (แป๊ะเจี๊ยะ) ของผู้มีอำนาจในโรงเรียน เนื่องจากเห็นว่าหากไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้โรงเรียนถือปฏิบัติ จะก่อให้เกิดการเรียรับเงินจากผู้ปกครองได้ง่าย และไม่สามารถกำหนดจำนวนที่รับได้เหมือนหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ สพฐ.กำหนด
แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติแล้ว เห็นว่า หลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ กลายเป็นช่องทางให้มีการกระทำทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา เป็นช่องว่างให้มีการเข้ามาเสนอผลประโยชน์จากผู้ปกครองนักเรียนที่ต้องการจะฝากบุตรหลานเข้าเรียน และผู้มีอำนาจในการรับเด็กเข้าเรียนมีการเรียกรับผลประโยชน์ดังกล่าว
นอกจากนี้การกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขพิเศษยังไม่มีความชัดเจน เช่น กรณี 2.นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียนนั้น จะทำให้ผู้บริจาคที่ดินหรือเครือญาติได้รับสิทธิในการฝากเด็กเข้าเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หรือ 6.นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูหรือบุคลากรของโรงเรียน เมื่อพิจารณาเรื่องความเป็นธรรม และความเสมอภาค รวมถึงโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าเรียนของเด็กทุกคน พิจารณาได้ว่าไม่อาจเกิดความชอบธรรมกับเด็กโดยทั่วไป
รวมถึงกรณี 7.นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นหลักเกณฑ์ที่มีลักษณะกว้างขวางและไม่มีกรอบหลักเกณฑ์ชัดเจนเกี่ยวกับกรณีการเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่องว่า มีนิยาม ความหมายครอบคลุมมากน้อยเพียงใด ทำให้มีการอาศํยช่องทางหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อฝากเด็กเข้าเรียนจำนวนมาก
จากการตรวจสอบพบว่า เงื่อนไขของการเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการฝากเด็กเข้าเรียนจากบุคคลหลายส่วน เช่น ผู้มีอำนาจทั้งนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผู้บริหารระดับสูงภายในจังหวัด พระภิกษุสงฆ์ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงภายในจังหวัด รวมถึงในส่วนของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน และผู้ดำรงตำแหน่งในสมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า เป็นต้น เงื่อนไขพิเศษดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าเรียนของนักเรียน และไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครรายอื่น
นอกจากนี้การรับนักเรียนพิเศษ อาจสุ่มเสี่ยงต่อระบบอุปถัมภ์ และการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ โดยจากการรายงานการสุ่มตรวจโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีข้อสังเกตว่า โรงเรียนพิจารณารับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษให้แก่ ผู้บริหาร รองผู้บริหาร และสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณด้านต่าง ๆ ให้แก่โรงเรียน สะท้อนให้เป็นถึงการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ และอาจส่งผลให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ในส่วนของนักการเมืองท้องถิ่นกับผู้ปกครองนักเรียนได้
ดังนั้นเพื่อลดช่องว่างในการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบของผู้มีอำนาจในการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. และเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเรียกรับทรัพย์สินดังกล่าว เห็นควรให้มีการพิจารณายกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบการสอบคัดเลือกการรับนักเรียนอย่างยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้แทน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาในเรื่องของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นปัญหาในเรื่องของการฝากเด็กเข้าเรียนที่เกิดขึ้นในกรณีนักเรียนเงื่อนไขพิเศษต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ต้องสุ่มตรวจ ร.ร.-เปิดบัญชีรับ-จ่าย! มาตรการ ป.ป.ช.ชง ก.ศึกษาฯแก้ปัญหา‘แป๊ะเจี๊ยะ’
ชำแหละบทบาท ส.ผู้ปกครอง-ครู ตัวแปรสำคัญ? ต้นตอเปิดช่องจ่าย ‘แป๊ะเจี๊ยะ’
งบไม่เท่ากัน-ส.ผู้ปกครองมีอิทธิพลฝากเด็ก!เบื้องหลัง ป.ป.ช.ชง ครม.แก้ปม ‘แป๊ะเจี๊ยะ’